พบปลาจำนวนมากตายเกลื่อนหาดบางแสน คาดหนีคราบน้ำมันเจอแพลงก์ตอนบลูมจนขาดอากาศหายใจ
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา – พบปลาจำนวนมากตายเกลื่อนหาดบางแสน ชาวบ้านคาดน่าจะเกิดจากหนีคราบน้ำมันทะเลศรีราชาเข้ามาหลบภัยเขตทะเลบางแสน แต่สุดท้ายกลับเจอปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมจนขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ยอมให้เสียโอกาสเก็บกลับบ้านทำอาหารแมว
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (7 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า พบปลาตายจำนวนมากถูกคลื่นซัดเกลื่อนชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี หลังรับแจ้งจึงเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ พบบรรยากาศบริเวณชายหาดยังคงเงียบเหงาและไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนเหมือนดังเคย
จากการสำรวจบริเวณแนวชายหาดพบว่ามีทั้งปลาขนาดใหญ่และขนาดเล็กตายเกลื่อน โดยบางเชนิดเป็นปลาน้ำลึก บางชนิดเป็นปลาที่ค่อนข้างมีราคาข้างแพง จนทำให้ชาวบ้าน และผู้ประกอบการในพื้นที่ชายหาดพากันจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าปลาเหล่านี้น่าจะหนีคราบน้ำมันจากทะเลศรีราชา เข้ามาเขตทะเลบางแสน แต่กลับมาเจอปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือแพลงก์ตอนบลูม จึงทำให้ขาดอากาศหายใจพากันลอยน้ำตาย
จากการสอบถาม นายภันทร เสลา อายุ 36 ปี นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจาก จ.อุทัยธานี และกำลังเก็บปลาตายใส่ถุง ทราบว่าหลังจากที่ได้เห็นน้ำทะเลบางแสนเปลี่ยนเป็นสีเขียวก็ไม่กล้าลงเล่น และเมื่อเห็นว่ามีปลาตายถูกคลื่นซัดเกลื่อรชายหาดจึงได้เก็บไปตากแดดให้เป็นปลาแห้งเพื่อทำเป็นอาหารแมว ส่วนคนคงไม่กล้ากินเพราะไม่ทราบว่ามีอันตรายหรือไม่
ขณะที่ ร.ต.โสภณ คล่องอาสา อายุ 64 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า สาเหตุที่ทำให้มีปลาตายเกลื่อนหาดบางแสนน่าจะเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว อีกทั้งยังมีกลิ่นแรงมาก
“เมื่อก่อนปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดแบบนานๆ ครั้ง แต่ในครั้งนี้เมื่อมีมรสุมพัดเข้ามาในประเทศไทยทำให้ฝนตกติดต่อกันหลายวันจนมีน้ำจืดไหลลงทะเลจำนวนมากจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาน็อกน้ำตาย ส่วนข่าวที่ว่าน้ำม้นรั่วนั้นขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีคราบน้ำมันไหลเข้ามาในเขตทะเลบางแสนแต่อย่างใดโดยเชื่อว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถควบคุมเอาไว้ได้หมดแล้ว” ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าว
ด้าน นายอศลย์ มีนาภา นักวิจัยระดับปฏิติการ ฝ่ายวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เผยว่าเหตุการณ์ปลาตายเกลื่อนหาดทะเลบางแสน น่าจะเกิดจากปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม เพราะแพลงก์ตอนเป็นพืชทะเลชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนให้น้ำ แต่เมื่อแพลงก์ตอนตายการผลิตออกซิเจนจึงไม่เกิดขึ้น และยังทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว
“เมื่อแพลงก์ตอนตายเยอะส่งผลให้น้ำยิ่งเขียวมากขึ้นเพราะน้ำขาดออกซิเจน และเมื่อไม่มีออกซิเจนปลาก็ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ส่วนแพลงก์ตอนบลูมจะเกิดนานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ เพราะตอนนี้มีมรสุมเข้าตลอด ส่วนเรื่องน้ำมันรั่วที่ศรีราชาขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าไหลเข้ามาในเขตบางแสน” นักวิจัยระดับปฏิติการ ฝ่ายวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าว