บางแสน ชลบุรี

nzvLuZcLn2FqL0b5lBZgB3qopSnxAsyBMDW35WGdswJmZsZHWimueHyq8lIzuW-U5TUZjppCbIUY9Fppks80s-LyEsdeKaZL_vbQexnIYheVJptA1x7VcwNoM-3SpIloVPPKHT_Sl322B5BHPQ.jpg

สมาธิ ธรรมศร: กางวิทยาศาสตร์​บนหาดทราย ‘กำแพงกันคลื่น’ ในมุมนักฟิสิกส์ ควรไปต่อหรือพอได้แล้ว

นักฟิสิกส์หนุ่มหอบแล็บท็อปตัวกะทัดรัดมายังม้านั่งใจกลางย่านศาลาแดง เขาเอ่ยทักทายผู้ร่วมสนทนาภายใต้หน้ากากอนามัยสีฟ้าอ่อน เราพิเคราะห์แดดกันอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนปลงใจยึดมุมเล็กๆ นอกอาคารใหญ่เป็นสถานที่สนทนา ซึ่งใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงในบ่ายวันนั้น

เขากางแล็บท็อปบนโต๊ะไม้ เปิดสไลด์ความยาว 18 หน้า เพื่อประกอบคำอธิบาย มุมเล็กๆ ในซอยศาลาแดงถูกจำลองเป็นห้องเรียนขนาดย่อม โดยมีผู้เขียนและช่างภาพเป็นนักเรียนประจำคลาส

เขาคือ สมาธิ ธรรมศร นักวิชาการอิสระด้านฟิสิกส์ประยุกต์และโลกศาสตร์ และยังเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์สมาคมฟิสิกส์ไทยและที่อื่นๆ มากกว่า 100 เรื่อง

เอาเข้าจริงแล้ว ความสนใจของสมาธิครอบคลุมโลกทั้งใบ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ทะเล ท้องฟ้า รวมถึงมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งสัมพันธ์กันเป็นพลวัต และส่งผลกระทบถึงกันทุกระบบ นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สมาธิผันตัวจากงานสอนหนังสือและงานวิจัย สู่งานเขียนตำราและแบบเรียน เขาพบว่าการศึกษาและแบบเรียนไทยสอนให้พลเมืองมองธรรมชาติแบบแยกส่วน มองดินส่วนดิน น้ำส่วนน้ำ แม่น้ำก็ส่วนแม่น้ำ ทะเลก็ส่วนทะเล ทั้งที่ทุกสิ่งล้วนโยงใยและส่งผลต่อเนื่องถึงกันและกันไม่ต่างอะไรกับโดมิโน 

เรื่อง ‘กำแพงกันคลื่น’ ที่เราตั้งใจมาคุยกับสมาธิในวันนี้ก็เช่นกัน 

จำไม่ได้ว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ชายหาดจำนวนมากเริ่มมีกำแพงคอนกรีตยาวยักษ์ตั้งขวางกั้น มารู้ตัวอีกทีก็พบว่า แทบทุกหาดทรายที่ได้ไปเยือนล้วนมีกองหิน ไม่ก็คอนกรีต ตั้งตระหง่านด้วยจุดประสงค์ที่ยังเป็นข้อถกเถียงไม่จบสิ้น

ด้านภาครัฐและประชาชนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ‘กำแพงกันคลื่น’ คือโครงสร้างทางทะเลที่ช่วยลดแรงปะทะของคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนริมทะเล

ด้านนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งมองว่า กำแพงกันคลื่นที่ภาครัฐสร้างเกลื่อนชายหาดอาจช่วยลดแรงปะทะของคลื่นลมได้ แต่ในอีกด้าน มันคือตัวการที่ทำให้หาดหายไป (Dead of the Beach) เป็นตัวเร่งให้เกิดการกัดเซาะ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และทำลายระบบนิเวศบนชายหาด

แต่ถึงที่สุด ข้อถกเถียงเหล่านี้ยังไม่เคยแตะลึกไปถึงต้นเหตุของปรากฏการณ์น้ำกัดเซาะชายฝั่ง ข้อดีข้อเสียของกำแพงกันคลื่นในประเทศไทย ไปจนถึงการแก้ปัญหาให้ถูกจุดผ่านหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากฝั่งหน่วยงานรัฐที่เป็นแม่งานของโครงการพัฒนาจำนวนมาก มีอำนาจและทรัพยากรอยู่ในมือ ทว่าท่ามกลางข้อถกเถียงและความขัดแย้ง ภาครัฐกลับลอยตัวเหนือสถานการณ์ และแก้ปัญหาด้วยวิธีการล้าหลังกว่าโลกสากลอย่างน้อย 30 ปี

WAY ถือโอกาสนี้สนทนากับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ไล่เลียงตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของกำแพงกันคลื่น ข้อดีและข้อเสียของโครงสร้างแต่ละชนิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางธรณีวิทยา นิเวศวิทยา วิถีชีวิตของผู้คน และข้อสังเกตจากการทำงานของภาครัฐไทย ไปจนถึงการหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วกำแพงกันคลื่นในรูปแบบที่ประเทศไทยนิยมสร้างนั้น ส่งผลดีหรือผลร้ายกับหาดทรายกันแน่

กำแพงกันคลื่นคืออะไร?

อย่างที่เราทราบกันว่า ทะเลเป็นแหล่งอาหารและเส้นทางเดินเรือมาตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์จึงนิยมสร้างที่อยู่อาศัยริมทะเลตั้งแต่หลายพันปีก่อน แต่เมื่อชายฝั่งถูกจู่โจมด้วยคลื่นน้ำจากพายุ มนุษย์จึงคิดหาวิธีรับมือด้วยการนำก้อนหินมาสร้างกำแพงริมทะเลเพื่อปกป้องที่อยู่อาศัยของพวกตน นักโบราณคดีพบว่ากำแพงกันคลื่นที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุราว 7,000 ปี ทุกวันนี้กำแพงดังกล่าวจมอยู่ใต้ท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การค้นพบนี้บอกเราว่า การนำโครงสร้างที่แข็ง ทึบ และหนัก มาวางบนหาดเพื่อป้องกันการกัดเซาะจากคลื่นลมในช่วงพายุมรสุมเป็นวิธีที่ใช้มาเนิ่นนาน กระทั่งปัจจุบัน เหตุผลของการสร้างกำแพงกันคลื่นหรือเขื่อนริมทะเล (Sea Revetment) ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม

กำแพงกันคลื่นคือโครงสร้างแข็ง (Hard Structure) ที่ถูกนำมาวางริมทะเล ทำขึ้นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกำแพงจะทำหน้าที่ลดพลังงานของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง ทำให้พื้นที่ด้านหลังกำแพงไม่ถูกกัดเซาะ การก่อสร้างโครงสร้างแข็งเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งมีหลายรูปแบบ โดยมีอย่างน้อย 6 รูปแบบที่มีการใช้งานในประเทศไทย

แบบที่ 1 กระสอบทราย (Sandbag) คือการนำกระสอบพลาสติกหรือกระสอบป่านใส่ทรายมาวางกันคลื่น เป็นวิธีที่ง่ายและเร็วที่สุด แต่มีอายุการใช้งานสั้น เมื่อเวลาผ่านไป กระสอบพลาสติกจะฉีกขาด ส่งผลให้ไมโครพลาสติกปนเปื้อนลงสู่ทะเล ส่วนกระสอบป่านจะเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็น และไม่สวยงาม

แบบที่ 2 แนวหินทิ้ง (Riprap) คือการนำก้อนหินมาวางเรียงบนหาด บางพื้นที่ไม่มีก้อนหินขนาดใหญ่ก็อาจใช้ก้อนหินขนาดเล็ก โดยนำตาข่ายลวดมาหุ้มก้อนหินเอาไว้ เรียกว่า เกเบียน (Gabion) โครงสร้างแข็งประเภทนี้ทำให้สูญเสียทัศนียภาพและการใช้ประโยชน์จากหาดทราย

