บางแสน ชลบุรี

702136113fc151de0ac7a23de5136fb65e67e62110f4ba191b09e3c75deecefa.jpg

อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักประพันธ์ชั้นครู บรรณาธิการผู้สร้างนักเขียน(21)

ยูร   กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ดอกผลของงานเขียน

2. ดอกผลจากประสบการณ์ชีวิต

นอกจากงานเขียนชุดเหมืองแร่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ชีวิตอันแสนสาหัสครั้งเป็นกรรมกรเหมืองแร่ จากการผ่านเบ้าหลอมชีวิตมาเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งตกผลึก ได้ก่อเกิดเป็นผลงานหลากหลายทั้งนวนิยาย สารคดีและข้อเขียนต่าง ๆ

“ยักษ์ปากเหลี่ยม” เป็นสารคดีครั้งที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ทำงานที่สถานีไทยโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม สารคดีเรื่องนี้ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้ หากไม่มีวัตถุดิบที่เกิดจากประสบการณ์ตรงที่คลุกคลีอยู่ในวงการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อปี 2497 โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

กรรมการผู้จัดการคนแรกคือ ประสงค์ หงสนันทน์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จำนง รังสิกุล เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ กำจัด กีพานิช เป็นเลขานุการ

อาจินต์ ปัญจพรรค์ถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2498 กินเงินเดือน 800 บาท บอกเล่าเรื่องราวของสถานีโทรทัศน์รุ่นบุกเบิกแห่งแรกของประเทศไทยไว้ในหนังสือพิมพ์อินไซด์ทีวี คอลัมน์ “ยักษ์ปากเหลี่ยม”อย่างละเอียดลออทุกแง่มุม แทบไม่ตกหล่น ต่อมา ได้

ด้วยฝีมือในการเขียนอันช่ำชอง นอกจากอาจินต์ ปัญจพรรค์เล่าเรื่องราวในวงการทีวีได้สาระความรู้แล้ว ยังเขียนได้สนุกชวนอ่าน เดินเรื่องกระชับฉับไว้และตัดต่อได้อย่างลงตัว ที่สำคัญ นอกเหนือจากให้ความรู้และความสนุกแล้ว ยังให้แง่คิดอีกด้วย

“ร่ายยาวแห่งชีวิต”เป็นสารคดีชีวิตที่เล่าถึงชีวิตเยาว์วัยเมื่ออายุ 2-3 ขวบของอาจินต์ ปัญจพรรค์ มีทั้งหมด 50 ตอนสั้น ๆ ตั้งแต่เขาเกิด พ่อยังเป็นปลัดอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม บรรยายถึงบ้านริมน้ำที่มีเรือแพผ่านไปมา สภาพท้องทุ่งอันน่าอภิรมย์และฤดูกาล มีป้าที่ทำหน้าที่เหมือนแม่คนที่สอง เล่านิทานและภาษิตเก่า ๆ ให้ฟัง

ต่อมา พ่อพาไปฝากโรงเรียน ทั้งที่อายุยังไม่เข้าเกณฑ์ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตในโรงเรียน วัน ๆ เขาก็เล่นไป กินไป นอนหลับไป วัน ๆ อยู่บ้าน ก็ออกไปเที่ยวเล่นซุกซนบ้างตามประสาเด็ก จนกระทั่ง แม่ป่วยหนัก ป้ามารับเขาไปกรุงเทพฯ  ต่อมา แม่ก็เสียชีวิต

ระหว่างการเดินทางออกจากบ้านไปกรุงเทพฯ อาจินต์ ปัญจพรรค์บรรยายถึงสิ่งที่ได้พบเห็นจากการเดินทางโดยทางเรือ ทางรถยนต์ ทางรถไฟ ขณะเดินทางเขาก็ถามป้า เมื่อเห็นตัวหนังสือที่ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า แล้วหัดอ่านสะกดตาม  เป็นอย่างนี้ตลอดทาง จนกระทั่งถึงกรุงเทพฯ ซึ่งสมัยนั้นยังมีรถลาก

เด็กชายอาจินต์พักอยู่ที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งพระยาพหลฯ ปฏิวัติ ป้ารีบเก็บเสื้อผ้าลงหีบ จะพาเขาหนีกลับนครปฐม เพราะกลัวมีการปะทะกันกันรุนแรง เขาดีใจมาก เพราะจะได้กลับไปหาพ่อ  แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น เขาตาละห้อยอย่างหมดหวัง เมื่อป้าเอาเสื้อผ้าออกจากหีบ กระทั่งป้าอีกคนมารับเขากลับบ้านในตอนปิดเทอม

