‘เจ้าท่า’ทุ่มงบ 219 ล้าน สร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ‘บ้านทุ่งใหญ่’จ.สงขลา ระยะทาง 3.43 กม. ส่งมอบพื้นที่ให้ชุมชนดูแล ผุดแลนด์มาร์คใหม่ ลานเอนกประสงคหนุนท่องเที่ยว เร่งศึกษาเสริมทรายชายหาดสมิหลา จ่อชงของบปี 67 กว่า 400 ล้าน พร้อมเปิดแผนกัดเซาะชายฝั่งทั่วไทย
19 ก.ย.2565-นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จท.ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ได้จัดสรรงบประมาณมูลค่า 219.9 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ ความยาวประมาณ 3.439 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งได้ศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2560 โดยได้ส่งมอบในส่วนของการดูแลให้กับท้องถิ่นในวันนี้ ส่วนการบำรุงรักษาจะยังอยู่ในความดูแลของ จท. ซึ่งอยู่ในงบประมาณที่ใช้ดำเนินการทั่วประเทศปีละประมาณ 50 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ส่งผลต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากในปัจจุบัน ชายฝั่งทะเลหลายพื้นที่ในประเทศไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการกัดเซาะของคลื่นบริเวณชายฝั่ง ที่ส่งผลต่อทั้งทรัพยากรทางทะเล และวิถีชีวิตริมฝั่งของชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดที่ประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น
สำหรับการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่บ้านทุ่งใหญ่นั้น ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคลื่นลมในฤดูมรสุม โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การกัดเซาะได้ลุกลามไปจนถึงถนนทางหลวงชนบท สข.2004 เลียบชายฝั่ง ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรเดียวของพื้นที่ที่โดนน้ำกัดเซาะเสียหายทุกปี ส่งผลกระทบต่อการจราจรและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ก่อนการดำเนินงานก่อสร้าง จท.ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ไว้อย่างรอบด้าน เพื่อให้การดำเนินงานมีผลกระทบน้อยที่สุด
นายวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3-7 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณหมู่ที่ 8 ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา สิ้นสุดที่บริเวณหมู่ที่ 7 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา โดยก่อสร้างในรูปแบบ “กำแพงหินทิ้งป้องกันชายฝั่ง” ร่วมกับ “โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะจากคลื่นกระโจนหลังแนวกำแพงหิน” ความยาวประมาณ 3.439 กม. โดยมีอายุการใช้งานกว่า 30-40 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมทัศนียภาพ และสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคงสภาพชายหาดทรายให้สวยงาม โดยการปรับปรุงทัศนียภาพด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวหลังกำแพงกันคลื่น และหลังเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่ง เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนในชุมชน ส่งเสริมสุขภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ได้มีการออกแบบให้มีพื้นที่ส่วนกลางเป็น “ลานเอนกประสงค์” ขนาดพื้นที่ประมาณ 13,692 ตารางเมตร เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ สนับสนุนการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของจังหวัด ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการทำธุรกิจในพื้นที่ด้วย
นายวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่ จ.สงขลา จท.ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างเขื่อนบริเวณปากแม่น้ำเทพา ระยะทาง 500 เมตร รวมทั้งโครงการเสริมทรายบริเวณชายหาดสมิหลา ระยะทางประมาณ 3 กม. ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และคาดว่า จะขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 วงเงินประมาณ 400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในงบปีประมาณ 2566 จท.ยังได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 400 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ระยะทาง 3 กม. โดยคาดว่า จะคัดเลือกหาผู้รับจ้างและลงนามสัญญาในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2565 ก่อนเริ่มก่อสร้าง และแล้วเสร็จใน พ.ย. 2568
นายวรรณชัย กล่าวต่ออีกว่า จท.ยังมีแผนจะดำเนินการเสริมทรายชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ระยะทางประมาณ 3 กม. งบประมาณ 300-400 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยของบประมาณดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกัน จท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาเสริมทรายชายหาดบางเสร่ จ.ชลบุรี ระยะทางประมาณ 3 กม. งบประมาณ 400-500 ล้านบาท คาดว่าผลการศึกษาแล้วเสร็จปี 2566 จากนั้นจะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567-2568 เพื่อดำเนินการต่อไป
สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทางทะเลของประเทศไทย มีระยะทางรวมประมาณ 3,000 กม. แบ่งเป็น ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ระยะทาง 2,000 กม. และชายฝั่งอันดามัน ระยะทาง 1,000 กม. โดยในระยะทางดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของ จท. ประมาณ 600-700 กม. ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จท. ได้ดำเนินการก่อสร้างกำแพงป้องกันกัดเซาะชายฝั่งและเสริมทรายชายหาดไปไปแล้ว ระยะทางประมาณ 120 กม. และอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้ยตอนต่างๆ อีกประมาณ 10 กม.