ในวันนี้ เมื่อวิกฤตโรคระบาดคลี่คลาย ก็เป็นเวลาที่อุตสาหกรรมต่างๆค่อยๆ ฟื้นตัว โดยหนึ่งในภาคอุตสาหกรรม ที่นับว่าฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะหลังจากเปิดประเทศก็มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ต่างกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มาแรงในยุค Post-covid นั่นคือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในทุกมิติก็ว่าได้
อัปเดตการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย หลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย
ในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทยมากถึง 20 ล้านคน และจะก่อให้เกิดรายได้รวมราว 5-6 แสนล้านบาท ดังนั้น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับโอกาสนี้ นอกเหนือจากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว การพัฒนาทักษะของบุคลากรสายท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะบุคลากรสาย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงมีความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับโอกาสการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิดคลี่คลายลง
ขณะที่ หลังจากเปิดประเทศไปในช่วงกลางปี 2565 ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่ไทยได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวทั่วไป โดย ในปี 2565 คาดว่ารายได้จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของรายได้ก่อนวิกฤตโควิด-19 ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 แตะ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19
ทั้งนี้ แน่นอนว่าเหตุผลที่ทำให้ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ของไทยมาแรง ก็เป็นเพราะที่ผ่านมาระบบดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก และมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ดี หรือมีความมั่นคงทางสุขภาพสะท้อนจาก Global Health Security (GHS) Index 2021 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไทยอยู่ในอันดับ 5 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ด้วยความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดรวมทั้งระบบสาธารณสุขและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในภาพรวมอยู่ในระดับดี
นอกจากนี้ในมุมของค่ารักษาพยาบาล พบว่า ไทยยังมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดใน 10 ประเทศ โดยเฉลี่ยรายละ 296 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 9 ด้วยค่าใช้จ่าย 3,406 ดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งด้านที่เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้ภาพสอดคล้องกัน คือ ไทยติดอันดับประเทศในเอเชียที่มีรายได้สูงโดยอยู่ที่ 589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำหน้าเกาหลีใต้ที่อยู่ที่ 415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยเหตุนี้ ttb analytics จึงคาดการณ์ถึงแนวโน้มรายได้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคน นำโดยนักท่องเที่ยวจากอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งพบว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเข้ามาเพื่อเข้ารับการรักษาหรือเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มตลาดหลักของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ปักหมุด การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เมกะเทรนด์ลงทุนใน “อีอีซี”
หลังจากทราบถึงภาพรวมของการเติบโตในภาค การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ระดับประเทศแล้ว อยากชวนมารับรู้แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี้ในพื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ อย่าง อีอีซี ด้วย
โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เตรียมพัฒนา Wellness route ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ พัฒนาเมือง พัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยจะมีการพัฒนาศูนย์กลางสุขภาพ 10 สถานที่ใน EEC เช่น บางแสน บางพระ ศรีราชา พัทยา บางเสร่ พลูตาหลวง ตะพง
รวมทั้ง สกพอ. ยังได้เข้าหารือกับ กรมธนารักษ์ ขอใช้ 3 พื้นที่ศักยภาพสูง เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รองรับ Wellness route ซึ่งจะมีรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ทั้งอาคารศูนย์สุขภาพและศูนย์ความงามสปา ประกอบด้วย 1. บางแสน 2. บางเสร่ 3. บางพระ
นอกจากนี้ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Wellness
ในรายงานข่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ อภิชาติ โมฬีชาติ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทโรงพยาบาลเอสเตลล่า เวิลด์ ฮอสพิทอล และกรรรมการกฎบัตรไทย กล่าวบรรยายในการอมรมหลักสูตร “EEC Prime” รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันยูพีเอ็ม อะคาเดมี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2565 ว่า “รายงานของสถาบันด้านสุขภาพสากล(GWI) พบว่า เศรษฐกิจเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Economy ในปี 2020 มีมูลค่าตลาดทั่วโลก4.4 ล้านดอลลาร์ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.9% ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาด 7 ล้านล้านดอลลาร์ใน 3 ปีข้างหน้า”
“นอกจากนี้ แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจสุขภาพหดตัวลง 11% แต่เชื่อว่าหลังจากนี้มูลค่าตลาดจะกลับมาขยายตัวมากขึ้น เพราะเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นหลังจากโรคระบาดใหญ่คือเทรนด์การใส่ใจด้านสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น”
“รวมทั้งเศรษฐกิจเชิงสุขภาพมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นใน EEC ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ ทำให้โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเวลเนสมีขนาดที่ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมการแพทย์ เนื่องจากลูกค้าที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่เพียงผู้ป่วย แต่รวมถึงกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยมีห่วงโซ่คุณค่าที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านอาหารเป็นยา การออกกำลังกาย แพทย์แผนไทย ความงาม การบำบัด การชะลอวัย”
“ขณะเดียวกันตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงาน พบว่าเทรนด์ที่น่าจับตามองของเศรษฐกิจเวลเนสในอนาคต คือ วงการอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์สุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวที่ยังเติบโตได้ดีในช่วงโควิด ขยายตัว 22.1% เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น และเริ่มมีการศึกษาที่เชื่อมโยงของสภาพแวดล้อมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมีผลต่อสุขภาพจิตที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี”
“เทรนด์ด้านสุขภาพจึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มนำไปเป็นจุดขายที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น โดยตลาดดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตราว 5-15% ต่อปี ทีเดียว”
ผสานความร่วมมือ ม.บูรพา สถาบัน IBERD เดินหน้าพัฒนาบุคลากร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตอบรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ดังนั้น ด้วยแนวโน้มการเติบโตของงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่อีอีซี ตามที่เกริ่นมา ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรสายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรองรับการเติบโตนี้ และเป็นที่น่ายินดี ที่ล่าสุดได้เกิดพิธีลงนามความร่วมมือ เพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ : Wellness Tourism ระหว่าง คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดย ผศ.ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ กับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) โดยนางนที ชวนสนิท ผู้อำนวยการบริหารสถาบัน IBERD และมี สุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วย รมว.แรงงาน เป็นประธานในพิธี
นอกจากนั้นในโอกาสนี้ยังมี ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษ และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตลอดจน ประธานหอการค้า จากจังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก นายกสมาคมโรงแรมภาคตะวันออก ร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยในโอกาสนี้ คุณสุรชัย กล่าวว่า “กระทรวงแรงงานมีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของประเทศไทย หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการดูแลสุขภาพเป็นองค์รวม ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพรไทย ที่ทรงคุณค่า จนโหวตให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลิตบุคลากรด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”
ด้าน ผศ.ดร.ณยศ กล่าวเสริมว่า “มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มีการเปิดหลักสูตร และสาขา ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตบัณฑิตที่หลากหลาย ตอบสนองทักษะงานแห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ ดูแล ป้องกัน จนถึงการรักษา ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และแผนปัจจุบัน ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นจังหวะก้าวสำคัญที่จะพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ประเทศไทยเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ ของการเดินทางมาท่องเที่ยว ภายหลังจากวิกฤติโควิดผ่านพ้น”
นอกจากนั้น ผศ.ดร.มารุต ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงภารกิจของ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ว่าเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านศาสตร์เวลเนส (Wellness)
“คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งในระดับปริญญาตรี โท และ เอก เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ (medical hub) ในภาคตะวันออก”
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทย โดยจะมีการเปิดอบรมหลักสูตร “นวัตกรรมการนวดไร้ระบมและเสริมภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ถูกพัฒนาโดย คุณมงคล ศริวัฒน์ ที่ได้พัฒนาจากการศึกษาวิจัยและใช้รักษาผู้ป่วยมากว่า 20 ปี”
“นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานศาสตร์ของพลังชี่ (chi) ของมวยไท้เก๊กเข้าด้วย และนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ตะวันตกตอบเพื่อการรักษาและการให้บริการที่ตอบโจทย์ตลาดผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ต้องการการบำบัดรักษาด้วยการนวดแบบไม่เจ็บปวดทรมาน โดยจะเปิดการอบรมในเดือนมีนาคม 2566 นี้”
โดย คุณมงคล เจ้าของศาสตร์มงคลไทย เทอราปี (Mongkol Thai Therapy) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความเป็นมาของศาสตร์การนวดแผนไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง “นวดไร้ระบม” ว่า
“ผมได้ศึกษาและวิจัยงานนวัตกรรมนวดไทยมากว่า 20 ปี และเป็นผู้พัฒนาและคิดค้น “ศาสตร์มงคลไทย เทราปี” หรือ ที่เรียกกันโดยศัพท์ชาวบ้านว่า “นวดไร้ระบม” ซึ่งเป็นการนวดที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จากการบูรณาการระหว่าง ศาสตร์นวดจับเส้นของไทย กับการใช้พลัง ชี่ (Chi) ของมวยไท้เก๊กของจีน เป็นการกระตุ้นเส้นโดยไม่ทำร้ายผิวหนังและชั้นเนื้อ ลด เลิกอาการช้ำ ระบม เพิ่มผลในการรักษา ฟื้นฟูเส้น กระตุ้นเส้นหลักโดยธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) โดยใช้พลังจากภายในและลมหายใจ นอกจากนี้ยังได้ผลิตนักนวดบำบัดมาหลายรุ่น โดยรับสอนเฉพาะผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนวดมาแล้ว เพื่อต่อยอดทักษะในการประกอบวิชาชีพต่อไป”
สำหรับผู้สนใจเข้ารับการอบรม รุ่นที่ 1 สามารถติดต่อได้ที่ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หรือ เว็บไซต์ IBERD THAILAND.com ได้ตั้งแต่วันนี้
ที่มา :
- รายงานข่าว เรื่อง “ม.บูรพา ลงนามความร่วมมือ สถาบัน IBERD “พัฒนาบุคลากรรองรับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” จากเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
- บทความวิเคราะห์ เรื่อง “ttb analytics คาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยฟื้นเร็วโตเฉียด 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566” จากเว็บไซต์ ttbbank.com
- รายงานข่าว เรื่อง “เศรษฐกิจ “เวลเนส” เมกะเทรนด์ลงทุน “อีอีซี”” By ชนาภา ศรจิตติโยธิน จากเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ
การพัฒนาในอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในทุกมิติ
เหตุผลที่ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย” กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จีนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักจะยังปิดประเทศ
ทบทวนนิยาม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Wellness Tourism ทุกมิติ ก่อนหยิบ ‘ภูมิปัญญาไทย’ มาต่อยอดได้แบบไม่หลงทาง
ถึงเวลาขานรับ “Accessible Travel” การท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างจริงจัง
Post Views: 16