บางแสน ชลบุรี

Dtbezn3nNUxytg04ajYerEVdojCUSTiMQ6z4sugfvCsela.jpg

สัญญาณอันตราย จาก “น้ำทะเลเปลี่ยนสี” มีข้อควรระวัง เป็นมหันตภัยร้ายกว่าที่คิด

  • ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นผลมาจากการที่แพลงก์ตอนพืชบางชนิด เรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
  • ผลกระทบของปรากฏการณ์ “น้ำทะเลเปลี่ยนสี”
  • เช็กข้อควรระวัง เวลาเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี

เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ “น้ำทะเลเปลี่ยนสี” นับเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ทั้งด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง แม้จะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่ก็มักจะสร้างผลกระทบต่อทะเลบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในปีนี้ 2566 ได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งยังมีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้สัตว์น้ำในท้องทะเลหลายชนิดตายเกลื่อนชายหาด

ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นผลมาจากการที่แพลงก์ตอนพืชบางชนิดได้รับธาตุอาหารและปริมาณแสดงในปริมาณมากกว่าปกติ จึงเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลมีสีที่เปลี่ยนไปตามสีรงควัตถุของแพลงก์ตอนพืชชนิดที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น มีลักษณะเป็นตะกอนแขวนลอยน้ำ เป็นหย่อมหรือเป็นแถบยาวมีแนวตามทิศทางของกระแสลมและคลื่น ส่วนมากมักมีกลิ่นเหม็น เมื่อแพลงก์ตอนเหล่านี้ตายลง จึงส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เนื่องจากสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นขาดออกซิเจน หรือจากปริมาณแอมโมเนียในน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น 

การเกิดเหตุการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทย เริ่มมีรายงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 โดยเกือบทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน แพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในไทย คือ ไดโน-แฟลกเจลเลท ไดอะตอม และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน โดยไดแฟลกเจลเลทเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในแง่ของการวิจัยและการเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการสร้างสารชีวพิษที่สามารถสะสมในสัตว์กลุ่มที่กรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และถ่ายทอดผ่านการกินต่อๆ กันในระบบห่วงโซ่อาหาร โดยก่อให้เกิดผลกระทบได้ ถึงแม้จะแพร่กระจายในระดับความหนาแน่นต่ำ

ศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติส่งผลต่อ ‘แพลงก์ตอนบลูม’ จนทำให้น้ำทะเลมีสีเขียว ก่อนหน้านี้ส่งผลให้ชายหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ส่งกลิ่นเหม็นโชยไปทั่วทั้งหาด ทำให้สัตว์ทะเลตายเกยตื้นตลอดแนวชายฝั่ง 3-4 กิโลเมตร ทั้งยังส่งผลต่อแหล่งทำมาหากินของประชาชนในภาคประมงอย่างมาก ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว จนไม่กล้าลงเล่นน้ำ เนื่องจากมีกลิ่นเหม็น

ขณะที่การเพิ่มจำนวนของ “แพลงก์ตอนบลูม” ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ซึ่งในประเทศไทยจะเกิดในช่วงฤดูฝนเป็นประจำ แต่จะมีการเปลี่ยนพื้นที่ไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาล ยกตัวอย่าง ในฤดูหนาวจะเกิดในพื้นที่แถวจังหวัดเพชรบุรี แต่ในปัจจุบัน ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทะเลที่พร้อมจะโจมตีชายฝั่งทุกฤดูกาล 

ยกตัวอย่างพื้นที่ อ่าวไทย ตัว ก มีกระแสน้ำกั้นอยู่ โดยสารอาหารจากน้ำที่ลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมาจากการระบายน้ำจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร มีจำนวนสูงขึ้นมาก แต่แม้จะไม่มีพิษโดยตรง แต่ในปัจจุบันที่มีการขนส่งทางทะเลมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่นำพาแพลงก์ตอนมาเจอในกระแสน้ำ ทำให้สารอาหารต่างๆ ลงมาอยู่ในน้ำแบบรวมกัน นับเป็นเหตุผลว่าทำไมแพลงก์ตอนบลูมจึงมีจำนวนมากขึ้น 

ผลกระทบของปรากฏการณ์ “น้ำทะเลเปลี่ยนสี”

  • ด้านสิ่งแวดล้อม : สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง
  • ด้านเศรษฐกิจ เกิดความไม่มั่นใจต่อการบริโภคสัตว์น้ำที่จับได้ในพื้นที่, สร้างความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ทัศนียภาพชายหาดเสื่อมโทรม ส่งผลต่อการท่องเที่ยว
  • ด้านความปลอดภัย : อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำ หากเกิดจากแพลงก์ตอนพืชที่สามารถสร้างสารชีวพิษ

ขณะที่ คุณปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ผลกระทบจากทะเลสีเขียวนั้น ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมของมนุษย์ การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากต้นทาง เช่น การจัดการขยะ เพราะคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำทะเล ขึ้นอยู่กับการระบายธาตุอาหารที่ถูกชะล้างจากแผ่นดินในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีสารอินทรีย์ จากน้ำทิ้งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม เกษตรกรรม ลงสู่แหล่งน้ำ เมื่อมารวมตัวกับสภาวะและปัจจัยที่เหมาะสม จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งหรือ ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication)

คุณสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า มาตรการเชิงแก้ไข ฟื้นฟู มีทั้งการใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ทช. พ.ศ. 2558 มาตรา 17 และมาตรา 23 เพื่อป้องกันผลกระทบเพิ่มเติม และฟื้นฟูทรัพยากร และการถอดบทเรียนจากต่างประเทศ รวมถึงเฝ้าระวัง โดยใช้ระบบแจ้งเตือน (HAB Alarm) มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนสี 

สำหรับแนวทางป้องกันในส่วนภาคการประมง สามารถใช้การตกตะกอนแพลงก์ตอนด้วยการใช้ Clay หรือวัสดุอื่นๆ กำจัดแพลงก์ตอนพืชด้วยวิธีทางกายภาพ (รังสี UV สารเคมี) และชีวภาพ (แบคทีเรีย ไวรัส) ติดตั้ง shield curtain สำหรับกระชังปลา ติดตั้งปั๊มออกซิเจน ส่วนการสร้างเครือข่ายของภาคส่วนต่างๆ ให้มีบทบาทในการเฝ้าระวัง และบริหารจัดการมลพิษในลักษณะองค์รวมไปสู่ท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้ปัญหาเล็กๆ อย่างทะเลเปลี่ยนสี กลายเป็นสาเหตุความเสียหายใหญ่ต่อระบบนิเวศทะเลไทย

ข้อควรระวังเวลาเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี

  • เกษตรกรที่เลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ในกระชังที่ใกล้บริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี ควรเฝ้าดูแลระมัดระวังสัตว์น้ำที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด หรือควรจับสัตว์น้ำเลย เพราะบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีจะมีปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำต่ำลงมาก
  • ควรงดรับประทานสัตว์น้ำที่จับจากบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับพิษ 
  • นักท่องเที่ยว หรือประชาชนที่มีอาการแพ้ง่ายบริเวณผิวหนัง ควรงดกิจกรรมทางน้ำ เช่น เล่นน้ำทะเล ดำน้ำ เป็นต้น.
เรื่องล่าสุด