Site icon บางแสน

‘สนธยา คุณปลื้ม’ กับบ้านใหญ่(ใกล้สนธยา)แห่งชลบุรี ในศึกเลือกตั้ง 2566 เมื่อครอบครัวแปรผัน

‘สนธยา คุณปลื้ม’ กับบ้านใหญ่(ใกล้สนธยา)แห่งชลบุรี ในศึกเลือกตั้ง 2566 เมื่อครอบครัวแปรผัน

‘สนธยา คุณปลื้ม’ กับบ้านใหญ่(ใกล้สนธยา)แห่งชลบุรี ในศึกเลือกตั้ง 2566 เมื่อครอบครัวแปรผัน

‘สนธยา คุณปลื้ม’ อีกหนึ่งนักการเมืองผู้คร่ำหวอดในย่านเมืองชล บ้านใหญ่(ใกล้สนธยา)แห่งชลบุรี กำลังจะเผชิญศึกเลือกตั้ง 2566 ที่แสนท้าทาย ยุคไม่มี ‘กำนันเป๊าะ’

  • สนธยา คุณปลื้ม พี่ชายคนโตของครอบครัว ‘คุณปลื้ม’ ในเวลานี้รับบทเป็นแม่ทัพพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ชลบุรี
  • การเลือกตั้ง 2566 มีเรื่องราวที่แปรผันหลายอย่างทั้งภูมิทัศน์ทางการเมืองไปจนถึงครอบครัว ‘คุณปลื้ม’ เองด้วย

แม้ปัจจุบัน คฤหาสน์บนที่ดิน 7 ไร่ ริมทะเลบางแสน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘บ้านแสนสุข’ บ้านใหญ่เมืองชล จะไม่มี ‘กำนันเป๊าะ’ – สมชาย คุณปลื้ม แต่ก็ยังมี สติล คุณปลื้ม คู่ทุกข์คู่ยากของกำนันเป๊าะ เป็นเสาหลักของบ้านใหญ่หลังนี้

ส่วนทายาทกำนันเป๊าะทั้ง 5 คน ต่างแบ่งหน้าที่กันดูแลธุรกิจและการเมืองในพื้นที่ อย่างล่าสุด สนธยา คุณปลื้ม ในฐานะพี่ชายคนโต รับบทแม่ทัพพรรคเพื่อไทย ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี, ระยอง และจันทบุรี  

วิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ.ชลบุรี และน้องชายคนเล็ก ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข ก็ดูแลงานการเมืองในท้องถิ่นในนามกลุ่มเรารักชลบุรี เช่นเดียวกับอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คงทำหน้าที่ไปจนวาระสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ลูกสาวคนเดียวของกำนันเป๊าะ จิราภรณ์ คุณปลื้ม ดูแลธุรกิจของครอบครัวเป็นหลัก ไม่เคยมายุ่งเกี่ยวกับงานการเมือง

ในวันที่ สนธยา คุณปลื้ม ต้องพานักการเมืองท้องถิ่นซุ้มบ้านใหญ่ เข้ามาสังกัดพรรคเพื่อไทย ได้อ้างคำสอนของกำนันเป๊าะที่ว่า

“เรื่องของการเมือง มีทั้งแพ้ มีทั้งชนะ พอถึงเวลาเลือกตั้ง ก็แข่งขันตามปกติ หากจะต่อสู้กัน ก็ต้องสู้กันต่อหน้า”

จริง ๆ แล้ว บ้านใหญ่เมืองชล พ่ายแพ้ในสนามชลบุรีก็หลายหน และย้ายพรรคก็บ่อยครั้ง สนธยาบอกว่า “วิถีนักการเมือง ตามที่พ่อเคยสอนไว้ แม้จะอยู่คนละพรรค แต่ยังเป็นพวกเดียวกัน อย่าไปทะเลาะกัน”

พวกเหนือพรรค

40 กว่าปีที่แล้ว สมชาย คุณปลื้ม กำนัน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี จับธุรกิจค้าเหล้า เป็นเอเยนต์เหล้าทั่วชลบุรี และรู้จักผู้คนมากมาย จึงมีนักการเมืองใหญ่อย่าง บุญชู โรจนเสถียร มาขอให้เป็นหัวคะแนน และช่วยให้ได้เป็น ส.ส.ชลบุรี พรรคกิจสังคม

ปี 2526 กำนันเป๊าะ หนุนน้องภรรยา นิคม แสนเจริญ อดีตประธานสภา สจ.ชลบุรี ลงสมัคร ส.ส.ชลบุรี ในนามพรรคกิจสังคม ก็ประสบความสำเร็จ

อีก 2 ปีถัดมา สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ มาขอร้องกำนันเป๊าะให้ช่วยสนับสนุนในการลงสมัคร ส.ส.ชลบุรี พรรคชาติประชาธิปไตย กำนันเป๊าะก็ปั้นสมพงษ์ จนเป็น ส.ส.ป้ายแดง อีกด้านหนึ่ง กำนันเป๊าะก็ยังอุ้มนิคม แสนเจริญ เป็น ส.ส.ชลบุรี สมัยที่ 2 ในสีเสื้อกิจสังคม

นี่เป็นหลักคิดนักเลงเมืองชล บนถนนการเมือง ‘พวก’ มาก่อนพรรค และส่งต่อมาถึงรุ่นลูก ทั้งสนธยา, วิทยา และอิทธิพล

ลูกกำนันมาแล้ว

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็น ส.ส.ชลบุรี สมัยเดียว ก็ย้ายไปสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ภายใต้ร่มเงาพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรครวมไทยสมัยโน้น

การเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หนุนพ่อเลี้ยงณรงค์ ตั้งพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของคณะทหาร รสช.

