มีเรื่องราวมากมายให้เล่าก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงจุดหมาย ‘ร้านเมฆไอศครีม’ จ.ชลบุรี
ตั้งแต่การไปกินข้าวเช้าที่อำเภอสัตหีบ ก่อนจะกลับมาเดินตากแดดตากลมแถวมหาวิทยาลัยบูรพา แล้วไปนอนรอเวลาอยู่แถวหาดบางแสน เพียงแต่กลัวว่าถ้าลงรายละเอียดไปมากกว่านี้ จะทำให้บทความนี้กลายเป็นคอลัมน์ Travelogue ไปเสียอย่างนั้น
เราจึงขอพาผู้อ่านข้ามการเดินทางทั้งหมดเพื่อแนะนำให้รู้จักกับร้านไอศกรีมที่อยู่คู่จังหวัดชลบุรีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่รุ่นอากง คุณแม่ จนมาถึง ติม-ชวินโรจน์ สุทธิธรรมชนะ หลานชายผู้มีสถานะเป็นเจ้าของร้านรุ่นที่ 3 และเป็นคนริเริ่มความคิดให้แบรนด์ไอศกรีมอายุกว่า 56 ปีมีความร่วมสมัยและสากล แต่ยังคงนำเสนอด้วย ‘รสชาติแบบไทย ๆ’
รุ่นที่ 1 แปะง้วนไอศครีม
“จริง ๆ อากงไม่มีแม้กระทั่งเสื่อผืนหมอนใบ” หนึ่งในคำบอกเล่าของติมขณะกำลังพูดถึงไทม์ไลน์กว่า 56 ปีของร้านให้เราฟัง โดยทั้งหมดเริ่มต้นจากอากงชื่อ แปะง้วน แซ่เตียว ชายชาวจีนที่อพยพมายังประเทศไทยภายหลังสงครามอย่างยากลำบาก เสื่อก็ไม่มีสักผืน หมอนก็ไม่มีสักใบ มีเพียงลูกเต้าเหล่าชายหญิงที่เขาต้องดูแล
“อากงเป็นลูกจ้างก่อน แล้วค่อยออกมาทำธุรกิจของตัวเอง เริ่มจากสิ่งที่เขาทำได้คือของกิน ก็ลองทำอยู่หลายอย่างจนคิดว่าไอศกรีมคือสิ่งที่ตัวเองน่าจะชอบที่สุด เขาตั้งใจทำ ตั้งใจพัฒนาให้ได้รสชาติดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้นเลยกลายเป็นร้านไอศกรีมที่ขายดีที่สุดในตัวเมืองชลบุรี ณ ตอนนั้น”
สาเหตุที่ ‘แปะง้วนไอศครีม’ กลายเป็นร้านที่ขายดีที่สุด เห็นจะเป็นเพราะ ‘ไอศกรีมรสกะทิ’ ที่เรียกอย่างเต็มยศว่าเป็น ‘สูตรลับ’
2 สิ่งที่เราได้รู้เกี่ยวกับความลับนี้คือ หนึ่ง มันอร่อยมาก และสอง ที่มาที่ไปมีพื้นฐานบนความคิดที่ว่า “ทำไอศกรีมให้อร่อยที่สุด เท่าที่ชีวิตนี้จะทำได้”
โดยเริ่มจากการที่แปะง้วนไปเรียนทำไอศกรีมกับเพื่อนบ้าน นำมาดัดแปลง ลองผิดลองถูก และปรับปรุง จนกลายมาเป็นรสชาติที่สืบทอดต่อกันมา
รุ่นที่ 2 เล็กไอศครีม
เวลาล่วงเลยไปสู่รุ่นคุณแม่ของติมที่แยกตัวออกมาทำ ใช้ชื่อว่า ‘เล็กไอศครีม’ โดยไม่ยึดโยงอยู่กับร้านเดิมของอากง เนื่องจากคุณแม่มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว แต่ก็ยังคงสืบทอดสูตรลับมาแบบไม่มีตกหล่นหรือขาดหายระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน
สูตรของอากงที่เปลี่ยนมือไปตามกาลเวลา คนทำย่อมต้องปรับเล็กปรับน้อยตามความถนัดและตามรสมือของผู้ถือสูตรในตอนนั้น คุณแม่ค่อย ๆ นำสูตรลับมาใช้เป็นฐานสำหรับพัฒนารสชาติต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้าได้มีตัวเลือกมากขึ้น ได้แก่ กาแฟ เผือก ช็อกโกแลต เป็นต้น
ในฝั่งของร้านแปะง้วน น้องชายของคุณแม่มารับช่วงต่อ และตัวร้านยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบันเช่นกัน
“เมื่อก่อนลำบากมาก เพราะสมัยนั้นเป็นยุคออฟไลน์ ตอนนั้นต้องมาเริ่มใหม่หมดเลย ทำเลร้านแรกก่อนปัจจุบันจะอยู่ในซอยเดียวกันนี้แต่ลึกเข้าไปอีก ทำให้ขายไม่ดี ก็ค่อย ๆ ปรับกันไป จากขายไม่ดีก็พอขายได้ พอขายได้ก็เริ่มต่อยอดมาเรื่อย ๆ” ติมเล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประจำตระกูล
รุ่นที่ 3 เมฆไอศครีม
เมื่อเข้าสู่รุ่นที่ 3 ติมที่เรียนจบเชฟมาจากวิทยาลัยดุสิตธานีเกิดขัดใจกับแนวทางของร้านในตอนนั้น เช่น ทำไมโต๊ะถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เปลี่ยนแพ็กเกจบ้าง ทำไมถึงไม่คิดทำรสชาติอื่น ๆ ที่ตลาดไม่มี
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงก้าวขึ้นมาทำเรื่องที่ตัวเองขัดใจให้บรรลุเป้าหมายทีละเล็กละน้อย เริ่มจากสิ่งที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากเกินกำลัง และคิดเสมอว่าอย่าเพิ่งเล่นใหญ่เกินตัว จนค่อย ๆ กลายมาเป็นความสำเร็จที่ยังเติบโตต่อไปได้ในทุกวันนี้
อย่างหนึ่งที่เขาบอกให้เรารู้ คือเขาเป็นคนรีแบรนด์ก็จริง แต่เขาไม่ใช่คนคิดชื่อ ‘เมฆไอศครีม’
“ใช้ชื่อเล็กไอศครีมได้ไม่นานก็ไปเปลี่ยนชื่อเป็นเมฆไอศครีม เป็นชื่อที่พระตั้งให้ เป็นความเชื่อของที่บ้านเขา ร้านใช้ชื่อนี้มาประมาณ 20 ปีได้ แต่ที่มารีแบรนด์จริง ๆ เพิ่งประมาณ 8 – 9 ปีที่แล้ว ตอนที่เรามาทำต่อก็คิดเหมือนกันว่าจะเปลี่ยนชื่อหรือไม่เปลี่ยนดี แต่เลือกที่จะไม่เปลี่ยนด้วย 2 เหตุผล
“หนึ่ง ชื่อ เมฆ เป็นชื่อที่มีความหมายดี
“สอง Switching Cost คือต้นทุนที่ทำให้ผู้บริโภครับรู้แบรนด์เราใหม่อีกครั้ง ซึ่งการที่ทำให้คนรู้จักแบรนด์ใหม่ จะมีเรื่องของระยะเวลาและค่าใช้จ่ายพอสมควร”
จึงลบความคิดในการที่จะเปลี่ยนชื่อแบรนด์และใช้ชื่อแบรนด์นี้มาตลอด
อีกสิ่งที่น่าสนใจระหว่างพูดคุยกัน คือเขาพยายามทำแบรนด์ไม่ให้หลุดไปจากความขลังเดิมที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่รุ่นอากง
ความขลังนั้นหมายถึงไอศกรีมของร้านมีอัตลักษณ์ความเป็นไทยมากกว่าที่ไหน ๆ และเลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งไทย ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ยิ่งพวกเขามีกะทิเป็นเบสที่เข้ากับขนมไทยได้แทบทุกชนิด จึงทำให้เหล่ารสชาติที่คิดค้นขึ้นมาผ่านการต่อยอดจากสูตรลับอายุ 50 กว่าปี มีรสชาติเข้มข้นและชัดเจนตามชื่อรส ซึ่งจากการที่ผู้เขียนได้ชิมทุกรสชาติที่มีในร้านเป็นที่เรียบร้อย ขอการันตีว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
เพื่อความครบถ้วน เราจะมาไล่ให้ฟังกันสักหน่อยว่าในรุ่นของติม เขาคิดค้นรสชาติอะไรขึ้นมาใหม่บ้าง จากเดิมที่มีแค่กะทิของอากง และกาแฟ เผือก ช็อกโกแลต ของคุณแม่
แน่นอนว่าสิ่งที่เปรียบเสมือน Signature Dish ของร้านต้องเป็นกะทิสูตร 50 ปี แล้วจึงแตกแขนงแยกย่อยไปเป็นกะทิชาร์โคล กะทิอบควันเทียน กะทิไข่แข็ง และรสทั่วไปก็ยังคงมีอยู่ ทั้งเผือกหอม ช็อกโกแลตชุมพร และกาแฟโครงการหลวง
ส่วนอีกมากมายที่ติมคิดค้นขึ้นด้วยตัวเอง เริ่มด้วยกล้วยตาก มะม่วงน้ำดอกไม้ ข้าวหลามหนองมน อัญชันมะนาว ทุเรียนหมอนทอง ฝอยทอง ชาไทยสูตรต้นตำรับ และมะพร้าวน้ำหอม
“ถ้าทำอะไรที่ไม่แตกต่าง ผมสู้ไม่ทำเลยดีกว่า เราต้องแตกต่างอย่างตอบโจทย์ มุ่งมาทางสายไอศกรีมไทย ๆ แบบสุดทาง และเน้นทำทุกตัวให้เป็น Product Hero พยายามปรับสูตรให้รีดความเป็นวัตถุดิบนั้น ๆ ให้ออกจนมีรสชาติเข้มข้นที่สุด” ติมย้ำ
Life, Earth & Business
เราถามติมต่อว่า มีอะไรที่เขายังขัดใจอยู่ไหม