แนวหินทิ้งที่หาดนาทับ-เกาะแต้ว จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 http://www.bwn.psu.ac.th/110205civil2.html

แบบที่ 3 กำแพงทะเล (Seawall) คือกำแพงคอนกรีตที่วางอยู่บนหาดขนานไปกับชายฝั่ง โครงสร้างแข็งประเภทนี้จะทำให้หาดทรายด้านหน้ากำแพงหายไปบางส่วน หรือบางพื้นที่หาดทรายอาจหายไปทั้งหมด

กำเเพงกันคลื่นที่หาดทรายเเก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ภาพ: www.beachlover.net

แบบที่ 4 กำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore Breakwater) คือโครงสร้างแข็งที่อยู่กลางน้ำนอกชายฝั่งในแนวขนานกับชายฝั่ง มักมีลักษณะเป็นกองหินขนาดใหญ่ กำแพงกันคลื่นประเภทนี้จะทำให้หาดทรายมีลักษณะโค้งเว้าเป็นเสี้ยว

กำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore Breakwater) อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
https://www.portandmarine.co.th/index.php/en/coastal-protection-in-hua-sai-en.html

แบบที่ 5 คันดักทราย (Groin) คือโครงสร้างแข็งที่วางตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง มักมีลักษณะเป็นกองหินขนาดใหญ่ ทำให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนที่ขนานกับชายฝั่งเกิดการทับถมที่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะถูกกัดเซาะจนเว้าแหว่ง

คันดักทราย (Groin)

แบบที่ 6 กำแพงปากแม่น้ำ (Jetty) คือการขุดลอกตะกอนบริเวณปากแม่น้ำแล้ววางโครงสร้างแข็งระหว่างรอยต่อของแม่น้ำกับทะเล เพื่อทำให้เรือเล็กและเรือใหญ่สามารถสัญจรเข้าออกระหว่างทะเลกับแม่น้ำได้สะดวกโดยไม่มีตะกอนปากแม่น้ำมาขวางกั้น การก่อสร้างกำแพงปากแม่น้ำส่งผลให้คลื่น กระแสน้ำ และการเคลื่อนย้ายตะกอนในบริเวณนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะคล้ายกับคันดักทราย (Groin)

ทางเข้าของท่าเรือ Channel Islands Harbor ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ซึ่งมีการตกตะกอนที่ด้านซ้ายของกำแพงปากแม่น้ำและเกิดการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ด้านหลังของกำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง http://www.bwn.psu.ac.th/structure.html
  • 2510
  • 2545
กำแพงปากแม่น้ำเทพา จังหวัดสงขลา จากภาพถ่ายทางอากาศก่อนและหลังการก่อสร้าง
https://beachlover.net/wp-content/uploads/2019/07/Jetty.pd

ต้นตอของปรากฏการณ์ทะเลไร้หาด

ทำไมกำแพงกันคลื่นและโครงสร้างแข็งทางทะเลรูปแบบต่างๆ ถึงทำให้หาดทรายหายไป?
ก่อนไปถึงคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ เราอาจเคยได้ยินประโยคขึ้นหิ้งเหล่านี้ 

‘ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดพายุรุนแรง’ ‘ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น’ ‘ชายฝั่งทรุดตัว’ ‘หน่วยงานรัฐคอร์รัปชันในการก่อสร้าง’ ฯลฯ

สมาธิยืนยันกับเราว่า คำอธิบายข้างต้นทั้งจากหน่วยงานภาครัฐหรือกระทั่งภาคประชาชนเอง ไม่ใช่สาเหตุหลักของการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ว่ากันตามตรงแล้ว ปัจจัยสำคัญที่แทบจะไม่เคยหลุดออกมาจากปากหน่วยงานใดหรือกระทั่งในแบบเรียน คือสิ่งที่เรียกว่า ‘สมดุลตะกอน’

“ปกติแล้ว ทรายเป็นวัสดุที่แข็งและไม่ค่อยยึดเกาะกัน แต่เมื่อพวกมันมากองรวมกันเป็นหาดทราย หาดทรายจะเป็นบริเวณที่อ่อนนุ่ม แต่พอเราเอาหินหรือคอนกรีตไปวางทับ การสะสมตัวและการกัดเซาะตามธรรมชาติของหาดทรายจะเปลี่ยนแปลงไป นี่คือสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านประท้วง เพราะเขื่อนหรือกำแพงต่างๆ ทำให้หาดทรายหายไป”

สมาธิอธิบายปรากฏการณ์นี้ผ่านหลักการเคลื่อนที่ของคลื่น นั่นคือ เมื่อคลื่นเคลื่อนที่จากเขตน้ำลึกเข้าสู่เขตน้ำตื้น คลื่นจะสูญเสียพลังงานไประหว่างการเคลื่อนที่เนื่องจากแรงเสียดทานของพื้นทะเล ทำให้อัตราเร็วและความยาวคลื่นลดลง คลื่นจึงยกตัวขึ้น ก่อนจะแตกสลายบริเวณหาดทรายที่กว้างและมีความชันน้อยๆ โดยรูปแบบการแตกสลายของคลื่นจะขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร เช่น ความลึกของน้ำ ความสูงของคลื่น ความยาวของคลื่น คาบของคลื่น และความชันของหาด

แต่เมื่อมีโครงสร้างแข็งที่ทั้งสูง ชัน และทึบมาขวางกั้น คลื่นที่เดินทางเข้ามาปะทะหาดทรายจะเกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ทำให้ตะกอนทรายที่ฐานของโครงสร้างแข็งถูกกัดเซาะออกไปจนเหลือเพียงกองหินหรือกำแพงคอนกรีต ชายฝั่งที่เต็มไปด้วยวัสดุแข็งจึงถูกเรียกกันว่า ชายฝั่งสวมเกราะ (Coastal Armoring)

การพังทลายของ ‘สมดุลตะกอน’ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้หาดทรายหายไปและเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง การจะทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหา เพื่อแก้ให้ถูกจุดและถูกวิธี สมาธิค่อยๆ พาเราคลี่เรื่องราวถัดจากนี้

จากป่าต้นน้ำถึงหาดทราย
การเดินทางของตะกอนจากยอดเขา สู่แม่น้ำ และทะเล

“เปลือกโลกของเราเป็นหินแข็ง เมื่อหินแข็งผุพังแล้วผสมกับซากสิ่งมีชีวิตก็จะกลายเป็นดิน การที่หินแข็งๆ จะแตกสลายได้ มันต้องเจอแดด ความร้อน ลม ฝน เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าก็จะกลายเป็นตะกอน ตะกอนเหล่านี้จะถูกลมหรือน้ำพัดพาไป ซึ่งในกรณีนี้เราจะพูดถึง ‘น้ำ’ เป็นหลัก”

ตะกอนเหล่านี้จะไหลมาตามแม่น้ำลำธาร ทั้งจากบนแผ่นดินและภูเขา โดยตะกอนขนาดใหญ่จะตกอยู่บริเวณต้นน้ำ ตะกอนขนาดกลางจะตกอยู่บริเวณกลางน้ำ ส่วนตะกอนขนาดเล็กจะตกอยู่ที่บริเวณปลายน้ำ ซึ่งก็คือแถวปากแม่น้ำและชายหาด

