Site icon บางแสน

ปูมหลังละคร ‘พรหมลิขิต’ การเมืองและสังคมปลายรัชกาลพระเจ้าเสือ ถึงต้นยุคพระเจ้าท้ายสระ

ปูมหลังละคร ‘พรหมลิขิต’ การเมืองและสังคมปลายรัชกาลพระเจ้าเสือ ถึงต้นยุคพระเจ้าท้ายสระ

ปูมหลังละคร ‘พรหมลิขิต’ การเมืองและสังคมปลายรัชกาลพระเจ้าเสือ ถึงต้นยุคพระเจ้าท้ายสระ

เมื่อเปรียบเทียบกันจากที่เป็นการเปลี่ยนผ่านโดยขุนนางยึดอำนาจจากกษัตริย์ จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับการปฏิวัติครอมเวลล์ ต่อมา ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 การปฏิวัติอเมริกา ค.ศ.1776 กับการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 จะเปลี่ยนนิยามความหมายของ ‘Revolution’ ไปในแง่ของการลุกฮือของมวลชนจำนวนมาก (ดูรายละเอียดใน Michael Smithies. (ed. and trans.). Witnesses to a Revolution: Siam 1688; Pierre Brunel. ‘A Narrative of the Revolutions which Took Place in Siam in the Year 1688’; และดูเปรียบเทียบการปฏิวัติอังกฤษและความเปลี่ยนแปลงในที่อื่นปีเดียวกันใน John E. Wills. 1688: A Global History เป็นต้น)  

การสร้างอดีตแสนหวาน ‘ยุคบ้านเมืองดี’

พฤติการณ์ของพระเจ้าเสือตลอดจนพระราชวงศ์บ้านพลูหลวงองค์อื่น ๆ (ยกเว้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศกับพระเจ้าอุทุมพร) ถูกมองเชื่อมโยงเป็นสาเหตุให้เกิดความวิบัติขึ้นแก่เสาหลักของแผ่นดิน เมื่อชนชั้นนำต้นกรุงรัตนโกสินทร์ต้องการสืบย้อนหาสาเหตุปัจจัยของการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ตรงนี้จะเห็นได้จากการชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยชนชั้นนำต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ที่บริภาษเจ้านายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงย้อนกลับไปถึงพระเจ้าเสือ ดังที่งานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เล่ม ‘ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา’ เคยแสดงให้เห็นไว้

แต่สำหรับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระถูกมองเป็นยุคเรียบนิ่ง ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่เหมือนเช่น รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ หรืออย่างรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ หลักฐานพระราชพงศาวดารดูจะให้ความสำคัญแก่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นอย่างมาก เพราะเป็นยุคที่ได้ชื่อว่า ‘บ้านเมืองดี’ ตามมุมมองของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์ 

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้มีบทบาทต่อการชำระพระราชพงศาวดารในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ล้วนมีภาพความทรงจำวัยเด็กที่งดงามต่อยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ภาวะโหยหาอดีตวัยเยาว์แสนสุข (Nostalgia) ของคนในรุ่นต้นรัตนโกสินทร์ไปแสดงออกในพระราชพงศาวดารด้วยเหตุประการฉะนี้ เหมือนคนรุ่นหลังที่ชอบพูดถึงบ้านเกิดของตนเองราวกับเป็นวิมานของพระอินทร์ ทั้งที่จริงอาจทุกข์ร้อนราวกับอยู่ในนรกกระทะทองแดงก็ได้ 

นั่นเพราะจะอาศัยภาพอดีตของกรุงศรีอยุธยามาต่อต้านธนบุรีในสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และให้ความชอบธรรมกับการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง ต้นแบบแรงบันดาลใจเลยต้องสวยงามตามท้องเรื่อง อยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในฐานะ ‘บ้านเมืองดี’ จึงเป็นสังคมในอุดมคติของชนชั้นนำกรุงเทพฯ ภายหลังเมื่อสังคมกลับสู่ภาวะความสงบ ทุกอย่างราบรื่นและดำเนินไปด้วยดีแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เริ่มจะถอยห่างจากอยุธยาย้อนกลับไปหาสุโขทัย ใช้สุโขทัยเป็นภาพอดีตแสนหวานแทน

จาก ‘พระเจ้าเสือ’ ถึง ‘ขุนหลวงเล่นปลา’ & การเมืองของอารมณ์ความรู้สึก

หากสังเกตเรื่องราวจากหลักฐานต่าง ๆ ประมวลเข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นได้ว่ารัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระก็ใช่ว่าราบเรียบสงบสุขตั้งแต่ต้น แม้จะขึ้นครองราชย์โดยวิธีที่ดูเผิน ๆ จะเป็นปกติ สืบจากพ่อไปลูก แต่การเมืองภายในชนชั้นนำอยุธยาก็ทวีความเข้มข้นมาตั้งแต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อเจ้าฟ้าเพชรกับเจ้าฟ้าพรผนึกกันเหนียวแน่นจนกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีศักยภาพจะสืบทอดอำนาจได้ตั้งแต่พระราชบิดายังทรงพระพลานามัยแข็งแรงอยู่ 

ขุนนางใหญ่อย่าง ‘ออกญาพระคลัง’ และเหล่าขุนนางข้าราชการต่างก็สวามิภักดิ์เข้าด้วยกับฝ่ายเจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าท้ายสระในเวลาต่อมา) – เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) เป็นอันมาก ทำให้พระเจ้าเสือทรงหวาดระแวงว่าพระราชบุตรทั้งสองจะชิงราชสมบัติ ในปลายรัชกาลจึงทรงแสดงพระอารมณ์โกรธเกรี้ยวต่อเหล่าขุนนางและพระราชโอรส จนเกิดกิตติศัพท์เกี่ยวกับความทารุณโหดร้ายต่าง ๆ ถึงขั้นไสช้างเข้าไปจะปลงพระชนม์เจ้าฟ้าเพชรขณะเสด็จประพาสคล้องช้างที่บึงบ้านหูกวาง แขวงนครสวรรค์ แต่เจ้าฟ้าพรเข้าช่วยไว้ได้ทัน จนทำให้ทั้งสองถูกคุมขังและทารุณกรรมต่าง ๆ

ทุกระบอบการปกครองย่อมมีจุดบกพร่องของมันเองทั้งสิ้น เพราะก็มีที่มาจากมนุษย์ มนุษย์ย่อมบกพร่องเป็นปกติ ภายใต้การเมืองที่อำนาจการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ อย่างการประหารชีวิตไปขึ้นกับวินิจฉัยและอารมณ์ความรู้สึกของบุคคล ขณะที่แต่ละบุคคลจะมีบุคคลที่เป็นที่เคารพสักการะเกรงใจหรือไม่อยากทำให้เสียใจ บุคคลที่ทรงอำนาจจึงมีอีกกลุ่มบุคคลที่คานอำนาจการตัดสินใจสำคัญนี้ได้ไปในตัว โดยมาก บุคคลดังกล่าวมักจะได้พระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หรือที่เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าแผ่นดิน อีกกลุ่มคือ ‘ผู้หญิง’ โดยเฉพาะพระมเหสี พระสนมเอก และพระราชมารดา

 ในรัชกาลพระเจ้าเสือที่แม้จะมีกิตติศัพท์เรื่องพระอารมณ์โมโหร้าย แต่ยิ่งทรงโมโหร้ายก็ยิ่งทำให้กรมพระเทพามาตย์ซึ่งเวลานั้นได้บวชชีเป็น ‘เจ้าแม่วัดดุสิต’ กลายเป็นผู้มีอำนาจบารมีคานการตัดสินประหารชีวิตไปด้วย เจ้าฟ้าเพชรกับเจ้าฟ้าพรที่แม้จะไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างไร ก็รอดพ้นการถูกปลงพระชนม์  เพราะได้ความช่วยเหลือห้ามปรามไว้โดยเจ้าแม่วัดดุสิต

