พอดีผมมีโอกาสได้เข้าห้องสมุดในเมืองไทย จึงพยายามไล่เรียงดูว่า ท่ามกลางหนังสือภาษาไทยที่ว่าด้วยการท่องเที่ยวในสแกนดิเนเวีย ที่มีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบันนั้น มีเล่มไหนที่ถูกเขียนขึ้นในยุคแรกๆ บ้าง
อันที่จริงแล้ว ผมสันนิษฐานเอาว่า กระแสการหันมาพิจารณาและนิยม ‘ใดๆ สแกนดิเนเวีย’ นั้นดูจะเป็นผลผลิตของโลกในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 โดยเฉพาะสื่อสารมวลชน และผู้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมของฝั่งอเมริกาเหนือที่พยายามหาแบบจำลอง หรือทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงของระบบทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษ
ดังนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ง่ายนัก ที่จะได้เห็นงานในเชิงสารคดีท่องเที่ยวที่เขียนขึ้นในช่วงก่อนหน้า หากไม่นับรวมถึงหนังสือที่แปลมาจากชุดหนังสือท่องเที่ยวสำหรับชาวตะวันตกหรือชาวญี่ปุ่นที่นักเดินทางรู้จักกันอย่างคุ้นเคย
ท่องเที่ยวในทศวรรษ 1960
ผมได้พบกับหนังสือ เยือนสแกนดิเนเวีย หัวใจเดนมาร์ค นอรเวย์ สวีเดน โดย ป.วัชราภรณ์ ตีพิมพ์ปี 1964 ซึ่งเป็นนักเขียนสารคดีผู้เป็นที่รู้จักในยุคของเขาคนหนึ่ง ท่านผู้อ่านอาจจะพอจำได้ถึงหนังสือประวัตินักเขียนจากปากกาของนักเขียนท่านนี้ ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์และเป็นคนไทยที่ได้ไปประเทศสแกนดิเนเวียแล้วกลับมาเขียนหนังสือคนแรกๆ*
แล้วก็ดูจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อหนังสือประกาศว่า “เสนอสารคดีท่องเที่ยว…เดนมาร์ค นอรเวย์ สวีเดน ซึ่งไม่เคยปรากฏในเมืองไทย”
หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความที่ผู้เขียนได้เขียนเป็นบทความสารคดีเชิงท่องเที่ยวต่างกรรมต่างวาระ ลงพิมพ์ในนิตยสาร ไทสัปดาห์ และ วิทยาสาร
สารบัญหนังสือไล่เรียงแบ่งบทอย่างตรงไปตรงมาแบ่งเป็นแต่ละประเทศ คือ หัวใจเดนมาร์ค หัวใจสวีเดน และ นอรเวย์…สุริยาเที่ยงคืน ผมจึงอ่านด้วยความสงสัยอยู่ครามครันว่า ทศวรรษที่ 1960 นั้น ภาพสแกนดิเนเวียในภาษาไทยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ขอสปอยล์ไว้ก่อนตั้งแต่ตรงนี้ว่า ไม่มีฮุกกะ และลากอม นะครับ
ภาพแทนของดินแดนแฮมเล็ต
ป. วัชภรณ์เดินทางไปถึงเดนมาร์กเป็นที่แรก หลักจากที่เขาเล่าให้ผู้อ่านฟังถึงเงือกน้อยและแฮมเล็ตแล้ว เขาพูดถึงสถาบันอันสำคัญที่สุดหนึ่งของโครงสร้างรัฐสมัยใหม่เดนมาร์คคือ สหกรณ์การเกษตร ซึ่งผมเคยได้เล่าเรียนผู้อ่านไปก่อนหน้านี้แล้ว
ผู้เขียนได้เล่าว่า “การร่วมมือร่วมใจของบรรดากสิกรทั่วประเทศ ที่เรียกได้ว่าสำคัญทางเกษตร คือการจัดตั้งสถาบันจัดซื้อผลิตผล ใน ค.ศ. 1880 สหกรณ์ได้เข้าควบคุมดูแลส่วนได้ส่วนเสียอย่างรัดกลุม เพื่อส่งผลิตผลทางเกษตรไปยังต่างประเทศ สหกรณ์การเกษตรช่วยผดุงฐานะของกสิกรชั้นต่ำให้มีเสถียรภาพมายิ่งขึ้น”
เหล่านี้เอง ด้วยวิธีการบริหารจัดการที่ “สิทธิเสียงเดียว เท่ากันหมด” นำมาสู่ข้อสรุปว่า
“ชาวเดนมาร์ค ‘มุ่ง’ ทางด้านเศรษฐกิจพัฒนาประเทศมากกว่าการเมือง และการทหาร เท่าที่มีเวลาพบปะสนทนากับคนเดินถนนทั้งในเมือง และนอกเมือง ปรากฏว่า ‘คนขอทาน’ ไม่มี ได้พบปะคนทำงานอย่างตัวเป็นเกลียวทั้งนั้น ข้าพเจ้าตื่นเช้าทุกวัน โผล่หน้าออกไปดูวิวทิวทัศน์ เมื่อก้มมองดูผู้คนบนท้องถนน ปรากฏว่าทุกๆ คนตื่นเช้า และเร่งรีบก้มหน้าไปทำงาน ขึ้นรถโดยสารบ้าง, เดินบ้าง, นั่งรถรางบ้าง, ขี่จักรยานบ้าง แต่ละคนรักษาหน้าที่ของตน แต่ละคนรักษาเวลาของตน แม้ว่าบางวันฝนตก หิมะโปรย ต่างไม่ย่อท้อต่อดินฟ้าอากาศ มุ่งหน้าไปทำงาน ให้ทันเวลา”
