บางแสน ชลบุรี

565000006852501.jpg

‘บางแสนโมเดล’ เดินหน้าต่อ ดึงเด็กเจนใหม่ ช่วยยกระดับชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่


เมื่อภาพรวมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันถือว่า ผ่อนคลายขึ้นมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวจึงเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง และนั่นทำให้ “ชายหาดบางแสน” หนึ่งในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของคนกรุงฯ กลับมามีสีสันและเสียงหัวเราะอีกครั้ง

โดยจุดเช็คอินแห่งนี้  จากการสำรวจกรมการท่องเที่ยวพบว่า  แต่ละปีชายหาดบางแสนมีนักท่องเที่ยวเข้า-ออกกว่า 1,800,000 คน  มีรายได้ในปี 2558 เฉลี่ย 5,846 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 10,230 ล้านบาทในปี 2561 แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่า  ในอดีตก่อนที่จะมีการปรับโฉมครั้งใหญ่ ชายหาดแห่งนี้ก็สร้างความไม่ประทับใจให้กับภาพจำของนักท่องเที่ยวพอสมควร ทั้งปัญหาขยะล้นหาด การสังสรรค์ดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งควันบุหรี่ที่ตลบอบอวลเตียงผ้าใบไปหมด

ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานั้น แม้ทำงานร่วมกันถึง 2 ปีก็ยังถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  และเทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ที่ได้จับมือรณรงค์ขับเคลื่อน ‘โครงการพัฒนาชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบ’ ยกระดับให้เป็นพื้นที่ปลอดปัจจัยเสี่ยงทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   ให้ความเห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่า ชายหาดบางแสนน่าจะได้รับผลพลอยได้อย่างมหาศาล  เห็นได้จากนักท่องเที่ยวมีความสุขมากขึ้น จากการที่ได้เข้ามาอยู่ในชายหาดที่ปลอดภัยทั้งเรื่องควันบุหรี่ ไม่ต้องระมัดระวังเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาเสียงรบกวนจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งในการเดินทางไป-กลับ แอลกอฮอล์ยังเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุด้วย

ซึ่งจากข้อมูลปี 2564 พบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง 8,278 คน/ปี และยังพบพบเยาวชนอายุ 15 -24 ปี มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 1.9 ล้านคน ขณะที่พบการดื่มแล้วขับกว่า 30%ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน 25% ทำให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเริ่มรู้แล้วว่า ชายหาดบางแสนไม่สามารถสูบบุหรี่บริเวณหาดได้ ซึ่งถ้าจะสูบก็ต้องเดินไปที่ตู้สูบบุหรี่ที่เทศบาลเตรียมไว้ และการเดิมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอง นักท่องเที่ยวก็มีความระวังมากยิ่งขึ้น ด้านผู้ประกอบการริมหาดเขาก็เริ่มคุ้นเคยแล้ว จากเดิมที่เขาคิดว่า มันลดรายได้เขาหรือเปล่า แต่ตอนนี้เขาเริ่มคุ้นเคย และเริ่มกล้าที่จะเตือนนักท่องเที่ยว เพราะที่นี่เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ความปลอดภัยของครอบครัวที่ทุกคนมาเที่ยวได้” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อย่างไรก็ตาม จากผลลัพธ์การทำงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แม้โครงการมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ปลอดเหล้าและบุหรี่ถึง 100% ยังมีนักท่องเที่ยวบางคนมีพฤติกรรมที่เผลอหยิบขึ้นมาสูบ แต่ว่าค่อนข้างน้อยลง รวมถึงการลักลอบแอบใส่ในอุปกรณ์อื่นก็ยังพอมีอยู่บ้าง แต่น้อยมาก เพราะที่ชายหาดจะมีการประชาสัมพันธ์ทั้งเสียงตามสาย ผู้ประกอบการริมหาดที่ช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด

โดยปีนี้ นางสาวรุ่งอรุณ เผยว่า มีการขยายความร่วมมือไปสู่เครือข่ายเยาวชน นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพากว่า 1,000 คน เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง

“มี 2 ส่วนสำคัญ คือทำให้นักศึกษารู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุหรี่และแอลกอฮอล์ และตระหนักถึงเรื่องปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ว่า ไม่ใช่เรื่องปกติที่เยาวชน พึงบริโภค พึงดื่ม พึงสูบกัน พอเขารู้ข้อมูลเบื้องต้น พอเวลาเขามาทำกิจกรรม เขาก็จะออกแบบกิจกรรมรณรงค์ให้เหมาะกับเยาวชน และผู้ใหญ่ที่เป็นนักท่องเที่ยวด้วย ทำให้ได้ทั้งส่วนของตัวเยาวชนเอง และการดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัยด้วย”

