Site icon บางแสน

เปิดประวัติ “วันสตรีสากล” วันพิเศษเพื่อฉลองความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก

logoline

เกาะติดข่าวสาร>> คมชัดลึก ออนไลน์

“วันสตรีสากล” หรือ International Women’s Day ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่ง “วันสตรีสากล” มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี

ประวัติ “วันสตรีสากล” International Women’s Day วันที่เกิดจากการประท้วงของแรงงานเย็บผ้า

เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ.2400)

จากนั้นในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ “คลาร่า เซทคิน” นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลาย ร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ “คลาร่า เซทคิน” และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรี กลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้อง ของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ

  • ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง
  • ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง
  • และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย       

ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ “คลารา เซทคิน” ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” International Women’s Day

“วันสตรีสากล” ไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วย และอีกหลายประเทศได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดประจำชาติของตน กลุ่มสตรีจากทุกทวีปไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม ได้รวมตัวกันเพื่อฉลองวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคความยุติธรรม สันติภาพและการพัฒนา

สัญลักษณ์ “วันสตรีสากล” 

“ดอกมิโมซ่าสีเหลือง” เป็นดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของความอ่อนโยนของผู้หญิง แต่ก็แข็งแกร่งในคราวเดียวกัน เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่เติบโตในช่วงฤดูหนาวท่ามกลางความหนาวเย็น แต่สามารถอยู่รอดจนผ่านฤดูหนาว และผลิดอกได้ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับเดือนของวันสตรีสากลพอดีนั่นเอง นอกจากดอกมิโมซ่าสีเหลือง หลายประเทศในยุโรปก็ยังนิยมใช้ดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้ชนิดอื่นๆ มาเป็นสัญลักษณ์

Exit mobile version