‘เจ้าฟ้าเพชร’ พระราชโอรสองค์โตที่ได้ชื่อว่าทรงโอบอ้อมอารีมีพระทัยอ่อนโยนไม่เหมือนพระราชบิดา พระราชบิดามีภาพลักษณ์ดุร้ายเหมือนดั่งเสือ แต่พระองค์ทรงประพฤติโอบอ้อมอารีมีเมตตาต่อเหล่าสรรพสัตว์โปรดการเลี้ยงปลา (จนแม้ครองราชย์แล้วก็ยังได้สมญา ‘ขุนหลวงเล่นปลา’) ก็ยิ่งเพิ่มพูนบารมีมีผู้คนเข้าหาและสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่แน่ชัดว่า เหมาะสมจะสืบราชสมบัติ 

ในช่วงที่บ้านเมืองสงบไม่มีศึกสงครามมาถึงพระนคร บุคลิกลักษณะที่ทรงโอบอ้อมอารีมีเมตตานี้เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รัชกาลปัจจุบันมีลักษณะตรงกันข้าม เจ้าฟ้าเพชรเลยเป็นความหวังของคนในรุ่นปลายรัชกาลพระเจ้าเสือ ถึงแม้จะไม่ถึงขนาดว่าจะนำพาอนาคตอย่างใหม่มาให้แก่ชาวกรุงศรี  ก็เป็นที่คาดว่าศีรษะของพวกตนจะไม่ตกลงตรงแยกตะแลงแกงได้โดยง่ายเพียงเพราะทำให้ทรงพิโรธ   

แน่นอนว่า เรื่องนี้ย่อมไม่พ้นสายตาของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งได้ลอบสังเกตความเป็นไปต่าง ๆ ของราชสำนักอยุธยาอยู่ตลอด เพื่อระวังภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับพวกตนอย่างที่เคยประสบในเหตุการณ์เมื่อปฏิวัติ ค.ศ.1688 (พ.ศ.2231) เมื่อองค์รัชทายาทมีบุคลิกลักษณะโอบอ้อมความหวังของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสด้วย ในงานของบาทหลวงโรแบต์ โกสเต (Robert Goste) ได้อ้างถึงจดหมายของบาทหลวงโลเนย์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็กล่าวถึงบุคลิกลักษณะของเจ้าฟ้าเพชรอย่างมีความหวังเช่นกันว่า:

“เจ้าฟ้าเพชรพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ หรือที่รู้จักในพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระเจ้าเสือ มีพระอุปนิสัยอ่อนโยนแตกต่างจากพระราชบิดาเป็นอย่างมาก”

ขณะที่ในจดหมายรายงานของพระคุณเจ้าเดอ ซีเซ (De Cice’) ซึ่งอยู่ในอยุธยามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็กล่าวในทำนองเดียวกันนี้ว่า:

“พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่พระทัยดีและสงบเยือกเย็น ขณะที่พระราชบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาฉลาด แต่วู่วาม… ปัจจุบันพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดี และมีพระอุปนิสัยอ่อนโยน พวกเราไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะได้รับการทารุณและโทสะร้ายเหมือนที่ได้รับจากพระราชบิดาของพระองค์”

การเมืองครอบครัว (Family politics): ‘เล่นปลา’ ก็ดุแบบ ‘เสือ’ ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม การณ์หาได้เป็นดังคาดไว้ไม่ ในตอนปลายรัชกาลชุมชนคริสต์กลับประสบปัญหาถูกเบียดเบียนทางศาสนามากยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว เมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็แสดงให้เห็นความเด็ดขาดในบางครั้งบางคราว ส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองภายในนั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเจ้าฟ้าเพชรขึ้นครองราชย์โดยปราศจากกลุ่มผู้เห็นต่าง เนื่องจากตลอดช่วงเวลากว่า 2 รัชกาลก่อนหน้า คือสมเด็จพระเพทราชา กับพระเจ้าเสือ ต่างมีเชื้อพระวงศ์สืบสายต่อมาเป็นอันมาก ตัวแปรตรงนี้อยู่ที่ฝ่ายที่สืบจากพระสนมเอก 

