หาดวอนนภา บางแสน หากพูดถึงชื่อนี้ ภาพที่หลายๆ คนคงจะนึกถึงคือ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ชายหาดและพื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวก ที่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวไม่ขาดสาย รายล้อมไปด้วยคาเฟ่และสถานบันเทิง หนึ่งในจุดหมายพักผ่อนใกล้เมืองกรุง แต่มีน้อยคนที่จะทราบว่าภายใต้การพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ที่แห่งนี้มีหมู่บ้านชาวประมงที่เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของชุมชนหาดวอนนภาตั้งอยู่บริเวณท้ายหาดฯ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่คู่บางแสนมากว่าหลายทศวรรษ
ทุกวันนี้ชุมชนประมงพื้นบ้าน หมู่ 14 หาดวอนนภา กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายมากมาย ทั้งปัญหาน้ำเสียที่ไม่ได้รับการสอบถามหรือเยียวยาจากหน่วยงานใด หรือการสืบสานการทำประมงพื้นบ้านในพื้นที่ที่เหลือน้อยลงไปทุกวัน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการพัฒนาโดยรัฐที่คนในพื้นที่ต้องแบกรับ
Dot easterners พาทุกคนไปทำความรู้จักและรับฟังปัญหาจากสองผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน วิทูร นาคสุวรรณ และ มานพ ใจปลื้ม ประธานและรองประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน หมู่ 14 หาดวอนนภา ภายใต้สถานการณ์ที่ชุมชนประมงพื้นบ้านหาดวอนนภากำลังเผชิญอยู่ ด้วยคำอธิบายแบบกระชับใจความว่า ‘หมดจากเรา ก็อาจไม่มีใครแล้ว’
วิทูร นาคสุวรรณ
มานพ ใจปลื้ม
การทำประมงพื้นบ้านในสมัยอดีต เป็นอย่างไรบ้าง
วิทูร : สมัยก่อนหาดวอนนภา การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านดีมาก ได้ของเยอะ มาช่วงหลังนี้เริ่มได้กันน้อยลง เครื่องมือแพงขึ้นเรื่อยๆ ราคาอาหารทะเลก็ไม่ค่อยจะขึ้นเท่าไหร่ เป็นชาวประมงมันก็พูดลำบาก
มานพ : ในสมัยก่อนไม่ค่อยจะเหมือนสมัยนี้ จะเป็นพวกเรือแจว ส่วนใหญ่จะเป็นเรือใบ ไม่ได้ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ เรือเครื่องก็จะเป็นเครื่องน้อยๆ ไม่ใหญ่เท่าไหร่
ของทะเลที่หาได้ภายในพื้นที่มีอะไรบ้าง
วิทูร : ก็พวกปลา ปู กุ้ง หอย จะมีแค่นี้ พวกหอยนี่จะมาทำกันทีหลัง
พื้นที่สำหรับการทำประมงอยู่บริเวณไหน
วิทูร : สมัยก่อนก็อยู่ตรงนี้ (หมู่ 14) ข้างในหมู่ 14 บ้าง ไปหาข้างนอกบ้าง
มานพ : เรือก็จะจอดอยู่ตรงนี้ นอกจากว่ามรสุมเข้า เพราะว่าสมัยก่อน เรือมันไม่ลำไม่ใหญ่ ก็ต้องเย่อขึ้นกันเพราะสู้ลมไม่ไหว