คำตอบนั้นเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจอันแรงกล้า เขาบอกว่าทุกอย่างตอนนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ทางร้านพยายามเซตระบบหลังบ้านให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมปรับปรุงการบริการหน้าร้านให้ดีกว่าเดิม แล้วจึงจะขยายสาขาออกไปตามแต่ละจังหวัดในรูปแบบป่าล้อมเมือง หรือก็คือขยายในต่างจังหวัดก่อนจะเข้าสู่กรุงเทพฯ
โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ “เราอยากเป็นร้านไอศกรีมอัตลักษณ์ไทยที่ผู้คนโหวตให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ และอยากช่วยสนับสนุนระบบนิเวศรอบตัวเรา ทำให้ชีวิต โลก และธุรกิจ อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”
ชีวิตและโลก คือสาเหตุที่ติมเลือกให้แพ็กเกจของทางร้านย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทุกกระบวนการต้องทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด เช่น กากมะพร้าวถูกส่งไปให้เป็นอาหารสัตว์ ทำบ่อดักไขมันเพื่อให้เทศบาลนำไปกำจัดต่อ หรือการแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการลดใช้วัสดุที่สิ้นเปลือง ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อให้เมฆไอศครีมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรณรงค์เรื่อง Zero Waste
ส่วนธุรกิจ คือการที่เมฆไอศครีมเลือกใช้วัตถุดิบแบบไทย ๆ จากเกษตรกรรายย่อย จากชุมชน และยังชื่นชอบที่จะใช้วัตถุดิบจากผู้ผลิตที่มีจิตวิญญาณของความใส่ใจเฉกเช่นเดียวกับเรา เพราะความใส่ใจในด้านการผลิต ความสะอาด จะทำให้วัตถุดิบตั้งต้นดี ซึ่งส่งผลให้ไอศกรีมของเราออกมาอร่อยและมีส่วนช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่รุ่นอากงเห็นจะไม่ได้มีเพียงสูตรไอศกรีมเท่านั้น แต่เป็นแนวคิดและคำสอนที่ว่าด้วยความขยัน ความรับผิดชอบ ใส่ใจในทุกรายละเอียด และทำงานเสมือนวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนที่กำลังเลื่อนลง
นั่นคือ ไม่ว่าจะทำอะไร จงขยันและทำให้เต็มที่ ถ้าไม่วิ่งก็เดิน หรือถ้าไม่เดินก็คลาน
“เราไม่หยุดที่จะปรับปรุงพัฒนา ทุกอย่างต่างผ่านความยากลำบากมาก่อน ผมไม่เคยโชคดี ทุกอย่างแลกมากับการทำงานหนัก ถ้าเราทำร้านที่หวือหวาหรือฉาบฉวย อาจจะยืนในระยะยาวไม่ได้นาน เราจึงต้องใส่ใจทำสินค้าที่ตอบโจทย์และแข็งแรงพอด้วย”
ถ้าหากรสชาติไอศกรีมในร้านมีพื้นฐานมาจากสูตรลับอายุ 50 กว่าปี แนวคิดในการรีแบรนด์ของติมก็คงมีพื้นฐานมาจากคำสอนไม่ลับอายุ 50 กว่าปีของอากงด้วยเช่นกัน
เขาทำร้านเมฆไอศครีมให้มีความเป็นวัยรุ่น เข้าถึงผู้คนมากขึ้น มีแบรนด์ที่แข็งแรงตามแบบฉบับของตัวเอง และมีความยั่งยืนเป็นเป้าหมาย
“เวลาเราเห็นใครประสบความสำเร็จ เราก็มักอยากจะเป็นเหมือนเขาคนนั้น แต่จริง ๆ แล้วทุกคนล้วนแตกต่าง เราประสบความสำเร็จและสร้างความสุขให้ผู้คนในแบบของเราได้เช่นกัน”
ออกตัวก่อนว่านี่ไม่ใช้ข้อคิดประจำบทความที่ผู้เขียนอยากมอบให้ผู้อ่าน เพราะมันคือหนึ่งในคำสอนของอากงที่ติมนำไปใส่เอาไว้ในเว็บไซต์ mekicecream.com
นำไปสู่ประโยคปิดจบของเขาที่ว่า
“การได้เห็นลูกค้าชอบในไอศกรีมของเรา แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว”