จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรชาว จ. กาฬสินธุ์ ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน เช่น อ.เขาวง อ.นาคู ที่เคยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก พบว่า เกษตรกร ที่ขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำตามบ่อดิน ได้ลงมือเพาะปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว พืชประจำฤดูแล้งที่เกษตรทั่วไปนิยมปลูก เช่น ข้าวโพด หอม ผักชี ผักกาด ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ พริก พืชตระกูลแตง ทั้งนี้จากการสอบถาม พบว่าปัญหาหลักๆที่เกษตรยังประสบอยู่ โดยที่ไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาควบคุมราคาที่เป็นธรรม คือราคาปุ๋ยเคมีตามท้องตลาดที่ยังมีราคาสูงลิ่ว
นายพร้อมพงศ์ พิมเภา อายุ 36 ปี เกษตรกรบ้านแสนสุข เขตเทศบาลตำบลกุดสิม อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ตนเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด เดิมใช้เวลาว่างไปจัดรายการเป็นดีเจวิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง แต่ระยะหลังการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความหลากหลายมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนวิธีการเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการเพาะปลูกพืชที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มเติมด้วยการเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย และหนูนา จึงต้องให้เวลาอยู่กับแปลงพืชผักมากขึ้น ขณะที่การเป็นดีเจจัดรายการไม่ค่อยจะเวิร์ค สปอนเซอร์ไม่เข้า ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป จึงเลือกที่จะหันหลังให้กับวงการขายเสียงหลังไมค์ มาเป็นเกษตรกรเต็มตัว
การประกอบอาชีพเกษตรกรรมในยุคใหม่ ที่ไหลไปตามกระแสตลาด เร่งผลผลิตแข่งกับเวลาและให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และฮอร์โมนบำรุงพืชต่างๆ ที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มทุนการผลิตแล้ว ยังส่งผลข้างเคียงต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค คือเกิดสารพิษตกค้างและทำให้ดินเสื่อมโทรม โดยเฉพาะหลังสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว หักลบกลบหนี้ แล้วพบว่า ขาดทุน ซึ่งสาเหตุหลักคือ ค่าปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นทุกวัน กระสอบนึงน้ำหนัก 50 ก.ก.ราคาในปัจจุบัน 1,400-1,500 บาททีเดียว
ระยะหลังตนจึงหันมาใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก แต่เดิมใช้เพียงมูลควายบำรุงพืช ตามวิถีเกษตรกรดั้งเดิม ทำให้พืชเจริญเติบโตดี ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย ลดรายจ่ายโดยไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาเสริม
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทำฟาร์มเลี้ยงหนูนามา 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดมูลหนูนาจำนวนมาก จึงได้ทดลองนำมูลหนูนามาผสมกับปุ๋ยคอก เพื่อเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกให้เพียงพอต่อการนำไปบำรุงพืช ก็เห็นความแตกต่างหลายกรณี เหมือนเป็นการปรุงอาหารเมนูใหม่ให้กับพืชในแปลงเกษตร ทำให้พืชที่ปลูก เช่น ข้าวโพด หอม ผักชี เติบโตเร็ว รักษาความเขียว สดชื่น ทนแดด มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ให้กลิ่นและมีรสชาติที่แตกต่างจากเดิม แมลงศัตรูพืชไม่รบกวน ถือเป็นการปรุงปุ๋ยคอกระหว่างมูลควายกับมูลหนูนาสูตรใหม่เจ้าแรกในพื้นที่นี้ ที่สำคัญไม่ต้องเปลืองเงินไปซื้อปุ๋ยเคมี เมื่อเห็นผลดีดังกล่าว ในเวลาว่างก็จะนำมูลหนูนามาผสมกับมูลควายกักตุนไว้ สำหรับนำไปบำรุงต้นข้าวในฤดูกาลทำนาที่จะถึง