เป้าหมายในการปฏิบัติการรื้อสร้างการศึกษาและพัฒนาบุคลากรก้าวแรกในอีอีซี พุ่งเป้าไปที่กลุ่มการศึกษาอาชีวะ เน้นสถานศึกษาในอีอีซีเป็นหลัก ผลสำรวจความต้องการบุคลากร 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการบุคลากรราว 4.7 แสนคนนั้น เป็นระดับอาชีวะสูงถึง 54% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มุ่งยกระดับสู่ระบบออโตเมชั่น-โรงงานอัจฉริยะ รวมทั้งการผลิตและบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 4.0 ซึ่งชี้ถึงความต้องการทักษะบุคลากรระบบออโตเมชั่น หุ่นยนต์ และการปรับฐานเทคโนโลยีกลุ่มดิจิทัล, คลาวด์, Big DATA, AI, IoT โดยรวมเป็นกลุ่มงานวิศวกรรม ช่างเทคนิคขั้นสูงในทักษะระบบงานยุคใหม่ ที่ต่างจากโลกการศึกษายุคเก่า!
ความยากของการปรับสร้างพัฒนาคนคือ การสร้างเครือข่ายบุคคล-กลุ่มสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมให้เห็นภาพรวมที่จะเคลื่อนไปด้วยกันบนฐานที่ความเปลี่ยนแปลงของงานและการศึกษาที่ต้องยกระดับทักษะให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว! ซึ่งการอาชีวะยังอยู่ใต้ระบบราชการเก่า ในกลไกการทำงาน วิธีคิด และระบบงานเก่า จึงต้องเริ่มจากกลุ่มคนที่เข้าใจ-มุ่งมั่นใช้แรงบันดาลใจอย่างเต็มที่ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง เพราะงานนี้ไม่ใช่งานสร้างภาพ!!!
การเริ่มงานระดับอาชีวะเริ่มที่การทำความเข้าใจ-ปรับพื้นฐานจากเดิม-สร้างสัมพันธ์เครือข่ายกับภาคอุตสาหกรรมใหม่-กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง! แต่ปัญหาอาชีวะคือเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย-ทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง-อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง! จึงต้องหาคนที่เข้าใจ-มุ่งมั่น-ทุ่มเทมาเป็นแกนประสานสร้างความเข้าใจ-สร้างระบบงานใหม่ เบื้องต้นทำงานความคิด-ร่วมมือกับ 15 สถานศึกษาอาชีวะในอีอีซี ปรับฐานสร้างอาชีวะใหม่มีวิทยาลัย 5 แห่งเป็นแกนนำ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคระยอง ดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยระดับอาชีวะอื่นๆ ในพื้นที่อีอีซี มุ่งปรับฐานการศึกษาให้มีความร่วมมือกับอีอีซีและภาคอุตสาหกรรม โดย EEC HDC เชื่อมประสานกับสำนักงานการอาชีวะ (ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก รมว.หมอธี ถึง รมว.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นผู้บริหารกระทรวง) มุ่งปรับสร้างฐานการอาชีวศึกษาใหม่ให้ตอบโจทย์การลงทุนในอีอีซี ปรับสร้างความเข้าใจใหม่ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ วางแนวทางการสร้างคน-สร้างการศึกษาทิศทางใหม่-แนวทางใหม่ให้รับกับยุค 4.0 ใช้เวลากว่า 2 ปีที่ส่งผลให้การทำงานกับอาชีวะมีทิศทางความก้าวหน้าใหม่หลายมิติ
ตัวอย่างจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ที่ได้ปรับการศึกษาทวิภาคีแบบเข้มข้นเข้าสู่อีอีซี โมเดล A โดย EEC HDC ช่วยประสานอุตสาหกรรมให้ทำงานร่วมกับวิทยาลัยในสาขาวิชาที่ตรงตามความต้องการของงาน หนุนให้เด็กเข้าสู่ระบบอีอีซี โมเดล A ผลิตบุคลากรร่วมกับกลุ่มลงทุนหลายกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์กับ BMW Ford กลุ่มอากาศยานร่วมกับ Senior Aero Space บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากอเมริกา กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผลิตบุคลากรร่วมกับกลุ่มโรงแรมแอมบาสเดอร์ เป็นต้น วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบได้พัฒนาปรับฐานการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาแบบอีอีซี โมเดล A ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของทักษะการงานยุคใหม่ จนเป็นต้นแบบในการพัฒนาบุคลากรและการปรับสร้างการอาชีวศึกษา ที่เป็นไปตามที่ ดร.เสนาะ อูนากูล วางทิศทางไว้ให้กับการอาชีวศึกษาเมื่อหลายทศวรรษก่อนหน้านี้
วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีเป็นอีกสถานศึกษาอาชีวะที่ใช้อีอีซีโมเดลสร้างคุณภาพวิทยาลัยขึ้นใหม่ แต่เดิมทีวิทยาลัยเทคนิคชลบุรีมีสภาพล้าหลังเหมือนถูกทิ้งร้าง! แต่อีอีซีสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อพัฒนาบุคลากรระบบรางไว้ EEC HDC จึงหาทางปรับปรุงศักยภาพที่จะผลิตบุคลากรและการศึกษาใหม่ โดยประสานหาผู้บริหารที่มีศักยภาพเข้าใจการเปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นผู้เริ่มเข้าไปปรับวิธีคิดบุคลากรทั้งหมดให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ร่วมมือกันทำงานด้วยความเข้าใจ-จริงจัง-ทุ่มเท ตามแบบอีอีซีโมเดล ภายใน 2 ปีได้เปลี่ยนจากวิทยาลัยซอมซ่อไร้อนาคต-สู่ความก้าวหน้าใหม่ อาศัยความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าจับคู่ปรับปรุงแต่ละสาขาวิชากว่า 10 บริษัท อาทิ Mitsubishi Electric จับคู่สาขาวิชา automation และหุ่นยนต์ ปรับปรุงระบบห้องเรียน-อุปกรณ์ และหลักสูตรความรู้ยุคใหม่ กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่จับคู่พัฒนาความก้าวหน้ากับกลุ่มบริษัท E@ สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์จับคู่กับบริษัท TKK และ TBKK เป็นต้น ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยจัดปรับภูมิทัศน์ห้องเรียนใหม่ สนับสนุนอุปกรณ์ การฝึกอบรมครูสาขาต่างๆ ปัจจุบันวิทยาลัยเทคนิคชลบุรีมีสภาพเป็นวิทยาลัยระดับนานาชาติที่ก้าวหน้า เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปรับตัวของการศึกษาอาชีวะ และเป็นต้นแบบสร้างการพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่
วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่ายเป็นอีกสถาบันอาชีวศึกษาหนึ่งที่ได้ร่วมมือพัฒนาการศึกษาแบบอีอีซีโมเดล โดยเฉพาะการพัฒนาจากระบบทวิภาคีสู่การศึกษาแบบอีอีซี โมเดล A ที่ผลิตเด็กปีละราว 3,000 คนหรือมากกว่า สู่การมีงานทำ 100% การจัดการศึกษาที่นี่จับคู่สร้างหลักสูตรร่วมกับภาคอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการบุคลากรระดับอาชีวศึกษา เป็นกระบวนระบบการเรียนที่สร้างประสบการณ์ในการทำงานจริง ตั้งแต่การเรียนชั้นปีที่ 1 จนจบการศึกษา ซึ่งทุกคนได้ทำงานทันทีเมื่อเรียนจบ-ได้ทุนการเรียนจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการบุคลากรกลุ่มช่างเทคนิคระดับพื้นฐานจนถึงช่างเทคนิคในกลุ่มงานวิศวกรรมชั้นสูง การจัดการศึกษาของวิทยาลัยเทคนิค บ้านค่าย สัมพันธ์กับกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลายสาขาที่การันตีความมั่นคงในการเข้าสู่ฐานอาชีพของเด็กที่จบการศึกษาทุกคน เป็นระบบการศึกษาที่หยุดความสูญเปล่าของระบบการศึกษาที่เคยมีมา ลงอย่างสิ้นเชิง!
นอกจาก 3 วิทยาลัยที่กล่าวมา ยังมีอีกหลายแห่งไม่ว่าที่พนมสารคาม ระยอง นิคมอุตสาหกรรมพนัสนิคม บางแสน พัทยา วิทยาลัยระดับอาชีวะที่ผลิตช่างเทคนิคเหล่านี้กำลังปรับตัวบนพื้นฐานแพลตฟอร์มของอีอีซีโมเดล ที่มุ่งจัดปรับฐานการอาชีวศึกษาสู่โลกใหม่อย่างมีนัยสำคัญ.