Site icon บางแสน

สำรวจความพร้อมของ ห่วงโซ่อุปทานการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้า EV ใน EEC ปี 2565

electric-vehicle-industry-engineer.jpg

ด้วยการลงทุนผลิต EV สะสมกว่า 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2565 ทำให้ในตอนนี้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่รวม 2.0 GWh. จนเกิดสถานีชาร์จมากกว่า 300 สถานีหรือ 1,200 หัวจ่าย และคาดการณ์ว่าหากคนไทยปรับเปลี่ยนมาใช้ ยานยนต์ไฟฟ้า EV จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงฟอสซิลลงได้ ส่งผลให้การบริโภครวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ได้อีก 1.75 แสนล้านบาทต่อปี ในปี 2578 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ไม่เพียงแคส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเท่านั้น ทว่า ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอีกด้วย


จากการที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงพื้นที่สำรวจ และวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า EV และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในพื้นที่ EEC พบว่ามีความก้าวหน้าต่อเนื่อง ครบถ้วน
โดยอุตสาหกรรมการผลิต EV และอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีการลงทุนสะสมรวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีค่ายผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกที่ลงทุนในพื้นที่ EEC แล้ว อาทิ Toyota, Fomm, Mitsubishi, Mazda,Ford, MG, Great Wall, [email protected] Mine, ARUN+ (ปตท.ร่วมทุน Foxconn), BYD Auto, รถจักรยานยนต์ BMW และระหว่างเจรจาอีกจำนวนมาก อาทิ ค่าย BMW, Volkswagen และกลุ่ม Geely Auto Group จากจีน เป็นต้น

ขณะที่ อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ก็เริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สกพอ.ได้เยี่ยมชมและหารือกับผู้บริหาร บจ. อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บริษัทในกลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ [email protected] ซึ่งคาดว่าภายในปี 2565 จะมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1.0 GWh. ซึ่งหากรวมกับ GPSC, EVlomo, BANPU Next คาดจะได้กำลังการผลิตรวม 2.0 GWh.
และปี 2566 มีแผนขยายถึง 5.0 GWh. และอนาคตอันใกล้จะสูงถึง 60.0 GWh. ซึ่งนับเป็นการผลิตแบตเตอรี่ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในภูมิภาค
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ได้มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะ ด้วยระบบ DC Fast Charge เรียบร้อยแล้ว โดยใน 3 จังหวัด EEC มี EV Charging Station กระจายอยู่ไม่น้อย จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 138 สถานี และคาดว่าภายในปี 2565 จะมี EV Charging Station เกิน 300 สถานี มากกว่า 1,200 หัวจ่าย ครอบคลุมทั่วทุกถนนสายหลักและพื้นที่สาธารณะในอีอีซี

ประกอบกับในอีอีซียังมีระบบนิเวศต่างๆ (Ecosystem) ที่มีความพร้อม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) มีแผนดำเนินงานในภาพรวมแล้ว
โดย EEC ร่วมกับ ARAI Academy ภายใต้บริษัท SNC Former เกิดศูนย์เรียนรู้และดัดแปลงของภาคเอกชนตลอดจนบริษัท TUV SUD ลงทุนขยายศูนย์ทดสอบ EV แบตเตอรี่ 8 Labs ในนิคมอมตะ จ.ชลบุรี
และยังมีศูนย์ทดสอบยานยนต์และล้อยางแห่งชาติ (ATTRIC) แห่งแรกในประเทศไทย บนเนื้อที่ 1,235 ไร่ ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ASEAN ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยงบลงทุนรวมประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยการก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 50% คาดสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569
นอกจากนั้น ล่าสุด ตุลาคม 2565 สกพอ. ได้ร่วมกับสถาบัน Fraunhofer Institute ประเทศเยอรมัน จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ร่วมกันอนุมัติหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น หรือ EEC Model Type B ด้านเคมีไฟฟ้าประยุกต์สำหรับนักชุบโลหะ (Electroplating) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญและเป็นที่ต้องการอย่างสูง สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ตลอดจนที่ผ่านมายังได้รับความร่วมมือจาก กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สนับสนุนให้มีสื่อการเรียนการสอนด้านรถยนต์ไฟฟ้า EV เช่น
  • วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จัดให้มีสื่อการเรียนการสอน PHEV, BEV ด้วยโมเดลผู้ผลิตยานยนต์ BYD Auto ร่วมกับวิทยาลัยอาชีวะของประเทศจีน
  • วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ร่วมกับภาคเอกชน เช่น Mitsubishi Electric, KUKA, Schneider Electric จัดตั้งห้อง Lab ที่ทันสมัย
  • วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จัดการเรียนการสอนแบบ EEC Model Type A ร่วมกับ BMW, Ford, Kawazaki, และผู้ผลิตยาง Continental เมื่อเรียนจบแล้ว พร้อมเข้าทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ได้ทันที
อนึ่ง จากงานสัมมนา EEC Economic Forum ซึ่งจัดโดย สกพอ. รายงานผลการวิจัย ยังพบอีกว่า เมื่อครัวเรือนบางส่วนได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงฟอสซิลลงได้ ส่งผลให้การบริโภคโดยรวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 34,129 ล้านบาท (ในปีแรกของการพยากรณ์ พ.ศ. 2565) และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2578 คาดว่า จะทำให้เกิดการบริโภครวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงถึง 175,555 ล้านบาท ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่ก้าวหน้าและครบถ้วนจะเป็นโอกาสสำคัญในการดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งจะเป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี พร้อมสร้างความมั่นใจนักลงทุนต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี มีประเด็นความท้าทายในการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม EV โดยเฉพาะสถานีชาร์จในพื้นที่อีอีซี ดังนี้
  • ความมั่นคงด้านพลังงานและเสถียรภาพพลังงานไฟฟ้า และการผลักดันระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading
  • การเร่งรัดสนับสนุนให้เกิดโครงข่ายสถานีชาร์จ หรือ EV Charging Station Network เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และเชื่อมระบบการให้บริการของ Application ของแต่ละผู้ให้บริการ และการพัฒนาเสถียรภาพการเชื่อมต่อระหว่างสถานีและรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลและระบบชำระเงิน จะช่วยสร้างความมั่นใจและความสะดวก กระตุ้นความต้องการมีรถยนต์ไฟฟ้า
  • การขออัตราค่าบริการไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority และการออกอัตราขายไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จ และเกณฑ์การเชื่อมต่อกับระบบสายจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนและกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผลตอบแทนการลงทุนสถานีบริการยังไม่ชัดเจน และจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่มาก ส่งผลให้การลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้ายังเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนรายใหญ่ที่มีความเข้มแข็งก่อน
  • การส่งเสริมและขยายผลการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ทักษะด้าน Electroplating ในการผลิตแบตเตอรี่, บุคลากรรองรับอุตสาหกรรม Recycle แบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมกำจัดขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เป็นต้น


ที่มา : รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคอีอีซี ฉบับพิเศษ (ยานยนต์ไฟฟ้า EV) จาก Facebook : โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก – EEC

อุตสาหกรรม EV ในไทย มีความก้าวหน้าในด้านไหนบ้าง ไปอัปเดตกันต่อ

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV กับอนาคตเศรษฐกิจไทย

EV Station ไทย-เทศแห่ลงทุน สร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศ

เดินหน้าพัฒนาทักษะ บุคลากรสาย EV ในอีอีซี ต้อนรับเทรนด์อาชีพดาวรุ่ง เงินเดือนพุ่ง 30%

Post Views: 9

Exit mobile version