ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ
เมื่อสุริยน ย่ำสนธยา
จะกลับบ้านนา ตอนชื่อเสียงเรามี
จะยากจะจน ถึงอดจะทนเต็มที่
นักร้องบ้านนอกคนนี้
จะกล่อมน้องพี่ แฟนเพลง (1)
วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 อีกไม่ถึง 2 เดือนเธอก็จะมีอายุครบ 31 ปีเต็ม แต่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็จากโลกนี้ไปด้วยความเจ็บป่วยสะสมมาระยะหนึ่งจากโรคเอสแอลอี หรือ ลูปัส โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การอักเสบและเสื่อมสภาพของอวัยวะต่างๆ
รำพึง จิตรหาญ คือชื่อจริงของเธอ ลูกสาวคนที่ 5 จากครอบครัวคนงานรับจ้างตัดอ้อยที่ยากจน เธอเกิดที่ชัยนาทก่อนครอบครัวจะย้ายไปปักหลักที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เธอได้เรียนหนังสือเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ 2
พุ่มพวง เริ่มประกวดร้องเพลงตามงานวัดในนาม น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย (มาจากชื่อเล่น ผึ้ง) ตั้งแต่เธออายุยังไม่ถึง 10 ขวบ คว้ารางวัลมากมายในย่านภาคกลางและตะวันตก จากนั้นก็มุ่งเข้าแสวงโชคในกรุงเทพฯเพื่อเป็นนักร้องอาชีพ ได้เข้าไปอยู่ในวงลูกทุ่งของ ดวง อนุชา แต่ยังไปได้ไม่ถึงไหน วงก็ยุบ เธอกลับไปยึดอาชีพตัดอ้อยกับครอบครัวที่สุพรรณบุรี
ชีวิตทางดนตรีเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เมื่อพ่อของเธอนำไปฝากฝังกับศิลปินดัง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ หลังจากทำงานจิปาถะในวง พุ่มพวง ก็ได้บันทึกเสียงครั้งแรกในเพลง “แก้วรอพี่” ที่ ไวพจน์ เป็นผู้แต่งให้ และตั้งชื่อให้เธอว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ
ขณะที่เพลง “แก้วรอพี่” ถูกเปิดทางวิทยุ และชื่อ น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เริ่มเป็นที่รู้จัก พุ่มพวง ก็พบรักกับ ธีรพล แสนสุข นักดนตรีในวงของ ไวพจน์ ทั้งคู่หนีตามกันไปในวัยที่เธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ เข้าไปอยู่กับวงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ ตามด้วยวงของ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ที่กำลังโด่งดังสุดๆกับเพลง “จดหมายเป็นหมัน” และวงของ รุ่ง โพธาราม
ช่วงระหว่างสองวงหลัง มนต์ เมืองเหนือ นักจัดรายการเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ได้นำเธอเข้าบันทึกเสียงเพลงแก้กับ “รักอันตราย” ของ ขวัญชัย และยังนำ “แก้วรอพี่” มาบันทึกเสียงอีกครั้ง มนต์ เมืองเหนือ ตั้งชื่อใหม่ให้เธอว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ และเธอก็กลายเป็นดาวรุ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงน้ำเสียงที่ยอดเยี่ยม
ธีรพล เริ่มตั้งวงดนตรีให้ พุ่มพวง ต่อมาไปรวมกับวงของ เสรี รุ่งสว่าง ที่กำลังเริ่มดังเช่นกัน เดินสายในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง ก่อนที่จะเข้าสู่สังกัด อโซน่า เมื่อปีพ.ศ. 2525 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความโด่งดังด้วยเพลง “แฟนพุ่มพวง” จากนั้นก็ไม่มีอะไรหยุดเธอได้ หรือถ้าพูดเป็นสำนวนคุ้นเคยก็คือ “จากนั้นคือประวัติศาสตร์”
