บางแสน ชลบุรี

“SCC” ดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดึงดูดต่างชาติลงทุน – Hoonsmart

“SCC” ดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดึงดูดต่างชาติลงทุน – Hoonsmart

HoonSmart.com>>ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) เตรียมนำผลการระดมสมองจากผู้ประกอบการ 60 คนทั่วโลก  4 แนวทางเสนอนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีวิน ในงาน ESG Symposium 2023 “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ”5 ต.ค.นี้ โชว์ผลงาน 8 บริษัทผู้ผลิตปูนซิเมนต์ ผลิตปูนคาร์บอนต่ำสำเร็จร่วม 30 ล้านตัน ราคาส่งออกบวกเพิ่ม 5-10% ในประเทศไม่เปลี่ยนแปลง ยืนยันปี 2567 ทุกบริษัทเข้าร่วมโครงการ เดินหน้าขอรัฐใช้พื้นที่ว่างติดตั้งแผงเก็บพลังงานสะอาด ขยายผลความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ผลิต ดึงเงินกองทุนสีเขียวโลกที่มี 1 แสนล้านล้าน เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาดสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต ดึงต่างชาติช็อปสินค้าไทย

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ภาวะโลกเดือด กระทบต่อทุกๆคนในโลก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อเจอน้ำท่วม ก็จะเจอน้ำแล้ง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้นจะต้องมีทางออกในการการแก้วิกฤตการณ์ ให้ถูกทาง ซึ่งมาจากความร่วมมือกัน ซึ่งปีนี้ SCG จัดงานครั้งนี้เป็นปีที่ 11 วันที่ 5 ต.ค.มีการระดมสมอง ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคส่งคมมากกว่า 500 คน และในตอนเย็นจะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่อนายกรัฐมนตรี และะลงมือทำ

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC กล่าวว่า การระดมสมอง เพื่อจะทำอย่างไรที่ให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน ซึ่งในต่างประเทศทำได้แล้ว เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ที่เศรษฐกิจโต และการปล่อยก๊าซเรือนกะจกลดลง ส่วนจีน เศรษฐกิจโต และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มน้อยลง ซึ่งการจะเปลี่ยนได้ตามต่างประเทศ จุดหลักคือการเปลี่ยนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ในการ “ร่วม เร่งและเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรีมีการแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ที่ว่าจะผลักดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่ได้จากการระดมสมอง มีการนำไปทดลองทำจริงในภาคอุตสาหกรรม ได้เห็นปัญหา และมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขที่เป็นธรรม  สรุปออกมาได้ 4 แนวทาง ที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1. ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

“ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 8 แห่งจับมือกันผลิตปูนซิเมนต์คาร์บอนต่ำ โดยมีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 30 ล้านตัน ปีหน้าปูนซิเมนต์ที่ผลิตในไทยจะเป็นคาร์บอนต่ำ 100% ในส่วนของ SCC ผลิตได้ 23 ล้านตัน ซึ่งเราจะมี 3 รุ่น ปัจจุบันเป็นการผลิตรุ่นแรก หรือ เจน 1 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10% เจน 2 จะผลิตในปีหน้าจะลดการปล่อยก๊าซได้ 20% และรุ่น 3 จะลดการปล่อยก๊าซได้ 50% “นายธรรมศักดิ์ กล่าว

นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า หากไทยสามารถเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้มากขึ้น เช่น ปัจจุบันมีลูกค้าจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่มีแนวคิดเรื่องการลดคาร์บอน ได้สั่งซื้อปูนจาก SCC เข้ามาแล้วและก็มีการส่งออกไปแล้ว ซึ่งปูนคาร์บอนต่ำนี้ราคาที่ขายไปต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 5-10% แต่ที่ขายในประเทศยังขายราคาเดิม

2.เร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ขณะนี้มี 3 อุตสาหกรรมต้นแบบแล้ว คือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ก่อสร้าง จะดึงดูดให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ร่วมขยายผล เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

3.เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อคข้อจำกัด จากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ได้สะดวก เช่น เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ(Grid Modernization) ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาด (Energy Storage System) ส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฮโดรเจน เชื้อเพลิงชีวมวล ขยะจากชุมชน พืชพลังงาน

4.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยเหลือทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้มีความตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุน สิ่งแวดล้อม

นายกิตติพงค์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เลือกจังหวัดสระบุรีเป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ “สระบุรีแซนด์บบ็อกซ์” เป็นฐานไปสู่การเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero emission แห่งแรกของไทย เพราะเป็นจังหวัดที่มีการผลิตปูนซิเมนต์มากและเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง สมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย (TCMA) 8 บริษัทจึงร่วมกันพัฒนาสูตรปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Bio Energy Pallet) เพื่อนำมาใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Ordinary Portland Cement:OPC)

