Site icon บางแสน

แสนสุข สมาร์ทซิตี้ เมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

แสนสุข สมาร์ทซิตี้ เมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

เมืองแสนสุข คือพื้นที่ราว 20.3 ตารางกิโลเมตร ในอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ที่ครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างชายทะเลบางแสนและเขาสามมุข

เดิมเมืองนี้น่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแสนสุขของนักท่องเที่ยว ที่หลั่งไหลมาพักตากอากาศริมทะเลในวันสุดสัปดาห์ และเป็นเขตพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งมีจำนวนนักศึกษาอาศัยในเขตเมืองแห่งนี้เป็นจำนวนมาก

แสนสุข สมาร์ทซิตี้ เมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

ปัจจุบันภาพของเมืองแสนสุขเปลี่ยนไป กลายเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ Smart City แห่งแรกในประเทศไทย ที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับบริบทชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มต้นจากการดูแลความปลอดภัยของกลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 15.4 ที่เรียกได้ว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ 

แม้จะเป็นเพียงการพัฒนาชีวิตคนกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ ของประเทศไทย แต่นับเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษข้อที่ 11 อันเป็นการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืนได้ในอนาคต

01

จากเมืองไร้โฟมสู่เมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัย

“เดิมนั้นชุมชนของเทศบาลตำบลแสนสุขขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวแถบชายทะเลเป็นหลัก มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งมีจำนวนนักศึกษาเป็นหนึ่งเท่าของจำนวนประชากรในเขตเทศบาลเรา ในอดีตจึงมีการจัดระเบียบเมืองและสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับคนจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ไว้ดีพอสมควร” นายกเทศมนตรี ณรงค์ชัย คุณปลื้ม หรือคนในพื้นที่เรียกกันว่า ‘นายกตุ้ย’ เริ่มเล่าถึงบริบทของเมืองแสนสุขในอดีต

เมื่อพื้นฐานสาธารณูปโภคของเมืองถูกจัดการไว้อย่างดี หน้าที่ของผู้บริหารเมืองจึงมุ่งไปที่การยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของเมืองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมทั้งความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยในเวลาเดียวกัน

ย้อนกลับไปช่วงที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง นายกตุ้ยสังเกตเห็นว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เมื่อสอบถามแพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาจึงพบว่า สาเหตุของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตชาวบ้านมาจากสารพิษในภาชนะโฟม จึงเกิดเป็นมาตรการยกเลิกใช้ภาชนะโฟมอย่างเด็ดขาดในพื้นที่เทศบาลแห่งนี้

ต่อมาเมื่อลงพื้นที่ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่คุ้นเคยกับชุมชนเป็นอย่างดี นายกตุ้ยจึงได้เห็นปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

ปัญหานี้ไม่ใช่เพียงการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่โยงใยไปถึงสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้สูงอายุร้อยละ 15 หรือ 7,138 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 46,320 คน ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุขแห่งนี้มีแนวโน้มต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังมากขึ้น ซึ่งเป็นบริบทที่ต้องถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“ชาวบ้านไม่ได้มีความรู้หรือความคิดในการดูแลตัวเอง หรืออาจเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ เขาจึงไม่มีเงินมากพอที่จะพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่านี้ได้ การเข้ารักษาในโรงพยาบาล มีคนดูแล รวมถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มีลูกน้อยลง หรือเมื่อลูกมีครอบครัวก็ต้องดูแลครอบครัวตัวเองเป็นหลัก พ่อแม่กลายเป็น Second-tier ไม่มีเงินพอเลี้ยงดู หรือเลี้ยงดูดีแต่ไม่มีเวลา เพราะต้องออกไปทำมาหากิน คุณตาคุณยายต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง 

“ยิ่งผู้ป่วยติดเตียงหรือเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต อาจเสียชีวิตเนื่องจากไม่มีใครดูแล หรือไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที และอาจถูกละเลยด้วยสภาพเศรษฐกิจของครอบครัว การดูแลเป็นเรื่องยุ่งยาก เขาก็จะปล่อยตามยถากรรม อาบน้ำ เช็ดตัว กินข้าว เป็นสภาพที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าต้องแก้ปัญหาให้ได้”

การลงมือแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มควรระวัง เริ่มขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีง่ายๆ อย่าง ‘รีโมตคอนโทรล’ 

รีโมตคอนโทรลนี้เป็นอุปกรณ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาพิเศษเฉพาะครัวเรือน นำมาช่วยเรื่องความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย ใช้สำหรับควบคุมการเปิด-ปิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน พร้อมกับมีปุ่มสำหรับการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งได้รับการพัฒนาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเห็นความสำคัญของปัญหาเช่นกัน

“เราไม่อยากให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงจากการล้มในบ้าน จึงเริ่มจากเทคโนโลยีบ้านๆ ทำรีโมตคอนโทรลสำหรับเปิด-ปิดไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้บ่อย ซึ่ง Customize เฉพาะบ้าน และบนรีโมตตัวนี้จะเพิ่มปุ่มฉุกเฉินที่เชื่อมกับไซเรนหน้าบ้าน หากล้มแล้วรีโมตอยู่ใกล้มือก็กดไซเรน เพื่อนบ้านจะได้เข้ามาดูและช่วยเหลือทัน

“เริ่มต้นใช้กับ 46 ครอบครัว พอทำแล้วเห็นผลว่าใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ดีกว่าไม่ได้ทำ” นายกฯ ตุ้ยเล่าถึงเหตุผลของการลงมือนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาในครั้งแรก

03

พัฒนาเป็นเมือง Smart Living

ในยุคที่แนวคิด Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ที่เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศมาใช้กับโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนรวมและเพิ่มคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน กำลังเป็นที่สนใจในการพัฒนาประเทศยุค 4.0 นายกฯ ตุ้ยผู้เห็นความสำคัญและความเป็นไปได้จึงนำแนวคิดนี้มาพัฒนาและนำพาเทศบาลแสนสุขก้าวสู่ความเป็นอัจฉริยะ

 “ประเทศไทยวางองค์ประกอบของการเป็นเมืองอัจฉริยะไว้ 7 อย่าง คือการสัญจรอัจฉริยะ ชุมชนอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ การปกครองอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ และพลังงานอัจฉริยะ แต่เรามองว่าสำหรับเทศบาลเมืองแสนสุข เราทำเท่าที่ทำได้ก่อน เพราะการที่ท้องถิ่นลุกขึ้นมาทำเอง ไม่มีโอกาสที่ทำได้ง่ายนัก ยังติดระเบียบราชการและการให้อำนาจในการบริหารอยู่มาก”

ในปี 2559 จึงเกิดเป็นโครงการแสนสุข สมาร์ทซิตี้ ที่มุ่งพัฒนาให้เทศบาลแห่งนี้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน

การกำหนดขอบเขตการพัฒนาให้เข้ากับบริบทของเมืองแสนสุขแบ่งเป็นหลายด้าน ได้แก่ Smart Living เน้นแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน Smart Health Care เน้นแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน Smart Security เน้นแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางชีวิตและทรัพย์สิน และ Smart Tourism เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยว

04

เมืองที่ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

แน่นอนว่า โครงการแรกที่หยิบยกมาดำเนินการยังคงเป็นด้าน Smart Living ที่สานต่อการดูแลความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยของผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มนำนวัตกรรมเทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) มาใช้ โดยได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, Dell, Intel และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เห็นความสำคัญ ในการส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์และระบบการแจ้งเตือนอัจฉริยะนี้

“เป็นความโชคดีที่ความต้องการของแต่ละฝ่ายมาเจอกันพอดี ส่วนแรกเกิดจากการที่เทศบาลแสนสุขให้ความสนใจเรื่องนี้มาก่อนเป็นที่แรกๆ ทำให้หลายฝ่ายเห็นความตั้งใจของเราและยื่นมือเข้ามาร่วมด้วย”

“Dell และ Intel ก็เป็นคอนเนกชันที่มาจากทางมหาวิทยาลัยบูรพา ที่มีการทำวิจัยพัฒนาดีไวซ์ต่างๆ อยู่แล้ว เขาเห็นว่าเรามีไอเดียดีก็สนับสนุนเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีทุนจากบริษัทในเครือ SE-ED โดยมีเทศบาลเมืองแสนสุขเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงมีการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ตามความต้องการของชุมชนของเรา”