“นี่คือสาเหตุที่เวลาเราไปเที่ยวน้ำตกบนภูเขา เรามักจะเจอแต่หินก้อนใหญ่ๆ แต่เวลาเราไปปากแม่น้ำ เราเจอป่าชายเลนกับหาดทราย แทบไม่เจอหินก้อนใหญ่เลย กระบวนการนี้ถูกเรียกว่า การปรับความสมดุลของพื้นผิวโลก (Denudation) เปรียบเหมือนเรามีดินสอตั้งอยู่ แรงโน้มถ่วงก็จะดึงให้มันล้ม เมื่อวัตถุมีพลังงานต่ำที่สุดจึงจะเกิดสมดุล ภูเขาก็เหมือนกัน เมื่อตะกอนไหลลงมาสะสมตัวแถวปากแม่น้ำ เราจะพบว่ามันกลายเป็นหาดเลนหรือป่าชายเลน ถัดมาหน่อยทรายก็จะตกสะสมกลายเป็นหาดทราย นี่คือสมดุลของตะกอนบนพื้นผิวโลก”

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสร้างฝาย ประตูระบายน้ำ และเขื่อนจำนวนมาก เพื่อสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ทำเกษตรกรรม บรรเทาน้ำท่วม ไปจนถึงการผลิตไฟฟ้า โครงสร้างทางชลศาสตร์เหล่านี้นอกจากจะให้ประโยชน์ข้างต้น มันยังมาพร้อมราคาแสนแพงที่เราต้องจ่าย ราคาที่ประชาชนจำนวนมากไม่รู้

“พอเราไปสร้างฝายกั้นน้ำ ทำให้น้ำไหลลงมาด้านล่างช้าหรือบางทีก็ไหลไม่ได้เลย เพราะตัวฝายทึบไปหมด ถ้าหากชาวบ้านในป่าไม่มีน้ำในช่วงหน้าแล้ง เราอาจแนะนำให้ทำประปาภูเขา ใช้โอ่งเก็บน้ำ ขุดบ่อเก็บน้ำ หรือสร้างฝายชั่วคราว พอช่วงที่น้ำมาเยอะก็อยากแนะนำให้รื้อฝายทิ้ง เพราะถ้าไม่รื้อฝายทิ้ง ท่อนไม้ หิน และปูนที่ถูกนำมาทำฝายอาจถูกน้ำป่าซัดจนพัง แล้วไหลลงไปทำอันตรายกับคนที่อยู่ปลายน้ำ

“ส่วนฝายถาวรต่างๆ บอกตามตรงว่าไม่แนะนำ เพราะนอกจากทำให้น้ำท่วมบริเวณป่าต้นน้ำแล้ว ยังทำให้ต้นไม้ตายเพราะรากต้นไม้จมน้ำ แล้วบางทีเมื่อน้ำมันนิ่งจากการถูกกัก พวกใบไม้ก็จะหล่นลงมาสะสมในน้ำแล้วก็จะเน่า ทำให้สัตว์น้ำตาย”

ฝายในป่าสามารถทำให้น้ำท่วม ปลาติดอยู่ระหว่างฝาย เกิดการทับถมของตะกอน และกัดเซาะตลิ่งริมลำธาร

คำถามคือ แล้วป่าต้นน้ำเชื่อมโยงถึงหาดทรายอย่างไร?

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญของโลก คือกรณีเขื่อนบนแม่น้ำเอลวา (Elwha River) ประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างในต้นทศวรรษ 1900 เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับโรงงานทำไม้ เขื่อนแห่งนี้ได้ทำลายเส้นทางอพยพของปลาแซลมอน ยิ่งกว่านั้น เขื่อนยังดักและสะสมตะกอนไว้ด้านบนของเขื่อน ส่งผลให้ตะกอนไม่สามารถไหลลงมาตามแม่น้ำลำธาร ชายหาดด้านล่างเขื่อนไม่มีตะกอนลงมาสะสมตัว ทำให้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนชายหาดมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

“ที่อเมริกาเขามีพายุแรงกว่าเราและบ่อยกว่าเรามาก ทำให้พายุและคลื่นพัดตะกอนทรายออกไป หาดจึงเล็กลงเรื่อยๆ”

รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาและตระหนักถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำเอลวา ทำให้ในปี 2542 รัฐสภาจึงได้อนุมัติเงินให้ซื้อเขื่อนแห่งนี้จากเอกชนมาเป็นของรัฐ เมื่อรัฐบาลได้สิทธิในการจัดการเขื่อน จึงเริ่มดำเนินการรื้อเขื่อนซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 100 ล้านดอลลาร์

“อเมริกาเริ่มค้นพบข้อเท็จจริงนี้เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว พอรัฐบาลไปทุบเขื่อนเอลวาทิ้ง ผลคือตะกอนที่อยู่ในเขื่อนมันก็ทะลักลงมาที่หาด ภายในเวลาแค่ 2-3 ปี หาดก็งอกออกมามหาศาล

“อเมริกามีหน่วยงานที่เรียกว่า United States Geological Survey ที่ไปศึกษาเขื่อนเหล่านี้ พบว่ามันทั้งดักตะกอนและขวางทางปลา เขาจึงเริ่มประเมินว่า เขื่อนไหนมีประโยชน์ให้เก็บไว้ก่อน ส่วนเขื่อนไหนที่เก่าและมีผลเสียเยอะ รื้อกันเถอะ รัฐบาลอเมริกาก็เลยรื้อเขื่อนมากมาย ปีหนึ่งๆ รื้อเป็นร้อยเขื่อน”

แม่น้ำโขงสีคราม งามแต่ไร้ชีวิต

ขยับมาใกล้ประเทศไทยอีกหน่อย ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีครามที่เกิดขึ้นเมื่อราว 2 ปีก่อน ได้สร้างความฮือฮาแก่นักท่องเที่ยว แต่กลับสร้างความวิตกแก่นักสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก แง่หนึ่งในภาพถ่าย เราจะเห็นความงดงามและแปลกตา เหมาะกับการลั่นชัตเตอร์อวดผู้คนบนโลกออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง ทว่าในแง่นิเวศวิทยา ความงามที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า คือสัญญาณวิกฤตและหายนะ

“ปกติแล้วแม่น้ำโขงจะมีสีขุ่นๆ เหมือนโคลน แล้วอยู่ๆ มันกลายเป็นสีฟ้า ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘น้ำหิว’ (Hungry Water Effect) ด้วยความที่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ตะกอนบนแผ่นดินจึงผุพังได้เร็ว เพราะอากาศมันร้อนและมีฝนเยอะ ตะกอนที่ไหลมากับน้ำจึงมีปริมาณเยอะ พอมีเขื่อนมาสร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบนทั้งในประเทศจีนและลาว ทำให้ตะกอนถูกดักที่ต้นน้ำ ผลคือน้ำที่ไหลลงมามันใสเป็นสีฟ้า ตอนเราเห็น เราตกใจมาก นี่แม่น้ำเราวิกฤตแล้วนะ เพราะแม่น้ำไม่มีตะกอน”

ปกติแล้ว แม่น้ำจะใช้พลังงานส่วนหนึ่งในการโอบอุ้มตะกอน แต่เมื่อตะกอนถูกดักเอาไว้ในเขื่อน น้ำที่ไหลออกมาจากเขื่อนจึงมีตะกอนอยู่น้อย ความสามารถในการกระเจิงแสงและดูดกลืนแสงของน้ำจึงเปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำมีสีเขียวใสอมฟ้าและมีพลังงานคงเหลือในรูปของความจุถ่ายเทส่วนเกิน (Excess Transport Capacity) น้ำจึงมีพลังงานในการกัดเซาะตะกอนริมตลิ่งและท้องน้ำมากขึ้น ทำให้ตลิ่งแม่น้ำโขงเกิดการพังทลาย

ภาพแม่น้ำโขงในช่วงปรากฏการณ์ ‘น้ำหิว’ (Hungry Water Effect) ซึ่งมีพลังงานในการกัดเซาะตะกอนริมตลิ่ง ทำให้ตลิ่งพังทลาย

“ในแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อน น้ำจะสูญเสียพลังงานส่วนหนึ่งไปกับการถ่ายเทตะกอน น้ำจึงไม่มีพลังงานไปกัดเซาะตลิ่งมากนัก แต่พอมีเขื่อนกั้นตะกอนปุ๊บ น้ำก็มีพลังงานเหลือเยอะ แล้วไปกัดเซาะตลิ่ง เราจะเห็นว่าประเทศไทยมักต้องเดือดร้อนกับการสร้างตลิ่งเทียม เอาคอนกรีตหรือหินไปถมตลิ่ง เสียเงินภาษีเราอีก

“ยิ่งกว่านั้น ตะกอนในแม่น้ำจะมีสารอาหารและแร่ธาตุ ตรงไหนที่ตะกอนพัดพาไปถึง มันจะทำให้ระบบนิเวศตรงนั้นได้รับสารอาหาร ต้นไม้และสัตว์น้ำก็พึ่งพาสารอาหารที่อยู่ในตะกอน แต่พอเรามีเขื่อนกั้น ตะกอนส่วนหนึ่งจึงถูกดักไว้บนแผ่นดินและไม่สามารถไหลตามแม่น้ำลำธารไปสะสมตัวตรงปากแม่น้ำหรือบนหาดได้ บวกกับการสร้างกำแพงปากแม่น้ำ (Jetty) ที่ทำให้ตะกอนไปตกไกลหาดมากขึ้น คลื่นลมก็พาตะกอนกลับมาสะสมตัวบนหาดได้ยากขึ้น คราวนี้พังทั้งบนบก แม่น้ำ และหาด”

กำแพงปากแม่น้ำ (Jetty) วางในแนวตั้งฉากกับหาด ขัดขวางการไหลของตะกอนในแนวขนานกับหาด ทำให้ด้านหนึ่งเกิดการทับถม อีกด้านหนึ่งเกิดการกัดเซาะ และทำให้ตะกอนไปตกไกลจากหาด

การพังทลายของ ‘สมดุลตะกอน’ และการจัดการของรัฐไทย

คำว่า ‘หาด’ กับ ‘ฝั่ง’ มีความหมายต่างกัน

หาด (Beach) คือบริเวณที่ตะกอนตกสะสมตัวแล้วอยู่ภายใต้อิทธิพลของน้ำทะเล โดยจะเริ่มนับบริเวณที่เรียกว่าหาด ตั้งแต่เขตระดับน้ำลงต่ำสุดจนถึงเขตที่คลื่นลมพาน้ำเคลื่อนที่มาถึง หาดจึงเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ส่วนคำว่า ฝั่ง (Coast) คือบริเวณแผ่นดินที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย เพราะไม่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล

“ในเวทีวิชาการหลายๆ ครั้ง บางคนจะเรียกหาดกับฝั่งรวมกัน มันจึงเกิดปัญหา เพราะเมื่อเราเข้าใจความหมายของคำไม่ตรงกัน มันก็แก้ปัญหาไม่ถูก”

หาด คือบริเวณที่อยู่ในเขตอิทธิพลของน้ำ ตั้งแต่ระดับน้ำลงต่ำสุด จนถึงจุดสูงสุดที่น้ำเคลื่อนที่ไปถึง ถัดไปจะเป็นสันทรายที่สะสมตัวจากลม ถัดจากสันทรายจะเรียกว่าฝั่ง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงน้อย หาดที่สมดุล ตะกอนบนหาดจะถูกกัดเซาะตอนมีมรสุม และจะเกิดการทับถมเมื่อไม่มีมรสุม

โดยปกติแล้ว ตะกอนจะมีการเคลื่อนที่ 2 แบบ คือ หนึ่ง-เคลื่อนที่ขนานกับฝั่ง และสอง-การเคลื่อนที่แบบตั้งฉากเข้าหาฝั่ง ขณะเดียวกัน บ้านเรือนและชุมชน รวมถึงถนนเลียบทะเลจำนวนมากในประเทศไทยมักจะสร้างบนพื้นที่ ‘หาด’ บวกกับการสร้างกำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นที่เข้าปะทะกับกำแพงหรือบ้านเรือนบนหาดเกิดการสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ทำให้ทรายบนหาดถูกคลื่นลากออกไปสู่ทะเล หาดจึงบางลงเรื่อยๆ เรียกว่า ปรากฏการณ์หาดบาง (Beach Thinning Effect) หรือปรากฏการณ์หาดต่ำลง (Beach Lowering Effect)

“ในกรณีที่ตะกอนเคลื่อนที่แบบตั้งฉาก คือตะกอนวิ่งเข้าหาแนวหาดหรือแนวฝั่งตรงๆ เนื่องจากบ้านในสมัยก่อน เขาไม่เข้าใจว่าตรงไหนคือหาด หรือตรงไหนคือฝั่ง ดังนั้น เมื่อจะสร้างบ้านใกล้ทะเล ก็มักคิดว่า ‘ฉันอยากมีบ้านใกล้ทะเล แบบเดินไม่นานก็ลงน้ำได้เลย’ คนก็มักสร้างบ้านตามภาพนี้”

เมื่อมีการสร้างอาคารและกำแพงกันคลื่นบนหาด คลื่นที่เข้าปะทะกับกำแพงบนหาดจะสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ทำให้ทรายบนหาดถูกคลื่นลากออกไปสู่ทะเล หาดจึงบางลงเรื่อยๆ เรียกว่า ปรากฏการณ์หาดบาง (Beach Thinning Effect) หรือปรากฏการณ์หาดต่ำลง (Beach Lowering Effect)

เช่นที่หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี ภาพหาดกว้างสวยงามหลงเหลือเพียงในความทรงจำวัยเด็กของใครหลายคน เพราะสถานที่แห่งนี้ถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างแข็ง ชายหาดกำลังร่อยหรอและรอมร่อจากโครงการพัฒนาและการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

ชายหาดบางแสน ถ่ายเมื่อปี 2561
(ภาพ: สมาธิ ธรรมศร)

ชายหาดบางแสน ถ่ายเมื่อปี 2561 (ภาพ: สมาธิ ธรรมศร)

“ภาพนี้เราถ่ายเองที่บางแสน ประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตรงชายหาดบางแสนมักจะมีเตียงผ้าใบของพ่อค้าแม่ค้า แล้วในช่วงพายุเข้า เขาก็คงไม่อยากย้ายไปไหนไกลก็เลยสร้างกำแพงคั่นบนหาด เดิมทีเวลาคลื่นวิ่งเข้ามาเจอหาดที่มีความชันต่ำ คลื่นจะสลายตัวเพราะแรงโน้มถ่วงกดคลื่นลงกับพื้น รวมถึงแรงเสียดทานบนพื้นทรายด้วย คลื่นจึงหมดแรง เหลือเพียงริ้วคลื่นเล็กๆ

“แต่พอมีกำแพงมากั้น มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า Beach Lowering Effect จากที่หาดมีความชันน้อยๆ กลายเป็นหาดที่มีความชันมาก แล้วคลื่นก็เข้ามาปะทะกำแพงอย่างรุนแรง หากดูจากภาพเปรียบเทียบหาดสองหาดที่มีและไม่มีกำแพง เราจะเห็นว่าหาดที่มีกำแพง คลื่นจะแรง ส่วนหาดที่ไม่มีกำแพง คลื่นจะเบา”

หากเราสร้างกำแพงบนหาดแล้วทรายหายไป ถ้าอย่างนั้นเราไปสร้างกำแพงไว้กลางน้ำเลยได้ไหม?​

