บางแสน ชลบุรี

1-79.jpg

ปลาตายเกยหาดบางแสน ที่แท้ หลุดจากเครื่องมือประมง

ปลาตายเกยหาดบางแสน ที่แท้ หลุดจากเครื่องมือประมง

วันที่ 13 มีนาคม 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ได้รับแจ้งจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 17.20 น. เทศบาลเมืองแสนสุขแจ้งพบการขึ้นเกยหาดของปลาทะเลจำนวนมาก บริเวณชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ในการนี้ ศวบอ. ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (สทช. 2) ประสานงานเบื้องต้นในกลุ่มไลน์ RT bangsaen

พบว่าชนิดปลาที่ขึ้นเกยหาดเป็นปลาชนิดเดียวกันเกือบทั้งหมดและมีขนาดตัวใกล้เคียงกัน จึงคาดว่ามีที่มาจากการทำประมง โดยอาจหลุดจากเครื่องมือทำการประมง ชนิดปลาที่พบ คือ ปลาตะเพียนน้ำเค็ม หรือ ปลาโคก หรือ ปลามักคา (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anodontostoma chacunda) เป็นปลาน้ำเค็มและน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) เป็นปลาที่พบได้ตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ทางเทศบาลเมืองแสนสุข ได้ดำเนินการจัดเก็บซากปลาทั้งหมดออกจากชายหาดบางแสน โดยมีน้ำหนักรวมประมาณ 8,000 กก.

นายอภิชัย เอกวนากุล เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด สทช. 2 ทำการสอบถามเครือข่ายอนุรักษ์ ผู้ประกอบการแพปลา และเรือประมงในพื้นที่ ภายหลังทราบว่าซากปลาดังกล่าว เกิดจากเรือประมงอวนล้อม ได้จับปลาชนิดดังกล่าวซึ่งในช่วงนี้มีความชุกชุมมาก ปริมาณที่จับได้มากถึงวันละหลายหมื่น กก. โดยขณะทำการประมง อวนที่จับปลาเกิดขาด ทำให้ปลาที่จับได้หลุดลอยและถูกคลื่นลมซัดเข้าไปเกยบริเวณชายหาดบางแสน ทั้งนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ สทช. 2 ให้แจ้งเรือประมงให้มีความระมัดระวังในการทำการประมง เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้ ศวบอ.เร่งเข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อหาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ปลาตะเพียนน้ำเค็มถือว่าเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถจำหน่ายได้ในราคา 30-40 บาท/กก. ซึ่งในช่วงนี้มีความชุกชุมมากในพื้นที่ ต.แสนสุขและตำบลใกล้เคียง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนชายฝั่งจำนวนมากนั้น แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ในโอกาสนี้ ตนจึงอยากฝากพี่น้องประชาชนและชาวประมง ให้ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์ต่อไป” นายอภิชัยกล่าว

เรื่องล่าสุด