ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
‘นักปฏิวัตินิรนาม’
ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ช่วงเวลาที่พวกเราพำนักและอาศัยเขตงานของพรรคพี่น้อง “มลายา” นั้น เราไม่รู้ว่าอนาคตของการต่อสู้ปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธทั้งของพรรคไทยและมลายาจะดำเนินไปสู่จุดจบอย่างไร
เรายังไม่ได้กลายเป็น “ชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์” หากแต่ยังเป็น “อัตวิสัยที่มีสำนึก” เชื่อและศรัทธาว่านี่คือหนทางที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้นที่การฆาตกรรมกลางกรุง 6 ตุลายัดเยียดให้แก่พวกเรา
วันหนึ่งมีแขกต่างประเทศคือสหายนำจากกองศูนย์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) แวะมาเยี่ยมเขตงานเรา
ผมมีโอกาสพบกับสหายนำของ พคม. ชื่อคุณวีที่ร่วมในคณะเดินทาง
เขามีอายุกลางคน รูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาวหน้าตาดีมีภูมิฐาน หากเจอในกรุงเทพฯ ก็คิดว่าเป็นผู้จัดการหรือเจ้าของบริษัทธุรกิจใหญ่ได้ พูดไทยและอังกฤษได้คล่อง
เขาแสดงความยินดีที่พวกปัญญาชนและนักศึกษาเข้าร่วมการปฏิวัติกับ พคท. เพราะเขากล่าวว่า อนาคตการปฏิวัติของมาเลเซียนั้นแขวนไว้กับการปฏิวัติของพรรคไทย เนื่องจากโอกาสจะได้ชัยชนะด้วยตัวเองนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก
ก่อนเขากลับผมมอบนิตยสารฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว (Far Eastern Economic Review) ให้แก่เขา นี่เป็นนิตยสารที่ผมได้รับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี หัวหน้าเก่าบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่ยังส่งหนังสือและวารสารที่มีประโยชน์ให้ถึงในป่า
สหายวีดีใจมากที่เห็นนิตยสารนี้ เพราะเขาคงหาอ่านได้ยากในฝั่งมาเลเซีย
หลังจากพักพิงอยู่กับสหาย พคม.กอง 8 จนถึงราวปลายเดือนตุลาคม ผมจำได้เคร่าๆ เพราะจำว่าฟังคำประกาศต่อสู้ด้วยอาวุธของบรรดาผู้นำนิสิตนักศึกษา และกรรมกร ชาวนา นักการเมืองพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยและนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หลายคน ส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนๆ ที่เคยเคลื่อนไหวทำงานด้วยกันมาก่อน 14 ตุลาก็มี หลัง 14 ตุลาก็มาก
เช่น “จดหมายจากวนาถึงนาคร” ของ อ.ชลธิรา สัตยาวัฒนา ธีรยุทธ บุญมี และเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ได้ฟังผ่านวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ซึ่งต่อไปจะเป็นแหล่งของข่าวสารและการส่งข่าวถึงกันและกันของบรรดาผู้คนที่หนีเข้าป่าในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
เมื่อจำนวนคนที่หลบภัยเข้ามามีมากพอสมควร ประกอบกับทางหน่วยงาน พคท.เขต 2 ก็ได้หาที่สร้างค่ายสำหรับรองรับพวกเราได้แล้ว ก็ถึงวันออกเดินทางเข้ายังเขตป่าเขาที่แท้จริงกันเสียที
ผมนึกไม่ออกว่าจากป่าสวนยางไปยังป่าเขาจริงๆ นั้น หน้าตาจะเป็นอย่างไร ชีวิตในนั้นจะเป็นอย่างไร