แม้ว่าจะยังเป็นปัญหาอยู่ในแง่ว่า ถ้าพระเจ้าเสือเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์จริงแท้แน่นอนแล้วไซร้ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีราชวงศ์บ้านพลูหลวง หรือแม้แต่ปัญหาที่ว่า แท้จริงแล้วสมเด็จพระเพทราชาผู้ก่อตั้งราชวงศ์นี้จะเป็นเพียงชายหนุ่มฉกรรจ์จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตแขวงสุพรรณบุรี หรือเป็นเชื้อสายขุนนางชั้นนำในกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิมก็ตามที ผู้เขียนขอพักปัญหาทั้งสองนี้ไว้ก่อน และขออนุญาตใช้คำว่า ‘ราชวงศ์บ้านพลูหลวง’ ต่อไปสำหรับในที่นี้ เพื่อสะดวกในการสื่อความตามที่ผู้อ่านเข้าใจกันดีอยู่แล้ว 

หากสองปัญหาข้างต้นจะเกิดชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาอย่างใดในภายหลัง ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้งานชิ้นนี้ต้องสูญเสียกรอบคิดหลักในการนำเสนอแต่อย่างใด ด้วยในช่วงรัชกาลหลัง พ.ศ.2231 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ.2310 ต่างแสดงความเป็นเครือญาติวงศ์เดียวกันอยู่ตลอด แม้จะมีความขัดแย้งและทะเลาะแย่งชิงอำนาจกันอยู่อย่างไร ก็เป็นเรื่องธรรมดา ญาติพี่น้องทะเลาะกันได้เป็นเรื่องปกติสำหรับสังคมที่การสืบทอดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินผูกมัดอยู่กับลำดับสายโลหิต ไม่จำเป็นจะต้องปรองดองรักกันตลอด เพราะเป็นญาติพี่น้องกันนั่นแหละจึงทะเลาะตบตีแย่งชิงกันเป็นปกติ 

แม้ว่ากฎระเบียบจะระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิสืบราชบัลลังก์ต้องเป็นเชื้อสายพระมเหสี แต่โอรสที่เกิดจากพระสนมแต่ละรัชกาลก็มีบทบาทในวงราชการบริหารสูงมาก ทำให้ภายในราชวงศ์บ้านพลูหลวง เวลานั้นเกิดกลุ่มก๊กต่าง ๆ แทรกอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูมีเอกภาพ โดยเฉพาะการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายโอรสที่สืบมาจากพระมเหสีกับฝ่ายที่สืบมาแต่พระสนม (พูดง่าย ๆ คือศึกระหว่างลูกเมียหลวงกับลูกเมียน้อยนั่นแหละ) 

แถมยังมีอีกกลุ่มที่มักจะมีบารมีสูงกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระราชโอรสคือฝ่ายพระราชอนุชาอีก แม้จะเครือญาติเดียวกันแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความขัดแย้ง ตรงข้าม นั่นยิ่งทำให้การเมืองภายในของราชวงศ์ทวีความเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น เดวิด ไวแอตต์ (David K. Wyatt) เคยนิยามเรียกการเมืองภายในอยุธยาช่วงเวลาดังกล่าวนี้ว่า ‘Family politics’ (การเมืองของครอบครัว)     

อยุธยาหลัง 2231 (1688) กบฏเจ้าพระองค์ดำ จาก ‘อาฆ่าหลาน’ สู่ ‘หลานประหารอา’   