เมื่อก่อนนี้หาปลากันได้เยอะไหม
มานพ : ก็เยอะ เมื่อก่อนปลาเห็ดโคน กิโลกรัมละ 20-30 บาท ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู กิโลกรัมละ 30-40 บาท ประมาน 40 ปีที่แล้ว รุ่นลูกก็หากินกันมาเรื่อยๆ
“ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องน้ำเสียเข้ามา สัตว์ทะเลก็หายหมด จะจับได้อีกก็ต้องรอให้น้ำดีก่อน แล้วสัตว์ทะเลมันถึงจะเข้ามาจากที่อื่น ถึงจะหากินกันได้ น้ำเสียมีผลกระทบมาทุกปี บางปี 2 – 3 รอบ แค่นี้ก็ตายหมดแล้ว หอยที่เกิดมา ตายหมด” มานพ กล่าว
วิทูร : หอยใช้เวลาโต 4 – 5 เดือน หอยกระปุก หอยลาย หอยเสียบ อะไรพวกนี้ ปูม้าปีนี้ก็ไม่ดี ธรรมดามีเลี้ยง แต่ที่กลุ่มไม่ค่อยมีเพราะว่าน้ำเสียพึ่งจะผ่านไป ปูม้าเกิดไม่ทันเอามาอนุบาล ถ้าไม่มีน้ำเสียก็ดี น้ำเสียกระทบเรารายได้น้อย จากหลักพันเหลือหลักร้อย พลิกแบบนั้นเลยนะ ขาดทุนแน่นอนเห็นๆ
“ถ้าน้ำเสียไม่มาถึง การหากินก็จะคล่องดี กุ้ง หอย ปู ปลา จะเกิดเร็ว ไม่ตาย แต่พอมันตาย กว่าจะมาอีกชุดหนึ่งใช้เวลานาน ถ้าน้ำเสียมาทีก็จะนั่งคุยกันอย่างนี้แหละ นั่งมองหน้ากัน ยังไงดีวะ ไปไหนดี” วิทูร กล่าว
น้ำเสียมาช่วงไหนบ้าง
วิทูร : น้ำเสียจะมาช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน
“ช่วงก่อนก็มา 2 หน 3 หนแล้ว มีมาเรื่อยๆ สมัยก่อนที่จำความได้ ตั้งแต่ออกทะเลมาไม่มีน้ำเสีย มามีเอาช่วงหลังๆ มันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเยอะไปมั้ง (หัวเราะ) คือผลกระทบนี้ น้ำไม่รู้จะไปไหนดีใช่ไหม ก็คงต้องหาทางระบายบ้าง” มานพ กล่าว
พอช่วงหลังอุตสาหกรรมขยายตัว ปลาลดลงไหม พวกพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำที่เคยหาได้ ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
มานพ : ถ้าไม่มีน้ำเสีย ก็หากินได้เรื่อยๆ หากินได้แบบไม่อด แต่ไม่เหมือนสมัยก่อน พอเรือเยอะ ของก็ขายเยอะขึ้น พวกพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อย่างเช่น ปลาเห็ดโคน บางวันก็ได้ 5 – 6 กิโลกรัม มาวันนี้ได้ 7 – 8 กิโลกรัม รุ่งขึ้นอีกวันอาจจะเหลือสัก 1 – 2 กิโลกรัม ไม่แน่นอน ก็วางอวนกันไว้ น้อยวันที่ว่าจะได้สัก 2 – 3 กิโลกรัม ได้เป็นขีดไม่ถึงกิโลกรัมยังมีเลย ออกไปแล้วก็ขาดทุนอย่างเดียว เพราะว่าตอนนี้น้ำมันแพง เสี่ยงขาดทุนเยอะ
“คนอายุปูนนี้ แก่แล้วจะไปหากิน ไปยึดอาชีพอะไร ไปสมัครทำงานใครจะรับ อายุขนาดนี้แล้ว เป็นยามเขายังไม่เอาเลย เขากลัวไปนั่งหลับ ก็ต้องยึดอาชีพตรงนี้จนทำไม่ไหวกันแหละ” มานพ กล่าว
