กฐินวัดป่าเมตตาหลวง บ้านแสนสุข ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว อาทิตย์ 26 พฤศจิกายน 2566 เจ้าภาพคือคุณสนาน นาคสกุล คุณคำรณ-จำเรียง สังเกตุ และคุณกัญญา สิงห์อุปถัมภ์ ร่วมบุญเชิญที่บัญชี ธ.กรุงเทพของคุณกัญญา 464-0-42170-9 อนุโมทนาครับ
สหประชาชาติได้รับการสถาปนาเมื่อ 24 ตุลาคม 1945 เป็นวันที่กฎบัตรสหประชาชาติมีผลบังคับใช้เนื่องจากประเทศที่ลงนามส่วนใหญ่ให้สัตยาบันในวันนี้ โดยเฉพาะมหาอำนาจทั้ง 5 ประเทศ คือสหรัฐฯ สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน
องค์กรหลักของสหประชาชาติมีสมัชชาสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีภาวะทรัสตี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสำนักเลขาธิการ เคยมีคนถามว่าองค์กรหลัก ‘สำคัญที่สุด’ ของสหประชาชาติคือองค์กรใด ขอตอบว่าคือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิก 15 ประเทศ สมาชิกถาวร 5 ประเทศ (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย) และสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ วาระ 2 ปี
ผู้นำองค์กรจริงก็มหาอำนาจ 5 ประเทศนั่นแหละ พวกนี้มีสิทธิยับยั้งหรือ Veto (วีโต้) ในเรื่องสำคัญที่เข้าสู่วาระพิจารณาของคณะมนตรีฯ เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งวีโต้ จะมีผลทำให้เรื่องนั้นตกไปในทางปฏิบัติ แต่ขอเรียนนะครับ ว่าการงดออกเสียงที่เรียกว่า abstention และการไม่เข้าร่วมประชุมหรือ non-participation ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิวีโต้
สมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศที่เวียนกันวาระละ 2 ปี พวกนี้ก็ถือว่าเป็นไม้ประดับ เพราะยกมือโหวตเฉพาะการตัดสินเกี่ยวกับวาระการประชุม การดำเนินการประชุม และการเลื่อนพิจารณาปัญหา ถ้าได้ 9 ใน 15 เสียงก็ถือว่าผ่าน โดยแท้ที่จริงแล้ว ความปลอดภัยของโลกอยู่กับ 5 ประเทศนี่แหละ โลกแบ่งเป็น 2 ค่าย ค่ายแรกนำโดยสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ค่ายที่สองนำโดยจีนกับรัสเซีย แม้ว่าจะเป็น Nation States หรือเป็นชาติรัฐที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยกัน มีสิทธิยกมือในการประชุมของสมัชชาใหญ่เหมือนกัน แต่ก็งั้นๆ แหละ ไม่ว่าจะเป็นบูร์กินาฟาโซ โตโก รวันดา บุรุนดี มาลาวี ศรีลังกา ฯลฯ ต่างมี 1 เสียงเท่ากัน ใช้หลักคะแนนเสียงข้างมากปกติ ยกเว้นการแสวงหาข้อมติหรือ resolution ร่วมกันเรื่องสันติภาพและความมั่นคง พิจารณางบประมาณ รับสมาชิกใหม่ ต้องใช้คะแนนเสียงข้างมาก 2 ใน 3
พฤหัสบดี 19 ตุลาคม 2023 สหรัฐฯใช้ ‘สิทธิวีโต้’ ขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้ ‘หยุดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮะมาสเพื่อเปิดทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา’ เหตุผลของการคัดค้านมติได้รับการอธิบายโดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติที่มีชื่อว่า นางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ว่า ร่างมติที่ประณามความรุนแรงที่มีต่อพลเรือนซึ่งเป็นร่างมติที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น สหรัฐฯไม่เห็นด้วย สหรัฐฯขอวีโต้ เพราะในร่างมติไม่มีการพูดถึงสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล เรื่องนี้ผมแปลกใจมากครับ ร่างมตินี้มีแต่เรื่องดี เป็นร่างมติที่จะช่วยยุติสงคราม หยุดความขัดแย้ง ให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้ปล่อยตัวประกันโดยทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข
ทั้งที่เป็นร่างมติที่ทำให้โลกสงบ แต่สหรัฐฯกลับใช้สิทธิวีโต้ ไม่เห็นด้วย การกระจายขยายข่าวความขัดแย้งอิสราเอลกับฮะมาสด้วยสื่ออเมริกันและสื่อชาติตะวันตกทำให้คนบางประเทศเพี้ยน การสำรวจของซีเอ็นเอ็นที่เผยแพร่เมื่ออาทิตย์ 15 ตุลาคม 2023 พบว่า คนอเมริกันเห็นใจอิสราเอลมากขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 เชื่อว่าการปฏิบัติการทางทหารในอิสราเอลเป็นสิ่งที่ชอบธรรม การสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าคนอเมริกันต้องการให้สหรัฐฯจัดทำแผนอพยพพลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาไปยังประเทศที่ปลอดภัย (เมื่อคนปาเลสไตน์ออกไปแล้ว พวกอิสราเอลก็เข้ามาครอบครองพื้นที่นะสิครับ เมื่อเข้ามาได้แล้วก็ออกยาก) ส่วนคนอเมริกันร้อยละ 41 เห็นด้วยที่สหรัฐฯสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงคราม
สุดท้ายหลายประเทศก็เปิดหน้า ฉันว่าไม่สนแล้วเรื่องมนุษยธรรม แม้จะระเบิดโรงพยาบาลจนคนตายหลายร้อย ฉันก็ยังหนุนเธอ เพราะเธอเป็นพวกฉัน.