“ผมนี่เข้า 10 ด่านก็โดน (เรียกตรวจ) 10 ด่าน” เติ้ล – ณัฐกร เจนกิจ เจ้าของร้าน Option วัยรุ่นบางแสนพูดต่อ “มันเป็นคู่กันอยู่แล้วระหว่างทรงเอกับตำรวจ”
ไม่ใช่แค่เติ้ลเท่านั้นที่เล่าเรื่องลักษณะนี้ วิว เจ้าของเฟซบุ๊ก View View เองก็เล่าผ่านช่องยูทูป ‘ช่องคุณเอม’ ว่า ทรงเอเป็น “ขวัญใจด่านตรวจ เก็บทุกด่าน”
เรื่องเล่าที่คล้ายกันนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทำไมคนกลุ่มนึงถึงคิดว่าตัวเองเป็นที่รักของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากถึงขนาดกลายเป็นขวัญใจ แล้วทางตำรวจมองคนกลุ่มนี้อย่างไร เพ่งเล็งเป็นพิเศษจริงหรือเปล่า
The MATTER ลองพูดคุยกับทั้งกลุ่มทรงเอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเขามีประสบการณ์ต่อกันและกันอย่างไร ก่อนพยายามหาคำตอบนี้ผ่านการพูดคุยกับนักจิตวิทยาว่า ทำไมทรงเอถึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นขวัญใจตำรวจ
ใครคือทรงเอ
“ทรงเอก็มาจากเอเยนต์เนี่ยแหละครับ” เจ้าของร้าน Option บางแสนอธิบายคำว่าทรงเอได้อย่างเรียบง่ายและชัดเจนที่สุด
จากบทสัมภาษณ์ของเติ้ลใน The MATTER และบทสัมภาษณ์เอ็ม ออนิว รังสิต ใน Echo ประมวลไลฟ์ไสต์และลักษณะของคนกลุ่มนี้คร่าวๆ ได้ว่า
- เติบโตมาในครอบครัวยากจน ทั้งเติ้ลและเอ็มต่างยอมรับเรื่องนี้ตรงกัน เช่น เติ้ลที่ยอมรับชีวิตตัวเองติดลบ หรือเอ็มที่บอกว่าตัวเองโตมาในสลัม
- ให้ค่ากับวัตถุนิยม เอ็มกล่าวไว้ในคลิปว่า “สังคมผมมันจำกันที่ทรัพย์สิน” หรือสร้อยทองที่เป็นของต้องมีของทรงซ้อและทรงเอ
- ชอบแต่งรถ อาจเป็นรถกระบะหรือเก๋งก็ได้ โดยพัฒนามาจากมอเตอร์ไซค์แว๊นสมัยก่อน
- แฟชั่น คนกลุ่มนี้มักมีรอยสัก และมีแบรนด์ยอดนิยมของตัวเอง เช่น Shaft Denim, อภิชาติฟาร์ม, เต้ บ้านสวน, Hold’em Denim, Shuberry เป็นต้น
นอกจากนี้ สังคมมักผูกคนกลุ่มนี้เข้ากับธุรกิจสีเทาหรือดำ เช่น เว็บพนันออนไลน์และยาเสพติด เหมือนที่เติ้ลให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“เขาเลยนิยามคนแต่งแนวนี้ทำยา ทำเว็บ (พนันออนไลน์) ทำธุรกิจสีเทาและสีดำ คนส่วนใหญ่จะมองว่า เห้ย! อายุแค่นี้ทำไมมึถึงมีมากขนาดนี้วะ มึงต้องทำธุรกิจผิดกฎหมายแน่ คนก็อาจจะมองแบบเหมารวมไปเอง”
ทรงเอ – ขวัญใจตำรวจ
เติ้ลเล่าว่าตัวเขามักถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจอยู่เป็นประจำ ชนิดเข้า 10 ด่านถูกเรียกตรวจ 10 ด่าน โดยเขามองว่ามีสาเหตุมาจาก หนึ่ง เป็นวัยรุ่น สอง “ทรงเราได้” ที่หมายความว่า ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักแต่งตัวหรือมีไลฟ์ไสตล์คล้ายกันกับเขา
เช่นเดียวกับ ธาดา บุญพันธุ์ หรือ เอส ร่มเกล้า อดีตผู้ต้องขังซึ่งผันตัวมาทำช่องยูทูปเกี่ยวกับประสบการณ์ในเรือนจำ เขาเล่าว่าตัวเองก็มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
“โดนแทบทุกด่านแหละครับ เพราะผมสักแทบทั้งตัวและลักษณะเราออกแนวแบดๆ หรือนักเลงหน่อย ลักษณะภายนอกเราเป็นแบบนั้นจริง เพราะเราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เราโตมาในชุมชน ติดคุกมาด้วย อาจจะมีท่าทางหรือว่าคำพูด น้ำเสียง และเขาอาจจะมองแค่ตรงนั้นก็ได้” เอสกล่าว