เมื่อแรกขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงทราบดีว่าในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์มีผู้ไม่ยอมรับพระองค์หรือยังคิดสนับสนุนเจ้านายพระองค์อื่นอยู่ ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่สนับสนุน ‘เจ้าพระองค์ดำ’ เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด การจัดการกับเจ้านายพระองค์นี้จึงเกิดขึ้นในช่วงแรกเริ่มรัชกาล หรือนัยหนึ่งต้องทรงแสดงให้เห็นความเด็ดขาดต่อเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระสนมและพระราชอนุชา ดังที่พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุเอาไว้ดังนี้:

“เจ้าพระองค์ดำนั้นกระด้าง ลางทีเสด็จเข้าในออกนอกขึ้นบัลลังก์กลาง ไม่สู้เกรงกลัวพระราชอาญาเลย จึ่งทรงพระกรุณาสั่งให้สำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์”

พระราชพงศาวดารฉบับชำระในต้นรัตนโกสินทร์ได้เพิ่มเติมเนื้อความกล่าวถึงเจ้าฟ้าพร (ซึ่งบัดนี้ได้เป็นกรมพระราชวังบวรแล้ว) ในเหตุการณ์ประหารพระองค์เจ้าแก้ว ชายาเจ้าพระองค์ดำ ดังนี้:

“ขณะนั้นพระองค์เจ้าดำกอปรด้วยทิฐิมานะ กระทำการหยาบช้ากระด้างกระเดื่อง ละลาบละเล้าเข้าไปในพระราชฐานตำแหน่งที่ห้ามเป็นหลายครั้ง มิได้เกรงกลัวพระราชอาญา จึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสปรึกษาด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร  ตรัสเห็นว่าโทษพระองค์เจ้าดำนั้นผิดเป็นมหันตโทษ จึ่งให้จับพระองค์เจ้าดำพันธนาไว้ แล้วให้เอาไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ เอาพระศพไปฝังเสีย ณ วัดโคกพระยา

แลพระองค์เจ้าแก้ว ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาพระองค์เจ้าดำนั้นเป็นหม้ายอยู่ จึ่งเสด็จไปทรงผนวชเป็นพระรูปชีอยู่ ณ ตำหนักวัดดุสิต กับด้วยสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทพามาตย์นั้น”

ข้อน่าสังเกตคือ พระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระออกพระนามเจ้านายที่ถูกปลงพระชนม์ครั้งนี้ว่า ‘เจ้าพระองค์ดำ’ คำว่า ‘เจ้าพระ’ นั้นสื่อถึงเจ้านายพระองค์นี้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ จึงไม่แปลกที่จะเข้านอกออกในและประทับบนบัลลังก์เสมอพระเจ้าแผ่นดิน ขณะที่ฉบับชำระออกพระนามเรียกว่า ‘พระองค์เจ้าดำ’ แถมยังมีพระชายานามว่า ‘พระองค์เจ้าแก้ว’ ซึ่งหลังพระสวามีถูกปลงพระชนม์ ได้ไปบวชชีอาศัยอยู่กับเจ้าแม่วัดดุสิตอีก 

หากฝ่ายเจ้านายองค์นี้มีความสนิทชิดเชื้อกับเจ้าแม่วัดดุสิตก็ไม่น่าที่จะถูกปลงพระชนม์ ด้วยเจ้าแม่ดุสิตนั้นขึ้นชื่อเรื่องการยับยั้งโทษประหารมาแต่รัชกาลก่อน อีกทั้งยังเคยช่วยพระชนม์ชีพสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าฟ้าเพชรกับเจ้าฟ้าพรอยู่ด้วยในกรณีคล้ายคลึงกัน เรื่องพระองค์เจ้าแก้วนี้น่าสงสัยว่าอาจเป็นส่วนที่เพิ่มเติมโดยพระราชพงศาวดารฉบับชำระเพื่อแสดงนัยให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเมื่อแรกขึ้นครองราชย์นั้นมิได้ประหารพระสงฆ์องค์เจ้า   

อย่างไรก็ตาม การที่พระราชพงศาวดารฉบับชำระได้กล่าวถึงการปลงพระชนม์เจ้าพระองค์ดำนั้นมิได้เป็นการตัดสินพระทัยตามลำพัง ทรงปรึกษากับกรมพระราชวังบวร (เจ้าฟ้าพร หรือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในเวลาต่อมา) ซึ่งเป็นพระราชอนุชาเกิดจากพระมเหสีองค์เดียวกัน ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่มีการนำมาขยายความเพิ่มเติมใน ‘พรหมลิขิต’ รวมถึงการมองเหตุการณ์นี้เป็นการก่อกบฏโดยมีเจ้าพระองค์ดำเป็นผู้นำ เจ้าฟ้าพรหรือกรมพระราชวังบวรฯ เป็นผู้ถวายความคิดเห็นว่า ไม่ควรปลงพระชนม์เจ้าพระองค์ดำด้วยข้อหากบฏ ให้ใช้ข้อหาอื่น เพราะเหตุว่า:

“ท่านอาดำเป็นพระญาติหากจักป่าวประกาศว่า ท่านอาดำคิดกบฏชิงบัลลังก์ ก็จักเป็นที่ด่างพร้อยไปเสียว่า แม้แต่พระญาติยังมิเห็นควรด้วยในการครองพระราชบัลลังก์ของพี่ ข้าจึ่งคิดว่าสำเร็จโทษมันเสียด้วยเหตุว่าก้าวล่วงในเขตหวงห้ามทำตนกระด้างกระเดื่อง น่าจักดีกว่าพระพุทธเจ้าข้า”

เป็นอันเคลียร์ว่า เพราะเหตุใดจึงมีการสำเร็จโทษเจ้านายด้วยข้อหาแปลกประหลาดไม่ปรากฏในครั้งใดมาก่อนและหลังจากนั้น การที่เจ้าฟ้าพรในฐานะกรมพระราชวังบวรฯ กษัตริย์วังหน้า และสมเด็จพระเจ้าท้ายสระออกนามเรียกผู้ต้องโทษหนนี้ว่า ‘ท่านอาดำ’ ก็เป็นสิ่งบ่งชี้อยู่โดยนัยว่า ผู้ที่ถูกจับกุมตัวไปประหารนั้นอาจเป็นผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติด้วยเป็นสายพระราชอนุชา การเมืองอยุธยาก่อนการรัฐประหารพ.ศ.2231 เจ้านายผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติโดยมากจะเป็นฝ่ายพระราชอนุชา มาเป็นลำดับแรกก่อน เนื่องจากเจริญพระชันษาและสั่งสมบุญบารมีจนมีสมัครพรรคพวกบริวารบ่าวไพร่มากแล้ว แต่ในช่วงหลังพ.ศ.2231 มาสายพระราชโอรสจะครองการนำมากกว่า เพราะพระราชบิดามักจะอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลานาน เป็นที่โปรดปรานแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ ๆ มากกว่าฝ่ายพระราชอนุชา

ดังนั้น ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงฝ่ายพระราชโอรสจึงมีกำลังอำนาจมากกว่าฝ่ายพระราชอนุชาไม่เหมือนดังกาลก่อน  

มารี กีมาร์ ทายาทฟอลคอน และชีวิตภายใต้ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ทั้งนี้ ‘พรหมลิขิต’ ได้ขยายความไปไกลกว่านั้นอีก เมื่อเพิ่มบทบาทตัวละครในเหตุการณ์นี้ขึ้นมาอีกตัวคือ ‘ยอร์ช ฟอลคอน’ บุตรชายของแม่มะลิ (มารี กีมาร์/Maria Guyomar) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (ออกญาวิไชยเยนทร์) เป็นผู้คุมกำลังคนสำคัญฝ่ายเจ้าพระองค์ดำ ยอร์ช ฟอลคอน เป็นฝรั่งตัวร้ายในเรื่องที่ได้ผลกรรมไปพร้อมกับเจ้าพระองค์ดำ เรื่องนี้เป็นจินตนาการของผู้แต่งล้วน ๆ ไม่มีหลักฐานรองรับว่าทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน จะได้ไปมีเรื่องเป็นกบฏคิดล้มราชบังลังก์สมเด็จพระเจ้าท้ายสระแต่อย่างใด 

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘ท้าวทองกีบม้า’ หญิงแกร่งแห่งกรุงศรี ชีวิตสูงสุดสู่สามัญ จากเมียขุนนาง สู่ ‘สาวใช้’ ในวัง

ตรงข้าม การที่มารดา (มารี กีมาร์) ได้เป็นห้องเครื่อง (แม่ครัว) ในพระราชวังประจำรัชกาลนี้ ถือเป็นช่วงที่ครอบครัวนางฟอลคอนได้กลับฟื้นมามีฐานะอีกครั้ง จากบันทึกของพ่อค้าต่างชาติ (อย่างเช่นบันทึกของอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน/Alexander Hamilton พ่อค้าอังกฤษเชื้อสก็อต) ที่ได้มีโอกาสมาพบเห็นนางกับลูก ๆ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พบว่านางกับลูก ๆ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควรในรัชกาลนี้ ได้รับความยอมรับนับถือมีหน้ามีตา จนเป็นที่พึ่งยามเดือดร้อนให้แก่ชาวต่างชาติในอยุธยาเวลานั้น  

ดังนั้น ย่อมไม่เป็นเหตุเป็นผลที่บุตรชายของนางจะมาคิดคดถึงขั้นก่อกบฏ และถ้าลูกของนางเป็นกบฏต้องโทษประหารไปจริง ชีวิตนางก็น่าจะเกิดจุดเปลี่ยนเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อคราวที่สามีนางโดนเสียอีก แม้ว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ครอบครัวฟอลคอนจะแค้นเคืองเนื่องจากพ่อผู้เป็นเสาหลักต้องมาตายเพราะการขึ้นสู่อำนาจของราชวงศ์บ้านพลูหลวง 

แต่จากหลักฐานบันทึกบาทหลวงฝรั่งเศส จดหมายของมองซิเออร์โบรด์ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ  เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1700 (พ.ศ.2243) ได้กล่าวถึงการแสดงพระเมตตาของสมเด็จพระเพทราชาต่อยอร์ช ฟอลคอน ไว้ดังนี้ : 

“พระเจ้ากรุงสยาม (สมเด็จพระเพทราชา-ผู้อ้าง) ได้รับสั่งให้หา ยอร์จ บุตรของมองซิเออร์คอนสตันซ์  แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดีๆ และรับสั่งให้นายยอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดเอานายยอร์จไว้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เองสอนภาษาไทยให้แก่นายยอร์จ พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งถามนายยอร์จสองหรือสามครั้งถึงโรงเรียนสามเณรและพวกบาทหลวงซึ่งอยู่ในโรงเรียน และได้รับสั่งใช้ให้นายยอร์จมาหาพวกเราครั้งหนึ่ง  เพื่อมาขอตำราสร้างป้อม นายยอร์จได้อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้ากรุงสยามอยู่อย่างนี้หลายเดือน จึงรับสั่งว่า ‘เจ้าจงไปอยู่ที่ห้างพ่อเจ้าเคยอยู่เถิด’ แล้วได้ทรงฝากฝังนายยอร์จไว้กับจีนผู้ที่เป็นผู้ดูแลของห้างนั้น”

นั่นอาจเป็นกลวิธีของสมเด็จพระเพทราชาในการแสดงพระเมตตาต่อผู้ที่อาจเป็นอริต่อพระองค์ได้ในภายหลัง ยิ่งเมื่อต้องรับมารี กีมาร์ มาเป็นห้องเครื่องด้วยแล้ว จากศัตรูก็เปลี่ยนให้เป็นมิตร และเป็นที่พึ่ง เมื่อมารี กีมาร์ นั้นเป็นที่ต้องการแก่พระเจ้าเสือ เรื่องมันก็ไม่ได้ซับซ้อนเท่าไหร่

