เพราะการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างมากต่อการบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นหน้าที่และพันธกิจสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยเฉพาะ ‘เทศบาล’ ด้วยความเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่มาจากชาวบ้าน มีความใกล้ชิดกับคนในชุมชน ทำให้มองเห็นปัญหาต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และนอกจากจะมีความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกจุดแล้ว ยังสามารถพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่
ปี 2565 เครือมติชนได้ถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของ 20 นายกเทศมนตรีที่ลุยงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง ผ่านรายการ ‘City Changers คนเปลี่ยนเมือง’ ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอ และบทความ
เพื่อให้ผู้ชมและผู้อ่านได้รับรู้ถึงการทำงานของ ‘นายกเล็ก’ ตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองให้ทันสมัย พร้อมก้าวสู่การเป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริมท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ และการส่งเสริมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชน
เริ่มจาก ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี แม้ได้รับเลือกจากประชาชนในพื้นที่ให้นั่งเก้าอี้นายกเล็กได้ไม่ถึงปี แต่ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการโควิด-19 ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ปรับปรุงคลองรังสิตสู่คลองสวย-น้ำใส และการวางแผนปั้นนครรังสิตสู่การเป็นสมาร์ท ซิตี้
หญิงแกร่งและเก่งไม่แพ้ชายอกสามศอก อย่าง สายใจ เลิศวิริยะประภา แห่งเทศบาลเมืองเขาสามยอด จังหวัดลพบุรี นักพัฒนาพื้นที่จากท้องทุ่งมาเป็นเมืองที่มีทั้งอาคารทันสมัย ถนนคอนกรีต และสาธารณูปโภคเติมเต็มความสะดวกสบายให้คนในพื้นที่แบบไม่ธรรมดา นอกจากฝีมือการบริหารจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อมแล้ว เธอผู้นี้ยังมีผลงานโดดเด่นอย่างการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังที่แต่เดิมเกิดขึ้นแต่ละคั้งนานนับเดือน และการจัดตั้งโรงเรียนระดับชั้นประถมเพื่อเปิดกว้างให้ลูกหลานชาวเขาสามยอดเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ด้วยเชื่อว่า การศึกษาคือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความยากจน
ในฐานะผู้แทนชุมชนที่คลุกคลีกับการบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นมากว่า 22 ปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ที่มีต่อ ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ จากการสร้างความเปลี่ยนแปลงไว้มากมาย อาทิ ปรับปรุงเมืองแม่เหียะให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จัดทำฐานข้อมูลอัจฉริยะ พัฒนาการศึกษา รวมถึงผลักดันการท่องเที่ยวให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
แม้เป็นเมืองชายทะเลสุดคลาสสิคที่มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติมาเยือนปีละกว่า 3 ล้านคน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ ‘บ้านของพ่อ’ ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ของสถานที่ท่องเที่ยวเกือบทุกแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่ยังได้รับการประเมินเมืองแห่งสิ่งแวดล้อมยั่งยืน จนคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนระดับประเทศ คือผลงานของ นพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคึรีขันธ์ นักบริหารคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาหัวหินเป็นเมืองน่าอยู่และมีความสุข
เจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ นักบริหารจัดการพื้นที่ ชูด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย ภาษา อาชีพ อาหาร การแต่งกาย ประเพณี ศิลปะท้องถิ่น และความเชื่อ โดยมีเป้าหมายครอบคลุมเศรษฐกิจ อาชีพ และคุณภาพชีวิต เพื่อดึงลูกหลานชาวลับแลกลับคืนมาสร้างความเจริญให้บ้านเกิด
ด้วยความเป็นเมืองหน้าด่านทั้งการค้าขายและการท่องเที่ยว จึงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดขยะปริมาณมหาศาลต่อวัน วิชิต แซ่ลิ่ม นายกเทศมนตรีตำบลกำแพง จังหวัดสตูล ชักชวนคนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นและแนะแนวทาง นำสู่การสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร พร้อมนำปุ๋ยหมักที่ได้ มาดูแลต้นไม้ในสวนสาธารณะจนแผ่กิ่งก้านใหญ่โตเขียวชอุ่ม กลายเป็นแลนด์มาร์คจุดเดิน-วิ่งออกกำลังกายของผู้คนในชุมชน
อีกหนึ่งนายกเล็กที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม ส่งเสริมอาชีพ ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดหนักก็สามารถป้องกันและรับมืออย่างเข้มแข็ง เป็นเทศบาลตำบลแห่งแรกของอำเภอที่มีศูนย์พักคอยควบคู่ไปกับสถานกักกัน ทั้งหมดเเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็น ‘นักพัฒนา’ ของ ยศวัฒน์ ภูวรัตน์เลิศคุณ นายกเทศมนตรีตำบลเกล็ดแก้ว จังหวัดชลบุรี
มหานครของภาคอีสานที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและความเจริญครบครัน แต่กว่าจะพัฒนามาถึงวันนี้ได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุภภาคส่วน ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันคือ ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ที่ปักหมุดสู่การเป็นสมาร์ท ซิตี้ ควบคู่ไปกับความสุขมวลรวมของผู้คนในพื้นที่ เกิดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองภายใต้วิสัยทัศน์ ‘พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข’
ก่อนเมืองเล็กริมโขงจะติดชาร์ตแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนให้เชียงคานเต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยให้ชีวิตผู้คนมีคุณภาพ บนพื้นฐานวัฒนธรรมภูมิปัญญา และการอนุรักษ์ประเพณีแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ก็คือ กมล คงปิ่น นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย จนทำให้เชียงคานคว้ารางวัล ‘สุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน’ เมื่อปี 2563
