บางแสน ชลบุรี

contrubutor-nara@2x-250x250.png

ฝันสลาย ใจสลาย The Bluest Eye (ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า)

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งได้อ่านนิยายเรื่อง Beloved อีกหนึ่งผลงานของนักเขียนคนเดียวกัน (โทนี มอร์ริสัน) เรื่อง The Bluest Eye ก็มอบประสบการณ์แรกพบ ‘ติดลบ’ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในความรู้สึกของผม

ที่เหมือนกันอีกคือครั้นอ่านซ้ำรอบสอง ความรู้สึกและความคิดเห็นก็เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม กลายเป็นชื่นชอบประทับใจมาก

เหตุผลรายละเอียดมีทั้งที่เหมือนและต่าง ด้านพ้องพานตรงกันคือท่วงทีลีลาการเขียนของโทนี มอร์ริสัน เมื่อเริ่มอ่านและยังไม่คุ้น จะรู้สึกคล้ายกับว่าเจตนาเขียนให้อ่านยากโดยไม่จำเป็น แต่เมื่ออ่านจบและหยิบมาทบทวนซ้ำอีกครั้ง ผมก็ต้องรีบถอนคำพูดที่เพิ่งกล่าวไป เปลี่ยนมาเป็นชื่นชมว่ามีฝีมือการเขียนอันประณีต ซึ่งเรียกร้องสมาธิจากผู้อ่าน ให้ค่อยๆ ละเลียดอ่านและขบคิดตามอย่างถี่ถ้วน

ผมใช้เวลาอ่านงานของโทนี มอร์ริสัน เชื่องช้าและเนิ่นนานกว่าการอ่านหนังสืออื่นตามปกติสองเท่า เพื่อให้เกิดผลซาบซึ้งในรสพระธรรม สาขาวรรณกรรม

ส่วนด้านที่แตกต่างในความเป็นยาขมขนานโทนี มอร์ริสันก็คือ สิ่งที่บอกเล่าใน Beloved นั้นเต็มเพียบด้วยอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง โหดร้าย ชวนให้จิตตกตลอดการอ่าน เรื่องราวที่นำเสนอใน The Bluest Eye ก็ไม่ได้รามือลดทอนเบาลงกว่ากันสักเท่าไร เพียงแต่ด้วยการเล่าอ้อม ไม่แสดงออกบอกตรงๆ เด่นชัด และละเว้นทิ้งรายละเอียดหลายๆ ส่วนให้ผู้อ่านปะติดปะต่อเชื่อมโยงตามอัธยาศัย ทำให้ความหนักเบาทางอารมณ์แตกต่างกันไปไกล

ความไม่ประทับใจของผมเมื่อแรกอ่าน The Bluest Eye เป็นเรื่องของการคาดหวังล่วงหน้าไปอีกทาง แล้วพบว่าไม่มีอะไรตรงกับที่กะเก็งไว้ จึงกลายเป็นความผิดหวัง

ผมอ่านนวนิยายเรื่องนี้โดยทราบเนื้อเรื่องคร่าวๆ มาก่อน จากบทความข้อเขียนหลายๆ ชิ้นของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ (ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ทำให้ผมอยากทำความรู้จักกับผลงานของโทนี มอร์ริสัน)

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ที่ผมรู้มา ประมวลความได้ว่า เป็นเรื่องของเด็กหญิงผิวดำชื่อพีโคลา ผู้มีความใฝ่ฝันอยากมีดวงตาสีฟ้าเหมือนอย่างคนผิวขาว ด้วยความเชื่อประสาเด็กๆ ที่ยังไร้เดียงสาว่าดวงตาสีฟ้า (หรืออีกนัยหนึ่ง การมีผิวขาว) จะทำให้เธอเปลี่ยนโฉมจากขี้ริ้วขี้เหร่อัปลักษณ์ กลายเป็นเด็กหญิงสวยน่ารัก และทำให้ทุกคนรอบข้างที่เคยปฏิบัติต่อเธออย่างเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน เหยียดหยาม ลงโทษเฆี่ยนตี กระทำทารุณต่างๆ นานา กระทั่งว่าทำราวกับเธอไม่มีตัวตน มองไม่เห็นในการมีอยู่ของเธอ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่แล้วในท้ายที่สุด ความปรารถนาของพีโคลาก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ยิ่งไปกว่านั้นยังนำพาเด็กหญิงไปสู่โศกนาฏกรรมระดับใจสลายย่อยยับ

