Site icon บางแสน

“อีอีซี” ชูความสำเร็จแผนงานบูรณาการ ต้นแบบยกระดับการทำงานร่วมกัน

163047073943

ตลอด 4 ปี ตั้งแต่ ปี 2561-2564 แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการระดมสรรพกำลังของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน ร่วมพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง) และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด-ร่วมลงทุน-ร่วมพัฒนา”

โดยจัดทำแผนและดำเนินงาน รวมถึงบริหารทรัพยากรร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีอีซี ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างสมดุลและยั่งยืน มุ่งเน้นการผสมผสานการลงทุน จากรัฐ เอกชน และท้องถิ่น โดยพึ่งพางบประมาณแผ่นดินให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ 

ดังนั้น แผนงานบูรณาการ อีอีซี จึงถือเป็นกลไกสำคัญการขับเคลื่อน “แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” อย่างเป็นรูปธรรม  และสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึง (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

  1. อีอีซี เป็นแกนนำในการร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่แต่ละด้าน ผ่านโครงการและงบประมาณ ภายใต้เป้าหมายของแผนภาพรวม อีอีซี เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของการดำเนินงาน และการบรรลุเป้าหมายและแนวทางของแผนงานบูรณาการฯ ที่กำหนด
  2. การใช้งบบูรณาการในการผลักดันการลงทุนของเอกชน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2564 มีการลงทุนที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว 1.66 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้มีงบบูรณาการที่ได้รับอนุมัติแล้วถึงปี 2567 จำนวน 82,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของการลงทุนที่ได้อนุมัติไปแล้ว และการลงทุนอีกประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท มาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ-เอกชนและการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการจัดทำแผนงานบูรณาการที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน จะเป็นไปตามสมการ รัฐ 1 ส่วน เอกชน 5 ส่วน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 200 ส่วน 
  3. การระดมสรรพกำลังของหน่วยงานมาทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำแผน ดำเนินงาน และบริหารทรัพยากรร่วมกัน ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ ภายใต้เป้าหมายเดียวกันตามบทบาทและความเชี่ยวชาญ
  4. การผสมผสานการลงทุน โดยใช้งบประมาณ-เงินรายได้ท้องถิ่น และเงินลงทุนของเอกชน ในโครงการเดียวกัน เพื่อประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด และไม่สร้างภาระให้แก่ระบบงบประมาณหรือส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ  
  5. การกำหนดแนวทางและมาตรฐานในการทำงานของหน่วยงานตามความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและศักยภาพของหน่วยงานที่แตกต่างกัน แต่สามารถสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน 
  6. การจัดทำโครงการร่วมกับหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ได้ตามเป้าหมาย โดย สกพอ. ร่วมกับหน่วยงานจัดทำโครงการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแผนงานบูรณาการ และมีการประชุมหารือรายละเอียดโครงการร่วมกันหลายครั้ง

การดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา มีหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนกว่า 14 กระทรวง 43 หน่วยงาน ได้รับอนุมัติงบประมาณไปจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว 82,000 ล้านบาท นำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยตั้งแต่ ปี 2561-2564 เกิดมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 924,734 ล้านบาท เกิดมูลค่าลงทุนจริงในพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 656,680 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของ GDP ในพื้นที่ อีอีซี มีความสำเร็จในการพัฒนาแต่ละด้าน ดังนี้ 

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ มุ่งเน้นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านโลจิสติกส์และคมนาคม ให้มีความเชื่อมโยงและบูรณาการทั้งระบบอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพเพียงพอ โดยขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานหลักใน อีอีซี ได้ดำเนินการครบ 4 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนสูงรวมถึง 654,921 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท (64%) และภาครัฐ 238,841 ล้านบาท (36%) นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการสนับสนุนด้วยดีของภาครัฐ และความร่วมมือจากเอกชน โดยมีการก่อสร้างและปรับปรุงทางหลวงและทางหลวงชนบท เพื่อเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สำคัญ จำนวน 40 เส้น ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร เช่น สาย อ.บ้านฉาง – ระยอง จ.ระยอง เป็นต้น ก่อสร้างและปรับปรุงสถานีรถไฟ 2 สถานี ให้เชื่อมโยงการเดินทางอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพื้นที่ท่าเรือจุกเสม็ด โดยการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการ (Business Area) เชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือ 3 แห่ง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปา ซึ่งมีครัวเรือนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่า 66,300 ครัวเรือน