ผศ.ดร.เกศรา สุกเพชร อาจารย์สาขาอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว คณะจัดการท่องเที่ยว นิด้า
สอดคล้องกับข้อมูลของ ผศ.ดร.เกศรา สุกเพชร อาจารย์สาขาอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว คณะจัดการท่องเที่ยว นิด้า ที่ให้ไว้ว่า ปีนี้จะเป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมบทบาทเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ในการร่วมขับเคลื่อน ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสาขาสาธาศาสตร์ ม.บูรพาที่ได้สนับสนุนเด็กนักศึกษารุ่นใหม่ให้เข้าร่วมโครงการ

ซึ่งที่ผ่านมา นิด้าและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตุลาคม 2563 โดยมีทั้งการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ชายหาด 1,500 รายว่า สามารถทำอะไรได้บ้างหรือทำได้แค่ไหน สามารถค้าได้หรือไม่ภายใต้ขอบเขตของพรบ. รวมทั้งการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นให้แก่เครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างกลุ่มอาสาสมัคร

“ตอนนี้อยู่ในช่วงของการใกล้ปิดโครงการ ส่วนพื้นที่ขับเคลื่อนต่อไป กำลังดูอยู่ว่า จะเป็นที่ไหน แต่เราคงไม่ทิ้งบางแสน คงมีกิจกรรมไปเรื่อย ๆ เพราะอย่างที่ทราบกันพฤติกรรมเหล่านี้มันไม่คงที่ มันจะต้องมีการสร้างการรับรู้ต่อไปอย่างเรื่อย ๆ เพื่อที่จะทำให้มันเกิดอิมแพ็ค คงม้วนเดียวจบไม่ได้” ผศ.ดร.เกศรา ให้ข้อมูลถึงทิศทางต่อไปของโครงการ

นายไพศาล สีนาคล้วน ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข
ด้านนายไพศาล   สีนาคล้วน  ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข  เอ่ยว่า   เทศบาลเมืองแสนสุขได้มีแนวคิดที่พัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยว  โดยเฉพาะชายหาดบางแสน ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยว   ตลอดระยะเวลามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายหาด  อีกทั้งเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ และพฤติกรรมในหลาย ๆ อย่าง   ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกท่านบ้าง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว

แต่ทางเทศบาลเมืองแสนสุขก็เชื่อมั่นว่า ในเวลานี้ทุกท่านคงได้เห็นถึงผลดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา ที่เกิดจากการรณรงค์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องของการงดเหล้า งดบุหรี่ นักท่องเที่ยวเริ่มมีคุณภาพมากขึ้น เรื่องการทะเลาะวิวาทน้อยลง การก่อความรำคาญในพื้นที่ก็ลดลง ภาพลักษณ์การเปลี่ยนแปลงของชายหาดบางแสนก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวก็กลับมาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

“โอกาสที่จะปลอดเหล้าและบุหรี่โดยตัวเลขเป็นศูนย์นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ๆ  สภาพของสังคมไทยชินอยู่กับเหล้า  สูบบุหรี่  และมาเที่ยวพักผ่อนก็อยากจะดื่มเหล้า  แต่ว่าการรณรงค์ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นแล้วก็สร้าความตระหนักให้เพิ่มมากขึ้น   คิดว่า มันจะได้ผลขึ้นไปเรื่อย ๆ  ถึงแม้ว่ารู้ว่าจะยาก  แต่ว่าทางเทศบาลเมืองแสนสุขก็จะพยายามทำให้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ”


โดยจากการสำรวจพบการฝ่าฝืนสูบนอกพื้นที่อนุญาต ประมาณร้อยละ 10-15 พบการแอบดื่มแอลกอฮอล์ช่วงกลางคืนหลังเก็บเตียง และที่นั่งประมาณร้อยละ 20  โดยแอบใช้ภาชนะอื่นๆ  เพื่อหลีกเลี่ยงแทน จึงอยากเสนอให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์  ห้ามดื่มและห้ามสูบในชายหาดทั่วประเทศ

“โครงการนี้คงไม่ประสบความสำเร็จ  หากขาดความร่วมมือและเสียสละจากทุกท่าน   ในการร่วมกันสร้างพื้นที่บางแสนให้เป็นพื้นที่แสนสุข  เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานของเราในอนาคต ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการนี้ และขอบคุณเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมกันเสียสละ และสนับสนุนเพื่อให้ที่นี่เป็นบ้านแสนสุขที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างแท้จริง” ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าว

