@@@@
ปลายลุ่มน้ำแม่กลองพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามถูกเรียกขานขนานนามกันว่าเป็นดินแดงแห่งยักษ์ใหญ่องค์ท้าวเวสสุวรรณ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังอิทธิปาฏิหาริย์เลื่องลือแผ่อิทธิพลไปไกล “สายมูเตลูและผู้นับถือศรัทธา” ต่างพากันหลั่งไหลมากราบไหว้บูชาขอพรกันไม่ขาดสาย
เริ่มที่ “วัดอินทาราม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม” สถานที่ประดิษฐาน “ท้าวเวสสุวรรณ เนื้อปูนปั้นบนเกตุบรรจุผงเนื้อสมเด็จวัดระฆัง” หนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่เชื่อกันว่า “ความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มาเต็มไม่แพ้ที่อื่น” มีผู้คนหลั่งไหลมาสักการะขอพรเพิ่มความเป็นสิริมงคล เสริมดวง ขอโชคลาภ ที่มักประสบความสำเร็จได้เห็นผลดั่งใจปอง โดยเฉพาะในช่วงระบาดโควิด-19 ผู้คนไม่น้อยวิตกกังวลต้องพากันมาไหว้ขอพรให้ท่านช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดี สิ่งร้ายๆ ออกไปจากชีวิต
…สิ่งสำคัญเขาว่ากันว่า “หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์มากๆ” ผู้ใดมากราบไหว้มักจะมีแต่ความเป็นสิริมงคล แล้วขอพรอะไรกับท่านพรนั้นก็ได้สมหวังอย่างตั้งใจโดยเร็ว จนทำให้บรรดาคนที่มีเรื่องราวเดือดร้อนทุกข์ใจต่างเดินทางมากราบ ขอพึ่งบารมีท่านตั้งแต่เช้ายันมืดค่ำ โดยเฉพาะเรื่องของการงาน โชคลาภ และวาสนา
@@@@
การสร้าง “พระพุทธรูป” ชาวพุทธล้านนา พบว่าในประวัติศาสตร์ของล้านนาสมัยหริภุญชัยในสมัยพระนางจามเทวีนำพระพุทธศาสนามาวางรากฐานบนดินแดนล้านนาที่หริภุญชัยเป็นแห่งแรก ทรงนำพระเถระ 500 รูป จากเมืองละโว้มาด้วย
พระนางทรงสร้างพระพุทธรูปจนสืบต่อมาให้เห็นในล้านนาตราบถึงปัจจุบันนี้ พุทธศาสนิกชนชาวล้านนามีศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างวัดและพระพุทธรูปไว้เป็นที่เคารพสักการะแทน องค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า
“พระเจ้าทันใจ” ถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากเพราะได้รวมเอาดวงจิต ความศรัทธาของมหาชนที่มาสร้างไว้อย่างแท้จริง อีกทั้งพุทธศาสนิกชนยังถือว่าการสร้างพระเจ้าทันใจนั้นมีอานิสงส์มากมาย ผลที่ได้รับนั้นจะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้ตั้งจิตอธิษฐาน ขอพร ได้สมปรารถนาอย่างทันอกทันใจ
ปาฏิหาริย์ของ “พระเจ้าทันใจ” บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ หากแต่บางคนก็มองว่าเป็นเรื่องของพลังจิตบางอย่าง ให้ความสำคัญกับการตั้งจิตอธิษฐานเชื่อกันว่าท่านศักดิ์สิทธิ์… อธิษฐานแล้วได้ผลทันตาทันใจ เร่งด่วนแบบสุดๆ ทั้ง …โชคลาภ เงินทอง ความสำเร็จ ไม่เว้นแต่อาการเจ็บไข้ได้ป่วย…หายป่วยหายไข้
@@@@
ตำนานเล่าขาน “พระนางสุพรรณอัปสรจอมเทวีหรือยักษ์แม่ใหญ่” จมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาร้อยปีเข้าฝันชาวบ้านว่า “ตัวเราจมอยู่ใต้น้ำให้นำขึ้นมา” ก่อนนำมาประดิษฐานอยู่ใน “วัดนางตะเคียน ต.คลองเขิน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม”
ที่น่าสนใจ “วัดนางตะเคียน” แห่งนี้มี “ท้าวเวสสุวรรณ” ลือกันว่า เป็นองค์แรกของจังหวัดสมุทรสงคราม อายุ 400 ปี เป็นที่เคารพสักการะศรัทธาทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นแวะเวียนมากราบไหว้ขอพรให้ประสบผลสำเร็จเรื่องโชคลาภ เรื่องโภคทรัพย์ หรือหน้าที่การงานเจริญก้าวหน้าก็ได้ดั่งใจนึก
สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ “อ้อมแขนยักษ์แม่ใหญ่อุ้มบุตรชายของตนไว้” แต่ส่วนหัว (เศียร) หายไป และลือกันว่า เมื่อก่อนเคยมีคนนำมาไว้ใต้ต้นไทรหน้าวัดและมีนักนิยมสะสมของเก่ามาเช่าบูชาไป แต่เมื่อข่าวการงมยักษ์แม่ใหญ่ขึ้นมาจากลำคลองแม่กลองนำมาไว้บนศาลาริมน้ำ ก็เริ่มมีนักเสี่ยงโชคเดินทางมากราบไหว้ขอหวย
ปรากฏว่า มีผู้โชคดีถูกหวยติดต่อกันหลายคน ก็เลยมี “ผู้มีจิตศรัทธา” บริจาคทรัพย์คนละเล็กละน้อย เพื่อให้ช่างปั้นศีรษะของยักษ์แม่ใหญ่ขึ้นแทนของเก่าที่สูญหายจนถึงทุกวันนี้
@@@@
“ศาลเจ้าพ่อแสน” ริมชายหาดบางแสน เยื้องเข้าไปด้านในบริเวณหลังศาลมีร้านรวงตั้งขายของอยู่กันอย่างคึกคัก เกี่ยวกับเรื่องราวศรัทธา ความเชื่อ ตามตำนานเล่าว่า..