เริ่มแรกมีการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะกับที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่มีการคัดเลือกเข้าโครงการโดยคณะอาสาสมัครสาธารณสุขในโครงการนำร่อง 30 หลังคาเรือนและขยายสู่ 50 หลังคาเรือนในปัจจุบัน

อุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้ในแต่ละบ้านนั้น ประกอบด้วย

  • อุปกรณ์สายรัดข้อมือ หรือ สร้อยคอที่เป็นตัวส่งสัญญาณเตือน
  • อุปกรณ์ตัวส่งสัญญาณเตือนที่ติดตั้งบนผนัง (อาจติดตั้งในห้องน้ำ ในกรณีที่ลื่นล้มสามารถดึงสายได้)
  • กล่องควบคุมที่ทำหน้าที่รับและส่งสัญญาณพร้อมทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์จับแก๊สรั่วภายในบ้าน
  • โปรแกรมเชื่อมต่อสัญญาณฉุกเฉิน สำหรับการติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือของญาติ และหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันดูแลเหตุฉุกเฉิน

ระบบการทำงานคือ ผู้สูงอายุจะสวมใส่อุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งอาจเป็นกำไลข้อมือหรือสร้อยคอที่ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณบลูทูธ สอดส่องการเคลื่อนไหว และแจ้งเตือนฉุกเฉินมายังผู้ดูแลระบบได้ ทั้งจากระบบตรวจจับกิจกรรมที่ผิดปกติ เช่น การลื่นล้ม หรือการกดปุ่มฉุกเฉิน

หากมีเหตุฉุกเฉิน อุปกรณ์จะส่งสัญญาณไปยังกล่องควบคุมที่ติดตั้งในบ้าน ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังเทศบาล ลูกหลาน หน่วยงานเฝ้าระวัง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลาเดียวกัน โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์ของแต่ละหน่วยงานจะเห็นข้อมูลของเจ้าของเครื่องที่ส่งสัญญาณทันที ทั้งข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ รวมถึงแผนที่นำทางไปยังที่อยู่ของเจ้าของอุปกรณ์

ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจะติดต่อกลับไปสอบถามผู้สูงวัยเจ้าของอุปกรณ์ ถ้ามีการผิดปกติจริงจะมีการประสานงานทุกฝ่ายเพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยในหน้าจอของเจ้าหน้าที่จะมี QR Code ที่สแกนเข้า Google Map นำทางไปบ้านของเจ้าของอุปกรณ์ได้

นอกเหนือจากเทคโนโลยีอันทันสมัยแล้ว ความร่วมมือของบุคลากรและคนในชุมชนยังเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง เพราะถึงแม้จะมีระบบอันทันสมัย แต่ผู้ดูแลและผู้ใช้ไม่ยอมรับก็นับว่าไม่ประสบความสำเร็จ 

 “การที่เราทำโครงการต่างๆ นี้ แน่นอนว่างานของทุกคนในหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น แต่โชคดีที่ข้าราชการทุกคนในเมืองแสนสุขน่ารัก ปรับตัว รวมถึงทำงานกันเป็นทีม วิสัยทัศน์อาจจะมาจากผม แต่ก็เปิดโอกาสให้พี่ๆ น้องๆ ทุกคนออกความเห็น เพราะเขาเป็นคนที่ติดกับเนื้องาน อย่างงานสาธารณสุขก็แนะนำได้ว่าปัญหาเช่นนี้ควรแก้ไขอย่างไร และก็เรียนรู้และช่วยกันทำอย่างเต็มที่

“ส่วนผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้สูงอายุอาจไม่ชินกับการใช้เทคโนโลยี บางคนรำคาญ เราก็ต้องไปคุยทำความเข้าใจว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองนะ ให้ลูกหลานเกลี้ยกล่อม บางครั้งเราบอกไปว่าแขวนคอไว้เหมือนเป็นหลวงพ่อองค์หนึ่งนะ แต่ส่วนใหญ่อาสาสมัครในชุมชนจะช่วยกัน เข้าไปเยี่ยม ไปดูว่าแบตเตอรี่อุปกรณ์หมดไหม ยังใช้ได้หรือเปล่า หรือลืมใส่ บางคนเสียชีวิตก็ต้องขอกลับมาเพื่อให้คนอื่นใช้”