พล็อตข้างต้น ชวนให้ผมนึกทึกทักเอาเองไปว่านิยายเรื่อง The Bluest Eye คงจะบอกเล่าถึงเส้นทางฝันดับอับแสงของตัวละคร อย่างเป็นลำดับทีละขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและถี่ถ้วน และที่ผมคาดเดาคาดหวังอีกอย่างคืออารมณ์ของเรื่องน่าจะมุ่งไปสู่ความสะเทือนใจชนิดหนักหน่วงเอาตาย

ผลก็คือการอ่านครั้งแรกจบลงด้วยความผิดหวังปานกันกับอาการอกหัก นิยายของโทนี มอร์ริสัน เล่าเรื่องแต่ละบทไม่ต่อเนื่องกัน มีลักษณะกระจัดกระจายไปสู่เรื่องนั้นเรื่องนี้สารพัดสารพัน ตัวละครสำคัญสุดคือพีโคลา ไม่ได้มีฐานะเป็นผู้เล่าเรื่องหรือตัวดำเนินเรื่อง บทบาทของเธอได้รับการขับเน้นน้อยกว่าอีกหลายๆ คน ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวในแต่ละบทแต่ละตอนก็ไม่ระบุช่วงเวลาหรือจัดลำดับแน่ชัดว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน-หลัง

ทั้งหมดนี้ เป็นความประหลาดใจที่ทำให้ผมตื่นตระหนกเสียขวัญหลังจากอ่านจบ จนกระทั่งไม่เป็นอันจับสังเกตค้นหาคุณงามความดีในนิยาย และตอบตัวเองไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่าชอบหรือไม่ชอบนิยายเรื่องนี้ รู้แต่เพียงว่าผิดคาดและผิดหวัง

แต่การหยิบอ่านซ้ำสองโดยรู้แล้วว่าเนื้อในรายละเอียดเป็นเช่นไร ผมจึงปลอดพ้นจากการคาดหวัง และพร้อมเดินตามเส้นทางที่ผู้เขียนเจตนานำพาผู้อ่านไปพบเจอ

บนปลายทางของการอ่านรอบที่สอง ผมคิดว่านี่คือนิยายที่ยอดเยี่ยม เข้มข้นคมคาย ลึกซึ้งด้วยเนื้อหาสาระและชั้นเชิงเลอเลิศทางวรรณศิลป์อันชาญฉลาด

The Bluest Eye เป็นนิยายเรื่องแรกของโทนี มอร์ริสัน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1970 มีชื่อเสียงลือลั่นมากด้านเนื้อหาสาระ เบื้องต้นมันสะท้อนถึงปัญหาของคนผิวดำ การกดขี่เหยียดผิว ความอยุติธรรมที่คนขาวกระทำต่อคนดำ แต่ที่ลงลึกและแหลมคมไปกว่านั้นคือการข่มเหงรังแกกันอย่างโหดร้ายไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนต่างสีผิวเท่านั้น ทว่าในหมู่คนผิวดำด้วยกันก็ยังมีพฤติกรรมเช่นว่า และดูจะหนักหนาสาหัสกว่าเสียด้วยซ้ำ เมื่อเป็นการรังแกเบียดเบียนกันแบบไม่มีใครตระหนักถึงหรือมองเห็นเป็นความผิดแปลก

ผู้ชายกระทำทารุณต่อผู้หญิง พ่อแม่ (บางคนบางครอบครัว) ปฏิบัติต่อลูกๆ อย่างละเลย ใช้อำนาจบาตรใหญ่ กระทั่งว่ากลายเป็นภัยอันตรายเสียเอง โดยมีเด็กผู้หญิงเป็นเหยื่อแห่งเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำบั้นปลายที่ต้องรับเคราะห์ ไร้หนทางป้องกันตนเอง

ที่เด่นล้ำยิ่งกว่านั้น คือการเสนอประเด็นว่าด้วยการแทรกซึมของวัฒนธรรมคนขาว ค่านิยม ความเชื่อ การกำหนดมาตรฐาน ตั้งแต่ความดีงามทางศีลธรรม ไปจนถึงว่าอะไรคือความสวยงาม อะไรคือความอัปลักษณ์ ซึ่งกลืนกินและทำลายตัวตนของคนดำไปจนหมดสิ้น

