บางแสน ชลบุรี

งานวิ่ง

อีเวนต์วิ่ง…งานล้นทะลัก แต่นักวิ่ง (โต) ตามไม่ทัน | ประชาชาติธุรกิจ | LINE TODAY

งานวิ่ง

แม้ตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 “งานวิ่ง” อีเวนต์สุขภาพยอดฮิตและหนึ่งในเซ็กเมนต์สำคัญของธุรกิจอีเวนต์จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแบบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แต่ปัจจุบันกระแสการฟื้นตัวที่รวดเร็วนี้กำลังกลายเป็นความท้าทายของธุรกิจอีเวนต์ที่เคยมีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท เมื่อการฟื้นตัวของจำนวนงาน และนักวิ่งนั้นไม่สัมพันธ์กัน

จากข้อมูลของเว็บไซต์รวมงานวิ่ง “วิ่งไหนดี” พบว่า เดือนพฤศจิกายนนี้ มีงานวิ่งมากถึง 82 งาน และเดือนธันวาคม 2566 ที่กำลังจะถึงเบื้องต้นมีงานวิ่งที่กำลังจะจัดอีก 59 งาน ส่วนเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีงานวิ่ง 53 งาน หรือเท่ากับการจัดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 10-20 งานเลยทีเดียว

การฟื้นตัวที่ไม่สัมพันธ์กันนี้ ทำให้จำนวนงานแซงหน้านักวิ่งไปไกล จนบรรดาผู้จัดงานต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการชิงตัวนักวิ่งที่ต้องเข้มข้นขึ้น การปั้นงานวิ่งใหม่ที่ท้าทายขึ้นเช่นกัน จนนำไปสู่ยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ที่แต่ละรายงัดออกมาเพื่อรับมือทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ตลาดอีเวนต์วิ่งงานล้น

“รัฐ จิโรจน์วณิชชากร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ออร์แกไนเซอร์ผู้จัดงานวิ่งใหญ่ อาทิ บางแสน 42, บางแสน 21 และบางแสน 10 ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย ฉายภาพให้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันวงการงานวิ่งอยู่ในสภาพ “งานล้น” เนื่องจากจำนวนงานวิ่งฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว แต่การฟื้นตัวนี้อยู่ในสภาพไม่สมดุลกับจำนวนนักวิ่ง โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา ปี 2566 นี้มีจำนวนงานวิ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 50% แต่จำนวนนักวิ่งกลับเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 20% เท่านั้น จึงเกิดภาวะซัพพลายหรืองานวิ่ง มีมากกว่าดีมานด์หรือนักวิ่ง

ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อผู้จัดงานวิ่งในหลายระดับ เช่น ทำให้งานวิ่งบางงานมีนักวิ่งไม่ถึงครึ่งของจำนวนเปิดรับ หลายงานต้องเปิดรับสมัครนานขึ้นกว่าเดิม และทำให้การบริหารจัดการเสื้อวิ่ง-เหรียญรางวัลมีความท้าทายขึ้น หรือบางงานต้องยกเลิกการจัดงานไปเนื่องจากมีนักวิ่งน้อยกว่าจุดคุ้มทุน เป็นต้น

“เราเองก็เห็นผลกระทบได้เช่นกัน โดยงานวิ่งที่ไม่ใช่เครือบางแสนนั้นระยะเวลาตั้งแต่เปิดรับสมัครวันแรกจนถึงเวลาที่นักวิ่งสมัครเต็มใช้เวลานานขึ้น จากเดิมใช้เวลาเพียง 20 นาที หรือไม่เกิน 1 วันก็เต็ม กลายเป็นต้องเปิดสมัครนานหนึ่งเดือน ยกเว้นงานเครือบางแสนที่ปีนี้มีผู้สมัครสูงกว่าช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดแล้ว จากข้อมูลตอนนี้เห็นได้ชัดว่า มีงานวิ่งมาเปิดมากเกินไป บางงานราคาถูก มีการตัดราคากัน แต่ยังไม่ได้นักวิ่งไปเพิ่มมากนัก ซึ่งสะท้อนว่าสาเหตุมาจากจำนวนนักวิ่งที่มีจำกัดและไม่มากพอที่จะทำให้ผู้สมัครเต็มทุกงานในช่วงเวลาเดียวกันได้”

คาดผลจาก ศก.-ควันหลงโควิด

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น คาดว่า สถานการณ์จำนวนงานวิ่งโตเร็วกว่านักวิ่งนี้ เป็นผลจาก 2 ปัจจัย คือ ควันหลงจากการระบาดของโรคโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจซึ่งยังไม่ดีนัก โดยการล็อกดาวน์และการระวังตัว รวมถึงจำนวนงานที่หายไปมากในช่วงการระบาด ทำให้นักวิ่งจำนวนไม่น้อยไม่ได้ฝึกซ้อมต่อเนื่อง จึงยังไม่พร้อมร่วมงานวิ่งระดับมาราธอน

อย่างกรณีของงานบางแสน 42 ซึ่งปกติจะมีตัวเลขนักวิ่งมาราธอนครั้งแรกประมาณ 3,000 คน แต่ปี 2566 นี้มีหน้าใหม่ 2,500 คน สะท้อนว่าการไม่ค่อยมีนักวิ่งเข้ามาในระบบช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิ่งมาราธอนหน้าใหม่น้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่มีสูงขึ้น ทำให้นักวิ่งต้องคิดมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้ต่าง ๆ สูงขึ้น ตั้งแต่ค่าสมัครที่ผู้จัดหลายรายปรับขึ้นตามต้นทุน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ฯลฯ

