เพื่อความสัมฤทธิ์ผล ของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2566-70 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของภาคเกษตร เพื่อศักยภาพ ปัญหา โอกาส และข้อจำกัด ของพื้นที่อีอีซี
เพื่อความสัมฤทธิ์ผล ของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2566-70 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของภาคเกษตร เพื่อศักยภาพ ปัญหา โอกาส และข้อจำกัด ของพื้นที่อีอีซี
จากรายงานของ สกพอ. พบว่า พื้นที่อีอีซี มีจุดแข็ง คือ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญสำหรับบริโภคภายในประเทศและส่งออก มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมงน้ำจืด ประมงน้ำลึกและประมงชายฝั่ง
โดย จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งผลิตข้าว มันสำปะหลัง มะม่วงสุก กุ้ง ปลากะพงขาว ไก่เนื้อ และไก่ไข่ จ.ชลบุรีเป็นแหล่งผลิตยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และการทำปศุสัตว์ และ จ.ระยอง เป็นแหล่งผลิตพืชสวนทั้งทุเรียน มังคุด และเงาะ โดยเฉพาะทุเรียน และยางพารา รวมทั้งพื้นที่ตามแนวชายฝั่งยังมีศักยภาพสูงในการ เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล
ในขณะที่พื้นที่อีอีซี มีกิจกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับสำกล เช่น พัทยา บางแสน และเกาะเสม็ด มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่สร้างรายได้ ถึง 317,936 ล้านบาทต่อปี นอกนี้ยังยังเชื่อมโยง จ.ปราจีนบุรี, จันทบุรี และสระแก้ว แหล่งปลุกพืชสมุนไพร เพื่อเป็นวัตถุดิบต่อยอดในการผลิตสินค้าหรือใช้ในการบริการ
แต่พื้นที่อีอีซี มีจุดอ่อนที่สำคัญคือ เกษตรส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน ซึ่งมีความไม่แน่นอน มีปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และชุมชนเมือง ขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร แปลงเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัด Zoning ทำให้ยากต่อการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ เพื่อเพิ่่มประสิทธิภาพ
ดังนั้น สกพอ.จึงเห็นว่าการพัฒนาภาคการเกษตรในอีอีซี ควรแยกเป็นการพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ การปรับโครงสร้างของกระบวนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม
โดย จ.ฉะเชิงเทรา เหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงประมง ได้แก่ กุ้ง ปลาในพื้นที่ที่เหลือประมาณ 6.4 หมื่นไร่ ซึ่งสามารถพัฒนาให้เกิดเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถควบคุมนิเวศประมง ให้มีความเสี่ยงต่อโรคระบาดสัตว์ต่ำ และสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่สู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชสมุนไพร และผักปลอดสารพิษ
จ. ชลบุรี มีพื้นที่เกษตรที่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศ ที่กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการผลิตพลาสติกชีวภาพ ต้องการวัตถุดิบจากภาคเกษตรจำนวนมาก ดังนั้นชลบุรีจึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชพลังงาน ซึ่งควรจะเร่งการวางแผนการพัฒนาการเพาะปลูกเพื่อใช้เป็นต้นแบบ โดยอาจจะจัดสร้างเป็น Bio-Mass Plant Belt รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่สู่การเพาะเลี้ยงโคขุนที่มีมูลค่าสูง และพืชสมุนไพรด้วย
จ. ระยอง มีพื้นที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกผลไม้ที่ดี สามารถพัฒนาเป็น ศูนย์กลางผลไม้เมืองร้อน พร้อมทั้งมีศักยภาพในการใช้ความเย็นที่เหลือจากกระบวนการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการห้องเย็นนำมาใช้ประโยชน์ในการแช่เย็นและ แช่แข็งผลไม้และอาหารทะเลแปรรูป
นอกจากนี้จังหวัดระยองยังเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับพื้นที่ เพาะปลูกผลไม้ใกล้เคียงในจังหวัดจันทบุรี ตราด ชลบุรี และมี พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลเพื่อนำมาเป็นอาหาร ดังนั้น จึงควรพัฒนาให้เกิดเป็น แหล่งรวบรวมผลไม้และอาหารทะเลสด เพื่อเข้าสู่กระบวนการเพิ่มมูลค่า
“ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่มากขึ้น จากประชากรโลก และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสังคมเข้าสู่ผู้สูงอายุ การรักสุขภาพและความนิยมธรรมชาติ จึงเป็นโอกาสของพื้นที่เกษตรในอีอีซี ในการผลิต พัฒนา และปรับปรุงสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับ ยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่“
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่าแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในอีอีซีเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานย่อยภายใต้แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซีระยะที่ 2 ซึ่งกรอบแนวคิดเน้นการใช้ตลาดนำการผลิต (Demand Pull) และการใช้เทคโนโลยีผลักดันสร้างรายได้ (Technology push) รวมทั้ง การกำหนดประเภทสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพและโอกาสทางการตลาด และ การกำหนดพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
มีเป้าหมายหลักคือยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ ยกระดับการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับคลัสเตอร์ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้ มีเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง คลัสเตอร์ประมง เพื่อทำประมงเพาะเลี้ยง เป็นอาหารแห่งอนาคต เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานและสร้างเศรษฐกิจใหม่
คลัสเตอร์พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ จะสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการต่อยอด New S-Curve Industry อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมเอทานอล พลาสติกชีวภาพ คลัสเตอร์พืชสมุนไพร จะสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการต่อยอด New S-Curve Industry อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ยา เวชภัณฑ์การแพทย์ เวชสาอาง และ คลัสเตอร์สินค้าเกษตรมูลค่าสูง จะปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรราคาสูง
ทั้งหมดนี้จะเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย โดยเน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสินค้าเกษตรไทย