สมพงษ์ จึงไปเจรจากับกำนันเป๊าะ ขอตัวลูกชายคนโต สนธยา คุณปลื้ม ลงสนามการเมืองครั้งแรก และนิคม แสนเจริญ ก็ลาออกจากพรรคกิจสังคม มาอยู่พรรคของสามัคคีธรรม แต่นิคม ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ก่อนวันรับสมัคร ส.ส.

ปีนั้น สนธยาในวัย 29 ปี ได้สั่งสมประสบการณ์ทางการเมือง โดยเป็นผู้ช่วย ส.ส.ของนิคม แสนเจริญ มาหลายปี ก่อนจะได้เข้าสภาฯ สมัยแรกในนามพรรคสามัคคีธรรม

หลังเหตุการณ์พฤษภา 35 สมพงษ์ย้ายไปสังกัดพรรคชาติพัฒนา พร้อมกับลูกชายสองคนของกำนันเป๊าะคือ สนธยา – วิทยา คุณปลื้ม

ปี 2538 บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย มาขอร้องกำนันเป๊าะให้ยกทีมบ้านใหญ่ชลบุรี มาสังกัดพรรคชาติไทย เพื่อสนับสนุนบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรี กำนันเป๊าะก็ตอบรับคำเชิญของบรรหาร

ในสีเสื้อพรรคชาติไทย กำนันเป๊าะนำทีมบ้านใหญ่ชลบุรี ยึดครองเก้าอี้ ส.ส.ชลบุรี 2 สมัยติดต่อกัน (ปี 2539 และปี 2544)

ปี 2548 ทักษิณ ชินวัตร ได้เจรจาให้บ้านใหญ่ชลบุรี ย้ายเข้ามาสังกัดพรรคไทยรักไทย เพื่อสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ กำนันเป๊าะก็ยกทีมมาอยู่ในค่ายชินวัตร

สนธยา คุณปลื้ม

ชูธงพลังท้องถิ่น

หลังรัฐประหาร 2549 พรรคไทยรักไทย ถูกยุบ สนธยา คุณปลื้ม ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี และวิทยา คุณปลื้ม ก็ถอยมาสนับสนุนสโมสรฟุตบอลชลบุรี โดยการเลือกตั้งปี 2550 บ้านใหญ่แสนสุข ส่งผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี ในสีเสื้อชาติไทยอีกครั้ง แต่คราวนี้ สอบตกยกจังหวัด

สนธยา สรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น หันไปตั้ง ‘พรรคพลังชล’ ชูแนวทางแบบ ‘บ้านของเรา พรรคของเรา’ ควบคู่ไปกับสโมสรฟุตบอลชลบุรี ที่ยึดคำขวัญ ‘ทีมของเรา ทางของเรา’  

การเลือกตั้งปี 2554 กลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรีกลับมาชนะเลือกตั้งระดับชาติ ได้เก้าอี้ ส.ส.ชลบุรี 6 ที่นั่ง จาก 8 ที่นั่ง ตามมาด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ.ชลบรี วิทยา คุณปลื้ม คว้าเก้าอี้นายก อบจ.ชลบุรี ในนามกลุ่ม ‘เรารักชลบุรี’

สถานการณ์การเมืองเปลี่ยน เพื่อความอยู่รอดของตระกูลคุณปลื้ม สนธยา ได้เข้าร่วมงานการเมืองกับคสช. และยกทีมบ้านใหญ่ลงสนามเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ

บ้านใหม่วัดรอยเท้า

ผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิศาสตร์การเมืองชลบุรี เมื่อนักการเมืองบ้านใหญ่ ฐานแน่น พ่ายแพ้แก่ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคอนาคตใหม่ 3 เขตเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน สุชาติ ชมกลิ่น นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็น ส.ส.ชลบุรี สมัยแรกในนามพรรคพลังชล และได้รับชัยชนะในเขต 1 ชลบุรี ติดต่อกันสองสมัย ได้แยกตัวออกมาตั้ง ‘กลุ่มพลังใหม่’ หรือบ้านใหม่เมืองชล

การเลือกตั้ง ส.ส.ชลบุรี ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ ในมิติแห่ง ‘พวก’ ไม่ใช่พรรค จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มบ้านใหญ่แสนสุข ของลูกกำนันเป๊าะ กับกลุ่มบ้านใหม่เมืองชล ของ ‘เสี่ยเฮ้ง’ – สุชาติ ชมกลิ่น

ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘เจ้าพ่อ กระสุนปืนและหีบการเลือกตั้ง’ กล่าวถึงบทบาทของกำนันเป๊าะในการเมืองไทยผ่าน ‘บีบีซีไทย’ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

“สิ่งที่นักการเมืองปัจจุบันน่าจะเรียนรู้จากชีวิตทางการเมืองของกำนันเป๊าะก็คือ หนึ่ง – อำนาจมันไม่จีรังยั่งยืน และ สอง – ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว การใช้การเมืองแบบเก่ามันยากที่จะประสบความสำเร็จ”

ด้วยเหตุนี้ สนธยา คุณปลื้ม จึงตัดสินใจนำพากลุ่มบ้านใหญ่แสนสุข กลับมาสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย เพราะตระหนักดีว่า เมืองชลวันนี้ ไม่เหมือนวันวาน บ้านใหญ่ย่างเข้าสู่ช่วงสนธยาแล้ว

เรื่อง: ชน บทจร

ภาพ: แฟ้มภาพ จาก NATION PHOTO

ชน บทจร

Exit mobile version