ความใฝ่ฝันอยากมีดวงตาสีฟ้าของเด็กหญิงพีโคลาเป็นจุดสูงสุดของประเด็นข้างต้น และดังที่โทนี มอร์ริสันกล่าวไว้ในบทนำว่า “ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า เป็นความพยายามของข้าพเจ้าในการพูดถึงบางสิ่งเกี่ยวกับเรื่องนั้น พูดถึงบางอย่างว่าเหตุใดเธอจึงไม่มีหรืออาจจะไม่มีวันมีประสบการณ์ในสิ่งที่เธอครอบครองอยู่ รวมทั้งเหตุใดเธอจึงภาวนาขอการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่งเพียงนั้น สิ่งที่บ่งเป็นนัยในความปรารถนาของเธอนั้นคือความชังตนเองทางชาติพันธุ์”

พ้นจากนี้แล้ว The Bluest Eye ยังอัดแน่นไปด้วยประเด็นปลีกย่อยอีกสารพัดสารพัน (ซึ่งเกี่ยวโยงกับเนื้อหาใจความต่างๆ ที่กล่าวมา) เช่น การมองเห็นกับการถูกเห็น การถูกขับไล่กับการอยู่ข้างนอก (อย่างหลังนี้น่าจะมีนัยยะไปถึงความแปลกแยกถูกตัดขาดจากสังคม) ความสกปรกและความสะอาด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม กลวิธีการเขียนหรือคุณค่าทางวรรณศิลป์ก็เป็นอีกด้านที่วิเศษไม่แพ้เนื้อหาสาระ

ถึงตรงนี้ ผมเกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า ทำไมในการอ่านครั้งแรก ผมจึงผิดหวัง จากการรู้เนื้อเรื่องย่อๆ มาก่อน แต่เมื่อลงมืออ่านกลับพบว่าห่างไกลและไม่ตรงกัน

The Bluest Eye เป็นนิยายที่เล่าเรื่องย่อให้ตรงกับที่เป็นอยู่จริงได้ยากมากนะครับ

ความยากนั้นไม่ใช่เกิดจากการเล่าให้พิศวงงงวยจน ‘อ่านไม่รู้เรื่อง’ แต่เป็นด้วยการกำหนดโครงสร้างการดำเนินเรื่องที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน

The Bluest Eye เริ่มต้นด้วยบทเกริ่นนำ เรื่องเล่าของดิ๊กกับเจนเนื้อความว่า “นี่คือบ้าน บ้านเป็นสีเขียวและสีขาว บ้านมีประตูสีแดง บ้านคือสีแดง บ้านสวยมาก นี่คือครอบครัว มีแม่ พ่อ ดิ๊กและเจนอยู่ในบ้านสีเขียวขาว พวกเขามีความสุขมาก ดูเจนสิ เธอมีชุดสีแดง เธออยากเล่น ใครจะเล่นกับเจน ดูแมวสิ แมวร้องเหมียวเหมียว มาเล่นกันเถอะ มาเล่นกับเจน ลูกแมวไม่เล่น ดูแม่สิ แม่ใจดีมาก แม่ขา จะเล่นกับเจนไหม แม่หัวเราะ หัวเราะ แม่หัวเราะ ดูพ่อสิ พ่อตัวใหญ่และแข็งแรง พ่อขา จะเล่นกับเจนไหม พ่อกำลังยิ้ม ยิ้ม พ่อ ยิ้ม ดูหมาสิ หมาเห่าโฮ่งโฮ่ง หมาอยากเล่นกับเจนไหม ดูหมาวิ่งสิ วิ่ง  หมา วิ่ง ดูสิ ดูสิ มีเพื่อนมา เพื่อนจะเล่นกับเจน ดูหมาวิ่งสิ วิ่ง หมา วิ่ง ดูสิ ดูสิ มีเพื่อนมา เพื่อนจะเล่นกับเจน พวกเธอจะเล่นเกมสนุก เล่น เจน เล่น”

เนื้อความข้างต้นที่ผมหยิบยกมา เป็นบทเกริ่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องโดยตรง มันเล่าถึงครอบครัวแสนสุข ความปรารถนาแบบเด็กๆ

เมื่อเข้าสู่เนื้อเรื่องเหตุการณ์ในนิยาย ซึ่งมี 4 ภาค แบ่งและเรียงลำดับตามฤดูกาล เริ่มจากฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ และจบลงที่ฤดูร้อน

แต่ละภาคหรือฤดูกาล เริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าจากมุมมองของตัวละครเด็กหญิงวัย 9 ขวบชื่อคลอเดีย (ส่วนวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์อยู่ในปี 1941) จากนั้นจึงแบ่งออกเป็นบทๆ (ซึ่งเล่าเรื่องด้วยมุมมองของผู้เขียน)

