บางแสน ชลบุรี

ม.บูรพา พัฒนา “ชุดตรวจฟอร์มาลินในอาหาร” แบบพกพา วินิจฉัยได้เร็ว

ม.บูรพา พัฒนา “ชุดตรวจฟอร์มาลินในอาหาร” แบบพกพา วินิจฉัยได้เร็ว

นวัตกรรม

16 ธ.ค. 2565 เวลา 14:45 น.

ทีมวิจัยม.บูรพา พัฒนา “ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหารแบบพกพา” มีความแม่นยำ รู้ผลไว ได้มาตรฐานสากล ใช้ตรวจจริงแล้วที่ร้านหมูกระทะในเทศบาลเมืองแสนสุข บพข. เผย มุ่งผลิตจำหน่ายในราคาต่ำเพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อมาตรวจเองได้

จากกระแสข่าวที่พบว่ามีการใช้ สารฟอร์มาลิน (น้ำยาดองศพ) แช่เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ที่ถูกจำหน่ายไปยังร้านหมูกระทะทั่วเขตจังหวัดชลบุรี ทำให้เกิดความกังวลใจแก่ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร เมื่อไม่นานมานี้ (7 ธ.ค. 65)

ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ม.บูรพา พร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองแสนสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยในอาหารจากการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลิน 

โดยทำการตรวจสอบวัตถุดิบในร้านหมูกระทะในบริเวณพื้นที่บางแสน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และมีร้านหมูกระทะอยู่จำนวนมาก โดยใช้ชุดทดสอบสารฟอร์มาลินในอาหาร (Formalin test kit) ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ “เครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมการวินิจฉัย: การพัฒนาห้องปฏิบัติการผลิตชุดตรวจวินิจฉัยของมหาวิทยาลัยบูรพา” 

ม.บูรพา พัฒนา “ชุดตรวจฟอร์มาลินในอาหาร” แบบพกพา วินิจฉัยได้เร็ว

จากการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บริษัท ฮาลา ฟู๊ด (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมี มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร อาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ ม.บูรพา เป็นหัวหน้าโครงการ คลายความกังวลใจให้กับชาวชลบุรี และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนในพื้นที่บางแสน 

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มีการสุ่มตรวจวัตถุดิบในร้านหมูกระทะจำนวน 21 ร้าน พบว่า 20 ร้านปลอดภัยจากสารฟอร์มาลิน และมีเพียง 1 ร้านที่ตรวจพบสารฟอร์มาลิน โดยพบในปลาหมึกกรอบ และสไบนาง (ผ้าขี้ริ้ว) 

หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ชุดตรวจถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล ISO9001 เพื่อรองรับการผลิตชุดตรวจด้านการแพทย์ อาหารปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถใช้ทดสอบได้ทั้งในเนื้อสัตว์และอาหารทะเล และมีความแม่นยำสูงเทียบเคียงได้กับชุดทดสอบจากองค์การเภสัชกรรมและยังมีผลวิจัยรับรอง  

หลังจากลงพื้นที่สุ่มตรวจฟอร์มาลินตามร้านหมูกระทะต่าง ๆ ในพื้นที่บางแสน และประกาศรายชื่อร้านที่ผ่านการทดสอบ ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ร้านต่าง ๆ ที่ผ่านการทดสอบได้มีการนำไปแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารแก่ลูกค้า ทำให้มีจำนวนลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมากขึ้น 

ม.บูรพา พัฒนา “ชุดตรวจฟอร์มาลินในอาหาร” แบบพกพา วินิจฉัยได้เร็ว

ขณะเดียวกัน ร้านอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับการทดสอบก็มีความสนใจอยากได้รับการทดสอบจากเราเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เทศบาลชลบุรีก็ได้ทำการซื้อชุดตรวจดังกล่าวจากโครงการฯ ไปใช้สำหรับการตรวจความปลอดภัยอาหาร เพื่อเป็นการเรียกความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

ชุดตรวจดังกล่าวได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายให้คนทั่วไปสามารถใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับการตรวจคัดกรองความปลอดภัยในอาหาร โดยที่สีของอาหารไม่รบกวนการทดสอบ ผลิตจาก นวัตกรรมเซนเซอร์แบบกระดาษ สามารถใช้ตรวจสอบได้ทั้งชิ้นเนื้อและน้ำแช่อาหาร ด้วยประสิทธิภาพความแม่นยำ 100% ใช้งานง่าย ราคาไม่แพง พกพาสะดวก รู้ผลไวภายใน 5 นาที 

โดยนำตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือน้ำแช่อาหารที่ต้องการทดสอบใส่ในขวดเตรียมตัวอย่าง จากนั้นหยดลงตรงกลางของเซนเซอร์กระดาษ แล้วอ่านผลจากขนาดวงสีชมพูที่เกิดขึ้น โดยขนาดของวงจะบอกถึงปริมาณของฟอร์มัลดีไฮด์ (ส่วนประกอบหลักของสารฟอร์มาลิน) ที่มีอยู่ในอาหาร

ที่ผ่านมาทางทีมวิจัยได้มีการนำชุดตรวจลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบฟอร์มาลินในอาหารทะเลที่จำหน่ายโดยชาวประมงพื้นบ้านบริเวณหาดวอนนภา ชายหาดบางแสน ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลการทดสอบการปนเปื้อนจากฟอร์มาลิน พบว่าอาหารทะเลที่จำหน่ายในตลาดแห่งนี้ปลอดภัยจากฟอร์มาลินในทุกตัวอย่างที่ตรวจ

ทั้งนี้ การลงตรวจได้รับความร่วมมือจากผู้จำหน่ายอาหารทะเลในตลาดเป็นอย่างดี โดยผลของการทดสอบดังกล่าวยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ว่าอาหารทะเลที่จำหน่ายโดยประมงพื้นบ้านปลอดภัยจากการปนเปื้อนฟอร์มาลิน

ทำให้ผู้ซื้อได้รับความมั่นใจในการซื้อเพื่อไปบริโภค และเป็นการเพิ่มมูลค่าของอาหารทะเลที่จำหน่ายในตลาดแห่งนี้ นอกจากนี้ชุดตรวจดังกล่าวยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Pitching on the Beach ภายใต้โครงการ BUSINESS BROTHERHOOD AT BURAPHA 2020 อีกด้วย

สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข. พยายามผลักดันการวางระบบโครงการสร้างฐานด้านการแพทย์และอาหารที่ได้มาตรฐานสากลให้กระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ

โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีความพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์บริการวิชาการ และเปิดให้ภาคเอกชนสามารถมาใช้บริการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับทดลองวางจำหน่าย ก่อนนำไปต่อยอดขยายสเกลสร้างห้องปฏิบัติการของตัวเองต่อไป 

ซึ่งโครงการนี้ บพข. ได้ให้การสนับสนุนทุนในการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการผลิตชุดตรวจด้านการแพทย์ รวมถึงสนับสนุนทุนในการพัฒนาชุดตรวจต่าง ๆ แก่ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ม.บูรพา โดยมุ่งหวังจะให้เป็นศูนย์การผลิตชุดตรวจด้านการแพทย์และอาหารที่ได้มาตรฐานสากลในเขตภาคตะวันออกต่อไป

นอกจากชุดตรวจสารฟอร์มาลินในอาหารแล้ว ยังมีชุดตรวจอื่น ๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นภายใต้ห้องปฏิบัติการของโครงการฯ เช่น ชุดตรวจคัดกรองอย่างง่ายสำหรับเชื้อก่อโรคกลุ่มวิบริโอ (Vibrio Test Kits) หรือโรคท้องร่วงรุนแรงในอาหารทะเล ชุดตรวจวินิจฉัยสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ และชุดตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงโรคไต: ยูเรีย ครีอะตินิน อัลบูมิน เป็นต้น 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ใช้งานง่าย มีราคาถูก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และสามารถนำอุปกรณ์ไปใช้ได้จริง เหมาะสมกับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่าย ซึ่งภายหลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้นได้มีแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ บริษัท อินโนเซ็นส์ 2021 จำกัด 

ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปของนิสิตที่จบจากมหาวิทยาลัย ดังนั้น ห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นศูนย์การผลิตชุดตรวจฟอร์มาลินและเป็นการบ่มเพาะของสตาร์ตอัปเพื่อให้สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการบริหารงานอย่างยั่งยืนก่อนที่จะ spin off ต่อไป 

เรื่องล่าสุด