ทุกคนดูเหมือนเต็มไปด้วยไฟของการล้างแค้นการฆาตกรรมนักศึกษากลางกรุงเทพฯ ความลำบากและอนาคตที่ไม่รู้ชัดยังไม่เป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงมากนัก
ประกอบกับการได้มีโอกาสใช้กำลังอาวุธในการต่อสู้เป็นครั้งแรก ทำให้เราเห็นถึงความได้เปรียบและความมั่นคงในชีวิตของเราเองอย่างชัดเจน เทียบกับช่วงเวลาอาทิตย์ก่อนที่พวกเราต้องต่อสู้ในเมืองอย่างมือเปล่าและไม่มีกองกำลังหนุนหลัง
สหาย พคม.เล่าให้ฟังว่าก่อนเราเข้าไปไม่กี่วัน พวกเขาไม่กี่คนเพิ่งออกไปดักรถบนถนนแล้วยิงใส่รถเจ้าหน้าที่ตาย ตำรวจก็ไม่อาจตามจับพวกเขาได้
นั่นเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับที่พวกนักศึกษาประสบมาสมัยอยู่ในเมืองที่พวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อของทางการและกำลังเจ้าหน้าที่และกลุ่มติดอาวุธอย่างกระทิงแดงอยู่ตลอดเวลา
ขบวนทัพของบรรดานักศึกษาและปัญญาชนจากเมืองที่มารวมกันที่ค่ายของพคม.กอง 8 เริ่มเคลื่อนออกจากที่พัก จากนั้นก็มีการร่ำลาและขอบใจในไมตรีจิตและสัมพันธภาพระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ไทยกับมลายา ซึ่งคนในนั้นเรียกว่า “พรรคพี่น้อง”
ในอดีตทั้งสองพรรคต่างก็ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางผ่านประเทศไทยของสหายนำ พคม.ไปยังประเทศจีน ก็ได้รับการดูแลช่วยเหลือพาเดินทางโดยทางรถยนต์ไปส่งถึงชายแดนลาว เป็นต้น
พวกเราออกเดินทางเวลาเย็น เพราะจะต้องตัดผ่านถนนและใกล้หมู่บ้าน ฝ่ายนำคะเนว่าพวกเราน่าจะเดินผ่านช่วงนั้นราวหัวค่ำแล้ว ความมืดจะช่วยอำพรางไม่ให้ชาวบ้านแถวนั้นรู้ อันอาจเป็นอันตรายต่อการเดินทางต่อไป
ทั้งหมดดำเนินไปตามแผนการที่กำหนดไว้ รูปขบวนของการเดินทาง มีสหายที่เป็นนักรบกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) จำนวนหนึ่งเดินนำหน้า ถืออาวุธปืนคาร์บินและเอชเค
พวกเราตื่นเต้นที่ได้เห็นนักรบ ทปท.ตัวจริงเสียงจริง หลังจากได้ยินแต่ข่าวและคำร่ำลือ
การเดินทางของคนหลายสิบคน ย่อมเชื่องช้าและที่สำคัญคือเรื่องเสียง แม้จะไม่มีใครพูดคุยกันเหมือนเดินในห้างสรรพสินค้า แต่แค่เสียงของรองเท้าและเสื้อผ้าที่กระทบกับลำตัวและแขนขา ก็ทำให้เกิดเสียงพึ่บพับได้ในยามค่ำคืนที่สองข้างทางเงียบสงัดราวป่าช้า
หลังจากเดินฝ่าความมืดในสวนยางและป่าโปร่งข้ามควนและห้วยอย่างไม่ยากลำบากนัก ในที่สุดพวกเราก็ถึงจุดยุทธศาสตร์ที่สหายเป็นห่วงมาก คือการเดินผ่านถนนและบ้านคน
พวกเรากลั้นหายใจขณะที่เร่งฝีเท้าให้พ้นบริเวณนั้นอย่างเร็วและเบาที่สุด แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเสียงเท้าหลายสิบคู่ที่ย่ำลงไปบนพื้นดินนั้น ทำอย่างไรก็ไม่เงียบได้
พอผ่านช่วงนั้นได้ขบวนเราก็หักหัวเลี้ยวลงข้างทาง มุ่งสู่ความมืดและแถวต้นไม้ที่หนาทึบข้างหน้าอย่างไม่รอช้า
เสียงสหายเร่งฝีเท้าดังมาแผ่วเบา สัญชาตญาณบอกให้เรารู้ว่า ท่าทางจะไม่ค่อยดีเท่าไร หลายคนที่เดินช้าพยายามเร่งจนเกือบเป็นวิ่ง ขบวนแตกไม่ค่อยเป็นรูปแถวแนวอย่างที่เดินกันมาแต่แรก
