บางแสน ชลบุรี

01-171-728x364.jpg

TCEBดัน4ภาคสู่เมืองไมซ์นานาชาติ เชียงรายเมืองชา-บูมสินค้าพรีเมียม

  • TCEB”ปี’66ปูพรมดัน 4 ภาค ดึงอัตลักษณ์จุดขาย “เมืองไมซ์” 4 ด้าน “เที่ยวเชิงไมซ์-เกษตรอุตสาหกรรม-ศิลปะหัตถกรรม-สุขภาพ”
  • ภาคเหนือโชว์ความสำเร็จโมเดล“เชียงใหม่-เชียงราย”เมืองสภาชากาแฟนานาชาติขยายสู่สงขลา
  • เปิดตลาดใหญ่ปั้น “พรีเมี่ยมไมซ์” นำสินค้าชุมชนขายทั่วไทยและทั่วโลก

นางสาวปาริฉัตร เศวตเศรนี ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” เปิดเผยว่า ทีเส็บเดินหน้าปักหมุดผลักดันภาคเหนือตอนบน นำร่อง 2 จังหวัด “เชียงใหม่กับเชียงราย” เป็นเมืองไมซ์ชากาแฟนานาชาติ ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 โดยเข้าไปสนับสนุนการจัดงาน ASEAN Coffe and Tea Festival ให้เป็นแฟล็กชิพงานประชุมสัมมนาเครือข่ายชากาแฟ โดยได้เพิ่มคอนเว็นชั่นและขยายผลสู่ World Tea & Coffee Expo 2021 รวมถึงต่อยอดงานดังกล่าวมาจนถึงปี 2566 ภายใต้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และชุมชน

ทีเส็บทำงานร่วมกับหลายเครือข่าย ทั้งสถาบันชากาแฟของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรนานาชาติ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อจับมือกันพัฒนาอย่างเป็นระบบ พร้อมกับจัดทริปนำสื่อมวลชนลงพื้นที่และเข้าร่วมงานการประชุมเครือข่ายชากาแฟปี 2566 โดยได้เชิญผู้ประกอบการด้านชา กาแฟ เข้าร่วม กับเพิ่มพื้นที่จัดการแสดงสินค้าหรือเอ็กซิบิชั่นด้วย

ไฮไลต์ในส่วนคอนเว็นชั่นก็เปิดเจรจาจับคู่ธุรกิจ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมจำนวนมากกว่า 350 คน สร้างรายได้ในงานเบื้องต้นกว่า 1.5 ล้านบาท

ตามแผนจะต่อยอดการจัดงานผลักดันร่วมกับสถาบันการศึกษาผนวกกับความพร้อมของเชียงราย 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านที่ 1 เป็นพื้นที่ศูนย์กลางสภาชา กาแฟ ใหญ่ที่สุด ด้านที่ 2 มีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ เพราะชุมชนต้องการมหาวิทยาลัยนำข้อมูลเข้าไปสนับสนุนท้องถิ่น เพื่อยกระดับมาตรฐานรองรับตลาดไมซ์และการท่องเที่ยวได้

หลังจากประชุมร่วมกับเครือข่ายชา กาแฟ ภาคเหนือตอนบนที่เชียงรายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะใช้โมเดลขยายผลในเดือนสิงหาคม 2566 ทีเส็บจะประชุมเรื่องเครือข่ายทางธุรกิจสนับสนุน “ผู้ประกอบการหาช่องทางลงทุน” หลัก ๆ คืองาน The 4th Tea and Coffee International Symposium เตรียมจัดขึ้นปลายเดือนสิงหาคม นี้ ที่เชียงราย  จากนั้นสนับสนุนงาน การสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรชากาแฟผู้ผลิตภายในประเทศ (เมืองแห่งกาแฟเหนือใต้) ระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2566 ที่จังหวัดสงขลามุ่งจับคู่จังหวัดหลัก ระหว่าง “ภาคใต้” สงขลา กับ “ภาคเหนือ” เชียงราย เดินหน้าสร้างเครือข่ายพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงชา กาแฟ เต็มรูปแบบ

