เศรษฐกิจ
14 พ.ค. 2565 เวลา 13:00 น.
นอกจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีศักยภาพเป็นทำเลทองแห่งการลงทุนแล้ว ยังจะเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการพักผ่อน เพื่อส่งเสริมให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างรายได้ที่มั่นคงกระจายสู่ชุมชนอีกด้วย
นอกจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีศักยภาพเป็นทำเลทองแห่งการลงทุนแล้ว ยังจะเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการพักผ่อน เพื่อส่งเสริมให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่พื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างรายได้ที่มั่นคงกระจายสู่ชุมชนอีกด้วย
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งกำหนดให้มีการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวสาขาหนึ่งที่มีศักยภาพสูงและกำลังขยายตัวพร้อมกับกระแสนิยมเรื่องการดูแลสุขภาพในยุคสังคมผู้สูงอายุและการเกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก
ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากความได้เปรียบด้านทรัพยากรที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาทิ อาหาร สมุนไพรบุคคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง และคุณภาพการบริการที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับบริการที่มีคุณภาพในมาตรฐานเดียวกันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
จากการศึกษาผลการจัดอันดับ Medical Tourism Index ประจำปี 2017 โดย The International Healthcare Research Center ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 6 ของโลกและมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดถึง 38% ของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด
ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (สกพอ.) กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีส่วนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 10 ล้านคนต่อปี ด้วยศักยภาพของพื้นที่ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทั้งหาดทราย ทะเล ภูเขา แหล่งผลไม้ และแหล่งดำน้ำ
ดังนั้น สกพอ.จึงได้มีการวางแผนการขับเคลื่อนโครงการใหญ่ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมาในพื้นที่ โดยการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (เวลเนส เซ็นเตอร์) กำหนดจุดเป้าหมายการพัฒนา 11 สถานที่ กระจายตัวอยู่ใน 3 จังหวัดอีอีซี ได้แก่ แสนภูดาษ บางแสน บางพระ ศรีราชา พัทยา บางเสร่ บ้านฉาง พลูตาหลวง แสมสาร ตะพง เพ
เส้นทางดังกล่าวจะถูกร้อยเรียงตามแนวชายฝั่งเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เรียกว่า “อีอีซี เวลเนส คอริดอร์” เพื่อดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ พัฒนาเมือง ชุมชนและพื้นที่ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
รวมทั้งเป็นการเตรียมการในพื้นที่อีอีซีให้มีความพร้อม เพื่อก้าวไปสู่สังคมแห่งบริการเพื่อสุขภาพมาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมดึงดูดนักท่องเที่ยว กลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีต่อเนื่องในอนาคตสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เข้าถึงชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป
ทั้งนี้ในปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการประชุมวางแผน โดยมีการดำเนินการในขั้นแรกคือการเตรียมพร้อมด้านบุคคลากร โดยเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 ได้ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ในด้านบริการเพื่อสุขภาพในพื้นที่อีอีซี ร่วมกับ ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) และคณาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา
การประชุมร่วมกันดังกล่าวได้เริ่มต้นการวางแผนพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะพร้อมรองรับธุรกิจเวลเนสในอนาคต อาทิ นักกายภาพ หมอนวดสปา นักเภสัชกรด้านสมุนไพร ไปจนถึงบุคลลากรทักษะสูงด้านการแพทย์สมัยใหม่
“ได้เสนอให้มีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาบุคคลากรในธุรกิจเวลเนส บนพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยตั้งเป้าให้เกิดการพัฒนาบุคคลากรด้านการท่องเที่ยว 16,000 คนภายใน 5 ปี เริ่มจัดอบรมในปีนี้ให้ได้ 1,700 คน”
สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป สกพอ.จะดันให้มีการตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One stop service) เพื่อให้สามารถขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านเวลเนสได้ในที่เดียว เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจเวลเนสเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยจะมีการร่วมมือกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ซึ่งจะมีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันในอีกไม่นานนี้
นอกจากนี้ จะเป็นการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาวางขายในแหล่งท่องเที่ยว การก่อสร้างอาคาร และการพัฒนาเชิงธุรกิจ โดยได้มีการหารือกับ “กรมธนารักษ์” เพื่อขอพื้นที่บางส่วนนำมาใช้สำหรับทำโครงการเวลเนส รูท โดยจะเริ่มนำร่องในพื้นที่ท่องเที่ยวศักยภาพสูง 3 แห่งได้แก่ บางแสน บางเสร่ และบางพระ ให้เกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยดึงนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ อาทิ สร้างอาคารศูนย์สุขภาพ ศูนย์ความงาม สปา
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่อีอีซี ได้กำหนดให้มีการส่งเสริม “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร” ให้เป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เพื่อให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิการผลิตยาและชีวเวชภัณฑ์ การปลูกถ่ายอวัยวะ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และระบบการรักษาพยาบาลทางไกล จึงถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเกิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผู้มีรายได้ดี
ซึ่งขณะนี้ สกพอ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้ง “ศูนย์ซ่อมบำรุงและทดสอบเครื่องมือแพทย์ครบวงจร” รองรับงานซ่อมบำงรุงเครื่องมือแพทย์ทุกประเภททุกยี่ห้อ จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในประเทศ ให้เกิดดีมานต์การทำงานที่ซับซ้อนและส่งเสริมให้บุคคลากรไทยมีความเชี่ยวชาญสูงขึ้น รองรับธุรกิจการร่วมผลิตเครื่องมือแพทย์ในไทยเพื่อยกระดับการบริการทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