ตรงนี้เองที่เนื้อความเกี่ยวกับบ้านและครอบครัวของเจน มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวนิยาย โดยการเลือกตัดทอนข้อความ มาใช้เป็นชื่อบท

พูดอีกแบบคือ ข้อความทั้งหมดที่ว่า  “นี่คือบ้าน บ้านเป็นสีเขียวและสีขาวฯ” ถูกหั่นตัดทอนเป็นท่อนสั้นๆ เพื่อนำมาใช้เป็นชื่อบทต่างๆ ในนิยาย

ความน่าทึ่งก็คือ ชื่อบทนั้นเรียงลำดับก่อนหลังตรงตามข้อความเดิม และเรื่องที่บอกเล่าในแต่ละบทก็นำเสนอเหตุการณ์ ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ บางครั้งผิดแผกตรงข้ามกับชื่อบทจนเหมือนการยั่วล้อ บางครั้งก็เย้ยหยันเสียดแทงอย่างน่าเจ็บปวด ขณะเดียวกันก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยบางอย่างเกี่ยวโยงกันระหว่างชื่อบทกับตัวบท ตัวอย่างเช่น ในบทที่ตั้งชื่อว่า “ดูแมวสิแมวร้องเหมียวเหมียวมาเล่นกันเถอะมาเล่นกับเจนลูกแมวไม่เล่นเล่นเล่นเล่” (ผมไม่ได้พิมพ์ตกหล่นนะครับ ต้นฉบับเขียนสะกดไว้เช่นนี้) เรื่องเล่าไปไกลถึงความเป็นมาของหญิงผิวสีเจือจางคนหนึ่งชื่อเจอรัลดีน ผูกโยงความเป็นมาของตัวเธอกับค่านิยมทางสังคมที่หล่อหลอมจนเกิดพฤติกรรมดังเช่นที่เป็นอยู่ และมาบรรจบพบกับเด็กหญิงพีโคลาในท้ายที่สุด โดยมีแมวตัวหนึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ

พูดอีกแบบหนึ่ง The Bluest Eye เป็นนิยายที่ดำเนินเรื่อง โดยแบ่งเป็นบทเป็นตอน แต่ละบทนั้นมีลักษณะเหมือนเรื่องสั้นจบในตัวเป็นเอกเทศ ขณะเดียวกันก็มีความเหลื่อมซ้อนเกี่ยวโยงกัน (ตรงนี้เป็นภาระหน้าที่ของผู้อ่านในการจัดระเบียบปะติดปะต่อเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน)

ยกเว้นส่วนที่เป็นเรื่องเล่าจากปากคำของคลอเดียแล้ว แต่ละบทซึ่งคลับคล้ายว่าจะเป็นเรื่องสั้นยังมีวิธีลีลาการบอกเล่าที่ผิดแผกแตกต่างกัน ตรงนี้ทำให้เมื่ออ่านครั้งแรกจึงจับทิศทางไม่ถูกว่าจะมาอีท่าไหน และรู้สึกไปว่าตัวนิยายเล่าเรื่องไม่เป็นเอกภาพ แต่ในการอ่านซ้ำ ความรู้สึกกลับกลายเป็นน่าตื่นเต้นไปกับกระบวนท่าที่หลากหลาย

ในการดำเนินเรื่องที่บอกเล่าไม่เรียงลำดับก่อนหลัง ใช้เทคนิควิธีไม่ซ้ำกัน และดูเผินๆ เหมือนจะกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จนคล้ายจะสะเปะสะปะ เมื่อได้อ่านและพิจารณาช้าๆ อย่างถี่ถ้วน ผมคิดว่าโครงสร้างของเรื่องมีการจัดวางเรียงลำดับอย่างพิถีพิถันมาก

ภาคแรกคือ ฤดูใบไม้ร่วง เล่าแบบเปิดเผยความลับบางอย่างในบั้นปลาย แนะนำปูพื้นให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครสำคัญทั้งหมด จากนั้นก็เน้นใจความหลักคือบ้านและครอบครัวของ 2 ตัวละคร คือคลอเดียกับพีโคลา ซึ่งประสบปัญหาร่วมกันอย่างการเป็นคนดำโดนเหยียดผิว แต่ขณะเดียวกันก็เล่าถึงความแตกต่าง พ่อแม่คนละแบบ และการเลี้ยงดู ซึ่งส่งผลให้ชีวิตต่อมาของทั้งคู่เติบโตไม่เหมือนกัน และรับมือกับทุกข์ยากปัญหาต่างกัน