“ร่ายยาวแห่งชีวิต”เป็นสารคดีชีวิตที่เขียนเล่าได้ชวนอ่าน แต่ละบทสั้นกระชับและยังแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้ ไม่เหมือนการเขียนอัตชีวประวัติที่บรรยายล้วน ๆ แต่มีบทสนทนาแทรกเป็นช่วง ๆ ทำให้ได้บรรยากาศในการอ่าน บทสนทนานี่แหละที่ช่วยเพิ่มรสชาติของสารคดีชีวิตเรื่องนี้

“เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง”(ตอนที่ลงฟ้าเมืองไทยสะกดเป็น “จ้าวพ่อ”) เรื่อง “เจ้าพ่อ”เป็นนวนิยายที่เขียนเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขียนลงฟ้าเมืองไทยในช่วงท้าย ก่อนที่จะปิดตัว ถือว่าเป็นนวนิยายชิ้นเอกของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก เรียกว่าเป็นผลงาน“มาสเตอร์พีช”ในชีวิตนักประพันธ์ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่ฝากให้ให้แก่วงวรรณกรรมและสังคมไทย

เมื่อนำมาพิมพ์รวมเล่ม ทั้งเรื่อง “เจ้าพ่อ”และ “เจ้าเมือง” แม้จะเป็นคนละเล่ม แต่ทั้งสองเรื่องนี้จะเอ่ยถึงคู่กันว่า“เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง” เพราะเรื่องราวมีความเกี่ยวเนื่องกันที่เป็นเหมือนภาค 1 และภาค 2  

เป็นนวนิยายอิงชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ของ 3 ตระกูลและ 3ชั่วอายุคนที่มีความเกี่ยวพันกันตั้งแต่พ.ศ. 2461 ถึงพ.ศ. 2531คือสมัยการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช จนถึงยุคการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมเป็นระยะเวลา  70 ปี

ผลงานของอาจินต์ ปัญจพรรค์มักจะนำมาจากความทรงจำและประสบการณ์ชีวิต เหมือนงานเขียนชุด เหมืองแร่ที่เป็นเรื่องราวของตนเอง แต่ในเรื่อง “เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง”จำลองภาพมาจากชีวิตของคนอื่น ในที่นี่ก็คือบิดา ซึ่งไต่เต้ามาจากนายอำเภอ กระทั่งได้เป็นเจ้าเมือง

นวนิยายทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องราวอิงชีวิตจริงที่แน่นด้วยข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง ผสมผสานกับจินตนาการ โดยใช้ฉากชนบทที่เป็นสองฝั่งของแม่น้ำสุพรรณ

อันกว้างใหญ่และมีเสน่ห์ตรึงใจ โดยสร้างเรื่องราวให้เห็นถึงการต่อสู้ของปลัดอำเภอที่ต้องขับเคี่ยวกับเล่ห์เหลี่ยมของผู้มีอิทธิพลในชนบทและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งในชีวิตจริงแล้ว เรื่องราวของความขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน

คนสองคนที่มีวิถีทางต่างกันและอุดมคติตรงกันข้ามกัน เรียกว่าอยู่กันคนละขั้ว ทำงานในแบบของเอง เพื่อผลักดันตัวเองไปสู่เส้นชัยของชีวิตตนเอง นั่นก็คือ คนหนึ่งเป็น“เจ้าพ่อ” อีกคนเป็น “เจ้าเมือง”-นี่คือผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตการประพันธ์ของอาจินต์ ปัญจพรรค์

ผลงานที่มาจากประสบการณ์ชีวิตของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำในวัยเยาว์ จนถึงวัยทำงาน กระทั่งเป็นนักเขียน เกิดดอกผลเป็นงานเขียนประเภทต่าง ๆ อีกหลายเรื่องได้แก่ เรื่องสั้นกึ่งสารคดีชีวิต“วัยบริสุทธิ์”,สารคดี “ตะลุยอเมริกา-ผ่าตัดรัสเซีย”,ข้อเขียน “ปรัชยาไส้” ,นวนิยาย “เหยื่อกรุงเทพฯ”,ข้อเขียน “การหลงทางอันแสนสุข”,นวนิยาย “สนิมนา”,สารคดี “บอมบ์กรุงเทพฯ(สารคดี),นวนิยาย “นางฟ้าตกวิมาน” ข้อเขียน “โอ้ละหนอน้ำหมึก” เป็นอาทิ

 “แม่น้ำเป็นสายโลหิตของชาวนา เป็นที่หากินของชาวเรือ เป็นบ่ออาหารของคนตกปลาทอดแห บางทีมันก็เป็นหลุมฝังศพของคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นและเป็นที่สุดท้ายของคนอยากหนีนรกในชีวิต อาศัยก้นบึ้งของมันลาโลกไปสู่สวรรค์”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)

เรื่องล่าสุด