โครงการนี้ไม่อาจประเมินความคุ้มค่าออกมาเป็นเม็ดเงินเหมือนโครงการทั่วไปได้ แต่ความสำเร็จที่ได้คือ การช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงที และความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้สูงอายุที่ปลอดภัยมากขึ้น

“จริงๆ แล้วระบบนี้มี False Alarm อยู่สูงถึง 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น สัญญาณเตือนเข้ามา 100 ครั้ง จะมีเหตุฉุกเฉินจริงเพียง 1 – 2 ครั้ง แต่ก็ดีกว่าที่เราไม่รู้อะไรเลย เพราะเคสที่เกิดขึ้นจริง 2 ครั้ง เราก็ช่วยชีวิตเขามาได้ รายแรกหัวใจเต้นผิดจังหวะ อีกรายเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อเขารู้ตัวเขาก็กดแจ้งมาก่อน เราจึงพาเขาส่งโรงพยาบาลได้ทัน

“ผมมองเรื่องนี้เป็นการป้องกัน ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยได้มองเรื่องนี้กันนัก ถ้าเรามองว่าหากเขาต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง เศรษฐกิจในครอบครัวพังเลยนะ ต้องมีคนลาออกมาเฝ้า ไม่มีเงินเดือน หรือคนที่ป่วยก็มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เราคิดเพียงว่า ป้องกันไว้ดีกว่า 

“เคสที่เรานำส่งโรงพยาบาลได้ทัน คุณป้าก็หายดีและกลับมาดำเนินชีวิตปกติ ไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจครอบครัว อาสาสมัครที่ดูแลผู้ป่วยก็เหนื่อยน้อยลง ชุมชนอยู่เป็นสุข รัฐบาลก็ไม่ต้องใช้เงิน 30 บาทรักษาทุกโรคมาเยียวยา คิดว่าถ้าทำระบบนี้ใช้ทั้งประเทศจะลดค่าใช้จ่ายให้รัฐได้มากขนาดไหน” นายกฯ ตุ้ยอธิบายให้เห็นผลกระทบที่เป็นแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่จากงานป้องกันที่ทำได้ในชุมชนแห่งนี้

06

ขยายสู่ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ

ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ คืออีกหนึ่งงานพัฒนาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในเทศบาลเมืองแสนสุข  

อาคารอเนกประสงค์ 3 ชั้น แห่งนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์ และพร้อมเปิดเป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้ภายในปลายปี 2562 เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมพัฒนาผู้สูงอายุทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ตรงความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างแท้จริง

“ก่อนทำศูนย์นี้เราจัดโฟกัสกรุ๊ปตามชุมชน เพื่อคุยกันว่าถ้าศูนย์นี้เสร็จแล้วอยากให้มีกิจกรรมอะไรบ้าง เทศบาลก็มีหน้าที่จัดกิจกรรมให้ เพื่อให้ผู้สูงอายุมารวมตัวกัน เหมือนเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ พาเขามาพัฒนาศักยภาพ มาตรวจร่างกาย มาทำกิจกรรมเข้าสังคม จุดประสงค์ของเราคืออยากดึงให้เขาออกมาทำกิจกรรมที่นี่ ดีกว่าอยู่บ้านเหงาๆ หรือบางวันที่ไม่ได้อยากไปวัด ให้เขามีสถานที่ออกมาทำกิจกรรม เจอเพื่อนหรือคนหนุ่มสาวบ้าง”

กิจกรรมที่วางแผนไว้ในตอนนี้มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบันเทิง พัฒนาสมอง พัฒนาทางสังคม เช่น ดูภาพยนตร์ เต้นลีลาศ ร้องเพลง เล่นเกม ทำอาหาร ทำสมาธิ รวมไปถึงการเปิดเป็นศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์การฟื้นฟูและพัฒนากล้ามเนื้อ พร้อมด้วยนักกายภาพบำบัดมาดูแล 

“โชคดีอีกเช่นกันที่เราทำงานกับหลายหน่วยงาน ซึ่งเขาก็ยินดีมาร่วมมือกับเรา ไม่ว่าจะเป็น JICA (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น), เทศบาลเมืองซากุ จังหวัดนากาโนะ, มหาวิทยาลัยซากุ, มหาวิทยาลัยบูรพา, โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี, โรงพยาบาลศูนย์ชลบุรี ก็ร่วมมือกับเรา”

นอกเหนือจากสุขภาพของผู้สูงอายุแล้ว เทศบาลเมืองแสนสุขยังห้ความสำคัญกับสุขภาพของคนทุกกลุ่มในชุมชน 2 ปีที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรม Open House เปิดบ้านโรงพยาบาล โดยได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น เพื่อเป็นการดึงให้คนในชุมชนรู้จักและใกล้ชิดกับโรงพยาบาลมากขึ้นผ่านกิจกรรมให้ความรู้เชิงสันทนาการ เช่น การแสดงละครเกี่ยวกับสุขภาพโดยนักศึกษาแพทย์ การออกร้านและแสดงนิทรรศการ การแสดงของอาสาสมัครสาธารณสุข และการตรวจสุขภาพฟรี

“ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจไปตรวจสุขภาพ เพราะเขากลัวเสียสตางค์ และกลัวเจอโรค แล้วก็ต้องมาเสียเงินรักษา การจัดกิจกรรมนี้แม้ไม่ได้เปลี่ยนเขาแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่อยากให้เขารู้ว่าตอนนี้โรงพยาบาลมีบริการอะไรบ้าง หรือเขาอาจจะจำจากนิทรรศการได้ว่านี่คืออาการของไข้เลือดออกนะ ต้องรีบไปรักษา 

“ผมไม่กล้าหวังผลว่าจะได้มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ลงมือ ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง”

ในความคิดพ่อเมืองเทศบาลเมืองแสนสุข เขาวางแผนให้พื้นที่ในการดูแลแห่งนี้เป็นสมาร์ทซิตี้ที่ดูแลเมืองและผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาให้บางแสนเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอัจฉริยะครบวงจร

“ในอนาคตผมมองถึงเรื่อง Smart Security และ Smart Tourism เริ่มจากความปลอดภัยที่มีคุยกับ Banpu Infinergy ที่ทำเรื่องโซลาร์เซลล์ ว่าจะติดตั้งเสาไฟอัจฉริยะที่ชายหาด โดยส่องแสงสว่างได้ กดแจ้งเตือนได้ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และไม่ต้องกลัวไฟดูด ซึ่งถ้าได้ผลก็จะนำมาติดตั้งตามจุดต่างๆ รวมไปถึงระบบการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การแจ้งเตือนระดับน้ำในท่อ ที่ส่งสัญญาณให้ปั๊มน้ำทำงานทันทีเพื่อไม่ให้มีน้ำขัง หรือระบบเฝ้าระวังปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ

“สำหรับการท่องเที่ยว ก็อยากให้มีแอปพลิเคชันที่เมื่อเข้าสู่เขตบางแสนจะแจ้งเตือนร้านอาหาร ส่วนลด หรือมีแผนที่นำทางท่องเที่ยว รวมไปถึงการให้ข้อมูลสถานที่สำคัญ เช่นเดินผ่านเขาสามมุขก็จะมีข้อมูลขึ้นมาเป็นเรื่องเล่านิทานปรัมปราเรื่องเจ้าแม่สามมุข แต่สุดท้ายเรายังไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะใช้เทคโนโลยีได้”

การพัฒนาไปสู่เมืองที่ออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เป็นอีกด้านที่ให้ความสำคัญเช่นกัน

“ปัจจุบันเราดำเนินการไปบ้างแล้ว บริเวณชายหาดมีทางลาดสำหรับรถเข็น มีห้องน้ำที่เอื้อต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ แต่ที่ผ่านมาบ้านเราไม่ได้ออกแบบเพื่อการพัฒนาแง่นี้ ดังนั้น จึงมีเรื่องเก่าๆ ที่เราต้องแก้ เช่น ฟุตปาทเดิมไม่ได้มาตรฐานที่จะทำทางลาด ของเราฟุตปาทเมตรเดียว จะทำทางลาดให้ได้มาตรฐานแบบเมืองนอกที่เขามีฟุตปาท 2 – 3 เมตรก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นถนนสายใหม่ เราทำรองรับ Universal Design ทั้งหมด ที่ทางสำหรับรถเข็นมีไฟสว่าง มีปุ่มแจ้งเตือนฉุกเฉิน”

