บางแสน ชลบุรี

image4-11.jpg

‘วิชิต ชิตวิเศษ’ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้คน ลดความเหลื่อมล้ำ จากเมืองบ้านสวน สู่ ‘เมืองแห่งความสุข’ จ. ชลบุรี 

เทศบาลเมืองบ้านสวนเป็นเมืองปริมณฑลที่รองรับการขยายตัวของเมืองชลบุรี ปัจจุบันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนกว่า 150,000 คน ภายใต้การดูแลของ วิชิต ชิตวิเศษ’ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นนักพัฒนาเมืองได้อย่างสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชน กระทั่งที่นี่เป็นเมืองแห่งความสุข

บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของที่ทำการเทศบาล ดูร่มรื่นสบายตาไปด้วยธรรมชาติพันธุ์ไม้ ตกแต่งเป็นสวนสวย ตัวอาคารสำนักงานใหญ่โตโอ่อ่า วิชิตเล่าว่า ในช่วงแรกที่เป็นสุขาภิบาล ต้องใช้พื้นที่ของอำเภอ แต่หลังจากยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ทั้งประชากรและเทศบาลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับพี่น้องประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย จนสถานที่ตั้งเดิมไม่เพียงพอ ต้องซื้อพื้นที่บริเวณนี้จำนวน 26 ไร่ เป็นที่ทำการเทศบาล จากนั้นได้ฉายภาพบริบทในปัจจุบันถึงคาแรกเตอร์ของเมืองบ้านสวนว่า

“ที่นี่มีพื้นที่ทั้งหมด 19.5 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่บนบก 17.3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง มี 47 ชุมชน การประกอบอาชีพส่วนใหญ่เน้นไปในทางค้าขาย มีการเก็บภาษีในส่วนพี่น้องประชาชน เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน และภาษีที่ดิน จากการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี หรือพื้นที่เป้าหมายในการปูเส้นทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของเมืองบ้านสวนที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือผู้คนหนาตามากกว่าเดิม”

ภายใต้พันธกิจที่นำไปสู่การเป็นเมืองแห่งความสุข นายกฯ วิชิต ไล่เรียงให้ฟังว่ามีถึง 6 พันธกิจ เริ่มจากพันธกิจแรก การพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค พันธกิจที่ 2 เป็นการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ

“พันธกิจที่ 3 การพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ก็มาคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีสุขภาพดีท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงได้พยายามบริหารจัดการให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการขยะ มีโครงการปลอดถังขยะหรือใช้ถังขยะให้น้อยที่สุด สร้างศูนย์คัดแยกขยะรีไซเคิล ให้ความรู้พี่น้องประชาชนด้านการคัดแยกขยะในครัวเรือน พร้อมกับสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะ รวมไปถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ จากการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นกองบุญให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น”

พันธกิจที่ 4 เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พันธกิจที่ 5 การให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล และพันธกิจที่ 6 การส่งเสริมให้เป็นเมืองน่าอยู่  ชุมชนทันสมัย นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารงาน

เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้พิการ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ที่ผ่านมาเทศบาลเมืองบ้านสวนได้รับรางวัลที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำประโยชน์เพื่อประชาชนในด้านต่างๆ มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลประชาบดี รางวัลด้านสาธารณสุข หรือแม้แต่รางวัลการบริหารงานดีเด่น บางรางวัลได้รับติดต่อกัน 2 ปีซ้อน แต่ที่สุดของรางวัลแห่งความภาคภูมิใจในชีวิตของวิชิตก็คือ รางวัลพระปกเกล้าประจำปี 2564 ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความเป็นเลิศ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“เราให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนด้อยโอกาส และผู้พิการ จุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มผู้สูงอายุก่อน ส่วนใหญ่มีภาวะพึ่งพิง หรือติดเตียง เมื่อได้ลงไปในพื้นที่ ได้เจอผู้พิการแล้วเขาเดินหนี บางคนก็ปิดบ้านไม่อยากต้อนรับ เพราะพวกเขามีความรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างไปจากคนปกติ จึงใช้วิธีหาผู้พิการมาเป็นผู้แทน ไปพูดคุยเพื่อให้เขาเปิดใจ ทำให้บรรดาผู้พิการเหล่านั้น ได้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงของเทศบาล ทุกคนไม่ว่าสภาพร่างกายจะเป็นอย่างไรก็อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันอย่างปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”