ฝ่ายพระเจ้าเสือ ถึงแม้จะได้ชื่อเป็นผู้มีภาพพจน์ดุร้าย นั่นก็กับฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นฝ่ายใด แต่ในสำหรับในหมู่บ่าวไพร่ของพระองค์ ความดุร้ายนั้นก็อาจเบาบางลงไป ยิ่งเมื่อเป็นเจ้านายวังหน้าที่โปรดการเสด็จประพาสไปตามหัวเมืองชนบท ไม่ว่าจะเป็นวิเศษไชยชาญ สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร นครนายก เพชรบุรี ฯลฯ  ทำให้สร้างความประทับใจในพระบารมีแก่ไพร่ราษฎรในชนบท 

บทสรุปและส่งท้าย: การเมืองอยุธยากับศาสตร์และศิลป์ของอารมณ์ความรู้สึก

ศิลปะอย่างหนึ่งของการปกครองสมัยอยุธยาก็คือ การที่ต้องทรงรู้ว่าเวลาใดและกับผู้ใด ควรจะเด็ดขาด เวลาใดควรจะแสดงความโอบอ้อมอารีมีเมตตา มีอย่างใดอย่างหนึ่งเด่นเกินไปตลอดเวลาและกับทุกคน ดูจะเป็นเรื่องอันตราย เมื่อใดและกับใครควรจะใช้บทบาทเน้นหนักไปทางใด ต้องจัดวางให้เหมาะสม มิเช่นนั้นจะบั่นทอนความชอบธรรมหรือไม่ก็ทำให้ความชอบธรรมไปตกอยู่กับบุคคลอื่นที่มีภาพลักษณ์และแสดงบทบาทตรงกันข้ามอยู่ (ดังเช่นกรณีพระเจ้าเสือกับพระเจ้าท้ายสระ) ลำพังการมีบุญบารมีอันสืบมาจากลำดับสายพระโลหิตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ศิลปะอย่างนี้จะถูกนำเอามาใช้ได้อย่างเหมาะสมเพียงใด ขึ้นกับประสบการณ์และความสามารถในการจัดการอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละพระองค์ 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: (ซ้าย) เกรท วรินทร รับบท ขุนหลวงท้ายสระ และก๊อต จิรายุ รับบท พระเจ้าเสือ ภาพจาก Broadcast Thai Television Channel / YouTube

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2566.

กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2563.

โกสเต, โรแบต์ (Robert Goste). ประวัติการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามและลาว. แปลโดย อรสา ชาวจีน, กรุงเทพฯ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, 2549.

จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. แปลโดย อรุณ อมาตยกุล, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2562.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2523.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2563.

รอมแพง (จันทร์ยวีร์ สมปรีดา). พรหมลิขิต. กรุงเทพฯ: ฟิสิกซ์เซนเตอร์, 2562.

ศิลปากร, กรม. ‘จดหมายเหตุโหร’ ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2542.

Brunel, Pierre. ‘A Narrative of the Revolutions which Took Place in Siam in the Year 1688’ The Journal of the Siam Society. vol. 5, part. 4 (May, 1909),pp.9-37.

Smithies, Michael (ed.). Alexander Hamilton: A Scottish Sea Captain in Southeast Asia. Bangkok: Silkworm Books, 1997.

Smithies, Michael. (ed. and trans.). Witnesses to a Revolution: Siam 1688. Bangkok: The Siam Society, 2004.

Wilis, John E. 1688: A Global History. New York: Norton, 2001.  

Wyatt, David K. ‘Family Politics in Seventeenth and Eighteenth Century’ in Studies in Thai History: Collected Articles. (Chiangmai: Silkworm Books, 1999), pp.97-105.

Exit mobile version