แล้วพวกเราก็หายเข้าไปในความมืดของป่าข้างหน้า
วินาทีนั้นเรารู้สึกว่าความมืดคือความปลอดภัย ไม่ใช่พื้นที่อันน่ากลัวอีกต่อไป
นั่นคืออนาคตอีกไม่นานที่พวกเราก็จะกลายเป็นนักสู้ในดินแดนแห่งความมืด
หลายวันต่อมาหลังจากไปถึงค่ายพักที่ปลอดภัยแล้ว สหายจึงเล่าให้ฟังว่า กำนันในตำบลเขาแดง บ้านที่พวกเราเดินผ่านไป ได้ไปแจ้งฝ่ายตำรวจ มีการสอบถามและตรวจค้นการเดินทางของผู้คนแถวนั้นในเวลาต่อมา
หมายความว่าการเดินทางของพวกเราคืนนั้นได้เสียลับไปแล้ว เพียงแต่ว่ากำลังเจ้าหน้าที่ไม่ได้ออกตามมาในคืนนั้น ทำให้พวกเราไม่ต้องเผชิญการใช้กำลังที่ฝ่ายสหาย ทปท.เองก็บอกว่าไม่พร้อมในการรับมือ เพราะคนที่เข้ามานั้นมาก ในขณะจำนวนทหารป่าเองมีน้อยกว่ามาก หากมีการปะทะยิงกัน สิ่งที่พวกเขากลัวมากคือการที่พวกเราจะแตกหลงไปในป่า
นั่นหมายความว่าเราจะไม่มีทางหาทางมาเจอกันได้ จุดจบคือการถูกจับหรือที่ร้ายแรงที่สุดคือถูกยิงจากฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม เราได้แต่ปลอบใจว่า ในที่สุดโชคก็ยังเข้าข้าง ที่ไม่ถูกโจมตีหรือแตกหนีกันในคืนนั้น
ผลพวงที่สำคัญที่ตามมาคือ ในอีกราวเดือนต่อมา ก็มีกลุ่มและคนที่ลี้ภัยจากในเมืองเพื่อจะเข้าสู่เขตป่าเขามายังเขต 2 สงขลาอีก แต่คราวนี้พวกนั้นซึ่งรวมแล้วจำนวนมากกว่าชุดแรกที่ผมมาเสียอีก ปัญหาคือเส้นทางการเดินทางเข้าสู่ค่ายในป่าที่พวกเราพำนักนั้นไม่อาจใช้เส้นทางเดิมได้อีกแล้ว เพราะเสียลับไปแต่คราวแรก
ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเดินลึกเข้าไปในป่าลึกและเข้าไปในอาศัยพำนักในเขตปฏิบัติงานของ พคม.กองกำลังที่ 8 ซึ่งรายล้อมไปด้วยทุ่นระเบิด
ในที่สุดการ “เดินทางไกล” ของบรรดาคนจากเมืองที่หลบหนีภัยเข้าป่าชุดหลังที่ประสบความยากลำบากและอุปสรรคนานัปการระหว่างการเดินทาง เรื่องที่ประทับใจหลายคนไปนานคือการต่อสู้กับทาก ที่มีมากและกินเลือดสดๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
วิธีป้องกันคือต้องรัดขากางเกงให้แน่น หากถูกกัดก็เอายาเส้นผสมน้ำทา สหายบอกว่าจะทำให้มันเมาและลื่นหลุดไป
จะอย่างไรก็ตาม ยากที่จะไม่ถูกทากกัดเพราะมันเป็นธรรมชาติของป่า ส่วนเราเป็นสิ่งแปลกปลอม
การเดินทางครั้งนั้นอาจนับได้ว่าเป็นการเดินทัพทางไกลฉบับเล็กอันหนึ่งได้ เพราะได้ใช้เวลาราวเกือบสามเดือนกว่าจะมาถึงค่ายพักในป่าเขาได้ เนื่องจากต้องรอนแรมฝ่าเขาและป่าลึก ไม่อาจใช้เส้นทางที่เคยใช้มาก่อนได้ เพราะเกรงจะถูกซุ่มโจมตี
เนื่องจากข่าวการหลบหนีเข้าป่าของบรรดานักศึกษาจากเมืองได้แพร่งพรายออกไปสู่ทางการแถวนั้นแล้ว
วันที่ขบวนเข้าป่าของนักศึกษา ปัญญาชนและกรรมกรจากกรุงเทพฯ มาถึงค่ายพัก พวกเราดีใจอย่างยิ่ง เพราะยิ่งเป็นการให้กำลังใจและความเชื่อมั่นว่าหนทางและแนวทางที่พวกเราได้ตัดสินใจทำไปนั้นถูกต้อง จึงมีคนอีกมากมายพากันเลือกทางเดินเช่นเดียวกับเรา
มีการเข้าแถวปรบมือต้อนรับนักสู้ผู้มาใหม่อย่างกึกก้องทั่วแนวป่า บางคนก็สอดส่ายตาหาเพื่อนหรือคนที่รู้จัก เพราะข่าวที่แจ้งต่อคนที่อยู่ในค่าย เขาไม่สามารถบอกได้ว่ามีใครบ้างที่จะเดินทางเข้ามา ทุกอย่างต้องเป็นความลับเพื่อความปลอดภัยของทุกๆ คน