วิชิตบอกว่า เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานตรงนี้ ต้องยึดแนวทาง ‘เป็นเพื่อนคู่คิด เป็นมิตรใกล้บ้าน ถึงแม้จะไม่ใช่ญาติ ก็สามารถดูแลซึ่งกันและกันได้’ และจากความตั้งใจเพิ่มคุณภาพชีวิตเพื่อผู้พิการ โดยมีเจ้าหน้าที่งานศูนย์บริการสาธารณสุขลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ตรวจสุขภาพเบื้องต้น เป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการเพื่อนเยี่ยมเพื่อน และกองทุนผู้พิการ เพราะต้องการให้พวกเขาได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ถูกทอดทิ้งอยู่แต่ในกลุ่มผู้พิการ แต่ยังมีเพื่อนๆ ที่มาทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน

เทศบาลเมืองบ้านสวนยังได้ร่วมมือทำงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกองสวัสดิการและสังคม มีการส่งเสริมสร้างอาชีพ เช่น เย็บปักถักร้อย ทำขนม นวดแผนไทย ฯลฯ จนหลายคนสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ เช่น เย็บปักถักร้อย ทำขนม แม้แต่บ้านพักอาศัยก็ช่วยดูแลปรับปรุงให้มีสภาพที่เหมาะสม 

“ด้วยกฎระเบียบของเทศบาลที่ไม่สามารถจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อผู้พิการได้เต็มรูปแบบ จึงต้องใช้วิธีขอความร่วมมือในการจัดหาทุนกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพ เรามีการจัดตั้งชมรมคนพิการ ก็หาจิตอาสามาช่วยกัน บ้างก็นำเงินมาร่วมสมทบกองทุน เป็นต้น”

เปิดรับเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ปรับปรุงสาธารณูปโภค

นอกจากผลงานที่โดดเด่น อย่างการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในพื้นที่แล้ว ยังมีการพัฒนาในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น ปรับปรุงสาธารณูปโภคให้ทันสมัยยิ่งกว่าเดิม มีการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยเริ่มจากระยะแรก บริเวณด้านหน้าเทศบาลเมืองบ้านสวน ตั้งแต่หน้าโรงเรียนชลราษฎร์อำรุงจนถึงถนนพระยาสัจจาทั้งสองฝั่งถนน ต่อไปอีกไม่นาน ภาพของสายไฟที่รกรุงรังจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป 

ตามแผนงานดังกล่าว ทำให้มีผลกระทบทั้งสองฝั่งถนน จึงต้องมีการทำประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีมาเป็นประธาน พร้อมกับเชิญชวนประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว มารับฟังเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนา เช่น กล้องวงจรปิด เสียงประชาสัมพันธ์ตามสาย จากเดิมที่เชื่อมต่อด้วยสายไฟเบอร์ออพติก ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นแบบไร้สาย พร้อมทั้งแอปพลิเคชันไลน์มาเป็นเครื่องมือสำหรับการติดต่อสื่อสารหรือให้บริการประชาชนของแต่ละหน่วยงาน 

พัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา

เนื่องจากเทศบาลเมืองบ้านสวนอยู่ในเขตของพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การจะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงไม่อาจทำได้เหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ แต่วิชิตก็ได้มีการการผลักดันเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ทั้งส่วนชุมชนซึ่งเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจเมืองบ้านสวน

“ถึงจะไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวโดยตรง แต่ใครที่จะไปบางแสนหรือพัทยาก็ต้องผ่าน แล้วที่นี่ก็มีแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนที่อาจอยากแวะชม อย่างวัดธรรมนิมิตต์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลนิมิตต์ ขนาดความสูง 34 เมตร มีป่าชายเลนที่ตั้งใจจะพัฒนาในแบบพื้นที่สีเขียวทั้งหมด ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้มีการจับจ่าย เม็ดเงินหมุนเวียนได้อีกทางหนึ่ง”

    การพัฒนาด้านการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งในพันธกิจหลักของเทศบาลเมืองบ้านสวน นักเรียนในพื้นที่มีความรู้ด้านวิชาการไม่แตกต่างไปจากที่อื่น มีโรงเรียนชลราษฎรอำรุง ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ และเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัด

รองลงมาคือโรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 ระดับชั้นการศึกษาตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมปลายและเทียบเท่า นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดูแลโดยบุคลากรครูในสังกัด สพฐ. และมีเทศบาลเมืองบ้านสวนสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจการทำงาน การวางระบบพัฒนาพื้นที่ของเมืองได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์การแก้ปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชนในพื้นที่ และยังนำมาสู่การเป็นเมืองแห่งความสุขของทุกคน

เดินหน้าพัฒนาบ้านสวนเมืองแห่งความสุข

เพราะการมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ชีวิตย่อมมีความสุข สถานที่ดูแลสุขภาพแห่งใหม่  ‘อาคารออกกำลังกายในร่ม เทศบาลเมืองบ้านสวน’ ขนาดความสูง 6 ชั้น ภายใต้ดำริของนายกฯ วิชิต ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้ ขั้นตอนต่อไปคือการจัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่ได้มีเฉพาะผู้ใหญ่ทั่วไป แต่ยังมีการจัดเตรียมสำหรับผู้สูงอายุไว้ด้วย

“อีกแผนงานในอนาคตจะเป็นโครงการพัฒนาป่าชายเลนที่มีอยู่เดิม  จะทำออกมาให้เป็นสถานที่สำหรับพี่น้องประชาชนได้มีที่ค้าขายเพิ่มขึ้น เป็นที่เดินออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ตามแผนคือจะใช้วิธียิงทรายกลบดินเลนทั้งหมด ขณะเดียวกันต้นไม้ทั้งหมดยังคงอยู่  ส่วนด้านบนของทรายทำเป็นแผ่นพรุนน้ำ เมื่อฝนตกน้ำจะซึมลงสู่ใต้ดิน ไม่มีน้ำขังเหมือนพื้นดินทั่วไป”

ทุกโครงการของเทศบาลเมืองบ้านสวน วิชิตบอกว่า ส่วนใหญ่จัดทำจากงบประมาณของเทศบาลซึ่งค่อนข้างมีความพร้อมทางฐานะการเงิน มีเพียงบางส่วนที่ขอการสนับสนุนจากภาครัฐ เรียกว่า เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เช่น ปีที่ผ่านมามีการของบสนับสนุนการวางท่อระบายน้ำที่มีน้ำท่วมขังบางจุด แม้เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น แต่เขาก็ยินดีทำเพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวเมืองบ้านสวนได้รับความสะดวก

นายกฯ วิชิต ทิ้งท้ายโดยฝากถึงภาครัฐว่า ทุกวันนี้ภาครัฐยังให้อำนาจกับท้องถิ่นไม่เต็มที่ ยกตัวอย่างง่ายๆ บ้านอยู่อาศัยของผู้พิการที่ขาดแคลนอุปกรณ์เฉพาะ และเทศบาลไม่สามารถสนับสนุนได้ ต้องพึ่งพาเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อดูแลผู้พิการ 

“เป็นเหตุผลที่อยากให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เทศบาลมีความพร้อมที่จะดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อผู้พิการ หรือผู้สูงอายุที่ติดเตียง ทุกวันนี้การดูแลผู้พิการเราจัดตั้งกองทุนเอง หากมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง จะทำให้ท้องถิ่นนั้นๆ สามารถทำงานผลักดันนโยบายเพื่อพี่น้องประชาชนได้อย่างครบทุกมิติ”

เรื่องล่าสุด