วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขประกาศคำขวัญ “ บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ” สอดรับกับองค์การอนามัยโลกรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2565 “ ยาสูบ : ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม “ เน้นเปิดโปงความจริงพิษภัยของยาสูบ นอกจากบั่นทอนสุขภาพแล้ว ตลอดวงจรชีวิตยาสูบเริ่มตั้งแต่การปลูก การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่ายยาสูบ ของเสีย และก้นบุหรี่ขยะพลาสติกจากการสูบบุหรี่ สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม เป็นอีกเหตุผลเร่งสร้างความตระหนักให้กับประชาชน นำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่และเพิ่มมาตรการควบคุมการผลิตยาสูบ
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีหลักฐานจากการศึกษาและวิจัยได้เสนอในเวทีสัมมนาภาคีเครือข่ายและแถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2565 ในรูปแบบ Hybrid เมื่อวันก่อน จัดโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย
พญ.โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ขับเคลื่อนประเด็นบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การทำไร่ยาสูบ มีการตัดป่า ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ดินแห้งแล้ง บุหรี่ก่อมลพิษอากาศ การผลิต การขาย การสูบ สร้างความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณการความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ GPD
“ แวดวงอุตสาหกรรมยาสูบโฆษณากระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงเป็นการฟอกเขียว เพราะทุกขั้นตอนสร้างผลกระทบ ภาคนโยบายต้องผลักดันหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต หรือ EPR บังคับใช้กับธุรกิจยาสูบ ใช้มาตรการภาษีเพิ่มต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ควบคู่ขับเคลื่อนลดอุปสงค์อุปทานยาสูบ ส่งเสริมเกษตรกรเพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนยาสูบ เพื่อสุขภาพตนเองและรักษาสภาวะแวดล้อม รวมถึงมีมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จะส่งผลดีทุกมิติ “ พญ.โอลิเวีย เน้นย้ำ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ชัดยาสูบเป็นภัยคุกคามสิ่งแวดล้อม รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายข้อมูลให้เห็นชัดๆ ว่า ยาสูบทำให้เกิดการตัดไม้แผ้วถางป่าพื้นที่ 1.25 ล้านไร่ ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม รวมถึงการฟื้นฟูคุณภาพดินหลังทำไร่ยาสูบมีค่าใช้จ่ายสูง ยาสูบผลิตขยะพลาสติกและขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ ขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเลแสนตัวตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี รวมถึงยาสูบแบบไร้ควันเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์
“ จากการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะ พบว่า ร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ ก้นบุหรี่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้นๆ ที่พบในแหล่งน้ำ ก้นบุหรี่ถูกทิ้งทั่วโลก 4.5 ล้านล้านชิ้นต่อปี และขยะก้นบุหรี่ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในไทย “
รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า วัฏจักรทั้งหมดของบุหรี่หนึ่งมวนต้องใช้น้ำ 3.7 ลิตร หากเลิกสูบบุหรี่จะประหยัดน้ำได้ถึง 74 ลิตรต่อวัน การผลิตยาสูบปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 84 ล้านเมตริกตันต่อปี ควันบุหรี่มีส่วนทำให้ระดับมลพิษทางอากาศสูงขึ้น เกิดก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์
