Site icon บางแสน

“บุหรี่” ภัยสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนหลงลืม

565000004753401.jpg

จุดประกาย

24 พ.ค. 2565 เวลา 8:00 น.103

“บุหรี่” ไม่เพียงแต่เป็นภัยต่อสุขภาพ ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ อากาศเสื่อมโทรม ที่น่าตกใจ ไทยพบขยะก้นบุหรี่ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปี กลายเป็นขยะที่อาจต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 10 ปี

รู้หรือไม่ว่า บุหรี่ หนึ่งมวน เราสูญเสียอะไรไปบ้าง เราต้องใช้น้ำถึง 3.7 ลิตรเพื่อการผลิต และในแต่ละปี เราต้องใช้พื้นที่ 1.25 ล้านไร่เพื่อการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบในทั่วโลก นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเคยระบุว่า กว่าจะผลิตได้บุหรี่ 300 มวน อาจต้องใช้ต้นไม้หนึ่งต้นทีเดียว

“บุหรี่” หรือ “ยาสูบ” นั้นมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมากกว่าที่คิด ตั้งแต่การปลูกการผลิตการกระจายจัดจำหน่าย ไปจนถึงช่วงที่คุณกำลังสูบ หรือกลายเป็นขยะ กล่าวกันว่า อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการย่อยสลายก้นบุหรี่ซึ่งมีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งปนเปื้อนลงสู่ดิน แต่ถ้าคุณทิ้งบุหรี่หรือก้นบุหรี่ไว้ในน้ำยาวนานถึง 96 ชั่วโมง เผลอๆ อาจทำให้สัตว์น้ำบริเวณนั้นอย่างเช่นปลาตายได้

มองไปที่ “บุหรี่ไฟฟ้า” ก็เป็นผู้ร้ายไม่ต่างกัน เพราะนอกจากเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้าง ยังมีส่วนประกอบ เช่น พลาสติก นิโคติน เกลือตะกั่ว ปรอท หรือแบตเตอรี่ลิเทียมไออ้อน ที่เมื่อปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำและดินจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอีกด้วย

องค์การอนามัยโลกเผยว่า บุหรี่ถูกจัดว่าเป็น “ขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดในโลก” และเป็นขยะที่ “พบบ่อยที่สุดบนชายหาด” ซึ่งนับเฉพาะในประเทศไทย มีก้นบุหรี่ผลิตขึ้นมากกว่า 100 ล้านชิ้น ที่กลายเป็นขยะไปตกอยู่ตามสถานที่ต่างๆ

เนื่องใน วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ที่ใกล้จะถึงปีนี้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทางมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงร่วมกับ องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย รวมถึงภาคีเครือข่าย จัดการสัมมนา พร้อมกำหนด คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2565 คือ “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

พญ.โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การปลูกต้นยาสูบ การผลิต จัดจำหน่าย การสูบ และขยะจากบุหรี่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ โดยหากประมาณการความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่ มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ GDP ดังนั้น มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จึงดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยาสูบ ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม ขณะที่ด้านกระบวนการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบต้องแผ้วถางพื้นที่ 200,000 เฮกตาร์ (1.25 ล้านไร่) ซ้ำตัวผู้ปลูกยาสูบเองก็ต้องรับภัยอันตรายด้านสุขภาพจากการดูดรับสารนิโคตินในใบยาสูบต่อวันมากเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน นอกจากนี้ยังพบระดับความเข้มข้นของอะลูมิเนียมและสารหนูในเลือดสูงขึ้น เนื่องจากการสัมผัสยากำจัดศัตรูพืชบางชนิดสะสมเป็นเวลานาน

“การปลูกยาสูบทำให้น้ำในดินพร่องไป ในด้านอากาศ ว่ากันว่าการผลิตยาสูบและบุหรี่แต่ละปีทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 84,000,000 ล้านเมตริกตันถูกปล่อยออกมา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตของก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญ แทนที่ผืนดินผืนนั้นจะมีโอกาสได้ทำประโยชน์ในการปลูกพืชผักเพื่อการบริโภคซึ่งดีต่อสุขภาพ ก็สูญเสียไปกับการใช้เพาะปลูกยาสูบ หรือหากต้องการฟื้นฟูพื้นดินที่เคยปลูกยาสูบให้กลับมาดีได้ก็ยากเหลือเกิน ยาสูบยังเป็นตัวการที่ผลิตขยะพลาสติกและขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งมาจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเล 100,000 ตัว ตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี” รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าว

รศ.ดร.เนาวรัตน์ เล่าถึงการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะ พบว่า ร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ โดยก้นบุหรี่ถูกทิ้งทั่วโลก 4.5 ล้านล้านชิ้นต่อปี และขยะก้นบุหรี่ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในไทย  

อภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แม้ก้นบุหรี่เป็นขยะชิ้นเล็กๆ มากขนาดเพียงไม่เกิน สองนิ้ว แต่พลาสติกส่วนประกอบในก้นบุหรี่ย่อยสลายยากมาก 2-12 ปีทีเดียว

“เมื่อปี 2560 กรมฯ เล็งเห็นความสำคัญในส่วนปัญหาขยะ จึงได้ลงสำรวจในพื้นที่ชายหาดสำคัญ 5 แห่งยอดนิยม ที่เราดำเนินการคือ หาดป่าตอง หาดบางแสน หาดแม่พิมพ์ หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา และหาดทรายรี จ.ชุมพร เราพบก้นบุหรี่ที่อยู่ชายหาดแต่ละแห่งมากเป็นแสนๆ ชิ้น” รองอธิบดีฯ กล่าว

ทางกรมทรัพยากรฯ จึงได้ประสานกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน ทำ MOU ร่วมกันประกาศนโยบายจัดทำชายหาดปลอดบุหรี่ โดยนำร่องใน 24 แห่งใน 5 จังหวัด เน้นกลุ่มชายหาดยอดนิยมสำคัญ

นอกจากนี้ ยังได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้น นอกจากมีโทษถ้าทิ้งก้นบุหรี่ชายหาด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังจัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับภาคีประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ มกราคม 2561 โดยสาระสำคัญห้ามทิ้งก้นบุหรี่และขยะบนชายหาด ซึ่งทางกรมฯ ได้จัดสถานที่ไว้สำหรับสูบและทิ้งก้นบุหรี่ขยะในจุดที่กำหนดไว้แล้วทุกแห่ง

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาดมานานแล้ว ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ อย่างแคลิฟอร์เนียก็มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดชัดเจน เนื่องจากก้นบุหรี่เป็นขยะหมายเลขหนึ่งของชายหาด 

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์  ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข เอ่ยว่าประเด็นในเรื่องนี้กำลังเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยได้มีการเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบาย สอดคล้องตามการรณรงค์ในวันสูบบุหรี่โลกปีนี้ คือบุหรี่กับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 6 ข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ 

  1. การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ยาสูบต่อสิ่งแวดล้อม 
  2. การผลักดันขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่กับสิ่งแวดล้อม และดำเนินงานในพื้นที่
  3. การท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ปลอดบุหรี่ New Normal smoke free tourism 
  4. ปรับปรุงและยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย
  5. สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทน เพราะเป็นการลดผลกระทบ 
  6. การประสานความร่วมมือ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อน

สนใจร่วมรณรงค์  หรือขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ขอรับสื่อหรือติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ smokefreezone หรือโทรศัพท์ 0-2278-1828

Exit mobile version