สมาธิตอบคำถามนี้ด้วยการยกตัวอย่างการสร้างกำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore Breakwater) ในประเทศไทย เป็นการสร้างกำแพงโดยการนำกองหินไปวางไว้ในน้ำ ส่งผลให้น้ำพัดพาตะกอนเข้ามาปะทะกับกำแพงที่แข็ง ทึบ และตัน กำแพงจึงทำหน้าที่สะท้อนตะกอนและน้ำบางส่วนออกไป แต่จะมีตะกอนอีกส่วนหนึ่งไหลผ่านไปสะสมตัวที่ด้านหลังกองหิน เกิดเป็นหาดที่มีลักษณะโค้งเว้าคล้ายจันทร์เสี้ยว

จากภาพเราจะเห็นว่า กำแพงหินที่ตั้งอยู่ในน้ำ มีช่องว่างระหว่างกัน ส่งผลให้คลื่นเกิดการเลี้ยวเบน น้ำกับตะกอนสามารถเข้ามาตามช่องว่างแล้วไปสะสมตัวด้านหลังกำแพง การสะสมตัวนี้ทำให้หาดทรายงอกออกมาด้านหลังกำแพง หาดที่งอกออกมาแต่ยังไม่ชนกับหลังกำแพงเรียกว่า ซาเลียนต์ (Salient) ส่วนหาดที่งอกออกมาชนกับหลังกำแพงเรียกว่า ทอมโบโล (Tombolo) ผลที่ตามมาก็คือ เราสามารถรักษาหาดทรายไว้ได้ แต่เราจะได้หาดที่มีรูปร่างเว้าแหว่ง ยิ่งกว่านั้น หาดทรายที่งอกออกมาชนกับหลังกำแพงอาจไปขัดขวางกระแสน้ำและตะกอนที่ไหลขนานมากับชายฝั่งอีกด้วย

หากตะกอนไม่ถูกกักอยู่ในฝาย ประตูระบายน้ำ และเขื่อนบนแผ่นดิน หรือมีโครงสร้างแข็งมากั้นกระแสน้ำและสมดุลตะกอน โดยปกติแล้วทะเลในช่วงมรสุมจะทำให้คลื่นลมควักตะกอนออกไป ทว่าเมื่อถึงฤดูที่มรสุมสงบปราศจากพายุ ตะกอนจากแผ่นดินและตะกอนในทะเลจะถูกคลื่นพัดพากลับมาทับถมบนหาดดังเดิม

“ดังนั้น การที่อยู่ๆ หาดทรายหน้าบ้านอันตรธานหายไปทุกปีโดยที่ไม่งอกคืนมาเลย เราต้องตั้งสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า หนึ่ง – ตะกอนบนแผ่นดินถูกดักไว้หรือเปล่า ทำให้ตะกอนมันไม่มาเติมในระบบ สอง – มันมีโครงสร้างเเข็งไปทำให้สมดุลตะกอนบนหาดเสียหรือเปล่า สาม – กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลหรือไม่ สี่ – แผ่นดินชายฝั่งทรุดตัวต่ำลงหรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเท่าไหร่ต่อปี เพราะเหล่านี้คือต้นเหตุของปัญหา”

รับมือการกัดเซาะชายฝั่งด้วยนวัตกรรมที่รัฐไทยไม่สมาทาน

หาดแต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะตัว (Local Effact) นั่นหมายความว่า ไม่มีหาดใดในโลกที่เหมือนกัน การแก้ปัญหาของชายหาดแต่ละแห่งจึงต้องอาศัยข้อมูลหลายด้าน และเก็บรวบรวมในระยะเวลาที่นานเพียงพอ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา

การนำโครงสร้างแข็งเพียงไม่กี่แบบไปสวมทับบนหาดทรายทุกที่ แล้วบอกว่า ‘นี่คือการแก้ปัญหา’ จึงเป็นวิธีการที่ควรถูกตั้งคำถาม

แล้วการวิเคราะห์กระบวนการของหาดนั้นๆ ต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้าง? สมาธิอธิบายอย่างนี้ 

หนึ่ง – ต้องใช้ข้อมูลลักษณะของหาดทรายและชายฝั่ง ตะกอน คลื่น กระแสน้ำ และภูมิอากาศ ในระยะเวลาที่ยาวเป็นสิบๆ ปี ของพื้นที่นั้นๆ เราจึงจะเห็นรูปแบบได้ว่า หาดทรายมีกระบวนการอย่างไรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“เราไม่สามารถเอาข้อมูลเพียง 2-3 ปีย้อนหลังไปวิเคราะห์ได้ เพราะช่วงเวลามันสั้นเกินไป ไม่นานเพียงพอ ซึ่งประเทศเราไม่มีการเก็บข้อมูลที่ละเอียดและยาวนานขนาดนั้น”

สอง – ข้อมูลของสิ่งมีชีวิตบนหาดและในน้ำ เช่น ผักบุ้งทะเล หญ้าทะเล สาหร่ายทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา เต่า ดาวทะเล ฯลฯ

“หากว่าหาดไหนมีคนอยู่ เราต้องไปดูว่าวิถีชีวิตชุมชนเป็นอย่างไร เช่น หากเป็นหาดท่องเที่ยว เราจะเห็นการใช้หาดเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ บางหาดมีม้าให้เช่า บางที่มีประมงพื้นบ้านซึ่งชาวบ้านจะจอดเรือบนหาดทรายที่รับแรงกระแทกได้ดี แต่เรือที่จอดบนพื้นหินหรือคอนกรีตจะไม่เหมาะ เพราะคลื่นลมอาจซัดเรือไปชน แล้วเกิดความเสียหายได้”

สาม – ข้อมูลจากภาครัฐ การรับมือกับปัญหาชายหาดและชายฝั่ง ส่วนมากภาครัฐคือแม่งาน เพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดการและเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลจากภาคประชาชนด้วย

ขีดเส้นใต้ตัวโตๆ ว่า ข้อมูลที่ภาครัฐจะนำมาใช้แก้ปัญหาชายหาดและชายฝั่งต้องทันสมัยและทันต่อโลก

“ผมเคยไปนั่งฟังกรมโยธาฯ มาขอความเห็นชาวบ้านว่าอยากให้สร้างกำแพงกันคลื่นไหม ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างกำแพงที่เขาเอามาพูดนั้น ‘เฮ้ย มัน 30 ปีแล้วนะ’ ก่อนเราเกิดอีก ทำไมกรมโยธาฯ จึงเอาข้อมูลที่เก่าขนาดนี้มาพูด ผมนั่งฟังแล้วตกใจเลย เก่าอะไรขนาดนั้น แล้วเราจะส่งข้าราชการไปดูงานที่ต่างประเทศทำไมทุกปี”

คำถามถัดไป ถ้าไม่สร้างกำแพงกันคลื่นหรือโครงสร้างแข็ง เราสามารถเปลี่ยนไปใช้วิธีไหนได้บ้างในการรักษาพื้นที่ชายหาดและชายฝั่ง

สมาธิยกตัวอย่างนวัตกรรม 4 รูปแบบที่แพร่หลายในต่างประเทศ รวมถึงมีการทดลองใช้แล้วในบางพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหาที่อาจให้ผลดีกว่า และที่สำคัญ…อาจใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก

แบบที่ 1 รั้วไม้แบบแห้ง (Dry Sand Fence) หรือการนำรั้วไม้มาปักบนหาด เพราะลมที่พัดมานั้นหอบทรายมาด้วย เมื่อลมชนกับรั้วไม้ ทรายที่ลมพัดมาด้วยก็จะตกสะสมทำให้เกิดเป็นสันทราย หรือที่เรียกว่า ‘รั้วไม้ดักทรายจากลม’

แบบที่ 2 รั้วไม้แบบเปียก (Wet Sand Fence) คือการนำรั้วไม้มาปักลงในหาดที่น้ำทะเลขึ้นมาถึง เมื่อคลื่นและกระแสน้ำพาตะกอนเข้ามาปะทะกับรั้วไม้ พลังงานของคลื่นและกระแสน้ำจะลดลง ทำให้ตะกอนตกลงบนหาด หรือที่เรียกว่า ‘รั้วไม้ดักทรายจากคลื่น’ วิธีนี้มักใช้ร่วมกับการเติมทราย

