บางแสน ชลบุรี

'อัยการชลบุรี' กลับคำสั่งตำรวจ สั่งฟ้อง ‘เป้รักผู้การเท่าไหร่’กับพวก6คน

'อัยการชลบุรี' กลับคำสั่งตำรวจ สั่งฟ้อง ‘เป้รักผู้การเท่าไหร่’กับพวก6คน

การเมือง

06 ม.ค. 2024 เวลา 18:45 น.

 “รองโฆษกอัยการ” เผย อัยการชลบุรีกลับคำสั่งตำรวจ สั่งฟ้อง ‘เป้รักผู้การเท่าไหร่’กับพวก6 คน จัดเล่นพนันออนไลน์-ฟอกเงิน นัดส่งฟ้อง 18 ม.ค.ไม่มาเจอหมายจับ ‘วัชรินทร์’ย้ำคำสั่งฟ้องไม่กระทบคดีกล่าวหาชุดตำรวจเรียก140 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2567 นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีการจับกุมเว็บพนันชื่อดังในจังหวัดชลบุรี ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.อ.เเสนสุข จังหวัดชลบุรี มีการดำเนินคดีนายธนินวัฒน์ อุดมเชาวเศรษฐ์ หรือ “เป้” กับพวกรวม6 คน ในข้อหาจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์

นายวัชรินทร์ ระบุถึงความหน้าในเรื่องนี้ว่าคดีนี้สืบเนื่องจากเป็นความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนสภ. อ.แสนสุข จังหวัดชลบุรี โดยพนักงานสอบสวนคือกล่าว พ.ต.ท. เสถียร รัชพงษ์ไทย กล่าวหา นายธนินวัฒน์ หรือที่รู้จักกันในนาม เป้รักผู้การเท่าไหร่กับพวกรวม6 คนซึ่งเรื่องนี้พนักงานสอบสวนสภ.อ.แสนสุขดำเนินคดีข้อหาร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันฯและฟอกเงิน แต่ปรากฎว่าพนักงานงานสอบสวน สภ.อ.แสนสุข ทำสำนวนเสนอต่ออัยการจังหวัดชลบุรีมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง6 รายส่ง มายังอัยการจังหวัดชลบุรี

ซึ่งเมื่อได้รับสำนวนมาทางพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีได้พิจารณาจากพยานหลักฐานสำนวนก็เห็นไม่ตรงกับพนักงานสอบสวน สภ. อ.แสนสุข ซึ่งในสำนวนที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องมามีคำให้การของพยานที่ให้การตอนต้นเเละมีการกลับคำให้การบางส่วน  แต่ก็ยังมีพยานบางคนที่ยังยืนยันคำให้การเดิม

ดังนั้นอัยการจังหวัดชลบุรีพิจารณาเเล้วเห็นว่าพยานหลักฐานพอฟ้องจึงมีคำสั่งฟ้อง นายเป้กับพวกรวม6 คน ในข้อหาร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันชักชวนทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นการพนัน การเล่นการพนันดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม พรบ.การพนัน และข้อหาที่2 ก็คือ ร่วมกันฟอกเงินตาม พรบ.ฟอกเงิน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา

เเละอัยการจังหวัดชลบุรียังสั่งในสำนวนต่อไปว่าให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานบางส่วนที่อัยการเห็นว่าสำคัญที่ใช้ในการนำสืบต่อศาลให้ส่งมาให้พนักงานอัยการในวันที่ 17  ม.ค.เเละให้พนักงานสอบสวนไปนำตัวผู้ต้องหาทั้ง6คนมาส่งให้พนักงานอัยการภายในวันที่ 18  ม.ค.2567  ก็คือเมื่อนำตัวผู้ต้องหามาให้เเล้วอัยการก็จะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 ไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดชลบุรี โดยหากนำตัวมาไม่ได้อัยการจังหวัดชลบุรีก็สั่งว่าให้พนักงานสอบสวนไปขอให้ศาลออกหมายจับเพื่ออะไรนำตัวมาฟ้อง เรื่องนี้จะเห็นว่าความเห็นของพนักงานสอบสวนไม่เป็นที่สิ้นสุดเเต่คำสั่งของอัยการจังหวัดชลบุรีเป็นที่สิ้นสุดก็คือต้องฟ้อง 

