FORUM 21 จับมือ KAF เยอรมนี หนุน EEC HDC พัฒนาการศึกษา EEC model เสริมแกร่งภาคการศึกษาไทย
มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ เยอรมนี ประสาน ฟอรัม 21 สนับสนุน EEC HDC พัฒนาบุคลากรและการศึกษาแนวทวิภาคี- เยอรมัน โดยได้จัดให้มีการดูงาน ณ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ต้นแบบการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษา ที่แสดงถึงผลงานความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นตัวแบบปรับสร้างและพัฒนาการศึกษาในแบบ EEC model ที่ EEC HDC ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบันได้
ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การทำ workshop ครั้งนี้มี 10 สถาบันเข้าร่วม ประกอบด้วยสถานศึกษาพื้นฐาน 2 สถาบัน-อาชีวะ 7 สถาบัน-สถาบันอุดมศึกษา 1 สถาบัน โดยมีเป้าหมายกระชับปรับฐานสร้างคุณภาพใหม่ใน EEC ที่ใช้ตัวแบบจากวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เป็นบทเรียน และสร้างการเรียนรู้ภาคปฏิบัติการจาก ศูนย์ออโตเมชั่น ม.บูรพา ศูนย์แมคคาทรอนิค ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และแนวทางการพัฒนาคนของสถาบันไทยเยอรมัน มาร่วมถอดบทเรียน สร้างการเรียนรู้และแนวคิดการศึกษายุคใหม่ โดย workshop ครั้งนี้ EEC HDC ได้เชื่อมประสานให้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาศรีราชา ที่อยู่ในสังกัดเทศบาลเมืองศรีราชาและ วิทยาลัยเทคนิคบางแสน เป็นวิทยาลัยพี่-น้องกับ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขับเคลื่อนการศึกษาและการผลิตบุคลากรแนวใหม่ต่อไป นี่จึงเป็นอีกก้าวของปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ EEC HDC ที่มุ่งหวังผลให้เกิดขึ้นเป็นการพัฒนาการศึกษายุคใหม่ในพื้นที่ EEC ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ด้าน ธสุธิดา เทศทอง ผู้จัดการโครงการฝ่ายความร่วมมือภาคพื้นยุโรปและนานาชาติ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ สำนักงานประเทศไทย ได้กล่าวในฐานะผู้แทนจาก มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ผู้สนับสนุนสำคัญที่ทำให้เกิดการสัมมนาในครั้งนี้ว่า
“ในวันนี้นับเป็นเกียรติของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จากเยอรมันนี อย่างสูง ที่ได้ร่วมมือกับทาง ฟอรัม 21 สนับสนุน EEC HDC จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง“เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมในการพัฒนาการศึกษาบนฐานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม” ในครั้งนี้ เพื่อร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อการตลาดและการอาชีวศึกษาทวิภาคี โดยเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมสถาบันการศึกษาไทยเข้ากับภาคอุตสาหกรรมทางเยอรมันนี ที่จะมีความสัมพันธ์อันดีในการพัฒนาการศึกษาไทยสู่การศึกษายุคใหม่เต็มรูปแบบในพื้นที่ EEC ต่อไป”
ควันหลง APEC ฝรั่งเศสรุกเชื่อมสัมพันธ์ไทย ตอบรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC
การเดินทางเยือนไทยของผู้นำฝรั่งเศสในรอบ 16 ปี สะท้อนมุมมองยุโรปที่ต้องการเพิ่มบทบาททางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งฝรั่งเศสมีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยได้อย่างน่าสนใจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น การสานสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอาจจะเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า-การลงทุนในมิติใหม่ๆ จากจุดแข็งของฝรั่งเศสในด้านยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน เทคโนโลยีด้านการขนส่ง การผลิตพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่พยายามต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การผลักดัน FTA อาเซียน-อียู รวมถึงไทย-อียู ยังต้องอาศัยแรงจากอีกหลายชาติสมาชิก ที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนของฝรั่งเศสที่เข้ามาไทยอยู่ในกลุ่มการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนใหม่ในระยะต่อไปจะยิ่งมีส่วนช่วยเชื่อมโยงการผลิตของไทยกับยุโรปได้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับฝรั่งเศสมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสีเขียว ช่วยต่อยอดการค้าตอบโจทย์ความต้องการในกระแสโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ของไทย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน เทคโนโลยีด้านการขนส่ง การผลิตพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรกรรมและอาหาร ทั้งนี้ การลงทุนจากฝรั่งเศสในปัจจุบันมีประมาณ 280 บริษัท ล้วนอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ การผลิตยางล้อรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 ยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของ BOI แก่นักลงทุนฝรั่งเศสมี 11 โครงการ มูลค่า 1,490 ล้านบาท (จากยอดรวม 223,746 ล้านบาท) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น การสานสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอาจจะเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า-การลงทุนในมิติใหม่ๆ
