วงการพระระวัง! รวบเซียนฟลุ๊ค เซียนพระกำมะลอหลอกปล่อยเช่าผ่านโซเชียลเสียหายกว่า 5 ล้าน เจ้าตัวสารภาพติดการพนันบ่อนวิ่ง พร้อมเผยกลวิธีหลอกเหยื่อ
วานนี้(12 มีนาคม 2566) เวลาประมาณ 15.30 น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. / หัวหน้าชุด PCT ชุดปฏิบัติการ 5 พร้อมกำลังตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 5 กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุมตัว นายภัทระหรือฟลุ๊ค (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ชาวหมู่ 9 ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงธนบุรี กระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง , โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” โดยจับกุมได้ที่บริเวณหน้าบ้านไม่ทราบเลขที่ ภายในซอยวัดร่าง บ้านกุดแห่ ถ.ชยางกูร ตำบลกุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งเป็นบ้านที่ผู้ต้องหาหลบมาพักอาศัย
จากการสอบปากคำในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ยอมรับว่า หลังเรียนจนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เริ่มก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2560 ขณะนั้นอายุประมาณ 19 ปี ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องใหม่สายภาคอีสานใต้ เคยมีเฟซบุ๊กสำหรับโพสต์ประกาศเช่าบูชาพระเครื่องส่งพระให้ลูกค้าจริง ชื่อบัญชี “ชรัณ มุกธวัตร” มีเครดิต มีคนติดตาม มีรายได้จากการปล่อยเช่าบูชาพระเครื่องกว่าเดือนละ 100,000 – 200,000 บาท/ต่อเดือน แต่เนื่องจากติดเล่นเสียการพนันตามบ่อนวิ่งไพ่ป๊อกในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถมีเงินมาหมุนทำการเช่าซื้อขายพระได้ จึงใช้เครดิตการเช่าซื้อขายพระที่พอมีชื่อเสียง ทำการหลอกเช่าบูชาพระเครื่องกับลูกค้าที่สนใจในกลุ่มเฟซบุ๊ก อาทิเช่น สุดยอดวัตถุมงคลหลวงปู่แสง ญาณวโร, พระเครื่องหลวงพ่อเล็กวัดท่าขนุน และกลุ่มครูบากฤษดา เป็นต้น เมื่อมีลูกค้าเริ่มทราบข่าวการถูกโกง ก็จะเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊ก โดยใช้วิธีการสลับเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กเดิมจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ หรือสลับใช้นามสกุลภาษาอังกฤษขึ้นก่อนชื่อ หรือใช้ชื่ออื่น ๆ ที่สื่อความหมายถึงวัด เช่น “Charun”, “Pat Pat” , “Pattara” และ “ Watpa” ทั้งนี้ ช่วงใดที่เล่นพนันจนมีเงินก้อนพอใช้ก็จะหยุดโกงเพื่อให้เรื่องซา และกลับมาทำใหม่อีกเช่นเดิมวนไป
นายภัทระ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยมีผู้เสียหายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อเดือนละประมาณ 20 ราย มีรายได้จากผู้เสียหายที่หลงเชื่อรายละ 5,000 ถึง 400,000 บาท ก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2560 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 5,000,000 (ห้าล้านบาท) เงินที่ได้จากการก่อเหตุรับว่านำไปใช้จ่ายในชีวิตและเล่นพนันตามบ่อนวิ่งไพ่ป๊อก
จากการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดในฐานข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบข้อมูลประวัติคดี ในฐานข้อมูล จำนวน 9 คดี ประกอบด้วย
(1) ปี 2564 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ตัวการฉ้อโกง ” ท้องที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ /สถานะหลบหนี
(2) ปี 2564 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ตัวการ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนฯ ” ท้องที่ สภ.เมืองขอนแก่ง /สถานะควบคุมตัว
(3) ปี 2564 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนฯ ” ท้องที่ สภ.แสนสุข /สถานะหลบหนี
(4) ปี 2565 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ตัวการพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ” ท้องที่ สภ.เมืองนนทบุรี /สถานะควบคุมตัว
(5) ปี 2565 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ตัวการฉ้อโกงนำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ” ท้องที่ สน.สายไหม / สถานะอยู่ระหว่างหลบหนี
(6) ปี 2565 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกง,นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ” ท้องที่ สน.สมเด็จเจ้าพระยา / สถานะหลบหนี
(7) ปี 2565 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ตัวการฉ้อโกง,ตัวการการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ที่มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ” ท้องที่ สภ.ชัยบาดาล /สถานะควบคุมตัวถอนหมายจับ
(8) ปี 2566 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ตัวการฉ้อโกง ” ต้องที่ สน.ธรรมศาลา สถานะ /อยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินคดี
(9) ปี 2566 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ” ท้องที่ สภ.เมืองราชบุรี /สถานะอยู่ระหว่างการสอบสวนดำเนินคดี
เบื้องต้น ตำรวจจึงได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป