Site icon บางแสน

ผู้ผลิตตื่นตัวร่วมเครือข่าย Pack Back กว่า 70 องค์กรรับโลกเปลี่ยน

afcb9ea319f27f54cd0048a70fe46008148962e374ed5f6b023195208ef5f313.jpg

TIPMSE เปิดเวทีสัมมนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ ระบบ EPR ผ่านโครงการ Pack Back…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน จากกูรูภาครัฐ – เอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ดึงผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศร่วมแชร์ประสบการณ์ มุ่งขับเคลื่อน EPR สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ผู้ผลิตสินค้าตื่นตัวประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการฯ ขยายเครือข่ายจากปัจจุบันมีการลงนามแล้ว 50 องค์กรจากทุกภาคส่วน มุ่งการบริหารจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์ สู่วงจรรีไซเคิล เตรียมความพร้อมก่อนรัฐออกกฎหมายภาคบังคับรองรับกติกาโลกเปลี่ยน   

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม(TIPMSE)  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนาและประกาศความร่วมมือ “EPR ความรับผิดชอบของผู้ผลิตกับการจัดการบรรจุภัณฑ์”ภายในงาน Propak Asia 2022 เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในการนำหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Brand owner)  เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy สอดรับแนวทางการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาล

ทั้งนี้เมื่อ 16 ธ.ค.64 โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืนเกิดขึ้นโดย TIPMSE ได้ลงนาม(MOU)ความร่วมมือร่วมมือกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล  เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง นับเป็นการเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลัก EPR การสัมมนาครั้งนี้มุ่งส่งเสริมให้ความรู้และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มเติมเพื่อการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ และมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมประกาศความร่วมมือเพิ่มเติมอีก 16 องค์กร อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้อีกด้วย จึงทำให้ปัจจุบันมีองค์กรร่วมโครงการ Pack Back เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ฯ แล้วกว่า 70 องค์กร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในเร็วๆนี้

“เวทีครั้งนี้จะมีการประกาศความร่วมมือเพื่อเดินหน้าในการขับเคลื่อน  Pack Back …เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน จากเครือข่ายพันธมิตรที่สนใจในการเข้าร่วมโครงการ ภาคสมัครใจเพิ่มเติมก่อนที่จะมีการลงนามอย่างเป็นทางการต่อไปในช่วงปลายปี จึงอยากให้ทุกส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกรวมถึงบรรจุภัณฑ์อื่นๆที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงต่อเนื่อง และความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะมีมาตรการ และกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ซึ่งขณะนี้ต่างประเทศมีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบยั่งยืนเพื่อลดโลกร้อน”นายนภดล ศิวะบุตร  รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม TIPMSE กล่าว

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและทิศทางของกระแส การบริหารจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทที่ใช้แล้วตามหลักการ EPR ซึ่งเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนข้อมูล ในการนำหลักการ EPR ไปใช้  จากประสบการณ์และการถอดบทเรียนให้สอดรับกับบริบทของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง  โดย Mr. Nguyen Thi  (เหงียน ธี), Legal Affairs Department Ministry of Natural Resources and Environment (หน่วยงานฝ่ายกฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเวียดนาม) จากประเทศเวียดนามที่จะมาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ในการขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมาย EPR ในประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้เวทีสัมมนานับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ของการแลกเปลี่ยนมุมมองจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง กับโครงการ Pack Back ในการใช้มิติต่างๆของระบบธุรกิจ  ทั้งทางด้านเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ระบบโลจิสติกส์ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว สู่การเป็นวัตถุดิบที่สร้างมูลค่า และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ  ภายใต้หัวข้อ “เรียนรู้ EPR ในประเทศไทย ใครที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีประสบการณ์มาร่วมกันระดมความคิดเห็น ในการดำเนินงานโครงการ Pack Back เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อน EPR ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีตัวแทนภาครัฐ  นักวิชาการ ภาคเอกชน  ตัวแทนจาก 3 เทศบาลนำร่องภายใต้โครงการ Pack Back 

 

Exit mobile version