การทำที่สระบุรี แม้ว่าจะเป็นโมเดลเล็ก แต่อิมแพ็คสูง เพราะไม่ได้ทำเฉพาะภาคอุตสาหกรรม มีชาวบ้านและชาวนาทำทั้งจังหวัด ลงลึกถึงชุมชนร่วมกันทำ เช่น การปลูกพืชอย่างไรให้ลดการปล่อยคาร์บอน แนวทางการแก้ไข จะต้องสลายการทำงานแบบแท่ง จะต้องร่วมมือกันถึงจะไปได้เร็ว และมีการลงนามความร่วมมือเบื้องต้น( MOU) มากถึง 23 หน่วยงาน ซึ่งอยากเห็นรัฐบาลเอาจริงจัง เหมือนตอนที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business)ของธนาคารโลก มีการแก้ปัญหาการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดีขึ้นมากจาก 22 วันเหลือ 2 วัน ทำให้อันดับของไทยดีขึ้น แต่ต่างประเทศ เช่นสิงคโปร์ ใช้เวลาเพียง 2 นาที

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดสรรเงินทุน ช่วยเหลือรายเล็ก เช่น SME และเกษตรกรในการเปลี่ยนเป็นเกษตรยั่งยืน เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเรื่องนวัตกรรม จะต้องดึงต่างประเทศเข้ามาช่วยเช่น ทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ หรือการปลูกหญ้าเนเปียร์และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรูปเป็นพลังงานทดแทน รวมถึงการปลูกไผ่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว

น.ส.พรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะประสบความสำเร็จ เช่นในประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ ต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ได้นำร่องจนเกิดผลสำเร็จแล้ว คือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง

ทั้งนี้ การขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องกำหนดกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานคัดแยก จัดเก็บขยะให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนสร้าง Eco System สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งรณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย

ในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ทำแล้ว คือ การผลิตปูนลดโลกร้อน การออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ,ยานยนต์ เราก็ทำแล้วคือรถยนต์ไฟฟ้า และจะขยายไปถึงการนำซากรถยนต์เก่านำมาใช้ใหม่ ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ กำลังจะทำเรื่อง EPR: Extended Producer Responsibility คือการขยายความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ผลิต

“ปลายปี 2564 เราเริ่มที่จังหวัดชลบุรี 3 เทศบาล คือ เทศบาลบ้านบึง ซึ่งเป็นฮับและโลจีสติก ที่เทศบาลเกาะสีชัง ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด และที่เทศบาลแสนสุข ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว สิ่งที่เห็นคือขยะที่เคยทิ้งในบ่อขยะในแต่ละพื้นที่ถูกดึงกลับมารีไซเคิลถึง 60 ล้านตัน และในบ่อขยะมีแมลงวันเยอะ ก็ปรับรูปบบการแยกขยะ ปรับรูปแบบการขน ทั้งหมดนี้คือเป็นกลไกในการจัดการร่วมกัน”น.ส.พรรัตน์ กล่าว

นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จากการระดมสมองของผู้ประกอบการจากทั่วโลก 60 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านความยั่งยืนของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เห็นร่วมกันว่าควรจะทำ  “ร่วม เร่ง เปลี่ยนผ่าน”

ในด้านร่วมจะเพิ่มและยกระดับความมั่นคงของพลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70% แหล่งใหญ่คือไฟฟ้าที่มาจากบ้านเรือน และอุตสหากรรม ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เพราะปัจจุบันไฟฟ้าผลิตมาจากเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิล ซึ่งมุ่งไปที่การปลดล็อคและหันไป ใช้พลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้า เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พืช น้ำ ขยะ แล้วขายให้กับรัฐ ถ้าภาครัฐมีเหลือก็ขายออกมาให้กับภาคเอกชน ผ่านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) และร่วมกันพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่สามารถใช้ได้ในเวลากลางคืน

เร่ง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการ สร้างพลังงานสะอาด เช่น ไบโอแก๊ส ให้เกิดเร็วที่สุด

การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมไปด้วยกัน สู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ขณะนี้กำลังขยายผลไปถึงว่าพื้นที่ว่างเปล่าของภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่ จะสามารถนำไปกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี เช่น ติดตั้ง Solar Floating โซล่าร์ฟาร์มลอยน้ำ โดยพลังงานไฮโดรเจนจะเป็นตัวปิดเกมเรื่องพลังงานในไทย

รวมถึง การดึงเงินกองทุนสีเขียว (Green Funding) ที่ในโลกนี้มีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านล้านเหรียญเข้ามาในไทย ซึ่งปัจจุบันมีเข้ามาน้อยมาก เป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเขียนโครงการขอเงินจากกองทุนนี้เข้ามาในไทยให้มากขึ้นเพื่อนำมาพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

น.ส.จิตใส สันตะบุตร คนรุ่นใหม่ใจรักษ์โลก กลุ่ม SDG7 Global Youth Ambassador for Southeast Asia กล่าวว่า ไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ขาดทรัพยากร และความรู้ความเข้าใจในการปรับตัว ได้แก่ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก แรงงาน เกษตรกร ชุมชน ควรแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลือตามความต้องการอย่างเหมาะสม และให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีมากถึง 52 ล้านล้านบาท โดยขอเสนอให้ไทยตั้งเป้าขอรับเงินสนับสนุนโครงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปีละ 350,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะข้างต้น จะถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ที่ให้การตอบรับเข้าร่วมงาน งาน ESG Symposium 2023:”ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ในวันที่ 5 ต.ค.2566  นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เรื่องล่าสุด