เอสแชร์ประสบการณ์ว่ามีครั้งหนี่งที่เขาไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์มา แต่เมื่อถูกเรียกตรวจด้วยเครื่องวัดแอลกอฮอล์กลับขึ้น เขาจึงงถูกเรียกลงจากรถเพื่อตรวจค้นตัวและตรวจหาสารเสพติด เขาไม่ติดใจกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำเพราะทำตามหน้าที่ แต่สงสัยว่าทำไมถึงต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่สุภาพ เช่น การใช้เสียงดัง
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่บ่อยครั้ง เอสกล่าววว่า
ชินแล้วครับ เขาเจอหน้าเราเขาก็คิดว่าเราเป็นโจรครึ่งหนึ่งแล้ว ในความคิดเขา เราน่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยมากกว่าผู้บริสุทธิ์ เป็นภาพจำครับ
ตำรวจ – ดุลยพินิจ
“ตำรวจเองเขาใช้ดุลยพินิจในการจับกุม แต่ถ้ามีรอยสักโดนทุกคน” พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร เคยกล่าวไว้ในคลิปสอนยิงปืน (นาทีที่ 40.00 – 42.10) ถึงการตรวจค้นผู้ต้องสงสัยที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง
The MATTER ได้พูดคุยกับนายตำรวจ 2 คนถึงการเรียกตรวจค้นและทัศนคติต่อทรงเอ พวกเขามองคนกลุ่มนี้อย่างไร และเรียกตรวจบ่อยจริงไหม
“อย่างแรกที่สุดจะดูว่าคนนั้นเวลาเจอเจ้าหน้าที่มีท่าทีอย่างไร เช่น กลับรถหันหัว หรือก้มหน้าก้มตาไม่ยอมสบตาเจ้าหน้าที่ ก็จะดูจากตรงนั้นเป็นหลัก” จอร์จ (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนในกรุงเทพฯ กล่าวถึงหลักการเรียกตรวจเวลาปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง
จอร์จเสริมว่าลักษณะภายนอก ไม่ว่าการแต่งตัวหรือรอยสัก ไม่ได้ส่งผลให้เรียกตรวจค้น เท่ากับพฤติกรรมและบุคลิกเวลาที่เจอเจ้าหน้าที่
จากประสบการณ์ของจอร์จ แนวทางการทำงานของเขาให้ผลสำเร็จที่ “50/ 50” หรือในการเรียกตรวจผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 10 คนอาจพบผู้กระทำผิด 5 คนและผู้บริสุทธิ์ 5 คน
ด้านบิ๊ก (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรให้ข้อมูลว่า ปกติการตั้งด่านเรียกตรวจจะดูจาก “เหตุอันสงสัย” เช่น รถแต่งซิ่ง, รถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน, ประวัติบุคคล หรือลักษณะท่าทางของบุคคลนั้น รวมถึงใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งบิ๊กขยายความเรื่องดุลยพินิจว่า
“มันดูออกทันที ทรงแบบนี้” บิ๊ก (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร
“ส่วนมากที่จับเป็นทรงนี้ (เอ) หมดเลย คิ้วยักษ์ สักขา” บิ๊กแชร์ประสบการณ์การทำงานของตัวเองให้ฟัง โดยเขาเสริมว่าทรงเอที่บวชเป็นพระก็เคยจับมาแล้วเช่นกัน
“อาวุธ, ยาเสพติด, ร่างกายมีสารเสพติด, รถแต่งซิ่ง, ท่อดัง ส่วนใหญ่จะเรียกตรวจต้องมีข้อใดข้อหนึ่งในนี้ แต่ที่จับได้เป็นทรงนี้กันเยอะ” บิ๊กแชร์ประสบการณ์การทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ด้านจอร์จตระหนักว่ายการใช้อำนาจตรวจค้นส่งผลอย่างน้อย 2 ทาง หนึ่งคือช่วยระงับเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้น สองคือมันริดรอนสิทธิของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้เสียเวลา และอาจสร้างความขุ่นเคืองใจและทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันตำรวจได้เหมือนกัน
