ภารกิจตามหา ‘ปลาลูกเบร่’ เป็นกิจกรรมหนึ่งบนเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนวัตกรรมของจังหวัดพัทลุง ที่จัดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน เพื่อไม่ให้ปลาสายพันธุ์นี้ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีผู้บริโภคจำนวนมาก จึงต้องนำเทคโนโลยีมาให้ความรู้แก่คนในชุมชน
ชาญวิทย์ รัตนราศรี ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า จังหวัดพัทลุง มีความโดดเด่น มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก
จึงเกิดเป็นโมเดล ‘เขา, ป่า, นา, เล’ ในช่วงเริ่มต้น เราเลือกโซน ‘เล’ นำร่อง ด้วยโครงการ ตามหา ‘ปลาลูกเบร่’ ในทะลน้อย ร่วมกับหลายภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ, อุทยานวิทยาศาสตร์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ถ้าพื้นที่ส่วนไหนมีความโดดเด่น มีเรื่องเฉพาะทาง มีอัตลักษณ์และวัตถุดิบท้องถิ่น เราจะนำนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาศักยภาพ สนับสนุน ส่งเสริมผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อกระจายโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพแข่งขัน ทำเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้น
คลองปากประ แหล่งอาศัยของปลาลูกเบร่ Cr. Kanok Shokjaratkul
ยกตัวอย่างเมื่อมีคนบริโภค ‘ปลาลูกเบร่’ มากขึ้น ปริมาณปลาลดลง จึงต้องนำเทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้กับชุมชน ‘เพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่’ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
จนเกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบวันเดย์ทริป เช้าจรดเย็น มีจุดเช็คอิน นาริมเล, รับประทานอาหารปิ่นโตร้อยสายจากชุมชน, พิมพ์ผ้าย้อมสีลายปลาลูกเบร่, เพ้นท์กระเป๋ากระจูด, ชมฐานเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่, ชมฐานแปรรูปปลาลูกเบร่, ชิมชาดอกบัว อัตลักษณ์ในพื้นที่ทะเลน้อย
แพคเกจทัวร์ที่ขายตอนนี้ ต้องซื้อผ่าน Local Alike หนึ่งในสตาร์ทอัพเพื่อสังคม ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ราคาทัวร์ 1990 บาท/คน จะมีเส้นทางการท่องเที่ยว ที่พัก และอาหาร”
‘ปลาลูกเบร่’ ที่ผานการแปรรูปแล้ว Cr. Kanok Shokjaratkul
- ‘ปลาลูกเบร่’ หรือ ปลามะลิ
อาจารย์ ดร.พลากร บุญใส รองผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ปลาลูกเบร่ ชื่อทางการกรมประมงเรียกว่า มะลิ
“คนเก่าคนแก่บอกว่า เวลาตากแห้งได้ที่แล้ว กลิ่นจะเหมือนมะลิ เป็นปลาหายาก แถบกระบี่ อันดามัน จะมีปลาชิงชังลักษณะคล้ายกัน แต่เป็นปลาน้ำเค็ม คนละสายพันธุ์กัน
ปลาลูกเบร่จับยากมาก จับขึ้นมาจากน้ำพักเดียว ตายเลย เป็นปัญหาหลักในการเคลื่อนย้าย ถึงขั้นต้องวางยาสลบ แล้วพอมาอยู่ในถังในตู้ จะว่ายเร็ว ขี้ตกใจ มาใหม่ ๆ ว่ายชนถัง ตายหมด
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กับ ‘ปลาลูกเบร่’ Cr. Kanok Shokjaratkul
เราจึงต้องเขียนไว้ว่า กรุณาอย่าเคาะถัง หลัง ๆ ปลาเริ่มชินกับคน ตอนนี้สามารถเพาะเลี้ยงระบบปิดได้ หวังให้มันมีลูกสืบพันธุ์ ขณะนี้รอให้มันออกลูกให้ได้ก่อน แล้วดูว่า ลูกมันจะรอดแค่ไหน
สเต็ปต่อไปคือการผสมเทียม เราเริ่มทดลองผสมไข่กับน้ำเชื้อแล้ว ผลปรากฎว่า มันเจริญเติบโต แล้วก็หยุด อีกทั้งการเก็บไข่ไปผสมเทียม ทำได้เฉพาะช่วงต้นปี ออกเรือไปเก็บก็ยาก
โครงการ ‘เพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่’ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นปีที่ 3 พัทลุงไม่มีชายหาดเหมือนบางแสน พัทยา เราเป็นทะเลใน หรือทะเลสาบที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับ 3 จังหวัด พัทลุง, สงขลา, นครศรีธรรมราช
อาจารย์ ดร.พลากร บุญใส กับ เครื่องอบแห้งพาราโบลา