ในส่วนประเด็นเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมคาดว่าในชั้นอัยการไม่มีการร้องขอความเป็นธรรมเพราะพนักงานสอบสวนมีการทำสำนวนมีความเห็นสมควรไม่ฟ้อง ซึ่งการร้องขอความเป็นธรรมส่วนใหญ่จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกพนักงานสอบสวนมีคำสั่งฟ้องจึงจะค่อยมาร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ กรณีนี้ผู้ต้องหาก็คงไม่ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา

เมื่อถามว่า คำสั่งฟ้องสำนวนนี้ของอัยการจังหวัดชลบุรีจะมีผลกระทบในคดีที่มีการกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มเรียกเงิน 140 ล้านบาทที่ตนเป็นหัวหน้าชุดกำกับดูเเลการสอบสวนหรือไม่ นายวัชรินทร์ กล่าวว่าเราต้องแยกผลของการกระทำความผิดต่างกัน คือตอนนี้ฟังได้ว่าในชั้นการสั่งคดีของอัยการชลบุรี นายเป้กับพวกเป็นผู้ต้องหาในคดีจัดให้มีการเล่นการพนันฯ ในส่วนที่นายเป้เคยไปร้องต่อพล.ต.อ.เอก สุรเชษฐ์ หักพาลเป็นอดีตหัวหน้าชุดทำงานฝ่ายตำรวจคดี140 ล้านที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นชุดของพล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรีก็ต้องแยกกันว่าคดีนั้นเป็นคดีที่นายเป้กับพวกเป็นผู้เสียหาย เพราะถูกเรียกเงินจำนวน140 ล้าน ที่ถามว่าจะเกี่ยวพันกับเรื่องนี้หรือไม่ ต้องตอบว่าไม่เกี่ยวต้องแยกส่วน เพราะคดีนี้เป็นการรับฟังสำนวนของอัยการจังหวัดชลบุรีในคดีทำเว็บพนันแล้วก็มีการฟอกเงิน แต่ในส่วนที่ทำความผิดเรื่องนี้กลายเป็นผู้เสียหาย เพราะมีตำรวจเงินไถเงินเขาเลยไปร้องคดีนั้นเขาเป็นผู้เสียหาย

ในส่วนเรื่องการกลับคำให้การในคดีเว็บพนันอันอาจเป็นสาเหตุที่พนักงานสอบสวน สภ.อ.เเสนสุขเห็นควรสั่งไม่ฟ้องซึ่งอันนี้เป็นการชั่งน้ำหนักดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานทางฝ่ายพนักงานสอบสวนก็อาจจะไปเชื่อคำให้การในครั้งหลังก็เลยเห็นควรสั่งไม่ฟ้องแต่อัยการจังหวัดชลบุรีไม่เชื่อ อัยการเชื่อคำให้การตั้งแต่แรกที่พยานที่ยืนยัน ในส่วนคดีที่มีการกล่าวหาตำรวจเรียก140ล้านบาท ตัวนายเป้เองยังไม่มีกลับคำให้การยังยืนยันตามคำให้การเดิม 

ซึ่งสำนวนดังกล่าวซึ่งตนเป็นหัวหน้าชุดในการเข้าไปกำกับตรวจสอบอาศัยอำนาจตาม พรบ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและสูญหายฯหรือชาวบ้านเรียกว่าพรบ.อุ้มหาย ซึ่งมาตรา 31 ให้อัยการเข้าไปทำหน้าที่กำกับตรวจสอบในวันที่  25 ม.ค.นี้จะมีความชัดเจนว่าใครจะเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พรบ.ป้องกันเเละปราบปรามการทรมานฯ บ้าง ซึ่งคณะทำงานของพล.ต.ท.อัคราเดชต้องไปประชุมหารือกันเพิ่มเติมและมาตกผลึกกับทีมอัยการ ว่าใครที่จะถูกเเจ้งข้อกล่าวหาบ้าง ถ้าได้ข้อสรุปออกมาแล้วเราก็จะส่งหมายเรียกไปแจ้งว่าให้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อที่จะทำการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่อไปนั่นคือขั้นตอนการทำงาน

ซึ่งเมื่อเเจ้งข้อกล่าวหาเเล้วระยะเวลาในการส่งสำนวนให้กับอัยการสำนักงานคดีปราบทุจริตฯทางพล.ต.ท.อัคราเดชก็ให้สัมภาษณ์ไปเเล้วคิดว่าจะไม่เกิน 60 วัน 

เรื่องล่าสุด