ปี 2566 ทีเส็บยังคงแผนสนับสนุนงาน World Tea & Coffee Expo 2024 โดยได้วางรูปแบบเริ่มงานเอ็กซโป ชา กาแฟ ในเชียงรายขยับเป็น B to B : business to Business เปิดให้ผู้ประกอบการมาจับคู่ซื้อขาย ขานรับสถานการณ์ปัจจุบันตลาดชากาแฟระดับโลกไทยทำสถิติอันดับ 7 ในตลาดการค้าชาขนาดใหญ่สุดของโลก มูลค่ารวมปีละกว่า 196,000 ล้านบาท รวมทั้งชาไทยยังได้รับการโหวตเป็นตลาดชาพร้อมดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มูลค่าเกินปีละกว่า 10,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มถึง 20 % ยังสามารถเติบโตได้ต่ออีกสูงมาก

สำหรับเทรนด์ชาระดับโลกจะเน้นเป็นออร์แกนิก เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงรายเป็นออร์แกนิกมากตั้งแต่การปลูกและภูมิอากาศ มีพื้นที่ปลูกสมบูรณ์ มีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ หรือขนาดกลาง มีสถานที่และกระบวนการผลิตพร้อม แต่ยังต้องปิดจุดอ่อน 2 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1 จะต้องดูเพิ่มเกี่ยวกับ “ต้นทุนการผลิต” ยังคงสูงอยู่ เรื่องที่ 2 เกษตรกรรายย่อยยังขาดความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์

นางสาวปาริฉัตรกล่าวว่า ทีเส็บมีแผนทำการตลาดเพิ่มโดยยกระดับเป็นเส้นทางไมซ์ชา กาแฟ เริ่มต้นจากการจัดทริปเป็นแพกเกจ ครึ่งวัน และ  1 วัน  เพื่อไปดูงานในพื้นที่ปลูกชา กาแฟ ชุมชนอาข่าบ้านแสนสุข ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จัดทำกิจกรรม “ชิมชา สัมผัสชุมชนอาข่า” เป็นต้นแบบในภาคเหนือตอนบน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำคนเข้าไปเยี่ยมชมได้ ไม่เฉพาะการชิมชา ดูกรรมวิธีการปลูก แต่จะเพิ่มประสบการณ์ร่วมในวิถีชุมชนด้านอาหารชนเผ่า เช่น ร่วมขันโตกอาหารกลางวัน ทำกิจกรรม D.I.Y.เป็นของที่ระลึกอย่าง ทำพวงกุญแจ ไม้กวาด แล้วนำกลับมาใช้ที่บ้านได้

สำหรับการดีไซน์เส้นทางร้อยเรียงให้สอดคล้องไว้ในแผน 7 ธีมไมซ์ เพื่อให้กลุ่มองค์กรที่จะไปจัดสัมมนา จัดกิจกรรม outing ต่าง ๆ เลือกนำไปใช้ทั้งแบบครึ่งวันและเต็มวัน ผนวกกับการพ่วงขาย “พรีเมี่ยม ไมซ์
โปรดักซ์” ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการดึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจากแต่ละพื้นที่พัฒนาเป็นสินค้าศักยภาพขายได้ปริมาณมากเพื่อหารายได้เข้าสู่ชุมชน เช่น 1. ชากุหลาบอินทรีย์ สวนบัวชมพู อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ 2. ที่ใส่น้ำหอม อโรม่า ชุมชนนันทาราม อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ 3. กระเป๋าเสื่อกก ชุมชนบ้านผารังหมี อ. เนินมะปราง จ. พิษณุโลก

จากนั้นปี 2567 จะได้นำโมเดลการสนับสนุน ไมซ์ ซิตี้ ครบทั้ง 4 ภาค ด้วยวิธีจะเข้าไปศึกษาและสร้างอัตลักษณ์เมืองก่อน เพื่อดูความเป็นไปได้ทั้งหมด ล่าสุดที่เชียงใหม่ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดมาเปิดงาน พร้อมผู้ประกอบการ 70 ราย เข้ามาระดมความเห็นสะท้อนอัตลักษณ์ของภาคควรจะไปในทิศทางใดได้บ้าง เบื้องต้นทีเส็บได้ศึกษา 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การท่องเที่ยวและไมซ์ 2.เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ได้ดึงจุดเด่นเมือง ชา กาแฟ มาต่อยอดจัดงาน 3.เมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปะหัตถกรรม ซึ่งยูเนสโกยกย่องให้เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์นานาชาติ 4.ศูนย์กลางเมืองสุขภาพองค์รวม Health and Wellness จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดจุดขายของแต่ละภาคอย่างชัดเจน