แบบที่ 3 กำแพงไม้ริมทะเล (Wood Revetment) คือการสร้างกำแพงไม้แนวเฉียงที่มีช่องให้น้ำและลมไหลผ่าน โดยสามารถนำกำแพงไม้ไปวางไว้ในช่วงฤดูกาลปกติ หากแต่ช่วงไหนที่มีพายุมรสุม เราสามารถนำก้อนหินขนาดเล็กไปถมดามไว้ด้านหลังกำแพงไม้เพื่อให้กำแพงแข็งแรงขึ้น เมื่อพายุหายไป เราก็นำก้อนหินด้านหลังกำแพงออก

แบบที่ 4 การเติมทราย (Beach Nourishment) คือการเติมทรายบนหาด ในกรณีที่หาดทรายถูกกัดเซาะ ตะกอนเสียสมดุล และทรายกลับมาสะสมตัวบนหาดไม่ได้ ภาครัฐจึงไปขุดทรายจากที่ที่ทรายงอก แล้วนำมาถมบนหาดที่ถูกกัดเซาะ โดยทรายที่นำมาถมจะต้องมีลักษณะเหมือนกับทรายบนหาดเดิม

“หลายๆ ที่ในต่างประเทศทำไปแล้วครับ มีรายงานเรื่องนี้ของต่างประเทศออกมาว่า เมื่อเราทำรั้วดักทรายที่ออกแบบมาอย่างดีและถูกต้อง หาดที่เคยถูกกัดเซาะมีการสะสมตัวของทรายเพิ่มมากขึ้น บางที่ทรายหนาขึ้นเป็นเมตรครับ

“ส่วนประเทศไทยจะเกิดปัญหาคือ บริเวณที่สามารถทำรั้วไม้ได้นั้น ส่วนมากเป็นที่ของเอกชนหรือเป็นบ้านของคนทั่วไป หากเราเอาไม้ไปปักบนหาดสาธารณะ มันก็ผิดกฎหมายอีก วิธีคิดของการรับมือและบรรเทาปัญหาในแบบที่เล่ามา มันยังไม่ถูกสมาทานโดยรัฐ”

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูสังคมพืชบนหาด (Beach Forest) ซึ่งวิธีนี้จะดีต่อระบบนิเวศมากกว่ารั้วไม้ เพราะป่าชายหาด หรือ ‘สังคมพืชหาด’ จะใช้ลำต้นและรากของพืชในการดักทราย และลดการกัดเซาะได้ตามธรรมชาติ

ข้อควรระวังคือ ในหลายๆ พื้นที่พยายามสร้างป่าชายหาดโดยการปลูกต้นไม้ แต่ในทางนิเวศวิทยานั้น ป่าจะหมายถึงสังคมพืชที่เกิดขึ้นเองตามกระบวนการทางธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะเป็นตัวคัดเลือกว่าพืชชนิดไหนจะขึ้นบนหาด พืชแต่ละชนิดขึ้นกี่ต้น พืชชนิดไหนขึ้นก่อนหรือขึ้นหลัง และพืชเหล่านั้นจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร นั่นหมายความว่า ธรรมชาติจะเป็นผู้เลือกสรรได้ดีที่สุด

“ประมาณปี 2530 มีการนำต้นสนทะเลไปปลูกบนหาด จริงๆ แล้วต้นสนทะเลไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แล้วด้วยความที่ต้นสนทะเลเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (Alien Species) ที่รากแผ่ตื้นๆ ไม่ได้หยั่งลึกลงไปในดิน อีกทั้งเมื่อมันโตขึ้น พอลมบกลมทะเลพัดมา ใบมันไปโต้ลม ทำให้ต้นมันเริ่มโยก ถึงจุดหนึ่งมันก็ล้ม หลายๆ คนเข้าใจว่าต้นสนทะเลล้มเพราะหาดถูกกัดเซาะ แต่จริงๆ แล้ว การโยกไปโยกมาตามแรงลมและรากตื้นๆ ของมันจะไปขุดทรายบนหาดขึ้นมา และการล้มลงของต้นสนทะเลสามารถเร่งการกัดเซาะได้ในระดับหนึ่งเลย” 

ยิ่งกว่านั้น ต้นสนทะเลยังมีความสามารถในการปล่อยสารพิษ โดยสารพิษของมันจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายพืชอื่นๆ บนหาด สังเกตได้ว่า ใต้ต้นสนทะเลมีพืชชนิดอื่นขึ้นน้อยมาก กระบวนการนี้มีชื่อว่า อัลลีโลพาธี (Allelopathy)

30 ปีหลังทั่วโลกตื่นรู้ เหตุใดรัฐไทยจึงหลับใหล

ข้อถกเถียงเรื่องกำแพงกันคลื่นในระดับนานาชาติ เกิดขึ้นในช่วงปี 1987 หรืออย่างในประเทศแถบยุโรปและอเมริกามีการพัฒนาองค์ความรู้ที่ทันสมัยและการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าดีกว่ากำแพงกันคลื่นแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นที่นิยม คำถามคือ เหตุใดหน่วยงานภาครัฐของไทยจึงยังใช้วิธีการที่ล้าหลัง วิธีการที่ทั่วโลกเลิกใช้ และวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าให้โทษมากกว่าคุณ

“ผมคิดว่าประเทศไทยไม่ค่อยขอความร่วมมือจากนานาชาติเท่าไหร่ ทั้งที่ต่างประเทศในโซนยุโรปและอเมริกาศึกษาเรื่องนี้มาก่อนหน้าเรา 50 ปี แต่เราแทบไม่ค่อยไปขอข้อมูลอะไรจากเขาเลยว่า บทเรียนเขาเป็นยังไง

“ต่างชาติเขาทำวิจัยว่า การสร้างกำแพงตรงไหนจะมีผลกระทบมากน้อยอย่างไร เขาทำข้อมูลออกมาหมดเลยว่าหากสร้างเขื่อนหรือกำแพงตรงนี้หาดจะหาย สร้างตรงนี้หาดจะงอก หรือสร้างตรงนี้อาจจะไม่เป็นไรนะ เขาทำข้อมูลกันมา 30 กว่าปี จนเขารู้หมดแล้ว แต่ประเทศเราไม่เคยไปขอดูข้อมูลของเขาเลย”

คำถามนี้ ผู้ที่ตอบได้ดีที่สุดคงไม่ใช่พวกเรา… 

ข้อสงสัยของผู้เขียนยังไม่สิ้นสุด เพราะจากที่ฟังมาตั้งแต่ต้น การไปแก้ปัญหาบ้านเรือน ชายหาดถูกกัดเซาะ และต้นตอการเสียสมดุลของตะกอนนั้นไม่ใช่งานง่าย เพราะมันอาจถึงขั้นต้องย้ายทั้งชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งเรียงรายบนหาด หรือการรื้อเขื่อนและฝายนับร้อยนับพันที่ใช้ต้องงบประมาณสูงลิ่ว

“ต่างประทศเขาทำได้จริงๆ เหรอ เขาทำอย่างไร?​”

“ทำได้ครับ ย้ายทั้งชุมชนเลย และย้ายในระดับหลายสิบเมตรถึงร้อยเมตรก็มี โดยรัฐออกมาตรการเชิงนโยบาย กำหนดระยะถอยร่น (Setback) ของบ้านเรือนออกจากหาดเลย เพื่อปล่อยให้พืชชายหาดมันขึ้นมาตามธรรมชาติ แล้วเขาก็ไปขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ย้ายบ้านไปบนฝั่ง โดยรัฐออกเงินให้ เมื่อพื้นที่หาดถูกเวนคืน ตัวพืชหาดก็ขึ้นมาแทน ซึ่งพืชเหล่านี้คือกำแพงธรรมชาติ พอชาวบ้านไปสร้างบ้านบนฝั่งที่ค่อนข้างมั่นคง ช่วงที่พายุเข้าก็โล่งใจได้ระดับหนึ่งว่าบ้านจะไม่เจอปัญหากัดเซาะรุนแรงจากพายุ”