มีพันธุ์ปลาอะไรที่หาไม่ได้แล้วบ้างไหม หลังจากมีปัญหาน้ำเสีย
วิทูร : ก็มีปลาทูที่ 2-3 ปีก่อน หาไม่เจอเลย แต่พึ่งจะมามีปีนี้
มานพ : สมัยก่อนปลาทูเยอะมาก แต่ตอนนี้บ้านเราว่าเยอะมันก็ไม่ได้เยอะ มีๆ หายๆ
แล้วตอนที่เจอปัญหา มีใครมาช่วยเราจัดการบ้างไหม
“ตอนนี้ยังไม่มี ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเลย” วิทูร กล่าว
แล้วชาวประมงพื้นบ้านทำอย่างไรกัน ในเมื่อหาปลาไม่ได้
“ก็ออกทะเลกันนั้นแหละ ถ้ามีนโยบายช่วยเหลือเหมือนทางเกษตรกรก็ดี ทำไร่ทำนา พอน้ำท่วมข้าวนาเสียหายยังมีรัฐบาลช่วย อย่างนี้น้ำเสีย น่าจะมีรัฐบาลช่วยชาวประมงบ้าง โอ้ย ดีใจกันทั่วประเทศ นี่เรื่องจริงนะ พอน้ำเสียมาทีก็นั่งน้ำตาหยด เพราะไปตรงไหนก็ไม่มี ได้ก็ส่วนน้อย ขาดทุนกันซะส่วนมาก” มานพ กล่าว
ขาดทุนกันไปเท่าไหร่แล้วบ้าง
วิทูร : (หัวเราะ) ดูราคาน้ำมันสิ ออกไปแต่ละทีได้ไม่ถึงหมื่น
มานพ : เมื่อก่อนเราวางอวนกันเยอะแล้ว เดี๋ยวนี้เราต้องวางอวนกันเยอะขึ้น แกะอวนไม่ทันของทะเลก็เน่าหมด ยังไงก็แกะไม่ทัน เมื่อก่อนวางอวนกันแค่ 2 ห่อ ก็ 60 – 70 กิโลกรัมแล้ว สมัยนี้ขนาด 7 – 8 ห่อยังได้ไม่เท่าไหร่ (หัวเราะ) แกะสบายเลย ไม่ต้องไปแกะบ้านเลย ก่อนนี้ปลาทูนี้เยอะแยะไป แต่ก่อนปลาหนาชุ่มจริง ของหากินสมัยก่อนนี้มันเลยไม่แพง
สภาพน้ำเสียบริเวณหาดวอนนภา
ภาพจาก มติชน
เมื่อก่อนชาวประมงสามารถเอาเรือขึ้นตรงหาดวอนนภาตรงที่ตอนนี้กลายเป็นโซนกำแพงกันคลื่นได้ สะดวกกว่ารึเปล่า
มานพ : หาดนี้เมื่อก่อนโล่ง ยาวไปเลย เรือขึ้นได้หมด ไม่มีหินอย่างนี้ สมัยก่อนหาดโล่งสวย ทีหลังนี้มาทำถนนออกมาเรื่อยๆ ตอนนั้นยังไม่มี เมื่อก่อนหาดยาวไปถึงหัวแหลมแท่นเลย ถามว่าสะดวกกว่ากันไหม ก็สะดวกเหมือนกัน เพราะว่าเราหาปลา เราก็ขึ้นเรือ ลงเรืออยู่เขตประมงอยู่แล้ว เพราะบ้านเราอยู่ในนี้ พ่อแม่เขาอาศัยอยู่ที่นี่ ทางฝั่งนู้นก็มี แต่เป็นส่วนน้อย มีไปเกือบถึงวงเวียนบางแสน แต่ก็น้อยลำ จะไปเยอะช่วงทางนี้ (หมู่ 14) ไปถึงบางแสนล่าง แต่รุ่นคนเฒ่าคนแก่ขายไป เลิกล้มกันไปตั้งเยอะแยะแล้ว เมื่อก่อนเรือเยอะกว่านี้
นอกจากนี้มีผลกระทบอื่นต่อชุมชนประมงที่นี่อีกบ้างไหม
มานพ : ผลกระทบเรื่องของอุปกรณ์ของต่างด้าว ที่ว่าอวนนภาของเรา ตามันจะโตกว่า ของต่างด้าวตามันจะเล็กกว่า พวกปูม้ามันก็จะสูญพันธุ์
เรือประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์
มานพ : เรือหางยาว เป็นลูกจ้างเขา ถ้าของประมงพื้นบ้านจะไม่มี พื้นบ้านจะตาโตกว่านี้ เส้นอวนจะโตกว่านี้ เนี่ยผลกระทบของที่นี่แหละ ปูม้าบ้านเราถึงสูญพันธุ์ อันนี้เขาย้ายมาจากที่อื่นไล่มาๆ จนย้ายมาอยู่ที่นี่กันหมดแล้ว
