Site icon บางแสน

“เจ้าแม่พิมพ์”…ไม่ปรากฏกายทิพย์ ปาฏิหาริย์! ขอลูกของานปลดหนี้

Dtbezn3nNUxytg04ajYfCGdJZ2hlBfRMCjKYVGuPSVPUb7.jpg

คนมักเชื่อกันเองว่า…ทะเลแหลมแม่พิมพ์ อ.แกลง จ.ระยอง เป็นแดน “อาถรรพณ์” มีคนเคยมาเที่ยวแล้วจมน้ำทะเลตายเฉลี่ยห้ารายต่อปี ทั้งที่ทะเลยามนั้น “ปลอดมรสุม”…ไร้คลื่นลมปั่นป่วน

บ้างก็เหมาว่า…ท้องน้ำเวิ้งนั้นมีวิญญาณสัมภเวสีที่รอตัวตายตัวแทนกว่าจะมีศพใหม่มาแทนที่ เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ จะกี่ภพกี่ชาติก็ตามที และที่เชื่อล้ำลึกกว่านั้น…อ้างทะเลมีสะดือแฝงคล้ายโพรงถ้ำเป็นแหล่งพระยานาคาสถิตจำศีลปฏิบัติธรรม หากมีมนุษย์ตนใดรุกล้ำเข้าไปใน รัศมีรบกวนทำลายสมาธิ เจ้าผู้ครองนครบาดาลจะกรรโชกร่างลงไปไถ่บาปทันที

นี่คือความเชื่อที่ไร้เหตุผล…ด้วยความจริงที่ถูกเปิดเผยผู้เคราะห์ร้ายชะตาถึงฆาตรายนั้น มักเป็นชายสาวกสุราเกิดคึกคะนองลงทะเลว่ายเล่นขณะขาดสติสัมปชัญญะ ทำให้มิอาจทานต่อ “คลื่นใต้น้ำ” ที่โหมกระหน่ำได้…จึงเป็นเหตุให้ถูกทะเลกลืนกินในที่สุด

แต่…ในความเชื่อที่เกิดจากพลัง “ศรัทธา” เป็นตำนานเล่าขานกันมานั้น คือ “ความเลื่อมใส” ในมิติที่ผ่องแผ้วพิสุทธิ์ปลอดสิ่งชั่วร้ายครอบงำแม้จะพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์ไม่ได้ก็ตาม อุปมาดั่งเหตุการณ์นับร้อยปีก่อนที่ โสธร เทพนุเคราะห์ นายกสมาคมประมงสุนทรภู่ ลูกประมงชาวบ้านมะขามป้อม อ.แกลง เก็บนำมาเล่าในงานเขียนโปรแกรมนำเที่ยวเส้นทาง “สายมู” หรือ “อะเมซิ่ง มูเตลู” ยังถิ่นเกิด…

โสธรชูจุดขาย “ศาลเจ้าแม่พิมพ์” บ้างเรียก “ศาลเจ้ามรกตแม่พิมพ์” ซึ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่หาดแม่พิมพ์ ตำบลกร่ำ มาแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด…“ศาลที่ว่านี้ไม่ปรากฏว่าสร้างปีใด” โสธร ว่า “รู้แต่ว่ามีมาก่อนที่ปู่ภู่จะเดินทางมาเยี่ยมพ่อซึ่งบวชเป็นพระอยู่วัดป่าบ้านกร่ำและเขียนเป็นนิราศเรื่องแรกราวปี 2349

แต่เดิมเป็นเพียงศาลขนาดเล็ก จนเมื่อปี 2509 หน่วยศิลปากรพื้นที่ได้ปั้นรูปเจ้าแม่ถวายให้ผู้คนมากราบบูชา ด้วยเชื่อว่านางมีญาณหยั่งรู้…ใครมาจุดธูปแล้วตั้งจิตอธิษฐานสิ่งใดมักได้สิ่งนั้นกลับไป”

