บางแสน ชลบุรี

ภาพจาก tasteofhome.com

เล่าเรื่องช็อกโกแลตและโกโก้ ญี่ปุ่น VS อเมริกา

ภาพจาก tasteofhome.com
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน สัปดาห์นี้มาแปลกนึกอยากเล่าเรื่องช็อกโกแลตกับโกโก้ เหตุเกิดเพราะขณะที่ฉันคิดถึงของกินไปเรื่อยเปื่อย ก็นึกได้ถึงประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับช็อกโกแลตกับโกโก้ที่แตกต่างกันในญี่ปุ่นและอเมริกา เลยเอามาเล่าสู่กันฟังค่ะ

เดี๋ยวนี้สินค้าอาหารในญี่ปุ่นชอบใส่คำว่า “生” (หน่ามะ) นำหน้า แม้คำนี้จะแปลตรงตัวได้ว่า “ดิบ” หรือ “สด” อย่างเช่น แฮมดิบ หรือเบียร์สด แต่พอเอาไปใช้กับอาหารบางอย่างกลับไม่ได้หมายความอย่างนั้น บางทีคนญี่ปุ่นเองก็ไม่แน่ใจว่า “生” (หน่ามะ) ที่ว่านั้นหมายถึงอะไรแน่ แต่ที่แน่ ๆ คือให้ความรู้สึกว่าน่าอร่อยขึ้นมาทันที เช่น “生カスタードシュークリーム” (หน่ามะ-คัสตาโดะ-ชูคุรีหมุ – ‘ขนมคล้ายเอแคลร์ก้อนใหญ่เปลือกบางไส้คัสตาร์ดผสมครีมนมสด’) และ “生チョコ” (หน่ามะโจะโกะ – ‘ช็อกโกแลตผสมครีมนมสด’) เป็นต้น

ช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตประเภทที่เรียกว่า “หน่ามะโจะโกะ” (生チョコ) มีความพิเศษต่างจากช็อกโกแลตทั่วไปตรงที่มีความเข้มข้นมาก เคี้ยวแล้วนุ่มละลายในปาก เพราะมีส่วนผสมของครีมที่ทำมาจากนมสดไม่ต่ำกว่า 10% และบางทีก็ผสมเหล้าฝรั่งด้วย

ร้าน Silsmaria ต้นตำรับของ “หน่ามะ-โจะโกะ” ญี่ปุ่น ภาพจาก silsmaria.jp
ครีมนมสดที่ว่านี้ญี่ปุ่นเรียกว่า “生クリーム” (หน่ามะ-คุรีหมุ) ทำจากนมสดล้วน มีไขมันจากนมไม่ต่ำกว่า 18% ส่วนครีมนมสดที่คล้ายกันของอเมริกามีสองแบบคือ “heavy cream” (เฮวี่ครีม) แต่มีไขมันจากนมสูงกว่าของญี่ปุ่นเท่าหนึ่ง คือไม่ต่ำกว่า 36% ส่วนอีกแบบคือ “whipping cream” (วิปปิ้งครีม) ซึ่งมีไขมันจากนมต่ำกว่าเฮวี่ครีม คืออยู่ที่ประมาณ 30-36% แต่ก็ยังไขมันสูงกว่าครีมนมสดของญี่ปุ่นมากอยู่ดี

ว่าแต่ว่าถ้าเป็นวิปปิ้งครีมของญี่ปุ่นซึ่งเรียกกันว่า “ホイップクリーム” (โฮะอิปปุคุรีหมุ) จะทำจากไขมันที่ได้จากพืช หรือไม่ก็ทั้งไขมันที่ได้จากพืชและไขมันที่ได้จากสัตว์ปนกัน แต่ของอเมริกาเป็นไขมันจากนมสดล้วน

คงเพราะมีการใช้ครีมนมสดนี่เองที่ทำให้ช็อกโกแลต “หน่ามะโจะโกะ” (生チョコ) อายุสั้น เก็บได้ประมาณ 5-14 วัน และต้องเก็บในตู้เย็น ส่วนราคาก็สูงกว่าช็อกโกแลตทั่วไป ยี่ห้อที่คนไทยรู้จักดีก็คงเป็น “Royce” ของขึ้นชื่อของฮอกไกโด แต่ร้านที่เป็นต้นตำรับของช็อกโกแลต “หน่ามะโจะโกะ” ในญี่ปุ่นคือร้านขนมฝรั่ง Silsmaria ในจังหวัดคานางาวะ โดยทำเลียนแบบมาจากช็อกโกแลต “Pavé De Genève” ของร้านช็อกโกแลตในสวิสเซอร์แลนด์อีกต่อหนึ่ง