ไร่ยาสูบที่อาบด้วยสารเคมี เป็นภัยคุกคามสุขภาพเกษตรกรไร่ยาสูบ รศ.ดร.เนาวรัตน์ เผยพบระดับความเข้มข้นของอะลูมิเนียมและสารหนูในเลือดสูงขึ้นจากการสัมผัสยากำจัดศัตรูพืชสะสม กระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งความพิการแต่กำเนิด เนื้องอกที่ไม่ร้ายแรงและร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ระบบประสาท และต่อมไร้ท่อ ส่วนแรงงานเด็กในไร่ยาสูบเป็นกลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงพิเศษเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1 เพิ่มขึ้น เพราะจากน้ำหนักตัวเด็กสัมพันธ์กับสัดส่วนของนิโคตินที่ดูดซึมผ่านผิวหนังจากการสัมผัสกับใบยาสูบ จนถึงการผันตัวเองเป็นผู้สูบด้วย ส่วนสตรีเสี่ยงสูงขึ้นของภาวการณ์มีบุตรยากและปัญหาการเจริญพันธุ์
เวทีสัมมนาภาคีเครือข่ายเปิดโปงความจริงบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ในไทยมีก้นบุหรี่ผลิตขึ้นมากกว่า 100 ล้านชิ้น กลายเป็นขยะไปตกอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะชายหาด จัดเป็นขยะหมายเลขหนึ่ง ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ปีนี้องค์การอนามัยโลกฉีกมารณรงค์สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ และหลายหน่วยงานให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด ในต่างประเทศห้ามสูบบุหรี่ในชายหาดมานานแล้ว อย่างสหรัฐร้อยละ 50 ของชายหาดทั่วประเทศปลอดบุหรี่ แคลิฟอร์เนียมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดชัดเจน ส่วนสเปนกรกฎาคมนี้ทุกชายหาดห้ามสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนปรับ 5 หมื่นบาท การรณรงค์จะจุดประกายให้ทุกฝ่ายหันมาทำสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดบุหรี่เพื่อมีโอกาสเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วยของไทย
ด้านภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนชายหาดปลอดบุหรี่นำร่อง 24 ชายหาด 15 จังหวัดชายฝั่งทะเลไทย เช่น หาดบางแสน หาดป่าตอง หาดหัวหิน นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีทช. กล่าวว่า จากการสำรวจชายหาดแต่ละแห่งมีก้นกรองบุหรี่ตกค้างมากกว่า 1 แสนชิ้น นำมาสู่โครงการชายหาดปลอดบุหรี่ เอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่และทิ้งก้นกรองบุหรี่ไม่เป็นที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ ขยะจากก้นกรองบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง ทำให้น้ำทะเลและน้ำสะอาดมีพิษ ทั้งยังเป็นพิษต่อจุลินทรีย์และสัตว์ทะเลขนาดเล็ก สัตว์ใหญ่กินก้นบุหรี่จนเกิดอุดตันทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ก้นกรองบุหรี่ยังมีพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า 12 ปี ทช. จะขยายผลชายหาดปลอดบุหรี่ไปยังทุกชายหาดต่อไป ” นายอภิชัย กล่าว
บุหรี่ก่อมลพิษฝุ่น PM2.5 เป็นอีกประเด็นร้อน รศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เปิดผลวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่งที่มีชื่อเสียงของไทย ในปี 2558 โดยตรวจวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน บริเวณพักผ่อนใต้ร่มและเก้าอี้ พบปริมาณฝุ่นPM2.5มีค่าเฉลี่ย 260 และ 504 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และพบค่าสูงสุดถึง 716 และ 1,335 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สูงกว่ามาตรฐานกำหนด 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ถึง 27 เท่า คุณภาพอากาศไม่เหมาะสมกับการมาพักผ่อน เห็นด้วยกับ กม.ห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด นอกจากควันบุหรี่มือสอง มือสามเป็นมลพิษแล้ว ตัวก้นบุหรี่ที่เหลือทิ้งเป็นเศษขยะและตัวก้นกรองที่ประกอบด้วยไมโครพลาสติกเป็นอันตรายในสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ทีมวิจัยศึกษาก้นบุหรี่บริเวณชายหาด ได้ทุนสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับนักวิจัยจากสหรัฐ และญี่ปุ่น จะรายงานผลศึกษาโอกาสต่อไป
สำหรับภาคีเครือข่ายที่ต้องการร่วมรณรงค์ หรือขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สามารถรายละเอียดเพื่อขอรับสื่อได้ที่ www.smokefreezone.or.th หรือติดต่อที่หมายเลข 0-2278-1828 ช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่ให้เกิดขึ้นทั่วไทย