O O O O

บันทึกเรื่องราว “เจ้าแม่พิมพ์” ของโสธร ระบุไว้ว่า เจ้าแม่เป็นสาวโสดไม่มีคู่ครอง แต่รักสวยรักงามแม้ดอกลั่นทมที่ปลูกไว้ริมศาลข้างวัดชากมะกรูดก็หวงไม่ยอมให้ใครมาเด็ด เคยมีคนแอบเด็ดเอาไปแต่ไม่นานก็ต้องกลับมาคืน เพราะทนประสบกับภาพชั่วร้ายไม่ไหว

“แล้วก็…เป็นศาลที่ไม่มีคำสวดใดๆแสดงให้เห็น จะมีก็แต่กระบอกบรรจุอุปกรณ์เสี่ยงเซียมซีกับคำพยากรณ์ติดบนผนังภายในศาลโดยไม่จำเป็นต้องฉีกจากสมุดพิมพ์เหมือนที่อื่นๆ”

สำหรับนักท่องเที่ยวสายมูรายใดสนใจจะมากราบไหว้ขอพรจากเจ้าแม่ โสธรแนะนำว่า… “สามารถใช้บริการซอฟต์ เพาเวอร์ภูผาทัวร์ของคนท้องถิ่น มีแพ็กเกจบูชาปู่ภู่กับศาลเจ้าพ่อหินทอง ศาลแม่ย่าไทรทอง ศาลหลวงเตี่ยที่ชาวประมงจะมาบนบานก่อนออกทะเล พร้อมเล่าตำนานเสือผ่อนสลัด ภาคตะวันออกให้ฟัง โดยปราชญ์ชาวบ้านแล้วนั่งเรือชมหมู่เกาะมัน”

ส่วนที่ว่าเจ้าแม่พิมพ์เป็นองค์ทิพย์ในวงศ์ใด นิตติยาความเพียร ผู้ดูแลศาลวัย 55 ปี ถ่ายทอดให้ฟัง นางชื่อ “พิมพ์” เป็นธิดาเจ้าเมืองสุพรรณบุรีนามว่า “พัน” ผู้เฝ้าติดตามข่าวช่วงนั้นว่า พม่าหมั่นยกทัพมารบไทยและมั่นใจเมืองสุพรรณฯต้องแตกแน่ๆ เกรงลูกสาวสุดสวยจะตกเป็นเชลยอารมณ์ศัตรู

แต่ก็เชื่อนิสัยนางต้องขัดขืนหรือชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน พ่อจึงชวนลูกลงเรือสำเภาพร้อมพลทหาร พเนจรไปอย่างชาวบ้านมุ่งหน้าสู่ทะเลกว้างอย่างไร้จุดหมาย

ตาพันสั่งให้โหรที่มาด้วยช่วยทำนาย รู้ว่าต้องไปทางตะวันออกฟันฝ่าอุปสรรคธรรมชาติปางตายไปบ้าง แต่ที่สุดแล้วจะปลอดภัยมีคนคอยให้การต้อนรับตั้งแต่หาดบางแสนถึงเขาสามมุข แม่พิมพ์ดีใจเป็นที่สุดเพราะได้พบเพื่อนเก่า “แม่สามมุข”…ก่อนจะเดินเรือต่อไปยัง “ช่องแสมสาร” เอาพลบค่ำ ทันใดนั้น…เกิดพายุพัดสำเภาปะทะโขดหินท้องเรือทะลุเป็นรูใหญ่ แม่พิมพ์ตกใจเป็นลมล้มพับทันที ฝ่ายพ่อพันสาละวนอยู่กับการวิดน้ำนำเรือเข้าจอดเทียบในที่ที่ปลอดภัยและซ่อมแซมเรือ…ที่ตรงนั้นต่อมาคือ “อู่ตะเภา” นั่นเอง