“Pav? De Gen?ve” ของสวิสเซอร์แลนด์ ต้นแบบ “หน่ามะ-โจะโกะ” ของญี่ปุ่น ภาพจาก bk.asia-city.com
พูดถึงช็อกโกแลตแล้ว ที่อเมริกาจัดว่ามันเป็น “candy” (ขนมเน้นน้ำตาล) ชนิดหนึ่ง เพราะมักมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอันดับต้น ๆ โดยช็อกโกแลตแบบที่ในห่อมีหลากชนิดและแยกเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะขายดีเป็นพิเศษช่วงฮาโลวีน คงเพราะเอาไว้แจกเด็กที่มาเล่น Trick or Treat หรือบางครั้งตามสถานที่ซึ่งมีเคาน์เตอร์บริการลูกค้าอย่างคลีนิกหมอหรือสำนักงานเช่าบ้านก็มีวางไว้ให้ลูกค้าหยิบเอง ส่วนช่วงอีสเตอร์จะมีขายช็อกโกแลตรูปไข่หรือกระต่าย ราคาสูงกว่าช็อกโกแลตปกติ คงเพราะขายตามเทศกาลได้แค่ช่วงเดียว

ช็อกโกแลตอีสเตอร์ ภาพจาก tastingtable.com
อีกช่วงหนึ่งที่ช็อกโกแลตขายดีคือวันวาเลนไทน์ คนจะนิยมซื้อช็อกโกแลตกล่องที่ดูดีหน่อย แบบที่ข้างในมีหลายชิ้น บางยี่ห้อออกหีบห่อเป็นรูปหัวใจหรือเน้นสีแดงรับวาเลนไทน์ ส่วนร้านช็อกโกแลตดังอย่างโกดิวาจะมีลูกค้าชายยืนต่อแถวกันยาวเหยียด เดาว่าคงซื้อไปให้แฟนหรือภรรยา แต่สังเกตว่าแต่ละคนรอคิวกันด้วยสีหน้าเหนื่อย ๆ เซ็ง ๆ เหมือนโดนบังคับมาอย่างไรชอบกล ในขณะที่วาเลนไทน์ของญี่ปุ่นจะมีแต่ฝ่ายหญิงที่ไปซื้อช็อกโกแลตให้ฝ่ายชาย และบรรยากาศดูสดใสกว่า ส่วนต่อแถวซื้อคงไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะแทบทุกร้านในละแวกเดียวกันจะขายแต่ช็อกโกแลตกันหมด ช็อกโกแลตวาเลนไทน์ของญี่ปุ่นจึงมีตัวเลือกเยอะมาก

เบเกิล

ที่ญี่ปุ่นมีร้านเบเกิลอยู่ร้านหนึ่งขายเบเกิลสารพัดแบบมาก มีทั้งอย่างเค็มและอย่างหวาน และมีครีมชีสให้เลือกอีกหลายรส ถ้าซื้อรับประทานที่ร้าน เราสามารถเลือกเมนูใดเมนูหนึ่ง แล้วเลือกชนิดเบเกิลที่ชอบได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันเลือกไม่ถูก เพราะอยากรับประทานทั้งแบบเค็มและแบบหวาน ก็เลยบอกพนักงานว่าเอาเบเกิลช็อกโกแลตใส่ไส้แฮม มะเขือเทศ และผักกาดแก้ว พนักงานบอกว่าไม่แนะนำให้สั่งเบเกิลแบบหวานรับประทานคู่กับเมนูของคาว แต่ฉันยืนยันว่าอยากลอง เขาก็จัดให้ พอกัดคำแรกแล้วก็ อืม…ไม่แนะนำจริง ๆ ด้วย ถ้าอยากทราบว่ารสชาติเป็นอย่างไร ลองรับประทานแซนวิชแฮมพร้อมช็อกโกแลตดูสิคะ ความอยากอาหารจะดับต่อหน้าต่อตาเลยทีเดียว