ได้เจอะคนเล็บแดงแดง
ปากแดง แก้มแดงแดงที่ในเมืองหลวง
ทิ้งให้สาวนา นอนน้ำตาเอ่อทรวง
คนซื่อชื่อรวง เขาคงไม่ห่วงไม่สน (2)
เพลงฮิทหลั่งไหลออกมาเพลงแล้วเพลงเล่า เช่น “สาวนาสั่งแฟน”, “นัดพบหน้าอำเภอ”, “อื้อฮือหล่อจัง”, “กระแซะเข้ามาซิ”, “ดาวเรืองดาวโรย”, “คนดังลืมหลังควาย”, “ห่างหน่อยถอยนิด” ฯลฯ
เป็นเรื่องธรรมดาที่ความโด่งดังของเธอจะถูกดึงเข้าสู่วงการแสดง พุ่มพวง เริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกในปี พ.ศ. 2526 คือ ”สงครามเพลง” และตลอดชีวิตต่อมาเธอมีผลงานแสดงภาพยนตร์มากถึง 28 เรื่อง แม้ว่าจะมีงานเดินสายร้องเพลงแทบไม่มีวันพักก็ตาม การเข้าสู่วงการแสดงทำให้เธอได้พบรักกับ ไกรสร แสงอนันต์ หลังจากที่มีปัญหาชีวิตคู่จนต้องเลิกรากับ ธีรพล แสนสุข เธอมีละครโทรทัศน์ที่แสดงคู่กับ ไกรสร ด้วย 1 เรื่อง คือ “นางสาวยี่ส่าย”
ด้านการบันทึกเสียง เมื่อหมดสัญญากับ อโซน่า เธอเข้าไปร่วมกันกับ พีดี โปรโมชั่น ซึ่งจับมือกับ ซีบีเอส เรคอร์ดส์ (ประเทศไทย) และต่อมากับ ท็อปไลน์ ไดมอนด์ ผลงานเพลงของ พุ่มพวง ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
จากการวบรวมผลงานของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ พบว่าเธอบันทึกเสียงไปมากกว่า 500 เพลง
หากพี่กลับมา ซื้อผ้าตา ๆ ฝากน้องบ้างเน้อ
อย่าให้คอยเก้อ นะพี่อยากมีเสื้อใหม่
อย่าพาหญิงงาม กลับมาหยามน้ำใจ
หากพามาได้ แต่อย่าให้สวยเกิน (3)
ในช่วงแรก การร้องเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ยังเต็มไปด้วยอิทธิพลของ ผ่องศรี วรนุช ซึ่งไม่แปลกอะไร เพราะอิทธิพลเพลงของ ผ่องศรี ครอบคลุมวงการลูกทุ่งมายาวนาน ต่อมาก็มีอิทธิพลการร้องกระชับสั้นแบบ บุปผา สายชล เข้ามาผสมผสาน แต่ในที่สุด พุ่มพวง ก็พบวิธีการร้องของเธอเอง ด้วยการติดตามดูการร้องและการแสดงศิลปินป๊อประดับโลกมาปรับใช้
พุ่มพวง กลายเป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงที่สามารถกวาดความนิยมได้ทุกตลาดเพลง นอกจากน้ำเสียงเฉพาะตัว ลูกเล่นลีลาที่เธอสร้างสรรค์ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ และส่งอิทธิพลต่อนักร้องหญิงรุ่นหลังอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักร้องลูกทุ่งหรือสายป๊อป
หลังจากเธอเสียชีวิต มีผลงานมากมายผลิตออกมาเพื่ออุทิศและรำลึกถึง ทั้งภาพยนตร์, หนังสือ และอัลบั้มเพลง
แฟนจ๋าที่ยังเป็นห่วง รักพุ่มพวง ซึ้งในน้ำใจ
แฟนจ๋าที่ยังเป็นห่วง รักพุ่มพวง ซึ้งในน้ำใจ
จะร้องเพลงให้แฟนฟัง ถ้าหากแฟนยัง ให้กำลังแรงใจ
อย่าทิ้งพุ่มพวงไปก่อน อย่าทิ้งพุ่มพวงไปก่อน
ยามหลับยามนอน คิดถึงพุ่มพวงบ้างเป็นไร (4)
30 ปีแล้วที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ จากไป ในขณะที่ชื่อเสียงของเธอยังอยู่ในจุดสุดยอด และถึงวันนี้ ยังไม่มีใครลืมเลือนนักร้องลูกทุ่งหญิงผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีไทยคนนี้
…………..
(1) “นักร้องบ้านนอก” แต่งโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
(2) “คนดังลืมหลังควาย” แต่งโดย ฉลอง ภู่สว่าง
(3) “สาวนาสั่งแฟน” แต่งโดย วิเชียร คำเจริญ
(4) “แฟนพุ่มพวง” แต่งโดย เชิดศักดิ์ เปลี่ยนศรี