นี่เป็นหลักการข้อหนึ่งในอีกหลายข้อที่พวกเราต้องเรียนรู้ในเวลาต่อไป เมื่อเห็นเพื่อนและคนรู้จัก ต่างก็วิ่งเข้าหากัน จับมือและถามไถ่ถึงเรื่องราวในเมืองกันเป็นการใหญ่
ในบรรดาผู้มาใหม่เกือบร้อยคนนั้น มีคนที่ผมรู้จักเพียงไม่กี่คน ที่คุ้นเคยมากเพราะเคยร่วมทำกิจกรรมสมัยกลุ่มอิสระก่อน 14 ตุลา คือสภาหน้าโดมได้แก่คุณเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ (สหายยุค)
อีกคนคือรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ รุ่นก่อน 6 ตุลา คือ คุณวิรัช ศักดิ์จิระภาพงศ์ (สหายอาทิตย์) ซึ่งเดินทางเข้ามาพร้อมภรรยาที่เพิ่งแต่งงาน
อีกคนผู้จะมาเป็นหัวหน้าหน่วยที่ผมสังกัดคืออาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ (สหายดาว) จากมหิดล
อีกกลุ่มใหญ่ที่จำได้เพราะเคยไปช่วยอุดหนุนซื้อเสื้อผ้าสมัยประท้วงโรงงานฮาร่าที่ธรรมศาสตร์คือบรรดากรรมกรหญิงของฮาร่า เป็นกลุ่มที่เสียงดังและหัวเราะมากที่สุดตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ามาถึงค่าย มีหัวหน้าคณะมาด้วยคือวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ (สหายจัน)
กลุ่มกรรมกรฮาร่านั้นเกาะกลุ่มโดยมีคุณจันเป็นหัวหน้าและที่ปรึกษาในทุกๆ เรื่องและปัญหาของสมาชิกกลุ่ม
ความผูกพันและใกล้ชิดดังกล่าวจะดำรงสืบทอดมาอย่างยาวนาน แม้หลังจากออกจากป่ากันมาแล้วก็ตาม จนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิตของวนิดา (มด) ที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน
น่าสนใจว่าลักษณะการต่อสู้ปฏิวัติของ พคท.ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่กลุ่มกรรมกร นักศึกษา ปัญญาชนจากเมืองเข้ามาร่วมงานในป่า
กิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติได้แก่งานวัฒนธรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำได้ง่ายและบรรลุเป้าหมายของทุกฝ่ายคือการแสดงบันเทิงในวาระสำคัญของค่าย มีการจัดงานฉลองต่างๆ ที่จัดเป็นหลักเช่นงานรับสหายเข้ามาใหม่ งานส่งสหายลงไปปฏิบัติงาน วันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย 1 ธันวา วันแตกเสียงปืน 7 สิงหา หลังจากพวกนักศึกษาจากเมืองเข้าร่วมหลัง 6 ตุลา ก็มีงานวัน 6 ตุลาเพิ่มขึ้นอีกวัน
เนื่องจากมวลชนในเขตของเราเป็นคนมลายูมุสลิม ในเทศกาลถือศีลอด ก็จะมีการปฏิบัติของสหายมุสลิม หลังจากสิ้นเทศกาลศีลอดก็มีการจัดงานวันฮารีรายอ สุดท้ายก็คืองานปีใหม่
เรื่องจุดยืนต่อพรรคจีนเป็นประเด็นที่ผมเองก็อยากรู้เหมือนกัน วันหนึ่งมีแกนนำจัดตั้งระดับจังหวัด หมายถึงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจังหวัดของพรรค ที่รับผิดชอบในเขตภาคใต้ตอนล่างทั้งหมดแวะมาประชุมในหน่วยงานเรา
ผมมีโอกาสได้เจอและเขาก็คงรู้ว่าผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้พบได้
ผมถือโอกาสซักถามประวัติการทำงานและการรับเอาความคิดเหมาเจ๋อตงมาใช้ในพรรคไทยว่าเริ่มมาเมื่อไร