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EEC) ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยพัฒนาต่อยอดการจัดตั้งสถาบันโอที (IoT Institute) สู่การเป็น “Thailand Digital Valley” ปัจจุบัน เปิดดำเนินการ อาคาร TDV 1 depa Digital One Stop Service เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเชื่อมต่อข้อมูลมายังศูนย์สั่งการอัจฉริยะของเมือง เปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งมีบริษัทด้านดิจิทัลเข้าใช้เต็มพื้นที่แล้ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคาร TDV 2 Digital Knowledge Exchange Center เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้นวัตกรรมดิจิทัล รองรับ Startup Community คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565

3. การขับเคลื่อน 5G ในพื้นที่ อีอีซี โดย สกพอ. ร่วมมือกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และเทศบาลตำบลบ้านฉาง พัฒนาโครงการ “บ้านฉาง เมืองต้นแบบ 5G แห่งแรกของประเทศไทย” ปัจจุบัน ได้ดำเนินการติดตั้ง ท่อ-เสา-สาย สัญญาณ สำหรับให้บริการ 5G ในพื้นที่ อีอีซี ไปแล้วกว่าร้อยละ 80 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบเสาอัจฉริยะ 5G (Smart Pole) เพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อสัญญาณและรับส่งข้อมูลบริการต่าง ๆ ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งระยะต่อไปจะขยายการติดตั้งเสาสัญญาณให้ครบ 160 เสา โดยใช้เงินทุนทั้งหมด 200 ล้านบาท จากการร่วมลงทุนระหว่าง NT 30% เทศบาลตำบลบ้านฉาง 30% และ รัฐบาล 40%

4. การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลักดันให้ภาคเอกชน และท้องถิ่น มีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยใช้ศักยภาพที่เข้มแข็งของพื้นที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้งพัฒนาเส้นทางและจัดทำคู่มือวางแผนกิจกรรมไมซ์ในเขตพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้เกิดการพัฒนาและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน พร้อมทั้งดึงงานอุตสาหกรรมการบิน Thailand International Airshow เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดสนามบินอู่ตะเภา มีแผนเปิดตัวการจัดงานในปี 2568 และจัดงานเต็มรูปแบบ ในปี 2570 รวมทั้ง จัดทำแผนแม่บท “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” (Thailand LOG-IN Events Exhibition Master Plan) เพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมอากาศยาน รวมทั้ง เตรียมดึงงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติเข้ามาจัดในพื้นที่ อีอีซี ได้แก่ Tomorrowland  (เทศกาลดนตรีระดับโลก) World Iconic Road Race 10K (งานแข่งขันกีฬาวิ่งมาราธอน) และ Another World (งานด้านศิลปะและวัฒนธรรมระดับโลก)

นอกจากนี้ สกพอ. ร่วมกับเมืองพัทยา ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมืองพัทยาตามแนวทาง NEO PATTAYA โดยพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือเป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ควบคู่กับการเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำของ อีอีซี โดยใช้งบบูรณาการในการจัดทำสวนสาธารณะ และเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ประมาณ 70 ล้านบาท ในขณะที่เมืองพัทยาจะลงทุนที่จอดรถ และเอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างตลาดอาหารทะเลใหม่ มูลค่าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท 

5. การพัฒนาบุคลากร เป็นการจัดการศึกษายุคใหม่ตามหลัก “Demand Driven” เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ “มีงานทำ มีรายได้ดี สร้างสังคม อีอีซี” และมีการประมาณความต้องการแรงงานในพื้นที่ อีอีซี พบว่า มีความต้องการ จำนวน 475,668 คน โดยได้ดำเนินการผลิตและพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากร ผู้ว่างงาน ไปแล้วกว่า 168,741 คน (ภายใต้แผนงานบูรณาการ อีอีซี) โดยเป็นการพัฒนาบุคลากรตามรูปแบบ EEC Model จำนวน 13,467 คน ประกอบด้วย (1) เอกชนร่วมสนับสนุนทุนการศึกษา และครุภัณฑ์สำหรับฝึกอบรมในสถานที่จริง 100% (EEC Model Type A) ดำเนินการไปแล้วกว่า 5,002 คน และ (2) ฝึกอบรมระยะสั้น Short Course เอกชนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 50% และรัฐ 50% (EEC Model Type B) ดำเนินการไปแล้วกว่า 8,465 คน 