หนึ่งในพื้นที่ของจังหวัดเล็กสุดชายแดนตะวันออกฝั่งติดกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่วังน้ำเย็นก็มีบรรยากาศความเป็นเมืองที่พัฒนาได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งถนนหนทางและการคมนาคม แตกต่างไปจากอดีตที่มีแต่พื้นที่เกษตร ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือผลงานของ วันชัย นารีรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ผู้ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมาอย่างยาวนานถึงกว่า 30 ปี ซึ่งพัฒนาเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะ 5 ด้านหลัก เมือง สังคม-สุขภาพ การศึกษา คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
จากการยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ให้ประชาสังคมเกิดสันติสุขในพื้นที่ เป็นแนวคิดเชิงนโยบาย 7 ประการ ของ สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก จังหวัดสงขลา ครอบคลุมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมของผู้คนที่มีความรู้ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เติบโตด้วยปัญญา เลือกประกอบอาชีพสุจริต โดยมีกรอบความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
เอกพันธุ์ อินทร์ใจเอื้อ นายกเทศมนตรีเมืองสุพรรณบุรี ขวัญใจคนในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน จากการบรรลุภารกิจ 4 แนวทางขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ยั่งยืนในเบื้องต้น ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม การจัดการการศึกษา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การส่งเสริมอาชีพ ทั้งหมดแม้จะสำเร็จเป็นรูปธรรมไปแล้ว แต่ก็ยังมีแผนงานที่จะพัฒนาต่อยอดอีกหลายโครงการ
นักบริหารคนรุ่นใหม่ที่เนรมิตให้บางแสนกลายเป็นชายหาดที่สะอาด เต็มไปด้วยบรรยากาศชวนน่าพักผ่อนหย่อนใจ ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียงในฐานะ Sport City ทั้งงานแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนระดับโลก การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบเทียบเท่าสนามมาเก๊า การแข่งขันไตรกีฬาภายใต้แบรนด์ IRONMAN ยกระดับจากเมืองรองสู่การเป็นเมืองชั้นนำ ‘Export Tourism City’ อย่างภาคภูมิใจ
อีกหนึ่งนักพัฒนาเมืองได้อย่างสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนที่มีกว่า 1.5 แสนคน วิชิต ชิตวิเศษ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านสวน จังหวัดชลบุรี ภายใต้ 6 พันธกิจ ได้แก่ พัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และส่งเสริมให้เป็นเมืองน่าอยู่ กระทั่งที่นี่เป็นเมืองแห่งความสุข
เช่นเดียวกับ ประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดเป้าหมายเป็นสโลแกนว่า ‘เพื่อชีวิตที่ดีกว่า จับมือและก้าวไปด้วยกัน จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ หนึ่งในนั้นคือการเป็น ‘นครมีสุข’ บูรณาการการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ ของกลุ่มเปราะบางอย่าง ผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงที่ขาดโอกาส
จากเดิมที่เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล แต่เมื่อยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลเมือง น้อย วงศ์วิทยานันท์ นายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่า จังหวัดกำแพงเพชร ก็ได้นำงบประมาณมาวางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข สังคม แหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะการสร้างสรรค์กลุ่มอาชีพ ส่งเสริมนวัตกรรมผ้ามัดหมี่จากต้นกล้วยไข่ วัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองชากังราว จนเป็นอัตลักษณ์ผ้าพื้นถิ่นแผ่นดินกำแพงเพชร ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็นรายได้ให้คนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ถึงจะนั่งเก้าอี้นายกเล็กได้ไม่นาน แต่ ภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม ก็มุ่งมั่นตั้งใจเต็มร้อยที่จะทำให้เป็นเมืองที่พัฒนาทั้งการศึกษาและสาธารณูปโภค ผู้คนได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของแต่ละโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การกีฬา การรักษาและสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงความตั้งใจที่จะให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสออกแบบการพัฒนาชุมชนหรือบ้านเมืองของตนเอง
สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กับพันธกิจ 6 ด้าน อาทิ เมืองต้องสะอาด สวยงาม อยู่แล้วก็มีความสุข ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดีจากกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และการเป็นเมืองที่ต้องมีความปลอดภัย ฯลฯ จนสามารถพิชิตเป้าหมายให้น่านเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในไทย
ดินแดนสุดปลายด้ามขวานที่ประชากรส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายสุขสงบ พี่น้องไทยมุสลิมและไทยพุทธอยู่ร่วมกันอย่างยอมรับในความแตกต่างของศาสนาและความเชื่อ และมีผู้นำท้องถิ่น ไพซอล อาแว นายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมผลักดันให้ที่นี่เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานต้นทุนทางสังคมที่ดี อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีท้องถิ่นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
ปิดท้ายด้วยนักพัฒนาหญิงลูกหลานคนในพื้นที่ที่ได้รับความไว้วางใจยาวนานถึง 4 สมัย เพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในหลายมิติ ทั้งระบบเศรษฐกิจ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีมาให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วทันใจ เมื่อมีเหตุร้ายก็เข้าถึงพื้นที่ได้ทันที ทั้งหมดยังมาจากความร่วมมือของชุมชนและทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันทำให้ ‘เกาะคาเป็นเมืองน่าอยู่’
เมื่อรู้ใจชุมชน เข้าใจปัญหาท้องถิ่น ทำงานอย่างมีวิสัยทัศน์ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของเมือง ดังเช่นตัวอย่างผลงานของทั้ง 20 ท่าน และในปี 2566 รายการ ‘คนเปลี่ยนเมือง ปี 2’ ยังคงจะชวนผู้ชมและผู้อ่านไปสัมผัสกับเรื่องราวการทำงานของ ‘นายกเล็ก คนเปลี่ยนเมือง’ จะมีใครบ้างนั้น ติดตามได้ในเร็วๆ นี้