คุณอุดมในวัยอาวุโสหน้าตายิ้มแย้ม แหล่งข่าวบอกว่าชื่อหู้ แซ่ลิ้ม หรือบุญยงค์ ปลื้มล้ำ “เป็นคนตรังไปแต่งงานอยู่ที่หาดใหญ่ ไปเปิดร้านทำปี๊บเชื่อมโลหะ เป็นผู้ปฏิบัติงานรุ่นเก่าของพรรคตั้งแต่สมัยพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาไทย และเป็นคนเชื่อมประสานกับพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย” (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ใน “ลุงประวัตินักรบปฏิวัติเขตภาคใต้” (2550)
จากการพูดคุยกันวันนั้น ได้ความเพิ่มว่าลุงอุดมเคยเคลื่อนไหวตั้งแต่ขบวนการเสรีไทยในภาคใต้และร่วมกับ พคท.มาแต่ต้นๆ นับว่ายาวนานมาก จนได้เป็นกรรมการจังหวัดของพรรค ส่วนตำแหน่งอื่นไม่ทราบ ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญไม่น้อยในพรรคคอมมิวนิสต์ ผมถามลุงอุดมว่าพรรคไทยรับความคิดเหมาเจ๋อตงแต่เมื่อไร
คำตอบที่ได้รับทำให้ผมแปลกใจมาก เมื่อคุณอุดมกล่าวว่า พคท.ไม่เคยมีมติให้รับความคิดเหมาเจ๋อตงมาเป็นความคิดชี้นำของพรรค
ผมถามต่อแล้วคณะกรรมการกลางอ่านนิพนธ์เหมาเจ๋อตงกันบ้างไหมตั้งแต่เมื่อไร คุณอุดมก็ตอบอย่างหน้าตาปกติว่าไม่ได้อ่านอีกเช่นกัน อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ตรงข้ามกับความรู้สึกและรับรู้ของผมและเพื่อนหลายคนที่ได้อ่านนิตยสารและหนังสือฝ่ายก้าวหน้าที่พิมพ์เผยแพร่ในช่วงทศวรรษปี พ.ศ.2490 ถึงยุคปฏิวัติของสฤษดิ์ ที่มีบทความและบทแปลนิยายเรื่องสั้นของประธานเหมาและคนอื่นๆ เผยแพร่อย่างกว้างขวาง จนเชื่อกันว่ามาจากสายจัดตั้งของ พคท.ทั้งนั้น
แสดงว่าการโฆษณาและเคลื่อนไหวทางความคิดฝ่ายซ้ายของจัดตั้งในเมืองนั้นดำเนินไปโดยอิสระของแต่ละจัดตั้ง
ไม่ใช่จากคำชี้แนะหรือนโยบายและยุทธวิธีของการต่อสู้ในเมืองในสมัยนั้นของพรรคหรือ
ผมประเมินการอธิบายทางการเมืองของลุงอุดม ก็เห็นว่าเขาไม่มีร่องรอยและอิทธิพลของความคิดเหมาเจ๋อตงและซ้ายจัดจากพรรคจีน
ผมเลยเชื่อว่าลุงอุดมคงเป็นหนึ่งในผู้นำพรรคระดับสูงที่มีความคิดการเมืองแบบชาวบ้าน ไม่หวือหวาและไม่ติดทฤษฎีอะไร
ตอนแรกผมก็งงว่าเป็นไปได้อย่างไรที่แกนนำพรรคระดับสูงจะไม่มีทฤษฎีคอมมิวนิสต์อะไรบ้างเลยหรือ
กรณีลุงอุดมเป็นข้อยกเว้นที่น่าสนใจ ทำให้ผมได้คำตอบว่าทำไมคุณอุดมถึงไม่เคยถูกจับเลยตลอดหลายสิบปีที่เคลื่อนไหวจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่ พคท.สลายตัว
ผมตรวจดูหลักฐานและรายชื่อของคณะกรรมการกลางพรรค แทบทั้งหมดเคยถูกจับไม่ครั้งหนึ่งก็ครั้งใด และครั้งสุดท้ายที่ถูกจับมากที่สุดในที่ประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการกลางขยายวงที่ริมหาดบางแสนในปี 2530
แต่ลุงอุดมก็ไม่มีชื่ออยู่ในประวัติของทางการ จนแทบเป็นผู้นำระดับสูงของ พคท.ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรู้จักน้อยที่สุด
หลายปีต่อมาผมทราบว่าลุงอุดมเสียชีวิตแล้วในวัยชรา ผมไปเยี่ยมครอบครัวและทำบุญอุทิศกุศลให้แก่ลุงอุดม นักปฏิวัตินิรนามสามัญชนที่เป็นหนึ่งในแกนนำของพรรคปฏิวัติ พคท.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022