‘บางแสน‘ ก็เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่ต้องปิดตัวลงชั่วคราวจากผลกระทบของ COVID-19 โดยงดเข้าพื้นที่ตลอดชายหาดบางแสนตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา เราเห็นทั้งภาพชายหาดที่สะอาด สบายตา ไร้ร่ม ไร้เตียงผ้าใบ และไร้ผู้คน แต่ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ปฎิบัติตามกฎระเบียบ แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฎภาพของประชาชนบางกลุ่มที่ละเลย เพิกเฉย ทั้งยังแหกกฎด้วยจับกลุ่มสังสรรค์และมั่วสุมกันริมชายหาดแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวเหมือนเคย
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมก็ได้ผ่อนปรนด้วยการเปิดถนนเลียบชายหาด แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังผ่อนคลายมาตรการก็คือขยะเกลื่อนหาด ความสกปรกถาโถมมาในพริบตา กระนั้นนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป หาดบางแสนจะกลับมามีชีวิตชีวา และโอบกอดชาวบางแสนและนักท่องท่องเที่ยวอีกครั้ง ทว่าเป็นการต้อนรับในรูปแบบของการ ‘เที่ยวบางแสนวิถีใหม่‘ ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ท่ามกลางมาตรการสำคัญที่ คุณณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข นำมาบอกกล่าวเพื่อให้เข้าใจโดยถ้วนทั่วกัน ถึงความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้การท่องเที่ยวบางแสนหลัง COVID-19 ที่ยังไม่มีวัคซีน เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยและอยู่ในสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ควบคุมได้ โดยนอกจากมาตรการที่วางไว้อย่างเป็นระบบและม่ข้อบังคับชัดเจนแล้ว ก็จะต้องอาศัยความร่วมมือและจิตสำนึกของทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จึงจะทำให้ #BangseanNewNormal ประสบความสำเร็จได้
โดยสิ่งที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังจากเปิดหาด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุยายน นี้ ได้แก่
พักหาดทุกวันจันทร์
สำหรับทุกวันจันทร์ จะเป็นวันหยุดของชายหาดบางแสนตลอดแนวตั้งแต่หาดบางแสนล่าง (หาดวอนนภา) หาดทรายบางแสน และแหลมแท่น ซึ่งจะห้ามให้มีการประกอบกิจการค้าขายสินค้าบนพื้นที่ทางสาธารณะบริเวณชายหาดทั้งหมด กล่าวคือ จะไม่มีการกางร่ม และเก้าอี้ผ้าใบ รวมถึงแผงลอยอาหาร ไก่ย่าง ฯลฯ บนพื้นที่หาดโดยเด็ดขาด แต่หากวันจันทร์ใดที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้เลื่อนไปยังวันถัดไป
วางอุปกรณ์ค้าขายเป็นเวลา ไม่ใช่ยึดครองถาวร
นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน เป็นต้นไป ผู้ประกอบการชายหาดบางแสนจะกลับมาประกอบกิจการ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มตามปกติ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ประกอบการสามารถวางอุปกรณ์การขายและบริการค้างไว้ที่ชายหาดได้ (โดยต้องพับเก็บหลังปิดกิจการรายวันให้เรียบร้อย ห้ามกางเก้าอี้และร่มค้างไว้เด็ดขาด) โดยจะอนุญาตเฉพาะวันศุกร์–อาทิตย์ เท่านั้น เว้นแต่กรณีเป็นวันหยุดต่อเนื่องให้ทำการขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป ส่วนวันอื่นๆ ให้เก็บกลับบ้านทุกวัน
ลดความหนาแน่นของเก้าอี้ผ้าใบ รักษาระยะห่างนักท่องเที่ยว
เทศบาลได้ลดพื้นที่ของล็อกเก้าอี้ผ้าใบลง ให้เหลือ 15 เมตร และให้จัดวางเก้าอี้ผ้าใบแต่ละชุดห่างกันตามมาตรการ Social Distancing อย่างเคร่งครัด และไม่ควรรวมกลุ่มหรืออยู่ไกล้ชิดกัน ควรเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตรรวมถึงมีการคัดกรอง ผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการเก้าอี้ผ้าใบ โดยมีการ วัดอุณหภูมิร่างกาย การสวมใส่หน้ากาก และการจัดเตรียมสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หรือนักท่องเที่ยวต้องล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังการสัมผัสวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะก่อนหลังการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม
คืนพื้นที่ชายหาด 1 กิโลเมตร ไร้ร่ม–เก้าอี้ผ้าใบ
เทศบาลเมืองแสนสุขได้พื้นที่ชายหาดคืนมาประมาณ 1 กิโลเมตร โดยจะจัดสรรเป็นเขตปลอดร่ม และเก้าอี้ผ้าใบ ใน 7 พื้นที่ ตลอดแนวชายหาด ตั้งแต่วงเวียนบางแสน และบริเวณปากซอย บางแสนซอย 1 ถึง ซอย 5 และ บริเวณทางลงเรือบริเวณศาลเจ้าพ่อแสน (หน้าโรงแรมบางแสน เฮอริเทจ) แต่ละพื้นที่จะมีความกว้างไม่เท่ากัน เมื่อรวมแล้วจะได้พื้นที่ว่างให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่ชายหาดประมาณ 1 กิโลเมตร ดังนั้นประชาชน นักท่องเที่ยว ที่ไม่ประสงค์นั่งเก้าอี้ผ้าใบ จะสามารถเลือกไปใช้พื้นที่หาดทราย ตามเขตปลอดร่มและเก้าอี้ผ้าใบได้ 7 เขต ตลอดแนวชายหาดบางแสน
จัดระเบียบที่จอดรถชั่วคราวสำหรับประชาชนโดยเฉพาะ
ล็อกเก้าอี้ผ้าใบ บริเวณเขตบางแสนล่างและแหลมแท่น ซึ่งไม่มีหาดทราย เทศบาลจะจัดพื้นที่จอดรถให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้บริการเก้าอี้ผ้าใบได้จอดรถ ล็อกละ1 คัน และห้ามผู้ประกอบการใช้พื้นที่จอดรถนี้โดยเด็ดขาด ให้สำรองให้ประชาชนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้บริการเก้าอี้ผ้าใบได้ใช้จอดรถชั่วคราว ส่วนด้านหน้าล็อกเก้าอี้ผ้าใบสามารถให้ผู้ใช้บริการเก้าอี้ผ้าใบจอดรถได้หน้าล็อกของตนเท่านั้น ห้ามให้ไปจอดในพื้นที่ที่สำรองให้ประชาชนที่ไม่ได้ใช้บริการเก้าอี้ผ้าใบ
เพิ่มร่มเงาและพื้นที่สีเขียวตลอดแนวชายหาด
ไม่ใช่แค่ชายหาดที่สวยงาม แต่การสร้างทัศนียภาพอันรื่นรมย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นเทศบาลเมืองแสนสุขจึงได้ปลูกต้นมะพร้าวทดแทนและเสริมในบริเวณชายหาดบางแสนตลอดแนวกว่า 200 ต้น เพื่อเพิ่มร่มเงาและพื้นที่สีเขียวให้กับชายหาด
เน้นความสะอาดเป็นที่ตั้ง
เทศบาลเมืองแสนสุขจะยกเลิกที่ตั้งวางถังขยะเดิมทั้งหมด โดยให้ผู้ประกอบการชายหาดรับผิดชอบขยะของร้านตนเองทั้งหมด โดยเทศบาลจะจัดรถมารับขยะ เป็นระยะๆ แต่เทศบาลจะจัดให้มีถังขยะสำหรับนักท่องเที่ยวในเขตปลอดร่ม ปลอดเก้าอี้ผ้าใบ และ บริเวณริมถนนเรียบชายหาดบางแสน โดยนักท่องเที่ยวต้องทิ้งขยะในถังขยะที่จัดเตรียมไว้ และหากในบริเวณที่ไม่มีถังขยะให้นำขยะกลับไปทิ้งที่อื่นที่มีถังขยะ ห้ามทิ้งบนชายหาดและพื้นที่สาธารณะโดยเด็ดขาด
งดอบายมุขทั้งปวง
เนื่องจากชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่สาธารณะ ตามกฏหมายห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ รวมถึงห้าม จำหน่าย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเจ้าหน้้าที่ส่วนกลางมาตรวจพบ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้อาจถูกลงโทษทั้งผู้จำหน่ายและผู้บริโภค
กำหนดเวลาค้าขายแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน
เวลาการให้บริการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตของเทศบาล บนชายหาดและพื้นที่สาธารณะชายหาดบางแสน ตั้งแต่หาดบางแสนล่าง (หาดวอนนภา) ไปจนถึงสุดล๊อกเก้าอี้ผาใบแหลมแท่น วันธรรมดา อังคาร–พฤหัส ให้ประกอบกิจการได้ตั้งแต่เวลา 6.00-18.00 น. วันศุกร์–อาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้ประกอบการได้ ตั้งแต่ 6.00-20.00 น. ส่วนผู้ประกอบการสวนหย่อมแหลมแท่น และแผงลอยอาหารริมถนนบางแสนสาย 1 ฝั่งตะวันออก (ฝั่งโรงแรม) ให้ประกอบกิจการได้ตั้งแต่ 16.00-22.00 น. วันจันทร์ต้องหยุดประกอบการทั้งหมด