ไทยมีลุ้นขึ้นแท่นส่งออก “อาหารสัตว์เลี้ยง” อันดับ 1 ของโลก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) กล่าวถึงนโยบายการผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของโลกว่า ในปี 2564 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขหรือแมว อันดับที่ 3 ของโลก (สัดส่วนร้อยละ 9.7) รองจากเยอรมนี (สัดส่วนร้อยละ 12.6) และสหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 9.9) โดยไทยมีอันดับดีขึ้น (ปี 2563 ไทยอยู่อันดับ 4 รองจากเยอรมนี สหรัฐฯ และฝรั่งเศส) อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีจุดแข็ง อาทิ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าคู่แข่งซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และไทยมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยงที่แข็งแกร่ง ปัจจุบัน ผู้บริโภคทั่วโลกนิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น (2) ประชากรเป็นโสดมากขึ้น หรือคนที่มีคู่ก็เลือกที่จะมีลูกน้อยลง หรือไม่มีเลย และ (3) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มีความต้องการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงา หรือแม้แต่การเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน และส่วนประกอบมาจากธรรมชาติ จึงเป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญของโลกในการพัฒนาสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงอินทรีย์ หากอัตราการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของโลกในอนาคต
โควิดรายวันใกล้แตะหลักพัน แนะฉีดเข็มกระตุ้น เพิ่มภูมิคุ้มกัน ปลอดภัยก่อนเข้าปีใหม่
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทย ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (20-26 พฤศจิกายน 2565) แนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้น มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 4,914 ราย เฉลี่ยวันละ 702 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 319 ราย และเสียชีวิต 74 ราย เฉลี่ยวันละ 10 ราย โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการระบาดเพิ่มในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ประชาชนมีการผ่อนคลายมาตรการและมีกิจกรรมรวมตัวกันมากขึ้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ผ่านมา พบว่าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ไม่ได้รับวัคซีน รับวัคซีนไม่ครบหรือได้รับเข็มสุดท้ายนานเกินกว่า 3 เดือน วัคซีนโควิด 19 เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการเสียชีวิตได้ ซึ่งหลังจากฉีดวัคซีนไประยะหนึ่งแล้ว ภูมิคุ้มกันที่มีจะลดลง จึงต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้น ดังนั้น หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ขอให้รีบมาฉีด และหากฉีดกระตุ้นเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือนแล้ว ขอให้มาฉีดเพิ่ม ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการรับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 ช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้
เซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าผลผลิต ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ ทะลุ 5 แสนล้านหยวน
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เปิดเผยว่า เซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าหมายบรรลุการมีผลผลิตทางอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคตที่คิดเป็นมูลค่าราว 5 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 สำนักข่าวซินหัว ระบุ อู๋จินเฉิง ผู้อำนวยการคณะกรรมการฯ กล่าวว่าเซี่ยงไฮ้จะมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้านสุขภาพ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงาน อวกาศ และวัสดุ โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงข้อได้เปรียบของเซี่ยงไฮ้ในด้านนวัตกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรม คณะกรรมการฯ ยังออกแผนปฏิบัติการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเสนอการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มพลังงานไฮโดรเจนที่วางแผนสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนประมาณ 70 แห่ง และแพลตฟอร์มวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 3-5 แห่งภายในปี 2025 รวมถึงเพิ่มจำนวนยานพาหนะเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้สูงเกิน 10,000 คัน และมูลค่าห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนให้สูงกว่า 1 แสนล้านหยวน (ราว 5.06 แสนล้านบาท)
Post Views: 30