“ส่วนภาพนี้คือที่อเมริกา ในบางพื้นที่อาจเกิดกรณีเช่นว่า เพื่อนบ้านย้ายไปอยู่บนฝั่งกันหมดแล้ว พื้นที่มันเต็มแล้ว ไม่มีพื้นที่ให้ฉันย้ายเข้าไปแล้ว แต่บ้านฉันยังอยู่บนหาด

“กรณีแบบนี้ หน่วยงานรัฐเขาแนะนำว่า เวลาหาดเกิดการสะสมของตะกอนหรือการกัดเซาะจากพายุ มันจะเกิดที่หาด เอางี้แล้วกัน ยกบ้านขึ้นไปเลย วิธีนี้ก็สามารถรับมือได้ในระดับหนึ่ง เรารบกวนหาดน้อยลง เพราะเราแค่ตอกเสาบ้านลงไป หากบ้านไหนย้ายไม่ได้ เขาจะแนะนำให้ใช้วิธีนี้”

นอกจากนี้ หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการรื้อเขื่อนและฝายที่ดักตะกอนไว้ที่ต้นน้ำออกเป็นจำนวนมาก แนวคิดการรื้อเขื่อนในอเมริกาเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา จากการที่สังคมอเมริกันมีบทเรียนและประสบการณ์จากการสร้างเขื่อนมากมาย รวมถึงงานศึกษาและองค์ความรู้ที่มากขึ้น ส่งผลถึงทัศนคติต่อแม่น้ำและการฟื้นฟูระบบนิเวศ

ภาพการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดและการเสียสมดุลของตะกอนที่ต้นเหตุ

สมาธินำเสนอนวัตกรรมสำหรับลดการกัดเซาะของคลื่นในช่วงมรสุม ที่กำลังได้รับความสนใจในหลายประเทศ ดังนี้

หนึ่ง – ทุ่นลอยน้ำกันคลื่น (Wavebrake) ด้านบนคือทุ่นลอยน้ำ ด้านล่างของทุ่นคือกำแพง ช่วงไหนที่มีพายุมรสุม เราสามารถลากทุ่นลอยน้ำมาไว้ที่หน้าหาด โดยทุ่นจะเปรียบเสมือนกำแพงลอยน้ำ ส่วนช่วงไหนที่คลื่นลมสงบ เราสามารถลากทุ่นเก็บได้

“สังเกตจากภาพดูว่าด้านนอก Wavebrake มีริ้วคลื่นเยอะมาก แต่ด้านหลังแทบไม่มีเลย”

ทุ่นลอยน้ำกันคลื่น (Wavebrake)

สอง – ตัวรักษาทราย (Sandsaver) กำแพงบล็อกเจาะรู ทำมาจากพอลิเมอร์ (Polymer) มีน้ำหนักเบาและขนย้ายสะดวก ประโยชน์คือเมื่อเรานำตัวรักษาทรายไปตั้งไว้ที่ชายหาด เมื่อมีคลื่นเข้ามาปะทะ คลื่นจะมีพลังงานน้อยลง และน้ำบางส่วนจะไหลผ่านรูเพื่อพาทรายมาตกที่หาดทราย เมื่อหมดช่วงมรสุมก็สามารถยกเก็บได้ไม่ยากเช่นกัน

ตัวรักษาทราย (Sandsaver)

สาม – ปริซึมหาด (Beach Prisms) จะมีลักษณะคล้ายตัวรักษาทราย (Sandsaver) แต่ปริซึมหาดจะมีช่องที่ใหญ่กว่า ทำจากคอนกรีต แต่มีขนาดเล็กกว่ากำแพงกันคลื่นที่เรามักเห็นในประเทศไทย การติดตั้งหรือรื้อถอนทำได้โดยการนำสายคล้องมาผูกกับรถแบ็คโฮแล้วยกเก็บยกตั้งได้ โดยนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถรับมือกับพายุแรงๆ ได้ดีกว่า ตัวรักษาทราย (Sandsaver) อีกด้วย

ปริซึมหาด (Beach Prisms)

สี่ – กำแพงกันคลื่นแบบบอลปะการัง (Reef Ball) มีลักษณะคล้ายปะการังเทียมรูปกล่องแล้วตัดครึ่ง จากนั้นเจาะรูแล้วนำมาวางหน้าหาด นวัตกรรมชิ้นนี้สามารถบรรเทากระแสคลื่นแรงได้เช่นกัน

กำแพงกันคลื่นแบบบอลปะการัง (Reef Ball)

“คำถามคือ ถ้ามันดีและต้นทุนต่ำ ทำไมประเทศเราไม่ทำแบบเขา” สมาธิตั้งข้อสังเกต

“นั่นสิ ทำไมล่ะคะ” เราถามกลับ

สมาธิตอบกลับทันที “นั่นสิ ทำไมครับ (หัวเราะ)”

“จริงๆ ตอนที่ผมเรียนปริญญาโท ผมเคยออกแบบกำแพงกันคลื่นที่คล้ายๆ ตัวรักษาทราย (Sandsaver) ไว้เหมือนกัน ทำเสร็จเรียบร้อย แต่พอไปติดต่อหน่วยงานรัฐที่เขาดูแลหาด ไม่มีที่ไหนให้เราเอานวัตกรรมนี้ไปใช้เลย เขาบอกว่า มันมีขั้นตอนทางกฎหมายอยู่ แล้วส่วนมากเขาจะ follow เฉพาะหน่วยงานรัฐด้วยกัน

“อย่างเราเคยเป็นนักวิจัยมาก่อน พูดตามตรงว่า เวลาเราไปขอข้อมูลหรือขออนุญาตจากรัฐ บางที่ทำได้ยากมาก”

สมาธิพาเรามาถึงบทสรุปสุดท้าย หลังจากลากเส้นปัญหาไปมาแล้วจึงพบทางตันที่ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชุมชน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่มีความรู้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่มีเทคโนโลยี แต่เพราะกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ และการทำงานของภาครัฐที่ไม่นำความรู้มาปรับใช้

จะด้วยเหตุผลซ่อนเร้นใดก็ไม่อาจทราบได้ แต่ตัวเลขดังต่อไปนี้อาจสะท้อนถึงข้อเท็จจริงบางอย่างไม่น้อยก็มาก

ก่อนปี 2556 การจะสร้างกำแพงกันคลื่นต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) แต่รัฐบาลในยุคนั้นมีมติเพิกถอน EIA ออกจากการสร้างกำแพงกันคลื่น ด้วยเหตุผลเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหาให้ประชาชน

งบประมาณในการสร้างกำแพงกั้นคลื่นที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

นับแต่นั้นเป็นต้นมา จากข้อมูลงบประมาณที่ถูกเสนอไว้ในเล่มงบประมาณ (ขาวคาดแดง) โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ในส่วนของกำแพงกันคลื่นตั้งแต่ปี 2554-2565 รวม 12 ปี พบว่า จำนวนงบประมาณที่ขอตั้งไว้ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เฉพาะในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างป้องกันแบบกำแพงกันคลื่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ไม่นับรวมงานจ้างบริษัทที่ปรึกษา)

เมื่อพิจารณาการของบประมาณเพื่อสร้างกำแพงกันคลื่นในปี 2559-2560 นั้นพบว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก คือเพิ่มขึ้นถึง 149.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.635% ของงบประมาณที่ถูกขอในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่มีข้อมูลตั้งแต่ปี 2554-2565