บางแสนหลัง COVID-19 จะสวยสดงดงามได้ ต้องร่วมด้วยช่วยกันทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ เนื่องจากบางแสนเป็นหนึ่งในหมุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยและภาคตะวันออก ทำให้ในแต่ละปีมีผู้มาเยี่ยมเยือน (นักท่องเที่ยวและนักทัศนาจร) จำนวนมาก โดยสถิติล่าสุดในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกัน 2,846,339 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.55% และมีระยะเวลาพักเฉลี่ย 2.36 วัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน/วัน 2,246 บาท โดยบางแสนมีรายได้จากการท่องเที่ยว 10,230 ล้านบาท ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 10.04% จากปี 2560 ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยว 9,296 ล้านบาท
ดังนั้นเพื่อให้การท่องเที่ยว New Normal ในบางแสนเป็นไปทิศทางที่พึงประสงค์ เทศบาลเมืองแสนสุขจึงกำหนดมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมคือ ให้นักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ชายหาดบางแสนไม่เกิน 22.00 น. ห้ามประชาชน นักท่องเที่ยว ทำอาหารและปรุง ประกอบอาหารทุกชนิดบริเวณชายหาดบางแสนตลอดแนวขายหาดบางแสน
อย่างไรก็ตาม หากจำนวนนักท่องเที่ยวหนาแน่นเกินไป เทศบาลฯ และ สถานีตำรวจภูธรแสนสุข ประเมินแล้วอาจเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ จะสงวนสิทธิ์ในการปิดถนน ห้ามเข้าพื้นที่ชายหาดบางแสนเป็นการชั่วคราว จนกว่าปริมาณนักท่องเที่ยวเบาบางลง จะเปิดให้เข้าได้ต่อไป
ด้วยเหตุนี้ จึงขอความร่วมมือร่วมใจของประชาชนและผู้ประกอบการทั้งหลาย ให้ปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อที่ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการจะได้ท่องเที่ยวและประกอบกิจการได้อย่างสบายใจและราบรื่น
ขณะเดียวกันคุณณรงค์ชัย ได้แสดงความกังวลว่า “สิ่งที่บางแสนอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ ปริมาณขยะปริมาณมหาศาลที่ถูกพัดมาจากทะเล ที่เทศบาลฯ ต้องจัดเก็บ และอาจมีตกค้างมห้นักท่องเที่ยวเห็นอยู่บ้าง แต่จะพยายามเก็บให้เรียบร้อยมากที่สุด”
“ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม และอีกอย่างที่ยังคงอยู่ ก็คือ นายกฯ คนนี้ ที่คงที่ คงทน ปากกล้า ขาแข็ง ไม่หวั่นแม้เจออะไรๆ มามาก เพื่อบางแสนของผม และของเราทุกคน”
ก่อนที่คุณณรงค์ชัยจะกล่าวปิดท้ายด้วยการเชิญชวนประชาชนชาวบางแสนว่า มาช่วยกันทำให้บางแสนเป็นเมืองท่องเที่ยวน่าอยู่
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแสนสุขได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลแสนสุข ขึ้นเป็นเทศบาลตำบลแสนสุข เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2531 พร้อมกับขยายพื้นที่ความรับผิดชอบจาก 12.5 ตารางกิโลเมตร (15 หมู่บ้าน) เป็น 20.268 ตารางกิโลเมตร (20 หมู่บ้าน) และในปี 2536 เทศบาลฯ จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยราชการต่างๆเป็นจำนวนมาก เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, กรมการปกครอง ฯลฯ ซึ่งเทศบาลฯ ได้นำงบสนับสนุนเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จวบจนปัจุบัน เทศบาลฯ ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลเมืองแสนสุข เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2544 และยึดหลักการบริหารท่ี่ว่า “เทศบาลเมืองแสนสุข ต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ ควบคู่กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สะอาดสวยงาม เป็นที่รู้จักระดับสากล พัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีตลอดไป“
ที่มา :
- เฟซบุ๊กแฟนเพจ ณรงค์ชัย (ตุ้ย) คุณปลื้ม, เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัลชลบุรี, สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี-Chonburi PR
- สถิติการท่องเที่ยวบางแสน ปี 2561
Post Views: 5,121