Site icon บางแสน

ประวัติ (ศาสตร์) อันแสนสุขของแถมสุข

Ronadol060665

เขียนวันที่

วันจันทร์ ที่ 06 มิถุนายน 2565 เวลา 15:49 น.

 Ronadol060665

“…ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ถูกบันทึกขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องใช้หลักฐานวิเคราะห์ ตีความ งานของนักประวัติศาสตร์ไม่มีวันจะสมบูรณ์ และมีปัญหาต่อไป งานที่นักประวัติศาสตร์เขียนเสร็จแล้วจึงยังไม่เสร็จ นักประวัติศาสตร์เล่นกับสิ่งที่มีมิติเวลา คือ เปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวและก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา เล่นกับหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ โดยมันไม่อาจบอกทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่พูดไม่เถียงอะไร งานหลักสำคัญของนักประวัติศาสตร์จึงต้องตีความ และงานของนักประวัติศาสตร์ก็ถูกจำกัดด้วยมิติของเวลาเช่นเดียวกับตัวประวัติศาสตร์นั่นเอง…”


งานพระราชทานเพลิงศพแม่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2565 ยังคงสร้างความโศกเศร้าให้กับผมและครอบครัว และไม่อยากเชื่อว่าแม่ได้จากพวกเราไปแล้ว อย่างไรก็ดี แม่ทราบดีว่า คนเราต้องเดินทางมาถึงปลายทางของชีวิต จึงเตรียมการทุกเรื่องไว้ เขียนรายละเอียดทุกขั้นตอน รวมทั้งอัตชีวประวัติที่แม่เขียนไว้ล่วงหน้า และหนังสือ 2 เล่มคือ ยังเติร์กรุ่นแรก : กบฏ .. 130 และ ละครการเมือง 24 มิถุนายน 2475 ที่แม่นำกลับมาปรับปรุงแก้ไขใหม่หลายรอบด้วยลายมือ จนเป็นที่มาของการนำหนังสือทั้ง 3 เล่ม มาแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ

ด้วยหนังสือทั้ง 3 เล่มมีเนื้อหาที่ค่อนข้างเยอะ หลายท่านคงจะไม่ได้มีโอกาสอ่านจนจบ แต่ด้วยแม่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ยึดหลักการ เอาใจใส่ในเอกสารหลักฐานทุกชิ้น ผมจึงได้คัดลอกบทสุดท้ายของหนังสือประวัติ (ศาสตร์) อันแสนสุขของแถมสุขที่ได้นำบทความของรองศาสตราจารย์พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล ลูกศิษย์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 35 ที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์แม่ในเรื่องศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ กับวิชาการประวัติศาสตร์ในประเทศไทยที่แม่ได้ทำให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่สนุกและน่าเรียน มาเป็นข้อคิดถึงวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า วิชานี้ไม่ใช่วิชาที่น่าเบื่อและต้องใช้ทักษะการท่องจำ แต่เป็นวิชาที่เป็นประโยชน์มากกว่าที่คิด ดังนี้

“…ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ถูกบันทึกขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องใช้หลักฐานวิเคราะห์ ตีความ งานของนักประวัติศาสตร์ไม่มีวันจะสมบูรณ์ และมีปัญหาต่อไป งานที่นักประวัติศาสตร์เขียนเสร็จแล้วจึงยังไม่เสร็จ นักประวัติศาสตร์เล่นกับสิ่งที่มีมิติเวลา คือ เปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวและก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา เล่นกับหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ โดยมันไม่อาจบอกทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่พูดไม่เถียงอะไร งานหลักสำคัญของนักประวัติศาสตร์จึงต้องตีความ และงานของนักประวัติศาสตร์ก็ถูกจำกัดด้วยมิติของเวลาเช่นเดียวกับตัวประวัติศาสตร์นั่นเอง งานประวัติศาสตร์หนึ่ง จึงเป็นเสมือนฉบับร่างอยู่เสมอ และต้องรอให้มีการยกร่างใหม่โดยการแสวงหาหลักฐานใหม่ ใช้หลักฐานที่แตกต่างออกไป หรือสร้างมุมมองวิเคราะห์ความที่ไม่เหมือนเดิม ชีวิตของงานประวัติศาสตร์ยืนที่จุดนี้ และนักประวัติศาสตร์จำเป็นต้องทำงานใหม่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ ต้องวิจัยเพื่อทำให้ประวัติศาสตร์และงานประวัติศาสตร์ไม่ตาย เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะใหม่ได้เสมอ…”

สำหรับแง่คิดเกี่ยวกับประโยชน์ของประวัติศาสตร์ (ถึงแม้คนไม่เอาประวัติศาสตร์ไปใช้) ในตัวประวัติศาสตร์ก็รับใช้สังคมอยู่แล้ว เพราะช่วยให้สังคมรู้อะไรเป็นอะไร สังคมที่มีคนรู้อะไรเป็นอะไร เป็นสังคมที่มีคุณค่ามากกว่าสังคมที่คนถูกชักจูง สังคมที่คนรู้อะไรเป็นอะไร เป็นสังคมที่มีอุดมการณ์ สร้างสรรค์อยู่ในตัวของมันเอง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องขวนขวายหาความรู้

ดังนั้น ผู้สอนประวัติศาสตร์จึงควรสร้างบรรยากาศวิวาทะกับผู้เรียนให้มากขึ้น และควรสนใจกับภาวะแวดล้อมหรือข้อเท็จจริงในสังคม นำมาใช้ในการสอนด้วย เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของวิชาที่เรียนกับความเป็นจริง สังคมไทย เป็นสังคมที่อ่านน้อย ฟังมาก เชื่อคนง่าย ผู้สอนจึงควรสร้างวิธีการให้ผู้เรียนรู้จักคิด และในการคิดนั้นจะต้องรู้จักอ้างอิงจากข้อมูลหรือรายละเอียด ส่วนทางด้านผู้เรียนก็จะต้องปรับตัวเองให้รู้จักการโต้แย้งโต้ตอบ และถกเถียงให้มากขึ้นด้วย…” พวกเราภูมิใจที่แม่ได้รับการยกย่องเป็นปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขอบคุณแม่ที่สอนให้พวกเราเป็นคนรักการอ่าน รู้จักคิดวิเคราะห์ มาจนถึงทุกวันนี้

ผมและครอบครัวขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมฟังสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศล ตลอดจนร่วมงานในวันพระราชทานเพลิงศพคุณแม่ และขอให้อานิสงส์ผลบุญที่ท่านได้ร่วมทำบำเพ็ญกุศล โปรดอภิบาลรักษาให้ท่านประสบแต่สิ่งอันเป็นมงคล พร้อมด้วยจตุรพิธพรชัยทุกประการ

ผู้เขียน: รณดล นุ่มนนท์
30 พฤษภาคม 2565

Exit mobile version