บางแสน ชลบุรี

ชายหาดบางแสน

ใช้นวัตกรรมจัดระเบียบแผงสินค้า เปลี่ยนให้ ชายหาดบางแสน น่าเที่ยว

ภาพของรถที่ติดยาวตลอดถนนเลียบชายหาดบางแสน รถราที่จองกันหนาแน่น เก้าอี้ชายหาดวางเรียงรายพร้อมกับร้านค้า หาบแร่แผงลอย จำนวนมาก กลายเป็นภาพชินตาที่มาบดบังความสวยงามของชายหาดยอดนิยมอย่าง ชายหาดบางแสน ไปอย่างน่าเสียดาย จะมีเพียงวันอังคารของทุกสัปดาห์เท่านั้น ที่ทุกคนจะได้เห็นชายหาดแห่งนี้แบบสวยเต็มตา ปราศจากซึ่งสิ่งขวางบังสายตาดังที่กล่าวมา

ดังนั้น เพื่อจัดระเบียบ ชายหาดบางแสน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ในการนำนวัตกรรมและแอปพลิเคชัน มาใช้ในการบริหารจัดการแผงขายสินค้าขยายพื้นที่ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี
โดยแอปพลิเคชันนี้ จะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก สร้างเสริมรายได้เพิ่มให้กับร้านค้าบริเวณชายหาด และสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่มีคุณภาพราคาเป็นธรรม สนับสนุนการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสามารถขยายผลต่อยอดโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ชายหาดบางแสน

รับรู้ รายได้ที่ ชายหาดบางแสน สร้าง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชลบุรีได้อย่างไร?

ชลบุรีนั้น นอกจากจะเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออก รวมถึงเป็นหนึ่งในสามจังหวัด ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC แล้ว ที่นี่ยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของไทย โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของชลบุรีนั้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2561 รายได้จากการท่องเที่ยวของชลบุรีนั้น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 26% ของมูลค่า GDP ของจังหวัด หรือเราเรียกกันว่า GPP (Gross Provincial Product) ที่เท่ากับ 1,030,949 ล้านบาทพูดง่ายๆ ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของชลบุรี เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชลบุรีอย่างมาก
และแน่นอนว่าพอพูดถึงชลบุรีหลายคนคงจะนึกถึงชายหาดซึ่งนอกจากจะมีชายหาดพัทยา ยังมีชายหาดที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ นั่นคือ ชายหาดบางแสน ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งที่สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดชลบุรี

ชายหาดบางแสน

หาดบางแสน เป็นหาดทรายริมทะเลอ่าวไทย ตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองแสนสุข โดยหาดบางแสนนั้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักและนิยมมาอย่างยาวนานของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เนื่องจากการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาที่บางแสนนั้น ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษๆ
และแม้ตัวหาดบางแสนจะมีความยาวเพียง 2.5 กิโลเมตร แต่ปัจจุบัน ชายหาดบางแสน นั้น สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัดชลบุรีเป็นหลักหมื่นล้านบาท โดยถ้าย้อนไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวของหาดบางแสนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกปี
  • ปี 2552 จำนวนนักท่องเที่ยว 0.6 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 2,494 ล้านบาท
  • ปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยว 0.7 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 5,257 ล้านบาท
  • ปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยว 1.2 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 10,230 ล้านบาท
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยที่ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชลบุรีทั้งหมดนั้น ประมาณ 8% จะมาแวะที่หาดบางแสนด้วย
อย่างไรก็ดี เอมาพิจารณาประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณหาดบางแสนมีจำนวนประมาณ 46,000 คน นั่นหมายความว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาที่หาดแห่งนี้ มากกว่าประชากรในพื้นที่ถึง 26 เท่า และที่น่าสนใจคือ สัดส่วนผู้มาที่หาดแห่งนี้จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนเพียง 9% ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยมีสัดส่วนประมาณ 91% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาที่หาดบางแสน
จนในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตโควิดที่ผ่านมา หลายคนมองว่า หาดบางแสนจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 น้อยกว่าหาดพัทยาที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาธุรกิจหลายแห่งภายในหาดบางแสนก็ได้รับผลกระทบจนต้องหยุดหรือปิดกิจการ เนื่องจากหาดถูกปิดไป จนแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็หายไปเช่นกัน แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าในเวลานั้น

ชายหาดบางแสน

แต่มาในวันนี้เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตแบบ New normal กันอีกครั้ง ก็ดูเหมือนว่านักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย จะเริ่มกลับมาที่หาดบางแสนอีกครั้ง จนถ้าใครถามว่าเวลานี้หาดไหนจะฟื้นตัวเร็วสุดจากนักท่องเที่ยวในประเทศ หนึ่งในหาดนั้นคงต้องมี ชายหาดบางแสน เป็นแน่

เปิดตัวแอปพลิเคชันฝีมือนักวิจัยไทย คลี่คลายทุกปัญหาให้ ชายหาดบางแสน

ดังที่เกริ่นมาข้างต้น ภาพชินตาที่เห็นได้ใน ชายหาดบางแสน ยิ่งในช่วงวันหยุดและวันหยุดยาวต่อเนื่อง คือ รถติด และแผงขายสินค้าที่วางของขายกันอย่างไม่ระเบียบ ด้วยเหตุนี้ ภาคการวิจัย จึงได้หยิบเอาปัญหานี้มาเป็นโจทย์ในการทำวิจัย เพื่อให้เป็นต้นแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมขยายผลสู่ที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันออกที่อื่นต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
“การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนับเป็นโอกาสสำคัญในการที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพราะนั่นหมายถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและจังหวัดพื้นที่การท่องเที่ยวนั้นๆ อย่างโครงการวิจัยของ สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ที่ทีมวิจัยได้นำนวัตกรรมการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบนักท่องเที่ยว”
“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาและคุณภาพของสินค้า รวมถึงการให้บริการที่ดีกับนักท่องเที่ยวหรือแขกผู้มาเยือนและที่สำคัญสามารถขยายผลต่อยอดนำฐานข้อมูลจากแอปพลิเคชันขับเคลื่อนชุมชนด้วยข้อมูล (Data Driven Community) เพื่อบริหารจัดการปรับตัวทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น”
ธนัทเทพ จิระประวัติตระกูล นักวิจัยจากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.)
ด้าน ธนัทเทพ จิระประวัติตระกูล นักวิจัยจากสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาชายหาดบางแสนได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะในช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อนักท่องเที่ยวในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจอดรถ การจราจรติดขัด และการขายสินค้าเกินราคา ที่สำคัญประการหนึ่งคือการจัดการแผงขายสินค้าซึ่งมีประมาณ 1,800 ร้านค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้ามากกว่า 4,000 ราย และผู้เยี่ยมเยือนเทศบาลเมืองแสนสุขกว่า 2.8 ล้านรายต่อปี อุปสรรคที่เกิดขึ้น เช่น การชำระค่าธรรมเนียมการขายไม่ครบถ้วน การไม่มีระบบสืบค้นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน”
“ด้วยเหตุนี้ ทางทีมผู้วิจัยจึงเสนอการนำนวัตกรรมการจัดการแก่ผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข ให้มีการจัดการสมัยใหม่โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อลดขั้นตอนงานเอกสารและลดกระบวนการทำงาน ส่งผลให้ภาระงานของเจ้าหน้าที่เทศบาลลดลง การบริหารงานมีประสิทธิภาพ”
“ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถให้คำแนะนำติชมร้านค้า เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกแก่ทุกภาคส่วน ซึ่งการนำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) เป็นการนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการทำงาน ได้แก่ คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเทศบาลเมืองแสนสุข ผู้ขายสินค้า นักท่องเที่ยว และประชาชนโดยรอบ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของเทศบาลเมืองแสนสุข การเพิ่มยอดขายและคุณภาพของผู้ขายสินค้า ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนโดยรอบ”

“จากการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นผู้ขายสินค้าในระหว่างวันที่ 5 – 21 เมษายน 2566 พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ขายสินค้ามีความพึงพอใจ และคิดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายจากการใช้งานของแอปพลิเคชันได้ร้อยละ 5-10 ในปีนี้ แต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องการใช้งานของผู้ขายสินค้าที่สูงอายุที่ไม่คุ้ยเคยกับการใช้งานแอปพลิเคชัน”
“ขณะเดียวกันจากการสอบถามความคิดเห็นของผู้เยี่ยมเยือนพบว่า สิ่งที่ประทับใจคือไม่เคยเห็นการนำงานวิจัยมาเป็นผลงานที่สามารถจับต้องได้ สามารถนำมาใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวในด้านข้อมูลและการร้องเรียน เป็นแอปพลิเคชันสำหรับพื้นที่ค้าขายที่พบเห็นที่แรกของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองแสนสุข”
“สำหรับการต่อยอดของการวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดตลาดที่บริหารโดยราชการส่วนท้องถิ่น เช่น ตลาดของเทศบาล หรือ ตลาดของ อบต. และการนำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ไปใช้แก้ปัญหาในท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมซึ่งจะต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยนำทฤษฎีการจัดการมาแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วม”

โดย ผศ.ดร.วรภัทร ไพรีเกรง ผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า
“การมีแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นแนวโน้มที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวสำหรับชุมชม เพราะเป็นการให้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าการใช้เว็บไซต์ที่รวมการท่องเที่ยวของประเทศไว้ หรือสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังช่วยให้หาข้อมูลได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน”
“และในอนาคตการต่อยอดของแอปพลิเคชันนี้ อาจจะกลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยร่วมกับการจัดการข้อมูลของบางแสนสมาร์ทซิตี้ (bangsaen Smart City) และขับเคลื่อนชุมชนด้วยข้อมูล (Data Driven Community) รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลไปยังผู้ที่อยู่อาศัย ร้านค้าในชุมชน เพื่อนำไปใช้สำหรับการตัดสินใจ การบริหารจัดการ และการปรับตัวทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวโดยตรงและรวดเร็ว”

ที่มา :

  • บทความเรื่อง “รู้จักบางแสน หาดที่สร้างรายได้ 10,000 ล้านบาทให้จังหวัดชลบุรี” จากเว็บไซต์ลงทุนแมน
  • รายงานข่าวเรื่อง “วช. หนุน สปร.นำนวัตกรรมมาใช้บริหารจัดการแผงขายสินค้า เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลภาคตะวันออกชายหาดบางแสนชลบุรี” จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ตัวอย่างในการใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาในทุกมิติ

เปิดกรณีศึกษา InnovaFeed ปั้น Clean Tech ดาวเด่น ตอบโจทย์ธุรกิจรักษ์โลกยุคใหม่ ได้ทั้งเงินและความยั่งยืน

หมดปัญหามะนาวแพง ‘มะนีมะนาว’ นวัตกรรมน้ำมะนาวแช่แข็งเกรดพรีเมียม ล็อคราคาเดียวตลอดปี

ถอดรหัสประโยชน์ 2 ต่อ จากต้นแบบผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ BCG Model “เอนไซม์ล้างผักสลายยาฆ่าแมลง M-GREEN” ผู้บริโภคปลอดภัย ไร้สารตกค้างสู่สิ่งแวดล้อม

Post Views: 3,637

เรื่องล่าสุด