พัมเพอร์นิกเคิลเบเกิล ใส่ไส้ชนิดต่าง ๆ ภาพจาก pinterest.com
พอไปอเมริกาแล้ว เจอร้านที่ขายเบเกิลเยอะมาก ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นร้านเบเกอรี่ หรือร้าน delicatessen ซึ่งเรียกสั้น ๆ กันว่า “deli” (คล้ายซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อมแต่มีขายอาหารร้อนด้วย) ยิ่งนิวยอร์กตอนเช้า ๆ นี่จะมีร้านรถเข็นขายอาหารเช้าแทบทุกหัวมุมถนน มีทั้งเบเกิล โดนัท และกาแฟ เคยซื้อเบเกิลใส่ไส้ครีมชีสไปนั่งรับประทานที่ทำงาน ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะ 2 เหรียญ ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับค่าอาหารต่อมื้อทั่วไป

ว่าแต่เบเกิลที่อเมริกาไม่ได้มีหลากชนิดแบบร้านเบเกิลที่ญี่ปุ่นร้านนั้น และเน้นรสเค็มหรือจืดมากกว่ารสหวาน มีอยู่วันหนึ่งฉันคิดถึงเบเกิลช็อกโกแลตที่ญี่ปุ่นมาก เห็นร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่งวางขายเบเกิลสีน้ำตาลเข้ม ก็ดีใจบอกพนักงานว่าเอาเบเกิลช็อกโกแลต เขาบอกว่าไม่มี ฉันก็ถามว่าอ้าว…แล้วเบเกิลสีน้ำตาลเข้ม ๆ นี่อะไร เขาว่า “อันนั้นคือ พัมเพอร์นิกเคิล (pumpernickel)ฉันได้ยินชื่อแปลก ๆ แล้วก็งงไปครู่หนึ่ง แต่ในใจยังคงรู้สึกว่าสีแบบนี้มันต้องรสช็อกโกแลตอยู่ดีแหละน่า ก็เลยสั่ง ปรากฏว่ารสชาติตรงกันข้ามเลยค่ะ สำหรับตัวเองแล้วรู้สึกว่าหาความอร่อยไม่เจอ เพื่อนฉันที่ชื่อนิก แม้จะชื่อคล้ายพัมเพอร์นิกเคิล ก็ยังเกลียดมันเหมือนกัน แต่คนที่ชอบก็คงว่าอร่อย

เบเกิลเป็นขนมปังที่กรอบนอกนุ่มใน เคี้ยวมัน เพื่อนฉันเคยติดเบเกิลมาก รับประทานบ่อยเสียจนน้ำหนักขึ้นไปหลายกิโล วันหนึ่งเธอจึงตัดขาดจากเบเกิล ถึงได้น้ำหนักลด ฉันเองเวลาอยากรับประทานเบเกิลมาก ๆ ก็จะหั่นเป็น 3 ส่วนแยกไว้ รับประทานแค่ส่วนเดียว ที่เหลือห่อใส่ช่องฟรีซไว้ เวลาอยากรับประทานมาก ๆ ค่อยเอามาอุ่น ไม่อย่างนั้นคงติดงอมแงม รับประทานจนอ้วนพีไปอีกคน

โกโก้เย็น

ฉันเพิ่งทราบนี่เองค่ะว่าเครื่องดื่ม “โกโก้ร้อน” (hot cocoa) กับ “ช็อกโกแลตร้อน” (hot chocolate) นั้นจริง ๆ แล้วเป็นคนละอย่างกัน คือ “โกโก้” จะชงด้วยผงโกโก้ นม น้ำเปล่า น้ำตาล ส่วน “ช็อกโกแลตร้อน” จะใส่ช็อกโกแลตก้อนหรือเกล็ดช็อกโกแลตละลายเพิ่มลงไปด้วย

ช็อกโกแลตร้อน ภาพจาก getinspiredeveryday.com
บ้านเราดูจะคุ้นกับ “โกโก้” ทั้งแบบร้อนและเย็น ส่วนที่อเมริกาจะมีแต่ “ช็อกโกแลตร้อน” และไม่ค่อยมีแบบเย็นเสียด้วย นาน ๆ จะเจอสักที แต่เขาเรียกเป็น “iced hot chocolate” (ช็อกโกแลตร้อนใส่น้ำแข็ง) ถ้าเป็นแบบเย็นดูเหมือนคนอเมริกันจะคุ้นกับ “นมช็อกโกแลต” (chocolate milk) มากกว่า โดยวิธีทำก็แบบเดียวกับโกโก้เย็นบ้านเรานี่เอง (ใช้ผงโกโก้ ไม่ใส่ช็อกโกแลตก้อน)

