บางแสน ทะเลเขียวปี๋ ทช.ชี้ ปี66 เกิด 76 ครั้ง อ.ธรณ์แจง 2 สาเหตุ ไม่หมดหวัง แก้ปัญหาได้ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
กรณี เพจ ชอบจังบางแสน ได้โพสต์น้ำทะเลสีเขียวในทะเลบางแสน โดยบรรยายภาพดังกล่าวว่า
บางแสนแจกเคลียร์มัทฉะน็อกตี้ รอบที่ 2 ของปี
แพลงก์ตอนบลูมสีเขียว เริ่มเขมือบบางแสน
บริเวณท้ายหาด หน้า รร เอสทูบางแสน
ถ่ายภาพเมื่อ 17 มีนาคม 2567 เวลา 10.24 น.
บริเวณบางแสน วงเวียนบางแสน หาดวอนนภายังไม่เขียว
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ มติชนออนไลน์ ว่า ปรากฏการณ์แพลงตอนบลูม หรือปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ที่ทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีเขียวแบบนี้ จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ มีสาเหตุจาก 2 ประการคือ 1.น้ำทิ้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และจากการทำเกษตร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแก้ให้หมดไปอย่างไร 2.จากปรากฏการณ์โลกร้อน ที่เร่งให้แพลงตอนมีปริมาณมากขึ้น แน่นอนว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไรโลกจะเย็นลงมา
“เมื่อเป็นเช่นนี้ ปรากฏการณ์แพลงตอนบลูม น้ำทะเลสีเขียวก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เขียวสัก 3-4 วันก็หาย และก็กลับมาเขียวใหม่ ปีที่แล้วทั้งปี ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เกิดแพลงตอนบลูมทั้งหมด 76 ครั้งทั่วประเทศ โดยเกิดที่บางแสนกับศรีราชามากที่สุด ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2551-2552 เกิดเพียง 15-20 ครั้งเท่านั้น บริเวณที่เกิดเป็นแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ ซึ่งตอนนี้เกษตรกรหลายรายได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะหอยตายจำนวนมาก” ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว
เมื่อถามว่า ยังเห็นมีนักท่องเที่ยวลงไปเล่นน้ำอยู่เลย ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า ก็มีคนที่ห้าวๆ บางคนลงไปเล่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครลงไปแน่
เมื่อถามอีกว่า ปรากฏการณ์นี้ยังพอมีหวังที่จะแก้ไขได้หรือไม่ ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า หากช่วยกันจริงจังก็ไม่หมดหวัง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ได้เมื่อไหร่เหมือนกัน
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก ชอบจังบางแสน
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่