ทั้งนี้ สกพอ. ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่มาลงทุนด้านดิจิทัลร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวน 100,000 คน ในระยะเวลา 3 ปี  โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ ได้แก่ หัวเว่ย มิตซูบิชิ อีเล็คทริค และซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด 

6. การพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นต้นแบบการนำนวัตกรรมผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมแบบขยายผลในเชิงพาณิชย์ ปัจจุบัน การก่อสร้างกลุ่มอาคารเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Phase 1A) แล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานเดือนมิถุนายน 2565 โดยภายในกลุ่มอาคาร เช่น การจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Anufacturing Center: SMC) โรงงานแบตเตอรี่สังกะสีไอออน และโรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะพร้อมระบบ Plant Phenomics รวมทั้งดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรให้กับชุมชนในพื้นที่ อีอีซี กว่า 30 เทคโนโลยี ใน 203 ชุมชน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น สวนทุเรียนบัวแก้วใช้เทคโนโลยีระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน เป็นต้น  

7. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยการพัฒนาเมืองน่าอยู่เมืองอัจฉริยะ โดยวางผังเมืองรวมในพื้นที่ อีอีซี ครอบคลุม 30 อำเภอ และพัฒนาพื้นที่ตามผังเมือง อีอีซี โดยก่อสร้างสะพานเลียบชายทะเล หรือ “สะพานชลมารควิถี 84 พรรษา” เพื่อเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวแห่งใหม่ จ.ชลบุรี และปรับปรุงระบบระบายน้ำของพื้นที่คลองทับมา ชุมชนเมืองแกลง ชุมชนบ้างฉาง และพื้นที่คลองโสธร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสนับสนุนการเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City) โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริการจัดการในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 และระบบรักษาความปลอดภัยในบริเวณชายหาดพัทยา และชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี (Smart Tourism) รวมทั้งเตรียมแผนสิ่งแวดล้อม รองรับผลกระทบและป้องกันปัญหาจากโครงการพัฒนาที่เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

นอกจากนี้ มีการยกระดับบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี ตามแผนสาธารณสุข อีอีซี มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล ยกระดับและส่งเสริมระบบสาธารณสุขในพื้นที่สู่มาตรฐานสากล เช่น การพัฒนาศูนย์การแพทย์ครบวงจร ได้แก่ รพ.พุทธโสธร รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง การพัฒนาศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ รพ.แกลง รพ.บางปะกง และ รพ.เฉลิมพระเกียรติฯ ระยอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งได้ดำเนินการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อีอีซี

8. การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งรัดให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ โดยตั้งแต่ปี 2561 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ จำนวน 1,404,873 ล้านบาท มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 985,799 ล้านบาท และเกิดมูลค่าลงทุนจริงในพื้นที่อุตสาหกรรม จำนวน 656,680 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรม First S-Curve ร้อยละ 32 อุตสาหกรรม New S-Curve ร้อยละ 30 และอุตสาหกรรมอื่นๆ ร้อยละ 38 ตามลำดับ

โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนอุตสาหกรรมประเภทชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และเป็นผู้ประกอบการรายเดิม สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ลงทุนเรื่องยางพารา และโซล่าเซลล์ มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรรมสำคัญ เช่น บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี ร่วมทุนกับบริษัท SIASUN (อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร) บริษัท สไปเบอร์ (สตาร์ทอัพ 

ด้านไบโอเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น) บริษัท EVLOMO Inc. (อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกา) และบริษัท Great Wall Motors (อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์จากประเทศจีน) รวมทั้ง ยังพัฒนาระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC One Stop Service: (EEC – OSS) เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในการขออนุมัติ อนุญาต ด้วยระบบออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการไว้ที่จุดเดียว รวมทั้งยังจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ และได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานต่างประเทศแล้ว 14 ฉบับ ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร โดยมีการดำเนินการควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วม และการประชาสัมพันธ์ผ่านโดยสร้างการรับรู้ระดับตำบล (EEC Tambon Mobile Team) 30 อำเภอ 227 ทีม 6,702 คน

สำหรับในกรอบระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2565-2569) อีอีซี ได้ปรับเป้าหมายการลงทุนให้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยขับเคลื่อนต่อยอด และเร่งรัดการลงทุน อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี และช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572

Exit mobile version