เมื่อลงมือซ่อมเรือเสร็จถึงเริ่มเดินทางต่อผ่านเกาะต่างๆมากมาย แต่ไม่เป็นที่ถูกใจลูกสาวอยู่ดี จนมาถึงแหลมแม่พิมพ์นางได้พบธรรมชาติที่งดงาม มีแหล่งน้ำและอาหารประเภท “มันบุ้ง” หล่อเลี้ยงคนได้ทั้งปี ให้รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้ยึดหัวหาดอยู่แผ่นดินนี้กับพ่อพันและพลพรรค

O O O O

“เมื่อได้ที่อยู่อาศัย” นิตติยา ว่า “แม่พิมพ์ใช้โพรงถ้ำบริเวณนั้นเป็นสถานปฏิบัติสมาธิจนสำเร็จมรรคผล ส่วนพ่อพันปลีกวิเวกไปปฏิบัติธรรมภายในถ้ำ นานวันเข้านางรู้สึกกังวลห่วงใยพ่อ จึงรีบรุดไปตามทำให้รู้ได้โดยทันใดว่า…พ่อพันได้สิ้นลมในท่านั่งสมาธิอย่างสงบก่อนแล้ว”

ต่อจากนั้น…แม่พิมพ์ก็จากลาโลกนี้ไปอีกคนด้วยวัยชรา ชาวบ้านซึ่งมีใจศรัทธาเป็นทุนร่วมกันสร้างศาลเป็นที่ประทับวิญญาณพ่อพันกับแม่พิมพ์ไว้ ณ บริเวณวัดชากมะกรูด เพื่อประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้ขอพรเสริมสิริมงคล…โดยแม่พิมพ์ไม่เคยปรากฏกายทิพย์ให้ใครพบเห็นแม้แต่ครั้งเดียว ทว่า… เคยมีผู้ฝันเห็นและนางเป็นผู้บอกทางมาถึงศาลจนสำเร็จ “แม่พิมพ์ให้ทุกคำอธิษฐานมากสุดคือขอลูก รองลงมาหน้าที่การงานและเรื่องปลดหนี้ ยกเว้นผู้มาขอหวย ต่างชาตินิยมมากับสาวไทยกระทั่งหลังสมใจของทุกคน ก็จะมาแก้บนด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเครื่องสำอางสวยงามบางคนใช้อาหารคาวหวานกับบายศรีและน้ำสีบรรจุขวด นอกจากนั้นก็มีผลไม้เก้าอย่าง ละครรำแก้บน…ต้องจัดหามาเองจากจันทบุรีหรือบางเสร่ ที่ระยองไม่มี”

ส่วนรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ริมทะเลหน้าศาลนั้น เกิดจากมีร่างทรงชาวกำแพงเพชรมาทำพิธีอัญเชิญด้วยน้ำสีกับผลไม้ 9 อย่าง ให้ช่วยคุ้มครองลูกนาวีทางทะเลแถบนี้ สำหรับนิตติยาที่เฝ้าศาล…เธอรับว่าเป็นการแทนคุณเจ้าแม่ที่กรุณาแผ่เมตตาให้ขวัญกำลังใจสามารถยืนหยัดต่อสู้ชีวิตมาจนมีที่ให้ยืนถึงวันนี้

“ฉันไม่อายที่จะพูดว่า…เคยเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมเล็กๆขนาด 33 ห้องบนที่ดิน 2 ไร่ครึ่งย่านนี้ แล้วเกิดล้มละลายจนอยากจะฆ่าตัวตายก็ได้เจ้าแม่นี่แหละเป็นที่พึ่งทางใจ บันดาลให้ได้พบกับสามีเดนมาร์กช่วยค้ำจุน สนับสนุนลูกแฝดชายหญิงผู้พี่กับแฝดน้องหญิงกับหญิงมีโอกาสเข้าเรียนมหาลัย จึงตั้งปณิธานจะขอเป็นผู้ดูแลศาลนี้ไปตลอดชีวิต…และลูกทั้งสี่ก็ไม่เก๊ คิดทำเหมือนกับแม่ปฏิบัติทุกอย่าง”

“ศรัทธา”…นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้…“ลบหลู่”.

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม

Exit mobile version