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่เมืองน่าอยู่ในอุดมคติไม่อาจเป็นจริงได้เร็วอย่างที่คิด ด้วยข้อจำกัดทางโครงสร้างบริหารงานระดับประเทศที่มีความซับซ้อนแ ต่ทางเทศบาลเมืองแสนสุขก็เดินหน้าเต็มความสามารถ

“เมื่อก่อนเราเป็นเทศบาลที่ติดตั้ง Free Wi-Fi ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชน แต่ก็เกิดปัญหาที่ สตง. บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น แม้จะใช้บริการของทีโอทีที่เป็นหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้

“สำหรับระบบการแจ้งเตือนนี้ ที่เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ที่การขยายเพิ่ม 50 หลังทุกปี ทำจริงได้ทั้งหมดในเวลานี้ 50 หลัง เพิ่มมาจากโครงการนำร่องเพียง 20 หลัง เราขยายเพิ่มไม่ได้มาสองปี เพราะของบประมาณมาใช้ทำต่อเนื่องหลังจากหมดโครงการนำร่องไม่ได้ ตามระเบียบราชการบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของท้องถิ่นที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีต้องอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทย

“แต่เราก็ไม่หยุด เราตั้งงบประมาณในเชิงการวิจัยแทน จนพัฒนาต่อได้ วางแผนพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยดูแลด้านเหตุฉุกเฉินของระบบนี้โดยเฉพาะ”

07

เมืองที่เป็นของชุมชนโดยยั่งยืน

ท้ายที่สุดแล้ว หน้าที่ในฐานะนายกเทศมนตรีย่อมมีการสิ้นวาระตามระบบกฎหมายการปกครอง การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนต่อไปต้องพึ่งพาอาศัยชุมชน

“เมืองที่ยั่งยืนต้องไม่ติดกับคนใดคนหนึ่ง ชุมชนจะกำหนดว่าเมืองของเขาเป็นอย่างไร และเข้ามามีบทบาทในการร่วมบริหารเมืองของเขาได้” นายกฯ ตุ้ยอธิบาย 

ลักษณะเมืองยั่งยืนนั้นควรตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้ครบถ้วน

“เมืองที่ยั่งยืนควรเป็นเมืองที่อยู่สบาย ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ มีพื้นที่สีเขียวให้ความร่มเย็น มีสถานที่ออกกำลังกาย ตามถนนหนทางมีไฟสว่าง มีความปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับคนทุกเพศทุกวัย รวมไปถึงคนพิการ มีสภาพเศรษฐกิจที่ดี ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกที่ต้องทำตามมา”

หากใครได้มาดูงานพัฒนาเทศบาลเมืองแสนสุขน่าจะเห็นตรงกันว่า เมืองแห่งนี้เดินไปตามวิถีที่พ่อเมืองกล่าวไว้ข้างต้น  

ในช่วงเวลาที่นายกฯ ตุ้ยอยู่ในวาระการทำงาน เขามุ่งมั่นที่จะพัฒนาเมืองแสนสุขแห่งนี้ที่เป็นบ้านของเขาเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนคนในบ้านมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข และหากเมืองนี้จะเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่นๆ ในประเทศไทย ย่อมคุ้มค่าที่ได้ลงแรงต่อสู้ผลักดันให้การพัฒนาเมืองเกิดเป็นรูปธรรมเช่นทุกวันนี้

“ผมรู้สึกภูมิใจที่ทำให้บ้านของตัวเองน่าอยู่ และเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ของประเทศได้ แม้มีอุปสรรคต่างๆ จนทำตามที่คิดไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็จะไม่หยุด และหาวิธีทำต่อไป ทำให้เต็มที่เต็มความสามารถของเรา”

Exit mobile version