แล้วคนรุ่นต่อไปยังคิดทำประมงกันต่อไหม
มานพ : ถ้ามาหลังๆ ประมงชายฝั่งลดน้อยถอยลงเข้าทุกวัน
ตอนนี้มีคนที่ทำประมงกันอยู่กี่คน
มานพ : ก็มีเท่านี่แหละ น้อยลงเข้าทุกวัน คนรุ่นหลังไม่ค่อยมีเท่าไหร่หรอก เราจบ ป.4 จะให้ทำงานอะไรล่ะ ใช่ไหม พ่อแม่ปูย่าตายายยึดอาชีพประมง มารุ่นนี้ก็ต้องมาประมง แล้วพอเด็กรุ่นหลังเรียนสูงแล้ว เรียนสูงจบถึงปริญญาตรี วุฒิสูงๆ ไปทำงานอื่นไม่ดีกว่าเหรอ ออกไปทำงานข้างนอกกันหมด เดียวนี้งานเขามีหลายอย่าง เขาไม่มาเหนื่อยเหมือนรุ่นพ่อแม่แล้ว
ถ้าสมุติว่า เราสามารถพูดกับคนที่แก้ไขปัญหาได้ อยากบอกอะไร
มานพ : เรื่องน้ำเสียเขาช่วยไม่ค่อยได้หรอก น้ำเสียทุกปี ถ้าบอกว่าช่วยดูแลแล้ว แต่ยังไงก็มีมาทุกปี แต่ตอนแรกไม่มีมาเลยนะ อยากจะให้ช่วยเหลือเหมือนช่วยเหลือเกษตรกร ตอนที่พวกข้าว พืชผักผลไม้โดนน้ำท่วม มานึกถึงชาวประมงตอนที่น้ำเสียมา ถ้าไม่รู้จะทำอะไร ลงมาถามเขา มาช่วยเหลือเยียวยาเขามั่ง แค่นี้ชาวประมงก็ดีใจกันแล้ว น้ำเสียมีมาประมาณสิบปีได้แล้ว เมื่อก่อนไม่มี ของหากินเยอะ ไม่ต้องวางอวนไกล วางแถวชายหาดนี้ก็เยอะจนเก็บไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ปลากุแลเนี่ย ล้อมๆ แถวตามเรือจอดนี้ก็ได้แล้ว เอามาที 500 – 600 กิโลกรัม
เรื่องกฎหมายประมง ส่งผลกระทบกับเราบ้างไหม
วิทูร : เรื่องของเรือพาณิชย์พูดเยอะไม่ได้หรอก เดี๋ยวเรือเล็กจะโดนเล่นเอาอีก
มานพ : ลองคิดดู สมัยก่อนเรือเยอะขนาดไหน แล้วปัจจุบันเรือเหลือขนาดไหน พอกฎหมายออกมาก็เจ๊งกันไปเยอะใช่ไหม โดนจับทีแพงกว่ารถยนต์เป็นสิบคันอีก เรือลำละเป็นล้าน แล้วถ้ายึด ถ้าลูกน้องโดน ไต๋เรือก็โดนเหมือนกัน ต้องเสียค่าอะไรอีกเท่าไหร่ ไม่ต้องอะไรมาก ตอนนี้คนไทยยังได้กินของคนไทยอยู่ อีก 10 ปี คนไทยก็ต้องกินของนอกแล้ว
เพราะไม่มีปลาให้หาแล้วเหรอ
มานพ : เพราะว่าประมงพื้นบ้านสู้ไม่ไหว ตอนนี้นโยบายของประมงพื้นบ้าน ถ้าจะให้พูดคือ ประเทศไทยมีของมีอะไรอยู่รีบกินๆ เดี๋ยวในอนาคตต้องไปกินของนอกแล้ว ของไทยจะไม่มีให้กินเพราะเรือประมงพื้นบ้านมันเหลือน้อยลงทุกวัน
“อยากให้คนใหญ่คนโตเขาเห็นใจประมงบ้าง ลำบากก็ลำบาก หนาวก็หนาว เหนื่อยก็เหนื่อย ผลกระทบกับประมงพื้นบ้านหรือปัญหาต่างๆ ให้เกิดการดูแลกัน ให้ปัญหามันน้อยลงหน่อยก็จะดี ชาวประมงจะได้ดีใจ ชื่นใจกันบ้าง ของทำมาหากิน ถ้ามันได้กันจริงๆ เราก็จะได้ขายถูกได้ คนไทยจะได้ไม่ต้องไปกินของจากที่อื่น” มานพ กล่าว