“แน่นอนว่าการเรียกตรวจ ริดรอนสิทธิของประชาชนอยู่แล้ว มาตรวจผมทำไม แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการระงับไม่ให้เหตุเกิดขึ้นได้ สมมติเขาเตรียมตัวไปจี้ทรัพย์ร้านสะดวกซื้อสักแห่ง เราเรียกตรวจถูกคนก็ระงับเหตุไว้ได้ก่อน เป็นการป้องกันก่อนเกิดเหตุ” จอร์จเสริม
ทำไมทรงเอถึงป็นขวัญใจตำรวจ
“อะไรที่คิดว่าไม่ถูกต้อง คุณมักจะมองหาความตายตัว – ที่ไม่ใช่ความตายตัวบนพื้นฐานการเหยียดผิว – แต่เป็นประเภทของคน…คุณได้สร้างความตายตัวผ่านประสบการณ์ท่ีคุณเคยเห็นคนประเภทนั้นมีส่วนกับอาชญากรรม” จากงานศึกษา Police stop, Decision-making and Practice ปี 2000
เพื่อหาคำตอบว่าทำไมกลุ่มทรงเอถึงมองว่าตัวเองเป็นขวัญใจตำรวจ เราได้อีเมลขอความเห็นจาก พัฒนกิจ ชอบทำกิจ หัวหน้าสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาเรื่องจิตวิทยาสังคม วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ เขาเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึง การเหมารวม (streotype) ที่อาจนำไปสู่อคติและการเลือกปฏิบัติได้โดยไม่รู้ตัว
พัฒนกิจเริ่มอธิบายว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะจัดประเภท หมวดหมู่ หรือสร้างแนวคิดใช้เรียกของสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าโต๊ะ, เก้าอี้, โทรทัศน์ รวมถึผู้คน เช่น คนญี่ปุ่น, คนจีน, คนเอเชีย, คนแขก ซึ่งการจัดประเภทเช่นนี้มักตามมาด้วยคำอธิบาย อันมีที่มาจากประสบการณ์และข้อมูลที่ได้รับ เช่น เสียงดังโวยวาย, สุภาพเรียบร้อย หรือยิ้มง่าย
อย่างไรก็ดี นักจิตวิทยสังคมผู้นี้เตือนว่าการจัดกลุ่มเช่นนี้อาจนำไปสู่การเหมารวม อคติ และโศกนาฎกรรมในที่สุด เช่น การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกันที่ถูกเจ้าหน้าตำรวจทำร้ายจนเสียชีวิต จนนำไปสู่การชุมนุม Black Lives Matter ซึ่งเขาอธิบายว่ามีที่มาจากอคติในสังคมอเมริกันที่มักเชื่อมโยงคนผิวสีกับอาชญากรรม
และถึงแม้เจ้าหน้าที่ที่ The MATTER ได้พูดคุยจะปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้มีอคติต่อทรงเอ แต่พัฒนกิจอธิบายว่าในปัจจุบันที่ทั่วโลกพยายามรณรงค์เรื่องความเท่าเทียม มนุษย์จึงซ่อนอคติไว้ไม่ให้แสดงอย่างโจ่งแจ้ง แต่ยังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น น้ำเสียง, อวัจนภาษา, สีหน้า หรือท่าทาง
“ถ้าเราเอากรณีศึกษาของ #BlackLivesMatter มาเปรียบเทียบกับ ‘ทรงเอ’ เราก็จะตระหนักว่าไม่ใช่ทุกคนที่แต่งกายแบบทรงเอ จะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเสมอไป อาจเป็นรสนิยม ความชอบทางเฟชั่นหรือศิลปะก็ได้” พัฒนกิจอธิบายทางอีเมลล์
เมื่ออคติเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว พัฒนกิจแสดงความเห็นว่า ผู้ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจึงควรรู้เท่าทันตนเอง ไม่ด่วนตั้งธงกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และพิจารณาการใช้อำนาจของตนต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม
“เมื่ออคติเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ทำให้กลุ่มเหล่านี้เสียเปรียบ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ชื่อเสี่ยงของวิชาชีพได้ด้วยว่ามีการเลือกปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยอคติ ปฏิบัติงานผิดพลาด” พัฒนกิจระบุ