ถึงจุดนี้ ป. วัชราภณ์ ผู้เป็นศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มาก่อน ได้เผยให้เห็นถึงชีวิตที่ “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ที่ “ทุกคืนจะต้องนอนหลังเที่ยงคืน หากข้าพเจ้าอยู่ที่บ้าน 4 ทุ่มเราก็เข้านอนแล้ว ทุกวันเราจะต้องตื่นแต่เช้าตรู่” ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นราคาที่ต้องจ่ายในฐานะของการเข้าสู่โลกสมัยใหม่ของดินแดนแฮมเล็ตแห่งนี้
ภาพแทนของชาวเขา
จากนั้น ป. วัชราภรณ์ เดินทางไปดู “พระอาทิตย์เที่ยงคืนที่คิรุน่า…เชียงรายของสวีเดน” และได้เล่าให้เห็นถึงภาพของ “พวก Lapps” และ
“เมื่อเราเห็นเครื่องแต่งตัวของพวก Lapps เทียบเคียงได้กับพวกชาวเขาเผ่าต่างๆ ของภาคเหนือแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้เสื้อผ้าสีดำๆ หรือเทาๆ ขลิบด้วยสีแดง และขาว คือสีที่ตัดกันนั่นแหละ การอุ้มลูกจูงหลานมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ทั้งผู้หญิงและผู้ชายพันธุ์เตี้ย คือไม่สูงอย่างกะชาวเมือง”
นี่คือสวมแว่นสายตาของไทยกรุงเทพฯ มองเข้าไปที่บริเวณชายขอบของศูนย์กลางทางการเมืองซึ่งในที่นี้คือประเทศสวีเดนซึ่งมีโครงการในการล่าอาณานิคมภายในทั้งยังดึงเอาทรัพยากรจากทางเหนือของประเทศ นี่คือภาพแทนที่ปรากฏขึ้นในสารคดีเชิงท่องเที่ยวแรกๆ ฉบับนี้
ภาพแทนย้อนกลับของเอ็กโซติก
เมื่อ ป. วัชราภรณ์มองทิวทัศน์ของฟยอร์ดในนอร์เวย์ เขาเล่าให้ฟังถึงสำนวนการชื่นชนภูมิทัศน์เช่นนี้ของ แมรี คอเรลลิ (Marie Corelli) โดยเฉพาะงาน เต็ลมา (Thelma) สำนวนแปลของ แม่อนงค์ รวมทั้ง ความพยาบาท (Vendetta) แปลโดย “‘แม่วัน’ นามปากกาของ ผู้ชายที่ดัดจริตเป็น ‘ผู้หญิง’ ยิงเรือ”
เขาได้เล่าว่า แมรี คอเรลลิ เดินทางจากอังกฤษมานอร์เวย์และประทับใจอย่างมากก่อนที่จะกลับไปเพื่อเริ่มเขียนนิยายเรื่องเต็ลมา ป. วัชราภรณ์ได้เล่าถึงการที่เขาคุยกับมัคคุเทศก์ที่พาเขาเดินทางในนอร์เวย์ ซึ่งพาเขาไปดูฟยอร์ดของออสโล “บางแห่งมีชายหาดอย่างกะหัวหิน หรือบางแสน ทรายสะอาดตา”
ก่อนที่จะสรุปภาพเอ็กโซติก (Exotic) ของประเทศนอร์เวย์ว่า
“ธรรมชาติแห่ง ฟยอร์ดของนอรเวย์ ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน ยั่วยวนอารมณ์ โขดเขาลำเนาไพร ชายฝั่งนอรเวย์อันยาวเว้าๆ แหว่งๆ ตะปุ่มตะป่ำ น้ำเค็มสีครามซัดเซาะทุกวันทุกคืน เธอแลเห็นสุริยาเที่ยงคืนตามไหล่เขาด้วยอารมณ์ของนักนวนิยาย ช่างสดใสไพโรจน์ จุดกำเนิดของ ‘เต็ลมา’ เริ่มต้นที่นอรเวย์ สาวน้อยแห่งฟยอร์ดเลอลักษณ์ แม้นเป็นหญิงบ้านนอก ทว่าตรึงหทัยท่านเซอร์เศรษฐีหนุ่มแห่งอังกฤษผู้เดินทางมาพบประสบพักตร์โดยบังเอิญที่สุด ฉากรักของเรื่องนี้รัญจวนจิต ด้วยความพิสมัย ‘เทพีแห่งฟยอร์ด’ ขณะแสงสุริยาราตรีลูบไล้ผิวผ่องของเต็ลมา!”
อ้างอิง
*ผมขอขอบคุณ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนักเขียนท่านนี้
– นัทธนัย ประสานนาม, ความเป็นไทยในสำเนียงเอ็กโซติก: การศึกษาภาพแทนประเทศไทยในหนังสือ Lonely Planet เชิงวาทกรรม (วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 33 (2554) ฉบับที่ 2)
– ป. วัชราภรณ์, “เยือนสแกนดิเนเวีย หัวใจเดนมาร์ก นอรเวย์ สวีเดน” (พระนคร: ก้าวหน้า, 1964)
ปรีดี หงษ์สต้น สวีเดน สแกนดิเนเวีย นอร์เวย์ เลียบขั้วโลก ฮุกกะ ลากอม เดนมาร์ค
เรื่อง: ปรีดี หงษ์สต้น
ปรีดี หงษ์สต้น นักวิจัยประจำศูนย์อาณานิคมและหลังอาณานิคมศึกษา มหาวิทยาลัยลินเนียส สวีเดน