“นักวิ่งปัจจุบันเลือกงานมากขึ้น ต่างจากก่อนโควิดที่มักนิยมสมัครไว้ก่อนเยอะ ๆ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมามีหลายงานที่เมื่อนักวิ่งไม่พอก็ยกเลิก ทำให้นักวิ่งได้รับผลกระทบ เช่น จองตั๋วเครื่องบิน หรือที่พักไว้แล้ว ทำให้นักวิ่งคิดหนักขึ้น คิดนานขึ้น”

สอดคล้องกับบทสนทนาระหว่างบรรดานักวิ่งบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊กและพันทิป ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับร่วมงานวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนใหญ่ค่าสมัครสูงกว่า 500 บาทแล้ว หรือค่าใช้จ่ายทั้งค่ารถ ค่าที่พักสำหรับร่วมงานวิ่งในต่างจังหวัดอาจสูงกว่า 5 พันบาทต่อครั้ง แม้แต่งานวิ่งในกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่ 1-1.6 พันบาท จนหลายรายระบุว่าต้องลดจำนวนการสมัครลง

เทรนด์ใหม่สมัครช่วงใกล้วันงาน

“รัฐ” กล่าวว่า นอกจากนี้การที่หลายงานประกาศยกเลิกเพราะจำนวนผู้สมัครไม่ถึงจุดคุ้มทุน ทำให้ในยุคหลังโควิดพฤติกรรมการสมัครงานวิ่งของนักวิ่งเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่อยากสมัครงานวิ่งล่วงหน้านานนัก แต่หันไปสมัครในช่วงใกล้วันจัดงานมากขึ้นแทน ต่างจากเดิมที่จะสมัครทันทีที่เปิดรับ ซึ่งพฤติกรรมใหม่นี้เป็นความท้าทายของผู้จัดงาน เนื่องจากต้องเตรียมการล่วงหน้าหลายด้าน เพื่อคุมคุณภาพและความพึงพอใจ เช่น การสั่งผลิตเสื้อซึ่งระยะเวลาเพียง 30 วันอาจไม่ทันการ จึงเสี่ยงจะทำให้เกิดความไม่พอใจ หากนักวิ่งทราบในวันงานว่ายังไม่ได้เสื้อ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ

โดยผู้จัดหน้าใหม่ หรือผู้ที่จะจัดงานในแบรนด์ใหม่ และเป็นงานที่ไม่มีกลุ่มผู้เข้าร่วมชัดเจนจะท้าทายเป็นพิเศษ เนื่องจากนักวิ่งยังไม่เชื่อมั่น ทำให้มีจำนวนผู้สมัครน้อย และกระแสการลงสมัครจะช้าลง จึงต้องหาวิธีมาช่วยให้สามารถสมัครได้แม้จะก่อนงานเพียง 1 เดือน หรือ 15 วัน เช่น นำระบบบริหารสต๊อกแบบค้าปลีกมาใช้จัดการเรื่องเสื้อโดยนำบิ๊กดาต้ามาคาดการว่าเสื้อไซซ์ไหนจะมีความต้องการสูง และให้ผู้สมัครเลือกไซซ์อื่นแทนเมื่อไซซ์ที่ต้องการหมด เป็นต้น เช่นเดียวกับเลือกจัดงานที่มีกลุ่มผู้เข้าร่วมชัดเจนอย่าง ศิษย์เก่าของสถานศึกษา พนักงาน-คู่ค้าขององค์กร ฯลฯ

“การตัดราคาเป็นวิธีที่อันตราย เพราะต้นทุนของผู้จัดสูงขึ้นอยู่แล้ว ทั้งค่าแรง ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ หากลดค่าสมัครมากเกินไปจะกระทบคุณภาพของงาน การบริการ หรืออาจต้องยกเลิก ซึ่งจะกระทบทั้งอุตสาหกรรม”

มั่นใจนักวิ่งพุ่งหากเศรษฐกิจฟื้น

อย่างไรก็ตาม “รัฐ” ย้ำว่า แม้ขณะนี้จำนวนนักวิ่งจะถดถอยลงมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2558-2559 แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวครั้งนี้จะรวดเร็วกว่าเดิม เนื่องจากผู้บริโภคเข้าใจถึงความสำคัญของสุขภาพและการออกกำลังกายมากขึ้น จึงเหลือเพียงให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟูเท่านั้น จำนวนนักวิ่งทั้งไทยและต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สะท้อนจากงานวิ่งใหญ่ ๆ อย่างโตเกียวมาราธอน เมื่อเดือนมีนาคม มีนักวิ่งไทยเข้าร่วมถึง 800 คน เป็นสถิติใหม่จากปกติจะเข้าร่วม 300-400 คน หรืองานบางแสน 21 ซึ่งมีผู้สมัครเกินจำนวนช่วงก่อนโควิดแล้ว แสดงให้เห็นว่า นักวิ่งยังพร้อมเข้าร่วมงานหากมีความมั่นใจในคุณภาพของการจัด

แต่ระหว่างนี้ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาพูดคุยหารือและหาวิธีไม่ให้งานวิ่งเกิดใหม่มากและรวดเร็วเกินไป

  • “บุรีรัมย์ มาราธอน 2024” จัดใหญ่ปีที่ 8 ฉลองมาตรฐาน Gold Label ระดับโลก
  • วิธีเอาตัวรอด เมื่อเจอน้ำป่า หลังนักวิ่ง ปลุกภูกระดึง ปี 4 ประสบภัย
  • ม.สุรนารี พัฒนาสเปรย์ซัพพอร์ตข้อต่อนักกีฬา คาดส่งออกสู่ตลาดปี’67
เรื่องล่าสุด