“แสน” ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในตำนานรักอันลือลั่นที่ได้เล่าขานกันมาสู่รุ่นต่อรุ่นของคนชลบุรี ตามตำนานเล่าขาน…เมื่อครั้งปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยา ทะเลบางแสนและเขาสามมุขยังไม่มีชื่อปรากฏ มีเพียงแต่ตำบลอ่างหิน ซึ่งปัจจุบันก็คือ ตำบลอ่างศิลา มีเจ้าของโป๊ะที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ “กำนันบ่าย” มีลูกชายชื่อ “แสน” และไกลออกไปที่เมืองบางปลาสร้อยก็มียายกับหลานสาวอาศัยอยู่ โดยหลานมีชื่อว่า “สามมุข”
“สามมุข” มักจะชอบมานั่งเล่นอยู่ริมเชิงเขาเป็นประจำ โดยมีเพื่อนเล่นเป็นลิงป่าที่ลงมาจากเขา อยู่มาวันหนึ่งก็มีว่าวตัวหนึ่งได้ขาดลอยลงมาตกอยู่ตรงหน้า เธอจึงได้เก็บไว้ โดยมี “แสน” วิ่งตามว่าวที่ขาดลอยมาทำให้ทั้งสองได้รู้จักกัน และแสนก็ได้มอบว่าวตัวนั้นไว้ให้กับ “สามมุข” เป็นที่ระลึก
ความสัมพันธ์สะสมก่อเกิดเป็นความรัก จนทั้งคู่ได้สาบานต่อหน้าขุนเขาแห่งนี้ว่า “ทั้งสองจะครองรักกันชั่วนิจนิรันดร์ หากใครผิดต่อคำสาบานนี้ จะต้องมากระโดดหน้าผานี้ตายตามกัน”
เมื่อกำนันบ่ายรู้ข่าวก็ไม่พอใจ ขังแสนไว้จนไม่ได้พบกัน แล้วก็ไปขอลูกสาวคนทำโป๊ะ กำหนดพิธีแต่งงานเสร็จสรรพจนข่าวนี้กระจายไปถึงเขาสามมุข ในวันแต่งงาน หนึ่งในน้ำสังข์ที่หลั่งรดกลับไหลลงมาพร้อมแหวนที่เคยให้ไว้กับสามมุข ทำให้หวนนึกถึงคำสาบาน แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว ด้วยเธอขึ้นไปบนหน้าผาแห่งนั้นแล้ว
และได้กระโดดลงมาจากหน้าผาเสียชีวิต เมื่อแสนเห็นเช่นนั้น จึงตัดสินใจกระโดดตามคนรักลงไป ชาวบ้านต่างพากันเศร้าสลดใจเป็นยิ่งนัก และ…ได้ตั้งชื่อภูเขาลูกนี้ว่า “เขาสามมุข” ส่วนชายหาดที่ติดกันก็ให้ชื่อว่า “หาดบางแสน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของคนทั้งสอง
@@@@
“ศาลปู่เทพารักษ์” ตั้งอยู่บนถนนนนทบุรี มาจากแยกแครายยังไม่ทันข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากแยกนี้ก็ให้เลี้ยวไปทางสนามบินน้ำ ศาลจะตั้งอยู่ตรงข้ามกับตลาดนัดต้นสัก ก่อนถึงกระทรวงพาณิชย์
คนที่นี่เรียกท่าน “พ่อปู่เทพารักษ์” แต่บางคนก็เรียกท่านว่า “ปู่เทพารักษ์”
ชื่อเสียง ศรัทธาที่ผู้คนมีต่อพ่อปู่นั้นดูจะมีมากล้น สมัยก่อนราวๆ สิบปีที่แล้ว ท่านให้โชคลาภ ความสำเร็จกับผู้คนถึงขั้นที่ว่ามาแก้บนกันด้วยการเปิดวิกฉายหนัง เอาลิเกมาเล่น…ทั้งมีร้านค้ามาตั้งขายของเรียงรายสองฟากฝั่งถนนเต็มล้นไปหมด ขนาดร้านรวงยังมากขนาดนี้คงไม่ต้องพูดถึงว่าผู้คนก็คลาคลํ่าไม่น้อยไปกว่ากัน ชัดเจนว่าตอนนั้น…มีคนโชคดีสุดๆ ถึงขั้นถูกรางวัลที่ 1 กันเลยทีเดียว
“ศรัทธา” นำมาซึ่ง “ปาฏิหาริย์” เชื่อไม่เชื่ออย่างไรโปรดอย่าได้ “ลบหลู่”
รัก–ยม