“ชลประทาน” พาเหรดผลงานวิจัยเสริมเขี้ยวเล็บกรมมุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ
“กรมชลประทาน” โชวศักยภาพ ผ่านงานนิทรรศการจัดการความรู้กรมชลประทาน KM Day 2023 ความร่วมมือ พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการบริหารน้ำให้มีศักยภาพ
31 สิงหาคม 2566 “นายเดช เล็กวิชัย” รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบริหาร กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการจัดการความรู้กรมชลประทาน KM Day 2023 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่าการจัดงานนี้เป็นการแสดงถึงผลวิจัยที่จะตอบโจทย์เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กร
โดยมีการนำเสนอผลงานแนวคิดคนรุ่นใหม่ RID Idea Seed และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะสอดรับการพัฒนาสู่องค์กรอัจฉริยะตามนโยบายกรมที่ให้มีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วทันสถานการณ์ มีประสิทธิภาพ สะดวกและปลอดภัยรวมถึงการประหยัดงบประมาณ
ทั้งนี้กรมได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีหลายด้าน อาทิ เรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก ใช้ในการบำรุงรักษาคลอง ในลำคลองเล็กแคบ ประหยัดน้ำมันและเวลา ช่วยกำจัดวัชพืชผักตบชวาได้อย่างต่อเนื่อง ใช้เพียงคนเดียวในการปฏิบัติงาน การคิดค้นสารกำจัดผักตบชวา สวพ.62-RID No.1 เป็นผลิตภัณฑ์กำจัดผักตบชวา ที่ใช้สารจากพืชยูคาลิปตัส ผสมกับสารกลีเซอรีนในรูปของเกลือ สามารถกำจัดผักตบชวาได้ และไม่มีสารตกค้างในน้ำและตะกอนไม่มีอันตรายต่อสัตว์น้ำและคน โดยเมื่อผักตบชวาดูดซึมสารฉีดพ่นต้นจะแห้งเหี่ยว
ทั้งนี้จะใช้ทุ่นยางพาราจำกัดพื้นที่ของกอผักตบเพื่อสะดวกต่อการฉีดพ่นก่อนจะใช้เครื่องมือเข้าไปจัดเก็บ อย่างไรก็ตามผักตบบางส่วนนำมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์และปุ๋ยอยู่ระหว่างการนำไปขยายผลชุมชน
นอกจากนี้ยังนำอากาศยานไร้คนขับ “ชลพิศ121” เป็นนวัตกรรมที่กรมเคยเปิดตัวไปเมื่อมิ.ย.66 ที่ผ่านมาเพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าชม
โดยเครื่องดังกล่าวมีความสามารถในการผลิตข้อมูล แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศรายละเอียดสูง สำหรับสนับสนุนภารกิจงานด้านชลประทาน และยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของอากาศยานไร้คนขับ เพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจหลากหลาย เช่น การขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องยังชีพ แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากและในระยะเวลาเร่งด่วนอีกด้วย
ทั้งนี้ผลของการจัดวัน KM DAY ทำให้เห็นความร่วมมือของบุคคลกรของกรม ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการบริหารน้ำให้มีศักยภาพ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีที่คนในองค์กรจับมือทำงานร่วมกัน เช่น นายสรณะคมน์ ช่างวิทยาการ จากสำนักชลประทานที่ 11 ร่วมกับนายจรูญ แสนสุข จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมชลประทาน ได้พัฒนาระบบการตรวจวัดระดับน้ำระยะไกลอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบโทรมาตรเคลื่อนที่ติดตั้งง่ายใช้เฉพาะกิจในฤดูน้ำหลากเสริมในพื้นที่ที่ไม่มีระบบโทรมาตร หรือต้องการเข้าไปตรวจวัดระดับน้ำสำหรับใช้วางแผนบริหาร
ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาให้ตรวจวัดปริมาณฝนที่ตกจริงในพื้นที่และคุณภาพน้ำอีกด้วย โดยต้นทุนหลักหมื่นบาทต่อจุดใช้ได้ทั้งไฟฟ้าปกติและพลังงานแสงอาทิตย์ส่งสัญญาผ่านระบบสื่อสารค่าใช้จ่ายระบบส่งสัญญาประมาณ 1 พันบาทต่อปี ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย เป็นอีกตัวอย่างงานที่น่าสนใจ