ตอนที่ฉันยังไม่ทราบเรื่องนี้ดี มีอยู่วันหนึ่งฉันเดินเข้าร้านกาแฟ เห็นในเมนูมี “ช็อกโกแลตร้อน” (hot chocolate) แต่ไม่มี “ช็อกโกแลตเย็น” (iced chocolate) เลยถามคนขายว่าทำช็อกโกแลตเย็นได้ไหม เขาทำหน้างง “มันเป็นยังไงเหรอ” ฉันตอบ “ก็เหมือนแบบร้อน แต่เปลี่ยนจากร้อนเป็นเย็นไง” เขาถามว่า “เหมือนนมช็อกโกแลต (chocolate milk) รึเปล่า” 

คราวนี้ฉันเป็นฝ่ายงงบ้าง “มันเป็นยังไงเหรอ” เขาตอบ “ก็นมสดใส่น้ำเชื่อมช็อกโกแลตน่ะ” ฉันนิ่งไปครู่หนึ่งก่อนจะถามต่อ “แล้วเวลาคุณทำช็อกโกแลตร้อน คุณทำวิธีเดียวกันไหม” เขาตอบว่าประมาณนั้น ฉันก็เลยให้เขาลองทำมา คาดหวังว่าจะรสชาติเข้มข้นเหมือนโกโก้เย็นบ้านเรา แต่กลับเหมือนนมรสช็อกโกแลตอย่างที่เขาว่าจริง ๆ ด้วย คือออกหวาน แต่ไม่ค่อยมีรสขมของโกโก้ หรือว่าบ้านเราจะใส่ผงโกโก้เยอะกว่าหรือเปล่าก็ไม่รู้

ที่อเมริกาเรียกโกโก้เย็นว่า “chocolate milk” ภาพจาก healthline.com
พูดถึงนมรสช็อกโกแลตแล้ว จำได้ว่าสมัยเด็กเคยกินนมพาสเจอร์ไรซ์ถุงยี่ห้อหนึ่งของไทย แถวบ้านฉันมีรถเข็นมาขาย ภายในตู้แช่จะมีนมถุงหลายรสวางซ้อน ๆ กัน ทั้งรสจืด รสหวาน รสสตรอเบอรี่ และรสช็อกโกแลต แม่เป็นคนซื้อให้ สมัยนั้นรู้สึกว่าจะถุงละ 2-3 บาท พอคนขายตัดมุมถุงแล้วเอาหลอดเสียบก็ดื่มได้เลย โกโก้เข้มข้น อร่อยมากจนไม่อยากให้หมดเร็ว ๆ ต้องค่อย ๆ ดื่มทีละน้อย แค่คำแรกก็รู้สึกเหมือนได้อยู่ในโลกอันแสนสุขอย่างบอกไม่ถูก แม้ตอนนี้ก็ยังจำความรู้สึกแบบนั้นได้อยู่เลยค่ะ

ส่วนที่ญี่ปุ่นเรียกเครื่องดื่มรสช็อกโกแลตว่า “โคโคอะ” (มาจากคำว่า cocoa) หรือบางทีก็เรียกเป็น “โจะโกเลโตะ” (มาจากคำว่า chocolate) ไม่แน่ใจว่าในญี่ปุ่นมีวิธีชงต่างกันไหมสำหรับสองอย่างนี้ แต่คนญี่ปุ่นจำนวนมากก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน ยี่ห้ออร่อยที่ฉันมักดื่มคือ Van Houten มีขายตามร้านสะดวกซื้อเป็นบางแห่ง กล่องละร้อยกว่าเยน เป็นรสชาติที่ชวนให้นึกถึงนมถุงที่เคยดื่มสมัยเด็ก เลยดื่มยี่ห้อนี้แล้วมีความสุข

วันนี้ลาเพื่อนผู้อ่านแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ แล้วพบกันสัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

—————————————————————————————————————————————————–
“ซาระซัง”  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.

เรื่องล่าสุด