ปี 2566 ทีเส็บทำเสร็จเรียบร้อยแล้วในภาคอีสานกับภาคเหนือ ช่วงครึ่งปีหลังจะทำต่อในภาคใต้ ภาคกลาง ด้วยวิธีศึกษาบูรณาการอัตลักษณ์ สร้างธีมจุดขาย กำหนดเส้นทาง เพื่อพัฒนายกระดับสู่ไมซ์ชูธงอุตสาหกรรมแต่ละชุมชน ดึงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเด่น ๆ เพื่อวางตลาดสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็น พรีเมี่ยม ไมซ์ โปรดักซ์ หรือสินค้าแฟชั่น และอื่น ๆ แล้วนำไปโปรโมตทั้งในและต่างประเทศ ตามงานอีเวนต์นานาชาติ ล่าสุดทีเส็บนำผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมร่วมโปรโมตในงานเทรดโชว์ แฟรงเฟิร์ต เยอรมัน

ขณะนี้ทีเส็บนำร่องทำผลิตภัณฑ์ชุมชน พรีเมี่ยม ไมซ์ ภาคเหนือในหลายจังหวัด ทั้ง เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก สุโขทัย โดยใช้เวทีเทรดโชว์ต่างประเทศ ผนวกเข้ากับพื้นที่แห่งความยั่งยืนและการได้สัมผัสกับความรู้สึก Love Local ความรักในท้องถิ่น ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์มาแรงอยู่ขณะนี้

สำหรับ “ตลาดไมซ์ต่างประเทศ” นักเดินทางไมซ์จากทั่วโลกให้ความสำคัญกับชุมชนที่เดินทางเข้ามาจัดงาน แล้วก็จะบรรจุไว้เป็นหนึ่งในทริปก่อนและหลังงาน (Pre-Post Tour) ส่วน “ตลาดในประเทศ” จัดทำเป็น pop up ตามงานต่าง ๆ ที่ทีเส็บเข้าไปสนับสนุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพ่วง พรีเมี่ยม ไมซ์ เข้าไปด้วย โดยได้ใช้ทุกช่องทางกระตุ้นให้เกิดค่านิยมการเลือกใช้

นางสาวปาริฉัตร ย้ำว่า ทีเส็บได้เพิ่มความเข้มข้นจับมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาชื่อดังทุกภาค โดยมีฝ่ายศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของทีเส็บที่ดูแลทางด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ เพื่อการวางรูปแบบการคำนวณลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการจัดงานไมซ์แต่ละประเภท พร้อมกับเปรียบเทียบปริมาตรเทียบเท่าการปลูกต้นไม้กี่ต้น มีแพลตฟอร์มสำเร็จรูปเพื่อให้ผู้จัดไมซ์แต่ละงานนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อนาคตยังจะเดินหน้ากระตุ้นและปลุกจิตสำนึก 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการ ผู้เข้าร่วมงานไมซ์ ให้หันมาร่วมมือกันวัดค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างชัดเจน หากองค์กรหรือหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จทำได้ตามโจทย์ก็จะได้รับอินเซ็นทีฟจากทีเส็บเข้าไปสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มที่ 2 ชุมชน/ท้องถิ่น พื้นที่รองรับไมซ์ ก็จะแนะนำให้เลือกใช้เครื่องมือวัดคาร์บอนและเลือกจัดงานโดยคำนึงถึงหลักยุทธศาสตร์ BCG-Bio Circular Green สังคมชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งแวดล้อม ทำทั้ง 3 เรื่อง ควบคู่กันไป เพื่อผนึกกำลังกันทำให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตอย่างมีคุณค่าและมูลค่าทั้งปัจจุบันและอนาคตต่อไป

เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen

เรื่องล่าสุด