ภาคต่อมา ฤดูหนาว ประกอบไปด้วยเรื่องเล่า 2 เหตุการณ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่จุดร่วมตรงกันคือพูดถึงค่านิยม ความเชื่อว่าผิวขาวคือความงาม ผิวดำคือความอัปลักษณ์

ภาคที่สาม ฤดูใบไม้ผลิ  มี 4 เรื่อง (เป็นภาคที่มีความยาวมากสุด) เริ่มจากมุมมองของคลอเดีย พูดถึงฟรีดา (พี่สาวของคลอเดีย) ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้เช่าห้องในบ้าน ปฏิกิริยาของพ่อแม่เธอในการจัดการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อมโยงไปถึงท่าทีที่ตรงกันข้ามที่มิสซิสบรีดเลิฟ (แม่ของพีโคลา) ต่อลูกสาวในเหตุการณ์เล็กๆ ที่ปัญหาเบาบางกว่าเยอะ แต่กลับลงเอยด้วยการสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจหนักหนาสาหัส

เรื่องเล่าดังกล่าวเป็นคำอธิบายว่า เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่พบเจอชีวิตย่ำแย่และปัญหาเหมือนๆ กัน ชะตากรรมของ 2 พี่น้อง (ฟรีดากับคลอเดีย) จึงลงเอยแตกต่างกับพีโคลา

2 ใน 3 เรื่องที่เหลือ เรื่องหนึ่งเล่าถึงชีวิตความเป็นมาโดยละเอียดของมิสซิส บรีดเลิฟ ส่วนอีกเรื่องเล่าถึงชอลลี บรีดเลิฟ (พ่อของพีโคลา) กล่าวโดยรวบรัดก็คือเป็นเรื่องเล่าที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ตัวละครทั้งสองกลายมาเป็นพ่อแม่ที่เลวร้ายและดูพิลึกพิลั่นผิดปกติได้อย่างไร เป็นเรื่องเล่าที่สร้างความเป็นเหตุเป็นผลแก่ตัวละครจนเกิดมิติความลึก และที่สำคัญ เป็นเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งมิสซิสบรีดเลิฟและชอลลี ล้วนเคยตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ (ไม่ต่างจากที่พีโคลาประสบพบเจอ) มาแล้วเช่นกัน

เรื่องเล่าสุดท้ายในฤดูใบไม้ผลิ เล่าถึงประวัติชีวิตของตัวละครชื่อโซปเฮด เชิร์ช ซึ่งในเวลาต่อมาจะไปมีความเกี่ยวพันกับพีโคลา และส่งผลให้บทสรุปของเรื่องกลายเป็นโศกนาฏกรรม

ภาคสุดท้าย ฤดูร้อน เล่าถึงความพินาศยับเยินและพังทลายในชีวิตของพีโคลา ความน่าสนใจของเรื่องราวส่วนนี้ อยู่ที่ชั้นเชิงการเขียน ซึ่งไม่ได้เล่าละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างตรงไปตรงมา แต่เล่าถึงเหตุการณ์หลังจากนั้น เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว ผ่านการรับรู้ของคลอเดีย จากการนินทาว่าร้ายของชาวบ้าน และอีกเรื่องหนึ่งเป็นบทสนทนาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดของพีโคลา

เป็นบทสรุปทิ้งท้ายที่มีการโน้มน้าวเพื่อสร้างเร้าอารมณ์สะเทือนใจน้อยมากนะครับ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มีประสิทธิภาพ ออกฤทธิ์ทำลายล้างรุนแรงกว่าการบีบคั้นน้ำตาผู้อ่านมากมายนัก ทั้งเจ็บปวด เสียดแทงหัวใจ เย้ยหยัน ร้าวลึก

ผมอ่านจบแล้วก็รำพึงรำพันกับตัวเองว่า อาการใจสลายแตกละเอียด คงจะเป็นเช่นนี้นี่เอง

นรา วรรณกรรมแปล รีวิวหนังสือ การเหยียดผิว พิสูจน์-อักษร คนผิวดำ toni morrison The Bluest Eye ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า โทนี มอร์ริสัน

เรื่อง: นรา

นักเขียน นักอ่าน นักดูหนังและซีรีส์ นักชมศิลปะ ดีเจ และคอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์ที่เฉียบคม หนักแน่น รุ่มรวยรอยยิ้ม

เรื่องล่าสุด