ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล
|
20 ก.พ. 2565 เวลา 12:09 น.86
เกษตรกรเชียงใหม่ปรับตัวสู้ภัยโควิด-19 ยอดขายตก ชาวสวนกุหลาบแปลงใหญ่แม่ริมเปิดสวนรับนักท่องเที่ยว เข้าชมและตัดดอกได้เอง หรือซื้อต้นพันธฺุ์กลับไปปลูกที่บ้าน ชาวสวนมะม่วงหันทดลองปลูกมูซานคิงแซม รับกระแสทุเรียน
นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกอำเภอแม่ริม ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่กุหลาบบวกเต๋ย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่การผลิตจำนวน 200 ไร่
สมาชิก 30 ราย ผลผลิตประมาณ 8,000,000 ดอก/ปี มูลค่ากว่า 64 ล้านบาท ที่ผ่านมาทำสวนกุหลาบเพื่อการค้าตัดดอกจำหน่าย 100 % โดยจำหน่ายให้โครงการหลวง และตลาดไม้ดอก
แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อลดลง สำนักงานเกษตรอำเภอ โดยนางสาวชฎารัตน์ เมฆเจริญ เกษตรอำเภอแม่ริม จึงร่วมวางแผนปรับตัวเชื่อมโยงเครือข่าย ร่วมกับภาคเอกชนเชียงใหม่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาชมสวน โดยจองผ่านออนไลน์ และรับนักท่องเที่ยวที่หน้าสวน
โดยทางกลุ่มมีการบริหารจัดการแบ่งกุหลาบเป็นแปลงเปิดดอก ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ร่วมเรียนรู้วิธีการผลิตกุหลาบที่ปลอดภัย และปรับจำหน่ายเป็นกุหลาบชำถุง กุหลาบกระถาง ซึ่งเริ่มเปิดสวนตั้งแต่วันที่ 14-21 กุมภาพันธ์2565 โดยเก็บค่าเข้าชม 120 บาทต่อราย
จากนั้นจะมีรถโดยสาร หรือรถแดงพาเข้าชมแปลง สามารถเที่ยวชมสวนกุหลาบพร้อมถ่ายรูปดอกกุหลาบในแปลง นักท่องเที่ยวยังตัดดอกกุหลาบเอง และมีจำหน่ายในรูปแบบกระถาง ซึ่งปีนี้ เป็นดอกกุหลาบสีม่วงแปลงใหญ่ ซึ่งหาชมได้ยาก
นายแสนสุข ลีธนบดี เกษตรกรแปลงใหญ่ กล่าวว่า ปีนี้แปลงใหญ่การเปิดรับนักท่องเที่ยวนั้นจะหมุนเวียนรับนักท่องเที่ยวในแต่ละปีทำให้สมาชิกเกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น
ด้านนายอาทิตย์ เกษมศรี ประธานวิสาหกิจชุมขนผู้ปลูกมะม่วงอำเภอแม่แตง ให้ข้อมูลว่า ตนทำการเกษตรบนที่ดินประมาณ 110 ไร่ แบ่งปลูกไม้ผล เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคา โดยไม้ผลที่ปลูกได้แก่ มะม่วง กระท้อน กล้วย
ล่าสุดแบ่งปลูกทุเรียนจำนวน 30 ไร่ ในช่วงแรกแซมต้นมะม่วง ซึ่งทุเรียนพันธุ์มูซังคิง เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านของประเทศมาเลเซีย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคต่างประเทศ จึงได้รับขนานนามว่าราชาแห่งทุเรียนมาเลเซีย
ซึ่งนายอาทิตย์กล่าวว่า ก่อนที่จะนำพันธุ์มาปลูกต้องนำมาอนุบาล จากนั้นนำลงแปลงปลูกเป็นเวลา 4 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิตในปีหน้า และในกระบวนการผลิตยังใช้ประโยชน์จากมูลช้างได้จากปางช้างในพื้นที่ นำมาหมักและแจกจ่ายให้แก่สมาชิกในราคาย่อมเยา ซึ่งสามารถเป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่งด้วย