นายวุฒิชัย ชื่นวจีธรรมอายุ 44 ปี พ่อค้าร้านอาหารตามสั่ง
ในมุมมองของผู้ประกอบการอย่าง นายวุฒิชัย  ชื่นวจีธรรม  อายุ 44 ปี พ่อค้าร้านอาหารตามสั่ง เล่าว่า ตนเปิดร้านริมชายหาดบางแสนมากว่า 20 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางร้านมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนเช่นเดียวกัน ก่อนจะหยุดขายเพราะทางเทศบาลเมืองแสนสุขเข้ามาชี้แจง ให้ความรู้ และถึงแม้จะกระทบกับรายได้พอสมควร แต่ตนก็ต้องยอมรับเพราะว่าชายหาดบางแสนถือเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหลังจากที่ไม่มีการขายแอลกอฮอล์ น้ำอัดลมก็จะขายดีเป็นพิเศษ

“แม่ค้าพ่อค้าในพื้นที่ก็บอกว่า ดี จะได้ไม่ต้องรบกวนกวนแขกที่เข้ามาเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้เวลาดื่มเหล้า ก็มักจะมีเรื่องทะเลาะวิวาท ส่วนบุหรี่เด็ก ๆ เขาก็จะไม่ชอบอยู่แล้ว เพราะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งเวลาเจอเราก็จะคอยเตือนนักท่องเที่ยวที่ซื้อเข้ามาทาน แล้วก็คอยบอกว่า ที่นี่เขามีกฎเรื่องการห้ามดื่ม ห้ามสูบบุหรี่ตรงนี้นะ ถ้าเตือนไม่ได้ก็จะแจ้งเทศกิจ หรืออาสาสมัครพิทักษ์ทะเลชุดฉลามขาวที่จะเดินตรวจกันเป็นประจำอยู่แล้ว”

“ผมว่า ตอนนี้บางแสนดีขึ้นนะ คนที่สูบเขาก็รู้แล้ว มีปริมาณที่น้อยลง ไม่มีการสูบบุหรี่ในเตียงผ้าใบ ถ้าจะสูบเขามีที่สูบให้ ยังไงก็ขอชวนมาเที่ยวกัน เพราะบางแสนเป็นที่น่าเที่ยว สะอาด อาหารมีราคาที่ควบคุม รับรองว่า สวยแน่นอน”  เสียงจากพ่อค้าริมชายหาด กล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

นายกฤษฎา จันทมา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการสาธารณสุขชุมชน ม.บูรพา
นอกจากนั้นแล้ว  ยังมีการจัดกิจกรรมพัฒนาคนรุ่นใหม่  ร่วมขับเคลื่อนชายหาดปลอดเหล้าบุหรี่   ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ พร้อมแจกประกาศนียบัตรนักศึกษา ม. บูรพาที่เข้าร่วม ก่อนเดินรณรงค์แจกสื่อสร้างสรรค์ พูดคุยทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่

นายกฤษฎา  จันทมา นักศึกษา ชั้นปีที่ 2  สาขาการสาธารณสุขชุมชน ม.บูรพา ตัวแทนนักศึกษาได้เผยถึงเหตุผลการเข้าร่วมว่า ทางคณะอาจารย์ได้ส่งรายละเอียดมาให้ ตอนที่ดูรายละเอียดก็มองว่า ตนเรียนมาทางด้านนี้ มีองค์ความรู้ทางด้านสาธารณสุข  ซึ่งน่าจะสามารถนำมารวมกับการท่องเที่ยวกันได้ และคิดว่าเป็นโครงการการแก้ไขปัญหาที่ดี เลยตัดสินใจสมัครเข้ามา

“เราใช้ความรู้จากสิ่งที่เรามีแล้ว ผนวกกับทักษะที่ได้จากโครงการ ทักษะตรงนี้ไปเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงในการรณรงค์ อาจจะให้ความรู้กับคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว ร่วมถึงเมื่อจบโครงการแล้วเราสามารถให้ความรู้กับเพื่อน ๆ ในคณะได้ด้วย


“จริง ๆ แล้วเราอาจจะเห็นได้ตามสื่อว่า  ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดเหตุวิวาทได้   แล้วกลุ่มนี้ก็ถือเป็นคนกลุ่มน้อยถ้าเทียบกับคนที่มาท่องเที่ยวทั้งหมด  สุดท้ายก็อยากฝากถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นะครับว่า  การกระทำของเรามันอาจส่งผลกระทบไม่ว่า  จะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมให้กับคนที่มาท่องเที่ยวคนอื่น  ก็อยากให้มองส่วนรวมตรงนี้ด้วย”  ตัวแทนนักศึกษา กล่าวทิ้งท้าย

(บทความประชาสัมพันธ์)

เรื่องล่าสุด