พระพี่เลี้ยง ๓ มหาราช! ทรงยกย่องเป็นแม่คนที่ ๒ บ้างก็มีฝีมืออาบน้ำทาขมิ้นจนเป็นสีจันทร์!!
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: โรม บุยนาค
พระมหากษัตริย์เมื่อทรงพระเยาว์ก็ย่อมมีพระพี่เลี้ยงเช่นเด็กธรรมดาทั่วไป บางท่านยังทำหน้าที่เป็นแม่นมด้วย ความผูกพันด้วยความใกล้ชิดและความรักนี้ เมื่อขึ้นครองราชย์จึงทรงให้ความเคารพยกย่องกว่าข้าราชสำนักคนอื่นๆ บางองค์ก็ทรงยกย่องพระพี่เลี้ยงนางนมเสมือนแม่คนที่สอง พระพี่เลี้ยงจึงเป็นสตรีที่ได้รับการบันทึกไว้ในพงศาวดาร ซึ่งน้อยนักที่จะบันทึกเรื่องราวของสตรีสามัญชนไว้
พระพี่เลี้ยงนางนมที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ก็คือ “เจ้าแม่วัดดุสิต” สมัญญานามของสตรีนางหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “บัว” ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าเป็นเจ้าหรือสามัญชน ได้แต่งงานกับทายาทของพระยาเกียรติ ขุนนางมอญที่ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาตั้งแต่ครั้งทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และเป็นมารดาของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อีก ๒ ท่าน ก็คือ เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) ทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับ เจ้าพระยาโกษา (ปาน) ราชทูตคนดัง และเหตุที่ได้สมัญญานามว่า เจ้าแม่วัดดุสิต ก็เพราะสมเด็จพระนารายณ์พระราชทานตำหนักริมวัดดุสิตดารามให้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังทรงเรียก “เจ้าแม่วัดดุสิต” ด้วยพระองค์เองด้วย
เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นผู้ที่สมเด็จพระนารายณ์ให้ความเคารพเสมือนแม่คนที่ ๒ จึงเป็นสตรีที่มีบารมีมากในยุคนั้น มีบันทึกในพงศาวดารตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ไปสร้างวังที่ลพบุรี เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีคนโปรดได้สึกพระเณรจำนวนมากไปเป็นกุลีก่อสร้าง ทำให้ขุนสรศักดิ์ ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าเสือ โกรธมากนำไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ แต่สมเด็จพระนารายณ์มิได้ลงโทษเจ้าพระยาฝรั่งแต่อย่างใด ขุนสรศักดิ์จึงลงโทษเสียเอง ต่อปากวิชเยนทร์จนฟันหักไป ๒ ซี่
เจ้าพระยาวิชเยนทร์อมเลือดกลบปากไฟทูลฟ้อง ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงกริ้วอย่างมากรับสั่งให้ล่าตัวขุนสรศักดิ์มาให้ได้ ขุนสรศักดิ์ก็รู้ตัวดีว่าโทษนี้มหันต์ จึงลอบลงมากรุงศรีอยุธยาขอความเมตตาจากเจ้าแม่วัดดุสิต เจ้าแม่จึงพาขุนสรศักดิ์นั่งเรือขึ้นไปลพบุรี แต่ให้รออยู่ที่ท่าเรือขณะที่นางเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ขออภัยโทษให้ขุนสรศักดิ์ ผลจึงปรากฏว่าเจ้าพระยาฝรั่งเสียฟันฟรีไป ๒ ซี่
ต่อมาเจ้าแม่วัดดุสิตได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์ ซึ่งเป็นพระอิสริยศของบรมราชชนนีพันปีหลวง และเมื่อเจ้าแม่วัดดุสิตถึงแก่อสัญกรรม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระภูษาขาว
เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ แสดงกตเวทิตาเป็นครั้งสุดท้าย
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการบันทึกถึงพระพี่เลี้ยงอีกท่านหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดปรานมาก คือ เจ้าคุณบวรโภชน์ (ฉิม) ธิดาเจ้าพระยายมราช (ฉ่ำ) ซึ่งคงจะมีบ้านอยู่ใกล้กับพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ผู้เป็นพระอัยกา จึงมีโอกาสได้ทำหน้าที่พระพี่เลี้ยงมาแต่ทรงพระเยาว์ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทาน
บรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าคุณ” และคำว่า “บวรโภชน์” ก็เป็นชื่อวัดที่บิดาท่านสร้างไว้ที่กรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเรียกว่า “พี่สีจันทร์” เพราะมีฝีมือในการอาบน้ำทาขมิ้นถวายเมื่อวัยเยาว์ จนผิวเหลืองเนียนไปทั้งองค์เหมือนสีของลูกจันทร์สุก
ในการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าคุณนี้ ท่านได้รับพระราชทานเครื่องยศมาเป็นจำนวนมาก เช่น พานหมากทอง หีบหมากทอง กระโถนทอง ขันล้างหน้าทองพร้อมพานรอง และสำรับกับข้าวทอง แต่ท่านชอบทำบุญสุนทาน โดยเฉพาะปฏิสังขรณ์วัดบวรโภชน์ เมื่อขาดเงินทำบุญท่านก็เอาเครื่องยศหลอมเป็นทองออกขาย ซึ่งนับว่าเป็นความผิดฉกรรจ์ เป็นเรื่องที่โจษจันกันมาก จึงมีผู้นำไปกราบทูลฟ้อง พอท่านทราบก็รีบไปเข้าเฝ้าทันที กราบทูลว่าของที่ให้ไปแล้วก็เข้าใจว่าให้ไปเลย ไม่เห็นมีที่ไหนเขาเอาคืนกัน อยากจะทำบุญก็ยุบขายเอาไปทำบุญหมดแล้ว ถ้าจะทรงเรียกคืนก็ไม่มีจะถวายแล้ว จะให้รับพระราชอาญาถึงชีวิตก็ยอม พระเจ้าอยู่หัวทรงฟังคำตัดพ้อของพระพี่เลี้ยงในวัยชราก็ทรงขบขัน รับสั่งว่าใครเขาไปทวงคืน เมื่อขายไปแล้วก็แล้วกัน ถ้าเงินทำบุญไม่พอก็จะให้อีก รับสั่งแล้วก็พระราชทานเงินให้ไปทำบุญอีก ๕๐ ชั่ง
เมื่อเจ้าคุณบวรโภชน์ถึงอสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานโกศหลังเจียดเหมือนศพเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ และทรงภูษาลายยกพื้นขาวเสด็จพระราชดำเนินในการศพทุกวันจนพระราชทานเพลิงศพ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏในพงศาวดารว่ามีพระพี่เลี้ยงเช่นกัน คือ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าหญิงละม่อม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ พระสนมเอก และเป็นพระขนิษฐาร่วมกับเจ้าจอมมารดาเดียวกันกับสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระบิดาในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระราชชนนีในรัชกาลที่ ๕
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ ๘ พรรษา สมเด็จพระเทพศิรินทราฯเสด็จสวรรคต พระองค์เจ้าละม่อมได้เลี้ยงเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และพระขนิษฐา พระอนุชาทุกพระองค์ สมเด็จพระปิยมหาราชทรงเคารพและยกย่องกรมพระยาสุดารัตนฯเสมอพระราชชนนี ทรงออกพระนามว่า “เสด็จยาย” และโปรดให้พระราชโอรสพระราชธิดาทุกพระองค์ออกนามว่า “ทูลกระหม่อมย่า” เมื่อขึ้นครองราชย์ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าละม่อมขึ้นเป็น พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร ต่อมาโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร และทรงร่วมสร้างกุศลกับ “สมเด็จยาย” บูรณปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว บนเกาะเกร็ด เมืองปทุมธานี พระราชทานนามเป็นอนุสรณ์ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” ตามพระอิสริยศพระเจ้าบรมอัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรประชวรด้วยโรคชราสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนม์ได้ ๗๗ พรรษา โปรดให้อัญเชิญพระศพมาบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานบนแว่นฟ้า ๓ ชั้น ประกอบพระโกศทองใหญ่ ภายใต้เศวตฉัตร ๗ ชั้น และให้ใช้คำว่า “สวรรคต” เสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บรรจุพระอังคารใต้ฐานพระธรรมจักร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราทราชวรวิหาร
ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
การเคารพบูชาบุพการีที่เลี้ยงดูมา เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของผู้มีคุณธรรม ซึ่งเป็นคุณงามความดีที่เกิดขึ้นในจิตใจ และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักการเมืองและผู้นำประเทศ ดังมีคำกลอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
เมื่อความรู้ยอดเยี่ยมสูงเทียมเมฆ
แต่คุณธรรมต่ำเฉกยอดหญ้านั่น
อาจเสกสร้างมิจฉาสารพัน
ด้วยจิตอันไร้อายในโลกา
แม้คุณธรรมสูงเยี่ยมเทียมเมฆ
แต่ความรู้ต่ำเฉกเพียงยอดหญ้า
ย่อมเป็นเหยื่อทรชนจนระอา
ด้วยปัญญาอ่อนด้อยน่าน้อยใจ
หากความรู้สูงล้ำคุณธรรมเลิศ
แสนประเสริฐกอปรกิจวินิจฉัย
จะพัฒนาประชาราษฎร์ทั้งชาติไทย
ต้องฝึกให้ความรู้คู่คุณธรรม