เรานำนวัตกรรมระบบเพาะเลี้ยงแบบระบบปิดมาใช้ในโครงการตามหา ‘ปลาลูกเบร่’ มีสองฐาน คือ 1)เพาะเลี้ยง 2)แปรรูป มีเตาอบแห้งพาราโบรา มีเครื่องโบลเวอร์เป่าลมร้อน
เวลาไม่มีแดดหรือฝนตก ก็ใช้ระบบลมร้อนอบแห้งแทน เป็น IOT ทั้งหมด มีเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิ, มีระบบระบายความชื้น, มีดาต้าล็อกเกอร์ของปลาแต่ละรอบ แต่ละล็อต ที่มีความชื้นไม่เท่ากัน ต้องปรับอุณหภูมิและเวลาต่างกัน
ถ้าปลาชื้นน้อย ก็ตากแดดน้อย หากปลาชื้นมาก ตากแดดมาก แต่ถ้าปลาชื้นน้อย ตากแดดมากไป ปลาก็จะกรอบเกินไป หรือปลาชื้นมาก ตากแดดน้อย ก็กลายเป็นปลาลวก เรามีกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง สั่งการระยะไกลได้เลย ระบบอยู่ในมือถือเปิดปิดได้ทุกอย่าง”
การเพาะเลี้ยงระบบปิด ในหมู่บ้าน Cr. Kanok Shokjaratkul
- การเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่
สุชาติ บุญญปรีดากุล ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ปัจจุบันปลาลูกเบร่อยู่ในช่วงวิกฤติ
“ตอนนี้ปลาลูกเบร่เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากเมื่อก่อนรู้จักกันแค่ 3 จังหวัด ตลาดออนไลน์ทำให้คนรู้จักทั่วประเทศและไปถึงต่างประเทศ ตลาดใหญ่อยู่ที่มาเลเซีย มีการบริโภคค่อนข้างเยอะ เมื่อคนต้องการมาก การจับปลาก็มากขึ้น ทำให้ปลาลูกเบร่ลดลงอย่างน่าตกใจ
มีการพูดคุยกันกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยทักษิณว่า จะทำอย่างไรในการอนุรักษ์หรือทำให้การจับปลามีความยั่งยืน เราได้รับการสนับสนุนจาก NIA เมื่อปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงการเลี้ยงปลาลูกเบร่ ปัจจุบันที่นี่เป็นแห่งแรกที่สามารถเพาะเลี้ยงได้สำเร็จ
สุชาติ บุญญปรีดากุล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ผู้เพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ Cr. Kanok Shokjaratkul
ปลาลูกเบร่ เป็นปลาน้ำจืด ปลาพื้นถิ่น จ.พัทลุง และ จ.สงขลา พบในทะเลสาบสงขลาบางพื้นที่เท่านั้น พบมากสุดที่คลองปากประ
เราใช้วิธียกยอจับปลาลูกเบร่ มองดูเหมือนปลาซิวแก้ว มีลักษณะคล้ายกัน แต่คนละตระกูล รสชาติก็ต่างกัน ราคาปลาลูกเบร่ตากแห้ง แต่ก่อนมีจำนวนมาก ราคากิโลกรัมละ 150 บาท ตอนนี้ราคากิโลกรัมละ 700 บาท
วิธีการจับมาเลี้ยงยากมาก เอาขึ้นมานาทีเดียวตายเลย จำเป็นต้องวางยาสลบ เพื่อเอามาเพาะเลี้ยง เป็นปลาที่ตกใจง่าย ต้องนำปลาซิวมาเลี้ยงด้วย ให้อยู่รวมฝูงกัน จำลองให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด จนปลาสามารถกินอาหารได้ อาหารในธรรมชาติคือแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ แต่การเลี้ยงระบบปิด เราใช้ปลาบดละเอียดให้วันละสองครั้ง
ปลาลูกเบร่ ที่อยู่ในเตาพาราโบลา
ปลาลูกเบร่ มีกลิ่นเฉพาะตัว ทานได้ทั้งตัว รสชาติออกมัน หวาน ต่างจากปลาซิวชนิดอื่น ๆ ที่มีรสชาติขมปลาย ๆ แต่ปลาลูกเบร่ไม่มีรสชาติขมเลย
ปัจจุบันมีการนำปลาซิวแก้วมาหลอกขายว่าเป็นปลาลูกเบร่ เนื่องจากปลาซิวแก้วราคากิโลกรัมละ 180-200 บาท เอามาหลอกขายเพื่ออัพราคาให้สูงขึ้น
ทางวิสาหกิจได้ลองซื้อปลาซิวแก้วมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคดูว่ามันต่างกัน ปลาลูกเบร่ สามารถแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น ปลาลูกเบร่ทอดขมิ้น, ทอดสมุนไพร, ทำน้ำพริกได้, ทำผงโรยข้าวได้
ปลาลูกเบร่ อยู่ในเตาอบ Cr. Kanok Shokjaratkul
เวลายกยอ จะติดแต่ปลาลูกเบร่ตัวเต็มวัยขนาด 4 เซนติเมตรขึ้นไป ยกยอหนึ่งร้าน (เรียกยอเป็นร้าน) จะได้ 5 กิโลกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันได้ 1-3 ขีด (10-30 กรัม) เท่านั้นเอง บางวันไม่มีเลย
โครงการของเราที่เพาะเลี้ยงอยู่ตอนนี้ 5-6 เดือนแล้ว ยังรอดอยู่ ช่วงสามเดือนแรกอัตราการรอด 10 % เพราะปลาไม่คุ้นชินกับการอยู่ในถัง ว่ายชนถัง ชนบ่อ มีการเติมน้ำเค็มให้มีความกร่อยนิดหนึ่ง ทำให้มีอัตราการรอดสูงขึ้น ต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา เป็นระบบหมุนเวียน”