ในปีล่าสุดงบประมาณส่วนนี้ถูกปรับลดลงประมาณ 20% ซึ่งก็สอดคล้องในภาพรวมของงบประมาณปี 2565 ในหลายๆ หน่วยงานที่ถูกปรับลดลงประมาณ 20% เนื่องจากภาวะโรคระบาด

“to be fair นะ เราต้องดูต่อหน่วยด้วยว่า 1 กิโลเมตร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เราพบว่า จากเดิมที่งบการสร้างกำแพงกันคลื่นอยู่ที่ 80 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร ตอนนี้มันกลายเป็น 100 ล้านบาทต่อการสร้างกำแพงกันคลื่น 1 กิโลเมตร หรือบางที่พุ่งขึ้นเกือบ 200 ล้านบาทแล้ว แทบจะเท่าตัว

“เราคงต้องไปถามหน่วยงานรัฐว่า เขาไปดีลกับบริษัทผู้รับเหมาที่ไหน หาวัสดุอะไรมาจากไหน ทำไมมันแพงขึ้นขนาดนี้”

เว็บไซต์ Beach For Life เปิดตัวเลขงบประมาณการสร้างกำแพงกันคลื่นต่อหน่วย (กิโลเมตร) ในการสร้างกำแพงกันคลื่น 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง-โครงสร้างเเบบเรียงหิน งบประมาณราว 80 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร สอง-กำแพงกันคลื่นเเบบคอนกรีตเสริมเหล็กขั้นบันได งบประมาณราว 100 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร

เช่นที่ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ประเมินไว้ว่าใช้งบประมาณ 175 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งทะเลที่ราคาสูงที่สุดเท่าที่ Beach Lover เคยสำรวจข้อมูลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Beach Lover เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ร่างงบประมาณประจำปี 2566 ได้ถูกเผยแพร่ผ่านสำนักงบประมาณ พบว่ารัฐวางแผนใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) เพื่องานศึกษา งานก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างป้องกันชายฝั่งใน 3 กรมหลัก รวมถึงงบกลุ่มจังหวัดด้วย รวมทั้งสิ้น 1,779.9 ล้านบาท ใน 79 โครงการ 

ใน 79 โครงการ แบ่งออกเป็นการดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง 55 โครงการ ถือเป็น 65% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือกรมเจ้าท่า 13 โครงการ นับเป็น 27% ของงบประมาณทั้งหมด ถัดมาคืองบกลุ่มจังหวัดจำนวน 5 โครงการ คิดเป็น 8% ของงบประมาณทั้งหมด และหน่วยงานหลักที่มีภารกิจกำกับดูแลเรื่องงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สัดส่วนงบประมาณไปน้อยที่สุดคือ 2% ของงบประมาณทั้งหมด 

งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลประจำปีงบประมาณ 2566

ใน 79 โครงการนี้ มีทั้งโครงการเดิมที่ใช้งบผูกพันต่อเนื่องมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า จำนวน 53 โครงการ และโครงการที่เพิ่งตั้งใหม่ในปีนี้จำนวน 26 โครงการ ทั้งโครงการศึกษาและโครงการก่อสร้างใน 16 จังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งในปีนี้ จังหวัดที่ได้โครงการมากที่สุด 9 โครงการ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี รองลงมาจำนวน 8 โครงการคือ จังหวัดสงขลา และ 7 โครงการในจังหวัดชุมพร 

จำนวนการก่อสร้างและตัวเลขงบประมาณ สวนทางกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสถานการณ์โลกชนิดกู่ไม่กลับ สมาธิชวนเรามองภาพอนาคตจากตัวเลขข้างต้น ผ่านงานวิจัย Sandy coastlines under threat of erosion ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change โดยงานวิจัยได้ทำแบบจำลองสถานการณ์ชายหาดทั่วโลกในปี 2100 หรือเกือบ 80 ปีข้างหน้า พบว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้หาดทรายครึ่งหนึ่งของโลกหายไป

“แต่หากเราก่อสร้างเขื่อนบนแผ่นดิน ป่าต้นน้ำ แม่น้ำ แล้วทำกำแพงกันคลื่นที่ไม่เหมาะสม ตัวผมประเมินว่า อีก 20-30 ปี เราอาจไม่เหลือหาดทรายแล้ว

“ผมอยากให้เราถกเถียงกันบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ อย่างปัญหาสมดุลตะกอนที่มีต้นเหตุมาจากการที่เราไปทำฝายทำเขื่อนบนภูเขา ในป่า บนแผ่นดิน แต่มันสะเทือนถึงทะเลเลยนะ เราอยากให้เขามองเห็นความสัมพันธ์ของธรรมชาติให้ได้

“ส่วนตรงไหนที่จำเป็นต้องทำจริงๆ ผมก็ไม่อยากให้สร้างเขื่อนแบบเก่าๆ ที่ล้าหลังไปแล้ว อยากให้ออกแบบใหม่ ให้เป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมและมีผลกระทบน้อยที่สุด ผมไม่ได้บอกว่าห้ามสร้างอะไรเลย แต่เราสามารถพบกันครึ่งทางได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนตรงไหนที่ไม่จำเป็นหรือมีผลเสีย ก็รื้อออกเถอะครับ”

เหลือเชื่อจริงๆ – ผู้เขียนอุทานเบาๆ

เหลือเชื่อว่า ในโลกที่มีความรู้มากมาย แต่ประเทศไทยกลับไม่นำมาใช้ เหลือเชื่อที่การแก้ปัญหาหนึ่งโดยไม่อ้างอิงองค์ความรู้ที่ทันสมัย จะส่งผลกระทบมากมายถึงเพียงนี้ เหลือเชื่อกับตัวเลขงบประมาณที่ประชาชนต้องจ่ายมหาศาล เพื่อให้ได้มาซึ่งความพังทลายของชายหาดและธรรมชาติ เหลือเชื่อที่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติ หลายคนรวมถึงผู้เขียน ‘เพิ่งได้รู้’

อ้างอิง
  1. สมาธิ ธรรมศร. (2022). ฟิสิกส์ของพื้นผิวโลก ตอนที่ 4 วิกฤตการณ์ของแม่น้ำและการกัดเซาะชายฝั่ง .สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2565. จาก http://www.thaiphysoc.org/article/308/ 
  2. Way Magazine. (2022). แม่น้ำโขงสีคราม งามแต่ไร้ชีวิต. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565. จาก https://waymagazine.org/crisis-of-khong-river/ 
  3. Beach For Life. (2022). เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ ส่งผลต่อชายหาดอย่างไร?. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2565. จาก https://tinyurl.com/mt25m246 
  4. Beach For Life. (2022). งบประมาณสร้างกำแพงกันคลื่น 2554-2565 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2565. จาก https://tinyurl.com/56vrr8yh 
  5. THECITIZEN.PLUS. (2022). ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตการท่องเที่ยวชายหาดชะอำ (คู่กำแพงกันคลื่น). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2565. จาก https://tinyurl.com/mt25m246
  6. Beach Lover. (2022.) กำแพงกันคลื่นราคา 175 ล้านบาทต่อกิโลเมตร!. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2565. จาก https://tinyurl.com/2pyez2z 
  7. Beach Lover. (2022.) เปิดร่างงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลปี 2566. จาก https://tinyurl.com/53fkuxwe 
  8. ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ). (2022). แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย … ยิ่งแก้-ยิ่งพัง?. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2565. จาก https://www.tcijthai.com/news/2019/16/scoop/9314 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่เตียง

ศิริโชค เลิศยะโส
อดีตกองบรรณาธิการ National Geographic Thai มีผลงานกว่า 20 เรื่องทั้งรูปแบบงานเขียนและภาพถ่าย ปัจุบันเป็นช่างภาพสารคดีอิสระ สนใจงานเชิงสังคม-มานุษยวิทยา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

เรื่องล่าสุด