ชวนรู้ที่มาของ “วันไหลสงกรานต์” ที่คนรุ่นใหม่อาจเข้าใจว่าเป็นเพียงแค่วันเล่นน้ำที่ลากยาวต่อจากวันที่ 15 เมษายน แต่แท้จริงมีเบื้องหลังเป็นประเพณีเกี่ยวที่ศาสนามาก่อน พร้อมส่องวันไหลของพื้นที่ต่างๆ ปีนี้ที่ไหนจัดงานบ้าง?
ชวนรู้ที่มาของ “วันไหลสงกรานต์” ที่คนรุ่นใหม่อาจเข้าใจว่าเป็นเพียงแค่วันเล่นน้ำที่ลากยาวต่อจากวันที่ 15 เมษายน แต่แท้จริงมีเบื้องหลังเป็นประเพณีเกี่ยวที่ศาสนามาก่อน พร้อมส่องวันไหลของพื้นที่ต่างๆ ปีนี้ที่ไหนจัดงานบ้าง?
เทศกาลสงกรานต์ในบางพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ได้มีขึ้นในวันที่ 13-14-15 เมษายนเหมือนอย่างทั่วไป แต่มีการฉลองวันสงกรานต์หลังวันที่ 15 เมษายน หรือที่เรียกันว่า “วันไหลสงกรานต์” ซึ่งเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่รู้ที่มาเบื้องลึกว่า แท้จริงแล้ว “วันไหล” กำเนิดมาจากวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวเล
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ต้นกำเนิด”วันไหลสงกรานต์” จัดขึ้นเพื่ออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และในปี 2565 นี้ มีจังหวัดไหนจัดงานวันไหลกันบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปักหมุดเที่ยวงาน “สงกรานต์ 2565” ทั่วไทย พร้อมเปิดปฏิทินวันไหลสงกรานต์
- รู้จัก “น้ำอบนางลอย” ความหอมคู่สงกรานต์ที่โควิด-19 ยังฆ่าไม่ตาย
- สงกรานต์ 2565 รู้วิธี “รดน้ำดำหัว” ที่ถูกต้องทำอย่างไร ทำวันไหน?
- “สงกรานต์ 2565” วันที่ 13-14-15 เมษายน แต่ละวันสำคัญอย่างไร?
1. วันไหลสงกรานต์ มีความเป็นมาอย่างไร?
“วันไหล” หรือ “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” ถือเป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวเล คนไทยในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลางบางพื้นที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ซึ่งมักจะจัดงานฉลองปีใหม่ขึ้นในช่วงหลังวันสงกรานต์ปกติ เป็นระยะเวลา 5-6 วัน
โดยชาวบ้านจะก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา ให้ครบ 84,000 กอง ซึ่งมีความหมายโดยนัยให้เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ในศาสนาพุทธ โดยแต่ละกองจะมีการปักธงทิวต่างๆ มีผ้าป่า และสมณบริขารสำหรับถวายพระ
จากนั้นพระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ และเลี้ยงแขกผู้ร่วมงานในเทศกาลตรุษสงกรานต์ และเมื่อเสร็จงาน ทางวัดจะนำทรายไปสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัด หรือถมที่ทางบริเวณวัด
จากนั้นเมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน วัดจะจัดประเพณี “ก่อพระทรายน้ำไหล” ขึ้น (ขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลลงมาขังบริเวณหนอง คลอง หรือบึง) โดยจะมีการรวบรวมผู้คน (ลงแรงเอาบุญ) มาช่วยกันขุดลอกให้สะอาด ซึ่งประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความเจริญของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดี
แต่ในปัจจุบัน ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเครื่องมือ การขนทรายด้วยแรงคนแบบสมัยก่อน ถูกเปลี่ยนมาเป็นการใช้รถยนต์ขนทรายเพื่อความสะดวก และวัดหลายแห่งก็ไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้ทรายทำสิ่งต่างๆ ในวัดแล้ว จึงแทบไม่มีการขุดลอก คู คลอง หนอง บึงในบริเวณใกล้วัด การก่อพระทรายน้ำไหลเพื่อเอาบุญจึงหมดความหมายไป ปัจจุบันจึงเหลือเป็นแค่ “วันไหล” หรือ “ประเพณีวันไหล” เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
2. วันไหลปี 2565 นี้ จังหวัดไหนจัดวันใดบ้าง?
- จังหวัด “ชลบุรี”
16-17 เม.ย. 2565: ที่ชายหาดบางแสน มีประเพณีก่อพระทรายวันไหล
18-19 เม.ย. 2565: วันที่ 18 เม.ย. ที่สวนสาธารณะลานโพธิ์ นาเกลือ มีประเพณีวันไหลนาเกลือ มีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง การเจริญพระพุทธมนต์ การสรงน้ำพระ (07.00-10.00 น.) ส่วนวันที่ 19 เม.ย. ที่เมืองพัทยา มีการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง การเจริญพระพุทธมนต์ การสรงน้ำพระ มีเพียงกิจกรรมประเพณีตามพุทธศาสนาเท่านั้น
19-21 เม.ย. 2565: ที่อำเภอศรีราชา มีงานสงกรานต์ศรีมหาราช และประเพณีกองข้าว
21-23 เม.ย. 2565: ที่อำเภอบ้านบึง มีประเพณีวันไหลสงกรานต์
- จังหวัด “ระยอง”
13 เม.ย. 2565: มีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ สวนศรีเมือง, ตัวเมืองระยอง, ถนนราษฎร์บำรุง (สายล่าง), หาดแม่รำพึงและ แหลมแม่พิมพ์
16 เม.ย. 2565: มีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ บ้านเพ
17 เม.ย. 2565: มีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ บ้านฉาง
18 เม.ย. 2565: มีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ นิคมพัฒนา
19 เม.ย. 2565: มีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ ห้วยโป่ง
21 เม.ย. 2565: มีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ มาบตาพุด และบ้านค่าย (วัดไผ่ล้อม)
29 เม.ย. 2565: มีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ ปากน้ำระยอง (วัดปากน้ำ)
- จังหวัด “สมุทรปราการ”
22-24 เม.ย. 2565: ที่จังหวัดสมุทรปราการ มีงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2565
——————————————-
อ้างอิง: Wikipedia, Sanook, TrueID